Skip to main content
sharethis

โดย ภฤศ ปฐมทัศน์


 


นับจากวันที่ 21 พ.ย.2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ผ่านกระบวนการพิจารณาร่างและแปรญัตติ ซึ่งแต่เดิม ควรจะเป็นพ.ร.บ.ที่ให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่กลับกลายเป็น พ.ร.บ.ที่ล้าหลัง เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐในการแทรกแซงและจำกัดสิทธิของชุมชน


 


เนื้อหาส่วนสำคัญถูกบิดเบือนเจตนารมณ์เดิม อยู่ในมาตรา 25 วรรค 2 กล่าวถึงเรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ว่า "พื้นที่ที่ชาวบ้านจะขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ พื้นที่บริเวณนั้นจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่ทางการกำหนดให้สงวนรักษาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อการศึกษา การวิจัยทางวิชาการ หรือประโยชน์อื่นๆ ของรัฐ"


 


และมาตรา 34 ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ร่างกฎหมายนี้ปรับแก้จากเดิมที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์จากไม้เฉพาะป่าชุมชนที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ และต้องเป็นบริเวณที่กำหนดเป็นพื้นที่ป่าใช้สอยภายในป่าชุมชนเท่านั้น เปลี่ยนมาเป็น "ให้มีการใช้ประโยชน์จากไม้ได้ในเขตป่าใช้สอยของป่าชุมชน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์หรือนอกเขตอนุรักษ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระเบียบการใช้ไม้ซึ่งคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนระดับชาติจะเป็นผู้กำหนดต่อไป"


 


เนื้อหาเช่นนี้เป็นการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจไว้ที่กรมอุทยาน ยังคงมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่จับกุมชาวบ้านได้ และจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น


 


"ประชาไท" จึงได้พูดคุยและสอบถาม พฤ โอ่โดเชา ชาวปกากะญอจากบ้านแม่ลานคำ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ลูกชายของ พะตีจอนิ โอ่โดเชา อดีตปกากะญออาวุโสผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นผู้หนึ่งในสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ หรือสภาปราชญ์ชาวบ้านที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี


 


พฤ โอ่โดเชา เคยมีส่วนในการต่อสู้เรียกร้อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับแรก ที่ประชาชนเป็นคนเสนอเข้าไป และคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับ "หมกเม็ด" ที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมการก่อตั้ง "เขตอนุรักษ์พิเศษ" อันเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งป่าชุมชน


 






 


เรื่องเกี่ยวกับเจตนารมณ์เดิมของการเสนอร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน พฤ โอ่โดเชา ได้กล่าวไว้ว่า 


 


"จากเดิมกฎหมายของอุทยานมันทำให้ชาวบ้านเข้าไปหาเข้าไปเก็บของป่าไม่ได้ ไปจับปลา หรือไปเก็บผักกูด ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ามันก็ผิด ไม่ว่าจะไปหาปลา ไปเอาหน่อ ไปทำไร่ทำนาก็ผิด ทั้งๆ ที่ป่าของชุมชนอยู่มานานแล้ว แต่ทำไมผิดล่ะ เมื่อกฎหมายเดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เมื่อประเทศไทยมีประชาชนอยู่มาก ถ้าจะไม่ให้คนอยู่ในป่าเลยมันไม่ได้ซะแล้ว แล้วขึ้นอยู่กับว่าจะดูแลป่าอย่างไร จะปล่อยให้รัฐดูแลป่า ป่ามันก็หมดไปทุกปีๆ แต่ที่ไหนที่มีชาวบ้านดูแลทำไมยังมีป่าอยู่ แล้วไม่เคยเสียหายล่ะ ดังนั้นจึงคิดว่า กฎหมายน่าจะดึงเอาชาวบ้านตรงนี้ลุกขึ้นมาดูแลป่าไปด้วยเพราะชาวบ้านอยู่ที่นั่น ก็มีสิทธิที่จะดูแล แล้วก็จัดการ แล้วก็ใช้"


 


"ในขณะที่เขามีหน้าที่ดูแล เขาก็ต้องมีการใช้ พึ่งพาอาศัยกัน และมากกว่านั้นในป่าชุมชนมันจะมีองค์ความรู้ มีพืช เมล็ดพันธุ์ สมุนไพร ที่มีคุณค่า ถ้าหากว่าชุมชนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในป่า หรือรัฐจัดการพวกนี้ออกไปจากป่าหมดเลย แหล่งความรู้ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยหรือในเมือง ในสังคมก็หายไปด้วย"


 


 


หลังจากเสนอร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว คณะกรรมาธิการของสภาฯ ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหา จนกระทั่ง พ.ร.บ. ฉบับที่ถูกเปลี่ยนแปลงเนื้อหาผ่านร่างกฎหมายโดย สนช. แล้วนั้น จะทำให้เจตนารมณ์เดิมเปลี่ยนไปหรือไม่ ในแง่นี้ พฤ โอ่โดเชา ก็ให้คำตอบว่า


