Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 51 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จัดสัมมนาพิเศษเพื่อรำลึกถึง อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด อ.ป๋วย ในหัวข้อ "การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน"


 


ผู้อภิปราย ได้แก่ รศ.ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง, ดร.อัศวิน อาฮูยา ฝ่ายกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


รศ.ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเน้นถึงเป้าหมายระยะยาว และนโยบายที่จะรองรับการเติบโตในระยะยาวว่าเป็นเรื่องสำคัญ


 


เขาเห็นว่า นโยบายใหม่ด้านการคลังของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญและควรจะทำ เพราะผลตอบแทนในเรื่องการบริโภคเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ธนาคารรัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการภาษีที่รัฐบาลออกมานั้น รศ.ดร.ภาณุพงศ์เห็นว่า ต้องระมัดระวัง เพราะจะเสี่ยงต่อการขาดดุล และการลดภาษีชั่วครั้งชั่วคราวแค่สามปี ผลที่ได้จะมีไม่มากเท่ากับมาตรการถาวร


 


ต่อปัญหาเงินเฟ้อนั้น เขากล่าวว่า เวลาเราห่วงเรื่องเงินเฟ้อและเข้าไปตรึงราคาน้ำมัน แต่มันเป็นเพียงแค่มาตรการชั่วครั้งชั่วคราวและทำให้คนมีนิสัยเคยตัวว่าต้องมีคนคอยช่วยเรื่อยไป และเห็นว่า อาจจะต้องให้อัตราแลกเปลี่ยนมีบทบาทมากขึ้น และถ้ายอมให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจริง ๆ


 


รศ.ดร.ภาณุพงศ์กล่าวว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ถ้าเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือค่าเงินบาทที่แท้จริง เงินก็จะแข็งค่าขึ้น แต่บางครั้งการที่เราพยายามปกป้องผู้ส่งออก มันก็จะมีปัญหากลุ่มอื่นตามมา เช่น เราอาจจะคิดว่าเติบโตได้จากผู้ส่งออก แต่จริง ๆ แล้วภาคสำคัญคือผู้บริโภค ทั้งที่ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ส่งออกก็สามารถปรับตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจ


 


"ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเข้าไปแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า ก็มากขึ้นด้วย ซึ่งการแทรกแซงนี้มันสวนทางกับค่าเงิน" เขากล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่อัตราค่าเงินแข็งค่าขึ้น แต่การเจริญเติบโตไม่ได้ลดลง แสดงว่ามีปัจจัยอื่นๆ มาเสริมอยู่ พร้อมกับเสนอว่า ต้องจับตาเรื่องการผันผวนของค่าเงินบาท และเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา


 


รศ.ดร.ภาณุพงศ์ ทิ้งท้ายถึงนโยบายเศรษฐกิจว่า อย่าบิดเบือนแนวโน้มของโลก อย่าขวางโลก อะไรจะเป็นไปก็ให้มันเป็นไป ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ที่สำคัญคือ ถ้าผู้กำกับนโยบายสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ อย่างน้อยนโยบายก็จะมีประสิทธิภาพ


 


 


กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีสติ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ


ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาหลักในเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีปัญหาจากกรณีซับไพรม์ในสหรัฐ (ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ) ปัญหาความความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ปัญหาราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ ว่าเศรษฐกิจโลกนำมาสู่โจทย์ของเศรษฐกิจไทย


 


ทั้งนี้ เมื่อสหรัฐอเมริกามีปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ จะได้รับผลกระเทือนอย่างไร ซึ่งในอดีตเชื่อว่า ประเทศต่างๆ ในโลกจะได้รับผลกระเทือนจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไปด้วย แต่ระยะหลังมีแนวคิดเรื่อง "Decoupling" (การลดการอ้างอิง, ภาวะที่สองสิ่งไม่เกี่ยวข้องกัน, การเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งไม่กระทบอีกสิ่งหนึ่ง) ที่เชื่อว่า แนวโน้มปัญหาอาจจะไม่ได้ไปด้วยกัน


 


ทั้งนี้ "Decoupling of World growth" หมายถึงการที่เศรษฐกิจโลกลดการอ้างอิงกับเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นจริง เพราะสัญญาณการเจริญเติบโตในภูมิภาคสะท้อนให้เห็นทิศทางที่ต่างกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยังพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำเข้าสูง นั่นคือ ตลาดสุดท้ายยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา


 


สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ดร.สมชัยตั้งคำถามไว้ว่า เศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้นหรือไหม ถ้าต้องการ เป็นตอนนี้หรือไม่ กระตุ้นอย่างไร และเมื่อกระตุ้นแล้ว เราจะดูแลเรื่องเสถียรภาพอย่างไร ซึ่งรัฐบาลดูจะมีคำตอบแล้ว คือเชื่อว่าต้องกระตุ้น แต่คำถามถัดมาคือ สถานการณ์มันย่ำแย่ถึงขั้นนั้นหรือยัง


