Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม


หลายปีที่ผ่านมา ลำไย-พืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกโดยรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2519 มีราคาลำไยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรผู้ปลูกลำไยต้องประสบภาวะขาดทุน และมีหนี้สินตามติดมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2546 หลังจากที่รัฐบาลไทยทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน นอกจากพืชผลทางการเกษตรหลายตัวในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบราคาตกฮวบอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากมีพืชเกษตรของประเทศจีนที่สามารถเพาะปลูกเพื่อการส่งออกได้ในปริมาณมากกว่าไทย บุกเข้ามาตีตลาดขายในราคาถูกกว่า เช่น หอม กระเทียมแล้วนั้น

การเปิดค้าเสรีอย่าง "ซื่อๆ" ของรัฐบาลไทย ยังสร้างปัญหามากมายให้กับเกษตรกรรายย่อยในประเทศ เช่นเดียวกับกรณีเกษตรกรสวนลำไย ที่อาจเคยหวังว่าตลาดเสรีจะเปิดโอกาสให้ขายลำไยได้ราคาดีและมากขึ้นกลับไม่จริง เพราะปริมาณผลผลิตลำไยสดที่มากมายเกินกว่าความต้องการภายในประเทศจะรับไหวนั้น ถูกสับราคาเละโดยพ่อค้าคนกลางทุนหนาทั้งไทย จีน ซื้อไปทำลำไยอบแห้งสต็อกไว้เก็งกำไรต่อแบบสบายใจเฉิบ ปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยปากอ้า ตาลอย พูดไม่ออกกับภาวะขาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างแทบ "ไม่มีทางไป"


ตลาดเสรีเพื่อคนกลุ่มน้อยขาใหญ่

ทั้งนี้ นโยบายรัฐที่ส่งเสริมให้ปลูกลำไยเพื่อการค้าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้กับเกษตรชาวสวนผู้เป็นฐานรากของการผลิตวัตถุดิบลำไยได้อย่างกระท่อนกระแท่น ทั้งๆ ที่ลำไยน่าจะเป็นพืชที่เกษตรกรได้ประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับสวนทาง ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2547 พบว่า ก่อนและหลังมีเอฟทีเอ การส่งออกผักขยายตัว 79% และผลไม้ 41% สาเหตุหลักเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างมากของการส่งออกผักในกลุ่มมันสำปะหลัง และการส่งออกเพิ่มขึ้นในผลไม้เมืองร้อนจำพวก ลำไยสด ทุเรียนสด และมังคุด ขณะเดียวกัน การนำเข้าผักขยายตัวเพิ่มขึ้น 147% และการนำเข้าผลไม้ขยายตัว 142% โดยสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง ได้แก่ กระเทียม เห็ดแห้ง แครอท และผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และควินซ์ เป็นต้น1

ที่ผ่านมา การเปิดประตูการค้าเสรีไทย-จีน ไม่ได้เพิ่มทางเลือกในการแข่งขันสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ หรือช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองราคาสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรไทยแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ระดับราคาสินค้าเกษตรที่มีขึ้น-มีลง ตามปริมาณผลผลิตในท้องตลาดก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนชนิดคอขาดบาดตายให้กับพ่อค้าคนกลาง และนายทุนเงินหนาผู้รับซื้อลำไยมากนัก เพราะอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็มีวิธีได้กำไรจากส่วนต่างการซื้อ-ขาย แม้จะเป็นกำไรที่น้อยลงก็ตาม แต่สำหรับเกษตรกรสวนลำไยรายเล็กรายน้อยแล้ว มีอำนาจในการต่อรองราคาซื้อ-ขาย น้อย ทำให้ประสบภาวะขาดทุน มีหนี้สินท่วมตัว และหลายรายหมดตัวกลายเป็นเกษตรไร้ที่ดินในที่สุด