 


"พอเราเสนอไปก็จะมีราชการหรือรัฐที่ไม่ยอมใช้อำนาจตรงนี้ เช่น เดิมทีเราจะใช้ไม้สักต้นหนึ่ง เราจะสร้างบ้าน เราถามกันในหมู่บ้าน เอากรรมการพูดกัน ถ้าอนุญาตก็ได้ แต่ว่าตอนนี้ก็มีกรรมการใหญ่อยู่ที่จังหวัด คราวนี้หากเราจะใช้ไม้สักต้น กฎหมายปัจจุบันหรือที่ผ่านมาอำนาจก็ต้องไปอยู่ที่อธิบดี ชาวบ้านจะใช้ไม้จะสร้างบ้านต้องไปขออนุญาตที่อธิบดี มันไม่ได้ ไม่ทัน พอเราเสนอกฎหมายแบบนี้เข้าไป ทางราชการเขาก็ไม่อยากอนุญาตให้ ไม่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในตัวกฎหมาย ไม่อยากให้ประชาชนมีอำนาจในการดูแล ในการตัดสินใจ เขาก็เปลี่ยนเนื้อหาไปว่า การที่คุณอยู่ในป่า เราจะให้คุณอยู่ได้ คุณดูแลก็ได้ แต่คุณห้ามใช้...อ้าว! ให้แต่เราดูแลแต่ห้ามเราใช้ หมายความว่าอย่างไร ก็คือตัดทิ้งมือของเรา ท้องของเรา ให้เราดูแลอย่างเดียว ให้เราอยู่เฉยๆ แล้วจะหากินยังไง อันนี้คือปัญหาข้อนึง"


 


"อีกข้อคือ มันมีสิทธิที่ควรจะได้อีกคือ กรณีที่ชุมชนนั้นทำกฎกติกามานานแล้ว 10 ปี ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศออกมา เดิมทีเราบอกว่าชุมชนใดก็ตาม ที่มีการดูแลรักษาป่าดี พื้นดี เช่นถ้าหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ป่าหมดไปแล้ว แต่คนในหมู่บ้านนั้นก็พยายามรวมกลุ่ม ทำให้มันมีป่าขึ้นมาแล้วก็ดูแล ตรงนี้คนในหมู่บ้านนั้นก็มีสิทธิที่จะดูแล แล้วก็มีสิทธิที่จะใช้ด้วย แต่ตัวกฎหมายบอกว่าไม่ได้ คุณสร้างป่าขึ้นมาแต่คุณไม่มีสิทธิใช้ มีปัญหาเหมือนภาคใต้ เขาปลูกยางพาราเสร็จแล้ว ต้นยางแก่แล้วเขาจะตัด...ก็ไม่ได้ ต้องปลูกอย่างเดียว ตัดแล้วปลูกใหม่ไม่ได้ ผิดกฎหมาย"


 


"ที่คุณปลูกต้นไม้คุณดูแลแล้ว มันก็จะเป็นของรัฐโดยทันที จริง ๆ มันควรจะเป็นว่า หากเราสร้างขึ้นมาแล้วเราดูแล ไม่ว่าชุมชนจะนาน จะเก่าหรือจะใหม่ คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสร้างป่าขึ้นมาเขาก็มีสิทธิที่จะดูแลตรงนั้น และจะใช้ไปด้วยอย่างยั่งยืน ไม่ได้ใช้จนหมดเกลี้ยง ถ้าใช้จนหมดเกลี้ยงคณะกรรมการก็จะบอกว่า อันนี้ใช้แบบไม่ยั่งยืนแล้ว งั้นไม่อนุญาต จะถอนสิทธิของคนนั้นก็ได้"


 






 


พฤ ได้บอกต่อว่า หากเจตนารมณ์เดิมของ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ไม่ถูกบิดเบือนไป จะเป็นการส่งเสริมให้กำลังใจชาวบ้านที่รักษาป่ากันอยู่แล้ว และยังเป็นการสนับสนุนให้คนหันมาดูแลป่าอีกด้วย


 


"ทีนี่เราก็บอกกันว่าเมื่อเขาเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตรงนี้ เขาก็ไปเปลี่ยนว่า ถ้าชุมชนไม่ดั้งเดิมจริง ไม่มีรูปแบบกรรมการจริง คุณก็ไม่มีสิทธิจะตั้งป่าชุมชน ขอไม่ได้ แต่เจตนาเดิมก็คือ เราอยากให้มีกฎหมายสนับสนุนให้ชาวบ้านดูแลป่า ถ้าใครดูแลดีเราก็ควรจะเข้าไปสนับสนุนให้กำลังใจ เข้าไปเสริมว่าหมู่บ้านนี้ดี มีสิทธิใช้ ก็จะมีชุมชนลุกขึ้นมาดูแลป่าเต็มประเทศไทยเลย"


