Skip to main content
sharethis


ที่มา : ไทยโพสต์ แทบลอยด์

         19 ตุลาคม 2551 


 


 


"สิทธิมนุษยชนเลือกข้างไม่ได้ มันไม่มีข้าง ถ้าเมื่อไหร่มีข้าง คุณไม่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป ทันทีที่เลือกข้างคุณกลายเป็นผู้คุกคามสิทธิมนุษยชนไปแล้ว"


 


"ผมกลัวเรื่องของการสร้างบรรทัดฐานแห่งความชั่วร้ายขึ้นมา คือถ้าคุณเว้นวรรคได้ในตอนนี้ เพราะคุณเห็นว่าเป้าหมายเป็นเป้าหมายที่สูงส่งในความคิดของคุณเอง ในอนาคตก็อาจจะมีคนใช้ข้ออ้างเดียวกันมาทำร้ายอีกฝ่ายได้ เกิดบอกว่าจะทำสงครามยาเสพติดรอบ 2 เพราะยาเสพติดทำร้ายสังคม ก็อ้างว่าเป็นเป้าหมาย ก็ฆ่าสักอีก 6 พัน-รับได้ไหม เหมือนวาทกรรมสมัยทักษิณว่ามันเป็นคนชั่ว ขายชาติ ยิงไป 2,800 คนใน 3 เดือน ตอนนี้ก็เอาวาทกรรมเดียวกันมาจับ"


 


 


ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ Human Rights Watch หนึ่งในสององค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งออกคำแถลงแปลกแตกต่างออกไปจากองค์กรและนักสิทธิมนุษยชนเสียงข้างมากในเมืองไทย ต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยแม้จะเห็นด้วยว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ก็ต้องตั้งคำถามต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯ ด้วยว่ายังเป็นอารยะขัดขืนอยู่หรือไม่ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่


 


สุณัย ไม่ใช่คนนอกของแวดวงนักสิทธิมนุษยชนเพราะเคยทำงานกับฟอรั่มเอเชีย และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ยุค ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นานหลายปี แต่ตอนนี้เขากลายเป็นเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ดี เขายังรักเคารพ อ.โต้งเสมอ ท่ามกลางความเห็นต่าง


 


 


ทักษิณ : ยุคละเมิดสิทธิ


 


เขาลำดับความให้ฟังก่อนว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงอย่างชัดเจนในยุคทักษิณ ทั้งการคุกคามสื่อ การฆ่าตัดตอน และปัญหาภาคใต้


 


"ประเทศไทยก่อนนายกฯ ทักษิณเข้ามา เป็นประเทศที่เทียบกับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราทั้ง 10 ประเทศดูแล้วมีความหวังมากที่สุด ทั้งเรื่องพัฒนาการทางการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตย และการวางรากฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนในทุกด้าน เพราะฉะนั้นเมื่อ Human Rights Watch เข้ามามีกิจกรรมในประเทศไทยก่อนที่ทักษิณจะมีอำนาจ เป็นกิจกรรมในลักษณะที่มองว่าไทยเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมระดับภูมิภาคมากกว่า ไทยไม่ต้องห่วงแล้ว ไม่มีปัญหาแล้ว แต่ไทยเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรมในพม่า อินโดจีน ในประเทศเพื่อนบ้าน"


 


"ผมเองก่อนที่จะทำงานให้ Human Rights Watch ก็เคยเป็นที่ปรึกษาของกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ก่อนนั้นก็อยู่ฟอรั่มเอเชีย เป็นนักวิเคราะห์ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เทียบกับมิติความมั่นคงด้วย ทำให้งานสิทธิมนุษยชนมีมิติของการวิเคราะห์ทางการเมืองมากขึ้น มีความสมจริงมากขึ้น ก็อยู่กับอาจารย์โต้งมาจนปี 2001 Human Rights Watch ก็ติดต่อมาว่าสนใจจะให้ทำการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า"


 