สุพาณี ธนีวุฒิ นักวิจัยอิสระ ผู้วิจัยกรณีศึกษาลำไย ผลกระทบการค้าเสรีและการผูกขาดตลาดสินค้าเกษตร2 กล่าวว่า ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน แม้ว่าประเทศจีนจะปลูกลำไยเองได้ แต่ลำไยไทยที่ส่งเข้าไปขายยังสามารถขายได้ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการขายให้ตลาดผู้ซื้อที่ค่อนข้างมีอันจะกิน ทั้งนี้เพราะ คุณภาพลำไยของจีนกับลำไยไทยแตกต่างกัน แม้ไม่ต่างโดยสิ้นเชิงแต่ก็ถือว่าสินค้าลำไยที่มาจากประเทศไทยมีคุณภาพที่ดีกว่า ยกตัวอย่างกรณีลำไยสด เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าลำไยจีนจะมีเปลือกหนา และมีน้ำแฉะมากกว่าลำไยไทย


อย่างไรก็ตาม ตลาดใหญ่ของลำไยไทยในประเทศจีน ในความเป็นจริงไม่ใช่ลำไยสด แต่เป็นลำไยอบแห้ง ซึ่งมีการอบแห้ง 2 แบบ คือ อบทั้งเปลือก และอบแบบแกะเปลือกแกะเมล็ด หรือเรียกว่าลำไยสีทอง ทั้งนี้ ลำไยสดไม่ได้รับความนิยมเพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาการขนส่งที่ไม่สามารถส่งตรงจากไทยเข้าไปขายให้ผู้บริโภคในจีนได้ ต้องรอผ่านกระบวนการส่งออกซ้ำ (re-export) ที่ท่าเรือของเมืองใหญ่ๆ เช่น ฮ่องกง หรือเมืองท่าอื่นๆ ที่อยู่บริเวณขอบประเทศจีน และแน่นอนว่าในระหว่างที่รอการส่งออกซ้ำเพื่อเข้าไปขายยังตลาดภายในของจีน คุณภาพของลำไยสดย่อมลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ลำไยแบบแห้งไม่ต้องกังวลเรื่องระยะเวลาในการขนส่ง เพราะไม่ได้นำไปบริโภคเป็นอาหารมื้อ แต่เอาไว้ให้เป็นของขวัญที่มีค่าในวันสำคัญ เช่น วันตรุษจีน หรือใช้ลำไยแห้งเป็นส่วนผสมในเครื่องยาอายุวัฒนะของจีน เป็นต้น


"เราคาดหวังกันว่าถ้าเปิดเสรีแล้ว ลำไยจะเข้าไปขายในตลาดใหญ่ของจีนได้ แต่เมื่อพูดถึงตลาดจีนต้องพูดให้แคบลงมาว่าใครกันแน่ที่มีกำลังซื้อ เพราะลำไยไม่ใช่ข้าว ไม่ใช้สินค้าที่จะนำมาบริโภคเป็นอาหารในแต่ละมื้อ เพราะฉะนั้น ตลาดลำไยไทยในจีนที่บอกว่าเป็นตลาดใหญ่ แท้จริงก็ไม่ใช่ แต่เป็นตลาดที่เกาะกลุ่มกับผู้ที่มีกำลังซื้อซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ไม่ได้หมายถึงประชากรจีนทั้งประเทศที่อยากจะบริโภคลำไย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับการส่งลำไยเข้าไปขายในจีน คือ ลำไยสดมีคุณภาพลดลงเพราะประสบปัญหาระบบการขนส่งที่ล่าช้า, มาตรการภาษีท้องถิ่นของจีน, การออกใบอนุญาตทางการค้ากับประเทศจีนอีกด้วย ที่ไม่ได้ออกให้กับผู้ค้ารายย่อยได้ง่ายๆ" สุพาณี กล่าว