 


แต่กฎหมายลูกที่ออกมาจะเน้นทำให้ทรัพยากรทุกอย่างผูกขาดอยู่ในอำนาจการจัดการของรัฐ ซึ่งนอกจากจะมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ยังทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีความรู้สึกว่าป่าเป็นของพวกเขาเอง ทำให้ขาดพลังทางจิตสำนึกและวัฒนธรรมในการที่จะทำให้ประชาชนดูแลป่าโดยสมัครใจ ดังที่ พฤ ได้กล่าวไว้ว่า


 


"กฎหมายว่าทรัพยากรเป็นของประชาชนทุกคน แต่กฎหมายลูกกลับบอกว่าทรัพยากรทุกอย่างเป็นของรัฐ นั่นแหละ ยังไม่คลายในประเด็นนี้ รัฐผูกขาดอำนาจการจัดการอยู่ แล้วการผูกขาดอำนาจการจัดการนี้มันจะนำมาซึ่ง เราไม่มีจิตใจ ไม่มีจิตสำนึกที่จะคิดว่าป่านั้นเป็นของเราโดยวัฒนธรรม ดังนั้นมันเหลือชุมชนที่เข็มแข็ง เท่านั้นที่จะบอกว่าค่อยๆ ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเราก็จะเข้มแข็งต่อไป ซึ่งมันมีน้อยมาก ที่มีน้อยก็เพราะรัฐมันมาลิดรอน ในชุมชนเหล่านี้อีกต่างหาก"


 


ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้ข้อมูลว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็ยังไม่เป็นที่ประกาศใช้ เพราะยังมีการยกร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่


 


"กฎหมายในตอนนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนชาวบ้านอยู่ดี ก็ยังไม่ลิดรอนชาวบ้านอยู่เหมือนเดิม กฎหมายที่เรารวบรวมรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเข้าไป ก็กลายเป็นกฎหมายที่เรียกร้องไปแล้วก็กลายเป็นเข้ามาจับเราเองในตอนนี้ พ.ร.บ. นี้ยังไม่ถึงขั้นได้ออก มีกรรมการมีสมาชิกสภานิติบัญญัติกลุ่มหนึ่งยังยื่นเรื่องให้เปรียบเทียบกฏหมายนี้กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนว่าตกลงกฎหมายฉบับนี้เนื้อหามันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะเราเข้าใจว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญให้สิทธิเรา แต่ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่เราเรียกร้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญคือให้สิทธิประชาชน กลับกลายเป็นตัวลิดรอนสิทธิประชาชนเอง"


 


 


ในส่วนของชาวบ้านที่ร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ร่วมกันมา พฤ โอ่โดเชา ก็ได้เล่าว่า ชาวบ้านบางส่วนไม่รู้เรื่องที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านร่าง ส่วนชาวบ้านที่รู้เรื่องก็คัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับที่ถูกบิดเบือน บอกว่าต้องแก้ไขให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมก่อน


 


"ในเรื่องนี้ชาวบ้านไม่ได้ค่อยรู้ บางส่วนยังไม่รู้เลยว่ามันเข้าสภาฯ ไปแล้ว แต่ส่วนหนึ่งก็รู้ว่าเข้าไปแล้วก็ถูกเปลี่ยนแปลง แล้วชาวบ้านก็จะไม่รับเนื้อหาอย่างนี้ ต้องแก้ไขก่อน ให้แก้ให้เป็นตามเจตนาเดิมที่เราร่วมร่างมาตั้งแต่ต้น แล้วก็ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย แต่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญแบบใดก็ตาม กฎหมายก็ต้องสนับสนุนให้ชุมชนมีสิทธิดูแลแล้วก็จัดการป่า ได้อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน"


 


ทั้งนี้ พฤ ก็ได้เล่าอีกว่า ชาวบ้านอีกบางส่วนที่รู้เรื่องนี้ก็ถอดใจ ไม่คิดจะสู้ด้วยในกระบวนการอีก แต่คิดจะใช้การดื้อแพ่ง และยืนยันที่จะคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตเดิม ขณะที่อีกส่วนน้อยยังคงมุ่งหวังที่จะอาศัยกระบวนการในการปรับแก้ พ.ร.บ.ให้มีเนื้อหาเป้นไปตามเจตนารมณ์ดั้งดิม


 


