Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยืนยันตามคำตัดสินของ กกต. พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช 5 ปีและให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เชียงรายใหม่ 1 คน แทนนางสาวละออง ติยะไพรัช  พรรคพลังประชาชน


 


สำหรับขั้นตอนหลังจากศาลฎีกามีมติเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชนนั้น ศาลจะส่งคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และปิดประกาศคำพิพากษาต่อไป ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนว่า เข้าข่ายต้องยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 หรือไม่ โดยต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ


 


คดีนี้ศาลได้สอบปากคำพยานฝ่าย กกต.ไปทั้งหมด 3 ปาก นำโดยนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนันตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่อ้างว่าได้รับเงินจากนายยงยุทธ ขณะเดียวกันศาลสอบปากคำพยานฝ่ายโจทก์ไปทั้งหมด 9 ปาก อาทิ นายยงยุทธ นางสาวละออง นายตำรวจติดตามของนายยงยุทธ หัวหน้าชุดสืบสวนคดีดังกล่าว และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ขณะที่บรรยากาศทั่วไป มีประชาชนให้ความสนใจมารับฟังการอ่านคำสั่งศาลคดีทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธเป็นจำนวนมาก


ตามคำตัดสินของศาลได้กล่าวถึงหลักฐานเป็นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ที่กลุ่มกำนันใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำประกาศของศาล คือนายยงยุทธ ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค โดยมีนายบรรจง ยืนยง เป็นผู้ติดต่อและออกเงินให้


ศาลเชื่อว่ามีการให้เงินหรือเอื้อประโยชน์กลุ่มกำนันเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามคำร้อง แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่า หลังจากกลุ่มกำนันได้พบกับผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว กลุ่มกำนันได้ไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ในการช่วยเหลือในการหาเสียง หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ ผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกกลุ่มกำนันในพื้นที่ถึง 10 ตำบล ไปพบเพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเล็งเห็นแล้วว่า กลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นผู้นำหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้าน สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชน และสมาชิกพรรคที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ โดยการชักจูงให้ลูกบ้านช่วยเหลือสนับสนุนพรรคพลังประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเชื่อได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 และพรรรคพลังประชาชน ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างไม่
       
กรณีที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 เนื่องจากขณะที่มีการกระทำดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ยังไม่มีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ศาลเห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว มิได้หมายความแต่เพียงว่า ผู้นั้นได้กระทำการอันฝ่าฝืนที่กฎหมายกำหนดในขระที่ตนเองมีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แม้ในขณะที่กระทำการดังกล่าว ผู้ร้องยังมิได้มีการประกาศรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีประกาศสมัครรับเลือกตั้งแล้ว และผู้นั้นยังมิได้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม หากการที่กระทำไปได้กระทำภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และต่อมา ผู้นั้นได้สมัครรับเลือกตั้งก็ถือได้ว่า การที่กระทำไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมในที่สุดแล้ว ก็เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง


นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนก็ถูกห้ามด้วย เพราะการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใดผู้หนึ่งหรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาก่อนที่จะมีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดที่ 1 พรรคพลังประชาชน การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงถือว่า เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งอันต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ในประเด็นข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
       
ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้ขณะที่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 จะยังมิได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกให้กลุ่มกำนันไปพบและขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ 2 ดังกล่าว เป็นการแจ้งให้กลุ่มกำนันทราบล่วงหน้าว่า ผู้คัดค้านที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการขอความช่วยเหลือดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแล้ว แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการดังกล่าวก็ตาม


แต่การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าว ย่อมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพลังประชาชน และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนโดยตรง อันมีผลทำให้การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และแม้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 มากกว่าผู้สมัครพรรคการเมืองคู่แข่งถึง 13,469 คะแนนก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเสียแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่อาจถือเอาคะแนนเสียงที่ได้รับมาเป็นข้ออ้างเพื่อมิให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 และการกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดเชียงราย มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามคำร้องของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น กรณีจึงต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่จำนวน 1 คน แทนนางสาวละออง ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 2 ตามบทบัญญัติมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550


ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งอ่านพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 18.05 .ที่พรรคพลังประชาชน รท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชนกล่าวว่า ในวันนี้การประชุมพรรคได้มีการพูดคุยเพื่อเตรียมพร้อมรับคำตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ที่หากยืนตามมติ กกต.อาจนำไปสู่การทำให้คณะกรรมการบริหารพรรค 37 คน ต้องถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ซึ่งผลก็คืออดีตรองหัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ทางพรรคก็เคารพคำตัดสินตัดสินของศาล และเคารพในกติกาตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น


รท.กุเทพ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมพรรคได้มีการพูดคุยกันถึงภาวะปัจจุบันที่ไม่มีความแน่นอนมั่นคง ความยากลำบากของพรรคที่มายืนอยู่ในฐานะพรรครัฐบาล และที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องประสบกับปัญหามาโดยตลอด แต่ถึงอย่างไร สมาชิกพรรคก็พร้อมจะเผชิญหน้าและจับมือกันต่อสู้ปัญหาด้วยการเดินหน้ากระบวนการขอความเป็นธรรมในทุกขั้นตอนต่อไป


ทั้งนี้ รท.กุเทพได้กล่าวให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลในการทำงานเพื่อเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าระยะเวลาทางการเมืองที่เหลือจะมีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม


ส่วนการชี้แจงของนายยงยุทธ ติยะไพรัชนั้น รท.กุเทพ กล่าวว่านายยงยุทธยังไม่พร้อมให้สัมภาษณ์เนื่องจากต้องเตรียมข้อมูลหลักฐาน


นอกจากนี้ รท.กุเทพได้กล่าวถึงท่าที่ของพรรคพลังประชาชนต่อการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาเสนอระบอบการเมืองใหม่ ว่า ทางพรรคไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นระบอบการเมืองที่อัปลักษณ์ และไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นการเรียกร้องในเชิงที่เป็นกบฏ มุ่งยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ใช่อารยะขัดขืนตามที่ได้กล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ให้ออกมาแสดงท่าทีต่อระบอบการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ว่าจะยอมรับได้หรือไม่


 

มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550


ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา


 


ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้า พรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้ เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหาร พรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง


 

หมายเหตุ แก้ไขเพิ่มเติมเวลา 22.23 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net