สุพาณี กล่าวเสริมว่า ตลาดลำไยในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว เพราะผลิตได้เกินความต้องการ แต่การเปิดเสรีไทย-จีน โดยเอาลำไยไทยเข้าไปขายก็ไม่ได้ช่วยเกษตรรายเล็ก เพราะแท้จริงนั้นตลาดลำไยไทยในจีนส่วนใหญ่ไม่ใช่ลำไยสด แต่เป็นลำไยแห้ง ซึ่งเมื่อมีผลผลิตลำไยล้นตลาดในประเทศไทย ก็มีพ่อค้า หรือทุนใหญ่มาซื้อลำไยสดเอาไปอบแห้งสต็อกเก็บไว้ขายต่อในจีน


"หากแก้ปัญหาการสต็อกสินค้าลำไยกับทุนรายใหญ่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำให้กับเกษตรกรระดับรายย่อยได้ ในวันนี้สภาพการณ์ตลาดลำไยไทยแทบจะผูกขาดทั้งหมดโดยทุนรายใหญ่ที่มีไม่กี่ราย และทุนใหญ่นี้ก็ล้วนมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่มาจอง และสั่งซื้อสินค้าลำไย ด้วย ทุนใหญ่เหล่านี้รู้เวลาที่จะปล่อยผลผลิตออกมาเพื่อทำให้ชาวบ้านดีใจกับราคาขายที่ดี หรือรู้จังหวะในการทุ่มตลาดเพื่อทำให้ผลผลิตลำไยราคาตกต่ำลง แล้วจะได้ซื้อเก็บเข้าโกดังเอาไว้ทำกำไรต่อ ที่สำคัญทุนใหญ่มีปัจจัยการผลิตในมือมากพอที่จะทำให้ตลาดมันผันผวนได้ ในขณะที่รายย่อยสู้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะในแง่ของการรวมกลุ่มทำเตาอบลำไยแข่งกับพ่อค้ารายใหญ่ในรูปสหกรณ์ หรือ ขายเข้าโครงการรัฐ ที่ผ่านมาทางเลือกแบบนี้ก็ตีบตัน เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเกษตร มีไม่ถึง 20% ของผลผลิตที่รายใหญ่มีอยู่ในมือ" สุพาณี กล่าว


เปิดทางพ่อค้าจีนใหญ่โกยกำไรปลายทาง


...พินิจ ลิขิตบุญมา เจ้าของล้งรับซื้อลำไย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองอนาคตธุรกิจลำไยในปีหน้าว่าจะให้ราคาดี เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาราคาลำไยไม่ดี จนเป็นเหตุให้ชาวสวนลำไยต้องโค่นต้นลำไยไปทำฟืน หรือหันมาปลูกพืชอื่น เช่น ต้นมะม่วง แทน ดังนั้น เมื่อผลผลิตของลำไยลดลง ก็ต้องมีราคาแพงขึ้นเป็นธรรมดา เหมือนพืชผลทางการเกษตรโดยทั่วไปที่หากมีปริมาณมากราคาจะถูกลง แต่ถ้ามีปริมาณน้อยราคาก็จะแพงขึ้น


ทั้งนี้ ใน จ.ลำพูน มีล้งลำไยใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง เป็นล้งที่แบ่งแยกสาขากันชัดเจน โดยมีสายส่งไปขายในตลาดประเทศจีน โดยที่ล้งลำไยของตนนั้น ที่ผ่านมาก็ยังไม่ขาดทุน เพราะรับซื้อผลผลิตตามเวลาฤดูกาล ประมาณ12-13 ตัน/วัน แล้วนำมาร่อนคัดแยกเกรดเพื่อส่งขายต่อให้กับล้งขนาดใหญ่ของคนจีน เพื่อเอาลำไยไปอบแห้งต่อไป