"ในระดับชาวบ้านเองก็มีความขัดแย้ง บางส่วนก็บอกว่า โอ้ย! พ.ร.บ.เนี่ยไม่ต้องไปเรียกร้องมันแล้ว เรียกร้องไป 10 กว่าปีมันก็เป็นอย่างนี้ รัฐบง รัฐบาล นี้ไม่ต้องไปสนใจมันเลย อยู่ที่บ้านทำที่บ้านก็ได้ อีกบางกลุ่มนี้ โอ้ย! ขอมาตั้งนานแล้ว ทำอย่างไรก็ได้เลยดีกว่า เราเรียกร้องแล้ว เราทำดีแล้วแต่เขาไม่เห็น อย่างนี้ก็มี อีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่า ใจเย็นๆ นะ ค่อยๆ ทำ ทำดีแล้วก็ทำต่อไป มีกระบวนการค่อยๆ แก้ให้กฎหมายกลับมาคุ้มครองเราต่อไป"


 


"คนที่เป็นกลุ่มหลังนี้ลำบากจะแย่ จะไปถ่ายเอกสารที่ไหน จะไปยื่นที่ไหน จะไปล่ารายชื่อที่ไหมล่ะ ตอนนี้ถึงจะเหลือ 2 หมื่นรายชื่อแล้ว แต่ก็ยังล่ากันยาก 5 หมื่นรายชื่อที่ล่ากันเมื่อก่อนก็เข็ดแล้ว เจตนาจะให้ชาวบ้านมีสิทธิได้ใช้ ก็มาเปลี่ยน"


 


กระนั้น ชาวบ้านก็มีเรื่องของสถานการณ์เข้ามาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจว่าจะต่อสู้ในแบบไหน บางส่วนถ้าทีคนสู้ถึงจะสู้ด้วย จึงไม่ได้ถอดใจเสียหมด


 


"ส่วนหนึ่งที่ถอดใจก็มีเยอะ แบบไม่เอาแล้ว ไม่รู้เรื่องแล้ว มีถึง 80% แต่ก็ไม่แน่ ชาวบ้านเราๆ ดูที่ เปอร์เซ็นต์ แล้วตัดสินเลยไม่ได้ ดูที่สถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เอ้ย! เรามีความหวังแล้ว ล่าชื่อๆ ไม่งั้นหมู่บ้านของเราจะแย่นะ จะทำเพื่อหมู่บ้านของเราเพื่อลูกหลานของเรา ขอล่าชื่ออีกสักครั้งน่า  อาจจะตูมขึ้นมาเป็น 100% ก็ได้นี่ ชาวบ้านเขามีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ไม่ยึดติดกับเปอร์เซ็นต์ ณ เวลานั้น"


 


"แล้วถ้าเกิดมีปัญหาหนัก ๆ เข้า ชาวบ้านอื่นก็คือ 1 ใน 4 จะ เฮ้ย ! สู้ 1 ใน 2 ถ้ามีคนสู้ก็จะสู้ด้วย ถ้าไม่มีคนสู้ก็จะไม่สู้ แล้วอีก 2 ส่วนก็แล้วแต่ หนีได้ก็หนีเลย หาทางออกไปที่อื่น"


 






 


พฤ ได้กล่าวถึงกระบวนการในการเข้ามาของรัฐว่า เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน ไม่ได้เข้ามาจับกุมแบบเดิม แต่เข้ามาพร้อมกับโครงการของรัฐ


 


"ป่าไม้เขาก็เริ่มเข้ามาจับกุม แต่เขาก็ไม่ได้จับไปเรื่อยนี่ เขาจะมาในรูปแบบโครงการให้ชาวบ้านพอใจด้วย เขาไม่ได้มาแบบจับกุมทันทีหรือมาตีหัวให้เจ็บแล้วก็ลุกขึ้นมา เขาก็ฉลาดขึ้น มาใช้ให้แบบพอถูกใจเอง อันนี้ชาวบ้านมองไม่ค่อยออก"


 


สุดท้าย พฤ โอ่โดเชา ก็สรุปว่า เป็นการดีที่ พ.ร.บ. ผ่านร่าง แต่ปัญหาคือเนื้อหาที่ถูกบิดเบือน ทั้งนี้ได้มี สนช.บางส่วนคัดค้าน พ.ร.บ.ที่ถูกบิดเบือนเนื้อหานี้ และต่อสู้เรียกร้องในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ขระที่ชาวบ้านบางส่วนจะขอล่ารายชื่อเพื่อแก้ไข ยับยั้ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เอาไว้


 


"ทีนี่การที่ สนช.ให้ผ่านมันก็ดี แต่เนื้อหาของมันนี้ มันก็ยังมารวบผูกขาดอำนาจยึดทรัพยากรไว้ที่เดิมอยู่ ก็ยังไม่กระจายให้ชาวบ้านมี ตอนนี้เราคุยกันว่าจะล่าชื่อเพื่อขอแก้ไข แล้วหยุดเอาไว้ ไม่ให้กฤษฎีกาเซ็นต์ โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติยื่นไป 25 คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน"


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net