Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา : เรียบเรียง


 



 


เป็นที่รับรู้กันดีว่า ภาครัฐได้มีความพยายามเคลื่อนไหวผลักดันร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....กันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงขณะนี้ มีรายงานว่าทางกระทรวงทรัพยากรฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.ไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกๆ ของการประชุมสภาฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ค.นี้


 


กระนั้น ยังมีสื่อหลายฉบับพยายามหยิบประเด็นกฎหมายน้ำมานำเสนอ เนื่องจากถือว่าเรื่อง "น้ำ" เป็นเรื่องสำคัญใกล้ตัวที่เราควรรู้และติดตาม


 


วารสาร "ผู้ไถ่" ก็เป็นสื่ออีกฉบับหนึ่งที่นำเสนอข่าวสารสิ่งแวดล้อม ได้ตีพิมพ์บทความ "ในน้ำมีประปา ในนามีมิเตอร์ กฎหมายน้ำ: เมื่อรัฐคิดจะแปรน้ำเป็นสินค้า" ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ความเห็นของ "มนตรี จันทวงศ์" จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.น้ำ อย่างละเอียดชัดเจน โดยบอกย้ำว่า ทำไมน้ำต้องกลายเป็นสินค้า ทำไมน้ำต้องเป็นสมบัติของรัฐ ทำไมกรมทรัพยากรน้ำจึงพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายน้ำ ผลกระทบจะเกิดกับใครบ้าง และจะมีทางออกที่เหมาะสมและเป็นธรรมได้อย่างไร!?


 


"ประชาไท" จึงขออนุญาตนำบทความดังกล่าวมาเรียบเรียงนำเสนอตรงนี้ชัดๆ อีกครั้ง


 


ย้อนรอยเส้นทางกฎหมายน้ำ :


การแปรรูปน้ำเป็นสินค้าของรัฐไทยที่ยอมค้อมเชื่อฟังข้อเสนอทุนต่างชาติ


 


หากเราไล่เรียงดูเส้นทางของการผลักดัน พ.ร.บ.น้ำ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า กฎหมายน้ำ นั้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ยกร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ขึ้นมา แต่เกิดติดขัดหลายเหตุหลายประการจึงทำให้กฎหมายนี้ยังออกไม่ได้


 


กระทั่งมีการผลักดันกันมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อไทยได้รับเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า รัฐบาลไทยต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ โดยออกกฎหมายน้ำเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ในการจัดการน้ำ ให้มีการคิดราคาค่าใช้น้ำ


 


หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า...ต้องการเปลี่ยนคุณค่าของ "น้ำ" ในฐานะที่เป็น "ทุนทางสังคม" ให้กลายเป็น "สินค้าทางเศรษฐกิจ" สุดท้ายคือ การนำไปสู่ "การแปรรูปน้ำ" ทำให้น้ำกลายเป็นสินค้ามีราคา มีต้นทุนนั่นเอง แต่ความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายน้ำของภาครัฐในขณะนั้น ได้ถูกภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนต่อต้านคัดค้านมาโดยตลอด


 


ต่อมาปี 2546 กรมทรัพยากรน้ำ ได้นำร่างกฎหมายน้ำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ และได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการยกร่างฯ จนสำเร็จ แต่ยังไม่ทันได้ผลักดันเข้าสู่สภานิติบัญญัติ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือ การยุบสภาของรัฐบาลทักษิณ 2 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ประเทศไทยจึงได้รัฐบาลชั่วคราว นำโดย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา กรมทรัพยากรน้ำจึงถือโอกาสผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550


 


ซึ่งมติ ครม.ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.น้ำ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ในวันที่ 24 ต.ค.ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญประชุมเร่งให้ร่างกฎหมายนี้เสร็จเข้าวาระการประชุมในวันที่ 16 ธ.ค.2550 แต่ในช่วงขณะนั้นเกิดการประท้วงของกลุ่มเอ็นจีโอ นำโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในขณะนั้น ได้เรียกร้องให้ สนช.ยุติการพิจารณาผ่านกฎหมายต่างๆ เอาไว้ก่อน เพื่อให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


 


ล่าสุด, มีการคาดการเอาไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกๆ ของการประชุมสภาฯ ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ แน่นอนว่า ย่อมทำให้ภาคประชาชนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณา ต้องออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกันอีกครั้ง