"Human Rights Watch มองประเทศไทยอย่างมีความหวัง แต่พอคุณทักษิณเข้ามาก็เปลี่ยนตำแหน่งผม จากตอนแรกที่รับทำงานเป็นที่ปรึกษาประจำประเทศพม่า แต่นั่งอยู่ที่เมืองไทย พอนายกฯ ทักษิณเข้ามาเริ่มมีเรื่องของคุกคามสื่อ โยกย้ายตัวผู้สื่อข่าว, บรรณาธิการ เราก็เริ่มจับตามอง เอ๊ะ-ประเทศไทยเริ่มมีทิศทางทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อสิทธิมนุษยชน เพราะเสรีภาพในการแสดงออกเป็น 1 ใน 3 เสรีภาพหลัก ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย คือเสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัว เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมและชุมนุม แสดงว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยน่าจะมีปัญหา ตอนนั้นเราก็ยังไม่คิดว่าจะหนักหนาสาหัสมาก แต่พอมาถึง 2003 แนวโน้มขยายใหญ่ รัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามยาเสพติดเป็นจุดที่ทำให้ตำแหน่งผมเพิ่มเติมขึ้นมา จากเป็นที่ปรึกษาประจำประเทศพม่า ก็เป็นที่ปรึกษาประจำประเทศพม่าและไทย และเมื่อสงครามยาเสพติดดำเนินไปได้สัก 1 เดือน ยอดผู้เสียชีวิตมหาศาล ตำแหน่งผมก็สลับที่เลย จากที่ปรึกษาประจำประเทศพม่าและไทย เป็นที่ปรึกษาประจำประเทศไทยและพม่า (หัวเราะ)"


 


"นั่นคือสถานะของประเทศไทยในมิติด้านสิทธิมนุษยชน ตามการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเน้นเรื่องเมืองไทยเลย ผมก็เลยต้องสลับตำแหน่ง และก็เริ่มจับตาสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นหลักตั้งแต่ 2003 เป็นต้นมา เราได้ก้าวเข้ามาสู่รัฐบาลซึ่งเชื่อมั่นในวิธีคิดแบบกำปั้นเหล็ก นั่นคือขอให้บรรลุเป้าประสงค์ วิธีการจะเป็นเช่นไรก็ได้ เป้าประสงค์นั้นคือความเป็นที่รักใคร่ในทางการเมือง คะแนนนิยม ปัญหาที่มิติหลากหลาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องของคนดีและคนไม่ดี ต้องกำจัดคนชั่ว, คนขายชาติให้หมดไป เป็นการทำวาทกรรมให้ง่าย ใช้ความคิดการตลาดมาขับเคลื่อนการเมือง สังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากระบบยุติธรรมที่มีอยู่ล่าช้าและอาจจะพึ่งพาไม่ได้ ต้องใช้อำนาจเถื่อนจัดการ สังคมยอมรับได้"


 


"เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่น่ากลัวมาก ผมมองว่าที่สังคมไทยเราเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ทำไปแล้วก็ไม่รับผิดชอบ และมองว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่คนดีเสมอเหมือนตัวเองก็ฆ่ามันได้ เป็นผลพวงมาจากสมัยนายกฯ ทักษิณทั้งสิ้น จากการสร้างวาทกรรมในสมัยสงครามยาเสพติดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมากๆ"


 


"หลังจากนั้นก็คือสถานการณ์ในภาคใต้ ภาคใต้มันแสดงต่อเนื่องมาว่าการทำให้เรื่องของภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนมาก เป็นเรื่องของความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ถูกทำให้ง่ายว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับความเป็นไทยได้ พยายามจะหือลุกขึ้นสู้ ก็ต้องถูกบังคับให้ยอมตาม ไม่ยอมก็ต้องกำจัดกัน นี่คือวาทกรรมที่รัฐบาลทักษิณทำให้กลายเป็นเรื่องง่ายเสีย และมันก็คู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากก่อนยุคคุณทักษิณอำนาจการเมืองมีการกระจายตัวออกไป แต่สมัยคุณทักษิณมีการทำลายกระบวนการนี้อย่างสิ้นเชิง ถูกตัดตอนด้วยการปฏิรูประบบราชการของคุณทักษิณ สิ่งที่น่าจะช่วยติดเบรกความรุนแรงที่ภาคใต้ถูกตัดตอน การยุบ ศอ.บต.หรือ พตท.43 เป็นส่วนหนึ่ง หลายคนบอกว่าเป็นโจทย์หลัก แต่ผมว่าเป็นเพียงกระผีกหนึ่งของก้อนน้ำแข็งที่ใหญ่มากๆ นั่นคือ การทำลายการกระจายอำนาจการมีส่วนร่วมของพื้นที่ในการตัดสินใจในเรื่องกระบวนการทางการเมือง กระบวนการยุติธรรม และความรับผิดชอบของรัฐ การยกเลิก 2 องค์กรนั้นทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐปิดประตูใส่หน้าเขา"