ส่วนกรณีล้งลำไยบางแห่งที่ปิดตัวไปเพราะประสบปัญหาขาดทุนเรื่อยมาตั้งแต่มีการเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน นั้น นายพินิจ กล่าวว่า ล้งลำไยของคนไทย หรือ ล้งลำไยที่ได้รับเงินจากรัฐบาลมาทำแล้วเจ๊งปิดกิจการไปหลายแห่ง เป็นเพราะไม่มีตลาดส่งขายที่เมืองจีนเป็นของตัวเอง จึงต้องนำลำไยที่ซื้อมาจากสวนของเกษตรกรไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนจีนที่อยู่ในเมืองไทยอยู่ดี ในขณะที่ล้งลำไยของคนจีนที่เข้ามาร่วมหุ้นกับคนไทยในอัตราร้อยละ 49 : 51 กลับยังอยู่รอดได้ ไม่เห็นเป็นไร ทั้งนี้เป็นเพราะพ่อค้าจีนเหล่านี้มีตลาดส่งขายลำไยในประเทศจีนอยู่แล้ว โดยลำไยที่ถูกซื้อมานั้นจะทำการอบเป็นลำไยแห้งในประเทศไทยก่อน จากนั้นจึงจะส่งไปบรรจุหีบห่อที่ประเทศจีนต่อไป จะไม่เก็บกักตุนไว้ที่เมืองไทย


"ส่วนใหญ่พ่อค้าคนไทยจะขายเป็นลำไยสดต่อให้พ่อค้าจีนเอาไปอบแห้ง เพราะไม่มีกำลังลงทุนนำลำไยไปอบแห้งเอง หรือไม่มีโรงอบลำไยเป็นของตนเองเหมือนพ่อค้าจีนที่ได้เข้ามาร่วมหุ้นกับคนไทยสร้างโรงอบลำไย ทั้งนี้ หากพ่อค้าลำไยไทยจะอบลำไยก็ต้องลงทุนอีกมาก โดยการจ้างอบต้องเสียค่าอบ 2.70 บาท/.." ...พินิจ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่ารัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงตลาดลำไย ควรปล่อยให้ตลาดการค้าขายดำเนินไปอย่างเสรีอย่างแท้จริง เพราะใครก็ตามที่ค้าขายอย่างบริสุทธิ์จะไม่มีปัญหา ชาวบ้านเกษตรกรก็จะขายผลผลิต หรือสินค้าได้ราคาดี เนื่องจากมีพ่อค้าคนจีนเข้ามาแย่งซื้อของในตลาด มีการแข่งราคากันเอง เพื่อนำส่งไปขายต่อในตลาดจีน แต่ถ้าหากรัฐบาลทำการแทรกแซงราคาลำไย จะทำให้พ่อค้าจีนเกิดความลังเลใจ ไม่กล้าเข้ามาแข่งขันลงทุน หรือเข้ามาซื้อสินค้า


ด้าน สุแก้ว ฟุงฟู ผู้ใหญ่บ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กล่าวแย้งว่า สัญญาผูกมัดการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกษตรกรอยู่อย่างลำบากมากขึ้น พืชผลทางการเกษตรในประเทศราคาถูกลง เกษตรกรผู้ปลูกพืชทางการเกษตรได้รับผลกระทบเพราะมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายแข่งขันในราคาถูกมากขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีลำไยนั้น ในช่วงที่เปิดเอฟทีเอไทย-จีน มีพ่อค้าต่างประเทศเข้ามาซื้อผลผลิตลำไยมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน และไต้หวัน โดยพ่อค้าต่างชาติจะจ้างล้งลำไยของคนไทยให้เป็นนายหน้ามารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง และมีการขูดรีดราคาซ้ำเติม กดราคาผลผลิตจากเกษตรกรไทยมากขึ้นไปอีก เพราะแต่เดิมเกษตรกรสวนลำไยก็ถูกพ่อค้าคนกลางชาวไทยกดราคาอยู่แล้ว


สุแก้ว กล่าวอีกว่า พ่อค้าต่างประเทศจีน และไต้หวัน จะไม่รับซื้อลำไยจากเกษตรกรโดยตรง ส่วนเกษตรกรจะเอาลำไยไปขายต่างประเทศเองก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีทุน ไม่รู้ข้อมูลตลาด ดังนั้นเกษตรจึงไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องขายลำไยผ่านพ่อค้าคนกลาง และล้งลำไย ซึ่งพ่อค่าและล้งลำไย บางส่วนก็จะเอาลำไยสดไปขายต่อให้พ่อค้าจีนอีกทอดหนึ่ง