 




 


เหตุผลทำไมเกษตรกรไทยถึงต้องต้าน พ.ร.บ.น้ำ


 


นายมนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เปิดเผยเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า กฎหมายน้ำจะให้อำนาจสิทธิขาดในการจัดการน้ำแก่กรมทรัพยากรน้ำ สามารถเรียกเก็บค่าใช้น้ำได้ทั้งประเทศ เพราะ "กฎหมายน้ำประกาศให้น้ำเป็นของรัฐทั้งหมด"


 


โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้แบ่งประเภทการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท คือ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ไม่ต้องขออนุญาตใช้น้ำ เพราะเป็นการใช้น้ำเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต และมีปริมาณเล็กน้อย เช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตรแบบยังชีพ หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน การใช้น้ำประเภทที่ 2 ต้องขออนุญาตคณะกรรมการลุ่มน้ำ เช่น เกษตรเพื่อพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และการใช้น้ำประเภที่ 3 ต้องขออนุญาตคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพราะมีปริมาณมากหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อดูการจัดแบ่งประเภทการใช้น้ำทั้ง 3 ประเภทนี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายน้ำจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ จะยิ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลียงไม่ได้!!


 


"เรื่องนี้เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภาคเกษตรกรโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมมีคนใช้เครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทำนาปรัง สิ่งที่เขาเสียอยู่แล้ว คือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องสูบน้ำ ค่าน้ำมันหรือค่าไฟฟ้า ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สิ่งที่จะต้องเสียเพิ่มขึ้นคือ ต้องขออนุญาต เสียค่าใบอนุญาตไม่เกิน 1 หมื่นบาท ทีนี้พอสูบน้ำ กฎหมายบังคับให้ผู้ใช้น้ำต้องติดมาตรวัดปริมาณน้ำ คือ คุณสูบน้ำมา คุณต้องติดมิเตอร์ เพื่อจะรู้ได้ว่าใช้ไปตามที่ขออนุญาตจริงหรือเปล่า คือ ต้นทุนของชาวไร่ชาวนาจะเพิ่มขึ้นแน่นอน..."


 


"และประเด็นที่สำคัญคือ ภาคเกษตรกรรมไม่สามารถผลักภาระนี้ไปให้กับผู้บริโภค หรือในราคาพืชผลทางการเกษตรได้ ไม่เหมือนกับผู้ใช้น้ำรายอื่นในภาคอุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยวอย่างรีสอร์ท ซึ่งต้องซื้อน้ำเหมือนกัน แต่การเสียค่าใบอนุญาต เขาสามารถผลักภาระนี้ไปยังผู้บริโภคได้โดยตรง"


 


เผย พ.ร.บ.น้ำ รัฐผลักภาระค่าน้ำไปยังบริโภค เพิ่มค่าน้ำดิบในบิลค่าน้ำประปา


นายมนตรี ยังชี้ให้เห็นโดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เมื่อรัฐได้ผลักภาระค่าน้ำไปยังผู้บริโภคด้วย ว่า การประปานครหลวงไปผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง จาก จ.กาญจนบุรี มาทำน้ำประปาฝั่งตะวันตก ซึ่งการประปานครหลวงต้องจ่ายค่าน้ำดิบให้กรมชลประทานคิวละ 50 สตางค์ ซึ่งหลังจากโครงการนั้นมา ในบิลค่าน้ำประปาของการประปานครหลวง นอกเหนือจากค่าน้ำ ค่ารักษามิเตอร์ ยังมีค่าน้ำดิบเข้ามาด้วย


 


"ค่าน้ำดิบ ก็คือ ค่าน้ำที่ไปจ่ายให้กับกรมชลประทาน ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า กิจการพวกนี้สามารถผลักภาระมายังผู้บริโภคได้ แต่สำหรับเกษตรกรแล้ว ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผลักไปไหนไม่ได้ ต้องรับผลกระทบเรื่องนี้ และจะกระทบในวงกว้าง ทั้งเกษตรกรที่ใช้น้ำ ที่เป็นบุคคล หรือที่รวมกลุ่มกันใช้ หรือรวมกลุ่มกันตามวัฒนธรรมประเพณีอยู่แล้ว"


 


กฎหมายน้ำ...อำนาจที่จะนำไปสู่การคอรัปชั่น!!


ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำได้อ้างถึงวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายน้ำ ว่า เพื่อให้มีเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำ และมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำ ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงน้ำ เพื่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม


 


หาก นายมนตรี กลับชี้ให้เห็นว่า กฎหมายน้ำออกมาแล้วจะทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพโดยการคิดค่าใช้น้ำนั้น มันจะไม่ตอบคำถามนี้ แต่ตอบคำถามเรื่องอำนาจของกรมทรัพยากรน้ำที่จะเก็บค่าน้ำจากชาวบ้าน มีอำนาจบริหารเงิน คือเงินจากการเก็บค่าใช้น้ำ เขาจะตั้งเป็นกองทุน กองทุนนี้กฎหมายบอกว่า ไม่ต้องส่งกระทรวงการคลัง ให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาต่างหากดูแล โดยกรมทรัพยกรน้ำจะเป็นเลขาฯ


 


"เรื่องนี้ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ซ่อนอยู่ข้างในโดยเอาตรรกะที่บอกว่า ใช้น้ำไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น การคิดค่าใช้น้ำจะทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งมันไม่จริง แต่มันกลายเป็นอำนาจของกรมน้ำ และกรมน้ำ ก็มีงบประมาณอีกก้อนหนึ่งที่ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน เป็นภาษีน้ำอีกก้อนหนึ่ง แล้วกรมน้ำ ก็มีอำนาจมากที่จะบริหารเงินก้อนนี้ ซึ่งผมคิดว่าราชการเขาชอบ เหมือนกับเงินหวยสมัยอดีตนายก ทักษิณ ที่ได้มาแล้วไม่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง แล้วก็เอาไปบริหารเอง เป็นทุนการศึกษาอะไรแบบนั้น ฝ่ายนักการเมืองก็ชอบ ข้าราชการก็ชอบ แล้วใบอนุญาตก็ไม่ได้ให้ตลอดชีวิต เป็นชั่วคราว ต้องต่อกันอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้กี่ปี"


 


นายมนตรี กล่าวย้ำอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่า เมื่อกฎหมายนี้ออกมาจริง ก็จะให้อำนาจกรมทรัพยากรน้ำมหาศาล มันเป็นช่องทางในการเลือกปฏิบัติ ในการพิจารณาว่าใครจะต้องขออนุญาต ใครควรได้รับการยกเว้น


 


"คือ กฎหมายเขียนว่า การใช้น้ำแบบไหนที่ต้องขออนุญาต การใช้น้ำแบบไหนไม่ต้องขออนุญาต ต้องเสียค่าใบอนุญาตไม่เกิน 10,000 บาท หรือใช้มากกว่านั้นเสียค่าใบอนุญาตไม่เกิน 50,000 บาท เรื่องนี้จะเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจของตนเอง ถ้าการดูแลไม่ทั่วถึงก็จะนำไปสู่การคอรัปชั่นได้"


 




 


กฎหมายน้ำ...กับความไม่เป็นธรรมในการใช้น้ำ


ในขณะที่เรื่องของการเก็บค่าใช้น้ำ กรมทรัพยากรน้ำได้ชี้แจงว่า ต้องการเน้นให้ผู้ใช้น้ำเห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ


 


แต่นายมนตรี ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า มันอาจจะเป็นเรื่องถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ อาจจะมีเครื่องมือหลายแบบ และจริงหรือไม่ที่เกษตรกรใช้น้ำฟุ่มเฟือย เราไม่เคยบอกว่า คนในเมืองใช้น้ำฟุ่มเฟือย


 