 


"ก่อนสมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ คนมลายูมุสลิมในภาคใต้มีส่วนร่วมทางการเมืองสูงมาก แต่พอกระบวนการนี้ถูกดึงย้อนกลับโดยทักษิณ คนรู้สึก เอ๊ะ-รัฐปิดประตูใส่หน้าเรา และไม่เหลือกลอนให้เปิดประตูได้อีกแล้ว บวกกับพอทำสงครามยาเสพติดอีก คนที่เคยเป็นแกนนำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ดี แกนนำชุมชนในพื้นที่ถูกขึ้นบัญชีดำ เพราะคนเหล่านี้คือคนที่หัวแข็ง ฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็หมายหัว กลายเป็นเหยื่อของการทำสงครามยาเสพติดจำนวนมาก"


 


"นี่เป็นโจทย์ที่ผู้ก่อความไม่สงบฝัน เหมือนกับจู่ๆ ก็มีคนยื่นเค้กมาให้ และคนที่ยื่นให้ก็คือรัฐบาลทักษิณนั่นเอง เพราะขบวนการนี้ลงใต้ดินและพยายามคิดสูตรแล้วว่า เรื่องการแบ่งแยกดินแดนจะต้องคิดสูตรใหม่ สู้รบแบบเดิม-จัดตั้งกำลังในป่าเขาไม่ได้แล้ว ต้องเข้าสู่มวลชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการต่อสู้ของขบวนการเป็นการต่อสู้ของมวลชนด้วย ใช้หลักการข้อคือ ตีความใหม่บอกว่าการแบ่งแยกดินแดนนั้นเป็นภาระหน้าที่ เป็นพันธะทางศาสนา ไม่ใช่ตัวเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ภาษาทางศาสนาอิสลามเรียกว่า วายิบ แต่การกล่อมเกลาลักษณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมาก จนกระทั่งคนมุสลิมในพื้นที่รู้สึกว่ารัฐพึ่งไม่ได้ เป็นรัฐที่ข่มเหงรังแกคน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจึงสามารถก้าวเข้ามาได้ บอกว่าเขาคือผู้คุ้มครองมุสลิมจากรัฐที่มารังแก และเขาอธิบายว่าที่รัฐมารังแกเพราะรัฐนี้เป็นรัฐไทยพุทธ เป็นรัฐต่างศาสนา พวกต่างศาสนาอยู่ร่วมกันไม่ได้ จากปี 2001 ที่คุณทักษิณมาเป็นนายกฯ จนปี 2004 ที่ปล้นปืน เขาสามารถประกาศสงครามแบ่งแยกดินแดนได้เต็มรูปแบบเลย"


 