"ในช่วงแรกๆ พ่อค้าที่มารับซื้อลำไยจะให้ราคาดี แต่วันต่อๆ มาก็จะกดราคาลงเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ส่วนต่างกำไรมากขึ้น เมื่อพ่อค้าคนกลาง หรือล้งลำไยทำแบบนี้ มันก็ส่งผลกระทบกับพี่น้องชาวบ้านแน่นอน เพราะยังไงเกษตรกรชาวบ้านก็ต้องขายผลผลิตให้ได้ ไม่มีทางเลือกที่จะเก็บผลผลิตลำไยสดเอาไว้ สมมติว่าล้งลำไยติดป้ายรับซื้อลำไยสดเบอร์ AA ในราคา 25 บาท/.. โดยเกษตรกรขายให้แบบคัดแยกคัดเกรดใส่ตะกร้า แต่ล้งลำไยจะเอาไปร่อนคัดแยกเกรดอีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยคิดเงินให้เกษตรกรภายหลัง ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะติดป้ายราคารับซื้อลำไยเบอร์ต่างๆ เอาไว้ เกษตรกรก็ไม่รู้ว่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ เพราะล้งเอาไปคัดเกรดอีกรอบ เขาก็สามารถกดราคาลำไยกับเกษตรกรได้อีก" สุแก้ว กล่าว


ทางเลือกเกษตรกรสวนลำไยไทย ปรับสู่ตลาดทางเลือกเฉพาะกลุ่ม


สุแก้ว กล่าวว่า ตนปลูกลำไยเมื่อปี 2542 ในพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ โดยลำไยเริ่มให้ผลผลิตเพียงเล็กน้อยในปีที่ 2 ของการปลูก ซึ่งสามารถขายได้เพียง 400-500 บาทเท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มบำรุงด้วยปุ๋ย และสารเร่งผลผลิต ซึ่งก็ได้ผลผลิตมาก แต่ราคาขายกลับไม่ดี จึงไม่ค่อยได้กำไรตามที่หวัง


ทั้งนี้ ก่อนที่จะปลูกลำไย ก็เหมือนกับว่าตัวเองไม่มีทางเลือกว่าจะปลูกพืชอะไรดี เพราะพืชผลทางการเกษตรหลายตัวก็ราคาไม่ดีทั้งนั้น แต่พอเห็นเกษตรกรรายอื่นๆ ปลูกลำไยในช่วงนั้นแล้วมีรายได้ดี เราซึ่งไม่เคยปลูกลำไยมาก่อนก็เลยคิดน่าจะเป็นพืชที่ให้รายได้ดีระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้น ราคาลำไยกลับถูกลงเรื่อยๆ ในขณะที่การบำรุง ดูแลลำไย มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ค่าปุ๋ย ค่าสารเร่งดอก เร่งผล การให้น้ำ หากต้องทำแบบนี้ตลอดทั้ง 12 ไร่ ต่อไปโดยที่ราคาลำไยไม่ดี ก็ย่อมอยู่ไม่ได้แน่นอน ดังนั้น จึงเริ่มปล่อยไร่ลำไยทิ้งไว้ตามธรรมชาติมาได้ประมาณ 2 ปี แล้ว


"ต้นทุนในการดูแล และบำรุงลำไยสูงมาก ก็เลยคิดว่าปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติเลยดีกว่า ส่วนจะให้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหนก็จำเป็นต้องปล่อยไปตามสภาพ ไม่มีทางเลือกแล้ว เพราะขนาดใส่ปุ๋ย ฉีดสารเร่งผลผลิตแล้ว ก็ยังต้องมาถูกพ่อค้ากดราคาผลผลิต เอากำไรไปกินหมด ทำให้เกษตรกรขาดทุนเหมือนเดิม" สุแก้ว กล่าว