 


ดร.สมชัยชี้ว่า รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมอีกครั้งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้วางนโยบายขาดดุลเอาไว้ 2.2% เมื่อเปรียบเทียบแล้ว การวางขาดดุลในระดับนี้ถือว่าเทียบเท่ากับสมัยวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสงสัยว่า เวลานี้ประเทศไทยเศรษฐกิจแย่เหมือนตอนวิกฤตเศรษฐกิจเลยหรือ และมีความจำเป็นอย่างไรต้องตั้งไว้เช่นนี้


 


ดร.สมชัย แสดงความกังวลถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เขาเสนอว่า นโยบายมหภาคที่ควรจะเป็น คือ ควรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีสติ ไม่หวังผลการเมืองมากเกินควร และควรให้ความสำคัญกับเรื่องโครงสร้างการเจริญเติบโต และในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้น ควรทำอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล


 


 


มุ่งเป้าเติบโตระยะยาว พัฒนาเชิงโครงสร้าง


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี decoupling หรือการลดการอ้างอิงภาวะเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาว่า มีสองส่วนต้องพิจารณา คือ ภาคการค้า และภาคการเงิน ซึ่งเขาเชื่อว่า ทฤษฎี decoupling ใช้ได้อย่างชัดเจนกับภาคการค้าของประเทศไทย ขณะที่ภาคการเงินนั้นไม่


 


ทั้งนี้ เพราะในภาคการค้า ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคสามารถพึ่งพิงซึ่งกันและกันได้ แต่เหตุที่ภาคการเงินยังติดกับการอ้างอิงตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น เพราะระบบการเงินของโลกเป็นระบบที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้น เงินดอลลาร์เป็นสกุลสากล และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้แม้สหรัฐอเมริกาจะขาดดุลอย่างมหาศาลแต่ก็ยังสามารถอยู่ได้ เพราะระบบการเงินที่ตัวเองสร้างไว้


 


ดังนั้น ความผันผวนของภาคการเงินจึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่าเมืองไทยจะบริหารอย่างไร ซึ่งโครงสร้างที่ผ่านมา ประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกสินค้าและบริการถึงร้อยละ 70 ของ GDP ซึ่งยิ่งเราพึ่งพาการส่งออก เรายิ่งเจอความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก


 


ดร.เอกนิติเห็นว่า สิ่งสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรที่จะเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ในระยะสั้น ปัญหาที่เป็นโจทย์หนักในเวลานี้ คือเรื่องเงินเฟ้อ และราคาสินค้าและน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และปัญหาที่เรากำลังจะเผชิญมากขึ้น คือ ภาวะการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม


 


ดร.เอกนิติมองว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อผลในระยะยาว คือ การแก้ปัญหาเรื่องโอกาสในการเข้าถึงและพัฒนาคุณภาพ การศึกษา และสาธารณสุข ต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องมีโครงสร้างด้านกฎหมายที่ชัดเจน ทำให้ทุกคนอยู่ในกฎระเบียบเดียวกัน


 


 


เสริมความมั่นใจ เพิ่มการลงทุน


ดร.อัศวิน อาฮูยา ฝ่ายกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ ที่เขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า ต้องทำเป้าหมายการเงินแล้วไปคุยกับรัฐบาล เพราะถ้าเป้าหมายสอดคล้องกันมันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะทำงานขัดขากัน


 


เขากล่าวถึงเรื่องค่าเงินว่า เมื่อดูดัชนีค่าเงินบาท มันไม่ได้แข็งขึ้นไปถึงระดับที่เกินเหตุ แต่จะพบปัญหาค่าเงินเพราะการไหลเข้าไหลออกไม่สมดุล และคงสมดุลยากเมื่อดูจากแนวโน้มโลก ซึ่งเงินไหลเข้าส่วนใหญ่ของเรามาจากสหรัฐ ทั้งนี้ เรื่องค่าเงินไม่มีความแน่นอน แต่ค่าเงินดอลลาร์คงจะแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งนโยบายรัฐที่ทำไปแล้วคือ การเอื้อให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ


 


สำหรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย เขากล่าวว่า เราคงต้องหันมามองว่าทำไมเราไม่เห็นการลงทุนในประเทศที่สูงพอที่จะทำให้การเจริญเติบโตในประเทศสูงขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องความไม่มั่นใจในภาครัฐในอดีต ซึ่งควรต้องลดความไม่แน่นอนในนโยบายภาครัฐ และเพิ่มความมั่นใจว่าสามารถจัดการได้


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net