"อย่างเช่น เอาง่ายๆ อัตราการใช้น้ำประปา โดยถัวเฉลี่ยที่เขาคิดกัน ถ้าเป็นต่างจังหวัดให้ที่ 50 ลิตรต่อคนต่อวัน ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ๆ ให้ที่ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน แต่ทำไมไม่มีใครตั้งคำถามว่า...ที่ตั้งมา 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ไม่เป็นการฟุ่มเฟือยหรือ กลายเป็นความชอบธรรมว่าคนกรุงเทพฯ ใช้ได้ 200 ลิตร แต่คนต่างจังหวัดใช้ได้ 50 ลิตร พอคนต่างจังหวัดใช้เกินมาเป็น 100 ลิตร บอกว่าฟุ่มเฟือยแล้ว เป็นการนำตัวเลขการใช้ปัจจุบันมาตั้งมาตรฐานแล้วให้คนยอมรับ แต่ทำไมไม่ตั้งคำถามว่า...การใช้น้ำในกรุงเทพฯ ฟุ่มเฟือยบ้าง ต้องตั้งมาตรฐานเดียวกันที่ 50 ลิตร ถ้าใช้เกิน 50 ลิตร คุณต้องเสียค่าน้ำในอัตราก้าวหน้า แต่ก็ไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ พอในภาคเกษตรกรรมเอาน้ำไปปลูกข้าว ไปใช้ในภาคเกษตรกรรมในปริมาณที่มา ความรู้สึกว่าใช้น้ำฟุ่มเฟือยเพราะใช้น้ำปริมาณเยอะ แต่คุณค่าของการผลิตในภาคเกษตรกรรม เราจะมาบอกว่าฟุ่มเฟือย จะเหมารวมแบบนั้นไม่ได้"


 


ชี้หากเลือกปฏิบัติ จะเกิดการแย่งชิงน้ำ


และท้ายสุด, กฎหมายน้ำจะทำลายภาคเกษตรกรรม


เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ยังกล่าวอีกว่า เป็นห่วงเรื่องการเลือกปฏิบัติ เพราะกรมทรัพยากรน้ำมีเจ้าหน้าที่อยู่แค่ 1,000 กว่าคน ซึ่งอาจจะเริ่มในบางพื้นที่ก่อน แล้วเงื่อนไขของการขอใบอนุญาตใช้น้ำ การเก็บค่าน้ำจะเป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ไปเลือกปฏิบัติ


 


"แล้วเกษตรกรก็จะมีปัญหาถูกเลือกปฏิบัติ คือ พูดในที่อาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตแต่เสียเงินใต้โต๊ะมา ระบบแบบนี้เราอาจบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นร้อนเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเลือกปฏิบัติ และถ้าเก็บค่าใช้น้ำขึ้นมาจริง เกษตรกรจะอยู่ไม่ได้ นี่เป็นการทำลายภาคเกษตรกรรมของเราไปเลย ปัญหาแย่งชิงน้ำก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น...ปัญหาเรื่องน้ำแก้ได้ คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้พอเพียงแค่ชาวบ้าน เกษตรกร ภาคเมือง ภาคอุตสาหกรรมต้องรู้จักพอเพียงด้วย ชี้แต่ว่าชาวบ้านต้องพอเพียงๆ แต่ว่าอัตราการใช้น้ำในเมืองก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมจบ อัตราการใช้น้ำในนิคมฯ มาบตาพุดก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วแบบนี้จะไปพอเพียงได้อย่างไร...ปัญหาจึงเป็นปัญหาการจัดสรรน้ำไม่เป็นธรรม ไปจำกัดอยู่เฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่ในภาคเมืองกับภาคอุตสาหกรรมไม่ได้จำกัด คือ ใช้ไปเถอะ ใช้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น การแย่งชิงน้ำ มันไม่หมดไปหรอก ถ้าการจัดสรรน้ำไม่มีความเป็นธรรมแบบในปัจจุบัน"


 


ตอนต่อไป...เราจะพูดถึงเรื่อง "พ.ร.บ.น้ำ กับสงครามการแย่งชิงน้ำและจะมีทางออกในการจัดการน้ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมได้อย่างไร!?


 


 


 ....................................................


ที่มาข้อมูล: วารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับที่ 76 ม.ค.-เม.ย.2551


 


 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


เสียงเกษตรกรเหนือ "ต้องค้าน พ.ร.บ.น้ำ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ- ขัดวิถีชาวบ้าน- เอื้อประโยชน์นายทุน"


ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ ผลประโยชน์ใคร?


เมื่อน้ำมีราคา เมื่อนามีมิเตอร์ หาก "พ.ร.บ.น้ำ" ผ่าน


รายงาน : ฟังเสียงเกษตรกร "หากในน้ำมีราคา ในนามีรัฐคอยควบคุม"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net