สุแก้ว กล่าวว่า ลำไยปีนี้มีราคาดีที่สุดในรอบสิบปี โดยต้นลำไยที่ตนปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ให้ผลผลิตประมาณ 6 ไร่ จากทั้งหมด 12 ไร่ ใช้เวลาในการเก็บทั้งหมด 3 วัน โดยจ้างแรงงานชาวบ้านขึ้นไปตัดเอาลำไย 5 คน ค่าจ้างคนละ150/ วัน ปีนี้จึงมีรายได้จากการขายลำไยเกือบ 3 หมื่นกว่าบาท ซึ่งดีกว่าปีก่อนๆ


"ไม่รู้ว่าอนาคตราคาลำไยในปีต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร จะขายได้ราคาดีหรือเปล่าก็ตอบไม่ได้ แต่ลำไยต้นเก่าๆ ก็ต้องทยอยโค่นทิ้งไปแน่นอนเพราะไม่ให้ผลผลิตแล้ว ส่วนเกษตรกรคนอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปปลูกพืชใหม่แล้ว แต่ผมคิดว่าจะปล่อยสวนลำไยเอาไว้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก่อน ถ้าออกผลผลิตก็ขาย ไม่ออกก็ไม่ขาย ตอนนี้ยังไม่มีทางเลือกอื่น" สุแก้ว กล่าวทิ้งท้าย

ด้านสุพาณี กล่าวว่า ถ้าเกษตรกรชาวสวนลำไยไม่ปรับวิธีการผลิตลำไยใหม่ เช่น ตัดต้นลำไยลงบ้างก็จะไม่รอด เพราะเสี่ยงกับผลผลิตล้นตลาดซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาราคาตกต่ำอีก นอกจากนี้ ปัจจุบันลำไยกลายเป็นสินค้าตลาดมวลชน ราคาถูกมาก กิโลกรัมละไม่กี่บาทเหมือนไม่มีคุณค่าเลย ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนให้ลำไยมีตลาดที่เฉพาะมากขึ้นกว่านี้ ก็ต้องทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง พร้อมกันนั้นก็ต้องสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า หากลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ หรือการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อสร้างรูปแบบทางการค้าใหม่ๆ ซึ่งลำไยอินทรีย์อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยล้มเหลวจากการปลูกลำไยเพราะราคาตกต่ำ แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะตัดต้นลำไยทิ้ง โดยคงเหลือไว้บางต้นเพื่อให้เป็นรายได้ระยะยาว และมีรายได้จากการปลูกพืชอื่นร่วมด้วย แบบนี้เกษตรกรก็อยู่ได้" สุพาณี กล่าวทิ้งท้าย

ตลาดเสรีไทย-จีน ที่ดูเหมือนเปิดกว้างเต็มที่แต่ในรายละเอียดกลับจำกัดให้กับคนที่มีทุนหนาเป็นส่วนใหญ่ได้เก็บหอมรอมริบผลกำไร ซึ่งไม่ได้มีตัวช่วยใดๆ เตรียมไว้ให้เกษตรกรรายเล็ก รายย่อยใช้เป็นเครื่องมือต่อกร หรือต่อรองกับราคาค้า-ขาย ที่ยุติธรรม วันนี้ทางเลือกที่เป็นไปได้ที่จะทำให้เกษตรกรค่อยๆ อยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางระบบการค้าเสรีแบบนี้ เกษตรกรต้องปรับตัวมาทำหน้าที่กุมบังเหียนเลือกตลาดเอาเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ตลาดเป็นผู้เลือกเกษตรกรอย่างเดียว!


เชิงอรรถ
1 โครงการการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ด้านนโยบายเศรษฐกิจและด้านการต่างประเทศ: กรณีธุรกิจผักผลไม้ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน (ภายใต้กรอบระหว่างอาเซียนและจีน) นำเสนอต่อ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน)โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 14 มกราคม 2551
2 สุพาณี ธนีวุฒิ, กรณีศึกษาลำไย ผลกระทบการค้าเสรี และการผูกขาดตลาดสินค้าเกษตร 2547, ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน



สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net