"มันเห็นเป็นมิติเลยว่าการบั่นทอนสิทธิมนุษยชน การทำลายหลักนิติธรรม มันเป็นเชื้อของประเด็นปัญหาเรื่องความมั่นคง นี่เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่รุนแรงที่สุดที่รัฐไทยเคยเจอ รัฐไทยไม่เคยเจอความขัดแย้งในลักษณะนี้เลย ยุคพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มันเป็นตัวเลือก จนถึงเวลาหนึ่งก็ไม่ใช้ตัวเลือกนั้นแล้ว มาเป็นนักการเมืองเป็นอะไรมากมาย แต่ภาคใต้สำหรับขบวนการเขามันไม่ใช่ตัวเลือก มันเป็นหน้าที่ไปแล้ว โอกาสที่จะแก้ปัญหาได้มันยากมาก ต่อให้ไปเจรจา สุดยอดนักเจรจาที่ไหนก็ไม่ตก ตราบใดที่เรายังไม่ถอดชนวน ชาวบ้านที่ตอนนี้เขาเชื่อแล้วว่าที่เขาถูกรังแกเพราะรัฐมองว่าเป็นคนละพวกกัน เขาก็มองว่าเราเป็นคนละพวก วิธีเดียวที่จะทำให้ปัญหาเบาลง คือทำให้ชาวบ้านกลับมามองว่ารัฐไทยต่อให้เป็นรัฐที่ต่างเชื้อชาติและศาสนา ก็ยังเป็นรัฐที่เป็นธรรมต่อเขาได้"


 


"คือรัฐต้องตอบโจทย์เรื่องการละเมิดสิทธิซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่อง ถ้าเราทำให้รัฐเป็นที่พึ่งได้ ชาวบ้านก็ถูกบีบด้านเดียวจากขบวนการก่อการร้าย ตอนนี้ในภาคใต้มีผู้ร้าย 2 คน คือรัฐกับพวกก่อการ ซึ่งธรรมชาติแล้วรัฐจะเป็นผู้ร้ายไม่ได้-ต้องเป็นพระเอก แต่รัฐไทยเลือกที่จะไม่เป็นพระเอก เพราะฉะนั้นถ้าจะเจรจาเอาเรื่องง่ายๆ เรื่องตากใบ เป็นเรื่องการสังหารประชาชนเลย อันนี้ต้องแสดงความรับผิดชอบ ถ้าทำได้คนจะไว้เนื้อเชื่อใจรัฐอีกมาก และคดีอุ้มฆ่าหลายสิบคดี รวมทั้งคดีทนายสมชายก็ต้องค่อยๆ ไล่ตอบโจทย์ไป ก็เป็นทางออกทางหนึ่ง เพราะอย่างไรก็ตาม 95 เปอร์เซ็นต์ของชาวมลายูมุสลิมยังอยากเป็นพลเมืองของรัฐไทยต่อไป รัฐไทยต้องทำตัวให้เป็นที่รักให้เขาอยากอยู่ด้วยต่อไป"


 


ถ้าไม่นับวิธีของทักษิณ อิทธิพลการก่อการร้ายสากลจะทำให้มาถึงจุดนี้ไหม ?


"การก่อการร้ายสากล ถ้าพูดเจาะจงลงไปก็คืออิสลามสุดโต่ง เป็นรากฐานของขบวนการก่อการร้ายสากลเกิดขึ้นมาทั้งโลก เป็นการตื่นขึ้นของมุสลิม มีความตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ข่มเหง มันเกิดภาวะตื่นพร้อมๆ กันหลายที่ในโลก มีความรู้สึกว่าเราถูกรังแกโดยพวกต่างศาสนา เป็นการตีความรูปแบบใหม่ว่านี่คือพันธะหน้าที่ของคนมุสลิมนะ มันไม่ใช่ตัวเลือก เป็นหน้าที่คุณ คุณต้องสู้"


 


"แต่โชคดีสำหรับประเทศไทยที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้เขามีประเด็นหลักคือ เรื่องเชื้อชาติและศาสนา เขามองว่าเรื่องของเขามีเรื่องเชื้อชาติด้วย เพราะฉะนั้นสงครามนี้เป็นสงครามของคนมลายูมุสลิมเท่านั้น ต่อให้มุสลิมในที่อื่นมีความสนใจ เห็นใจ ก็ขอบคุณที่เห็นใจ แต่นี่ไม่ใช่สงครามของคุณ คุณไม่ต้องมาสู้ที่นี่ นี่คือสงครามของเรา เราสู้เอง คำถามว่าทำไมฮัมบาลีถึงมาประเทศไทย เพราะฮัมบาลีหวังว่าอาจจะเห็นแนวโน้มความเข้มข้นของอุดมการณ์ในประเทศไทย น่าจะมีศักยภาพเป็นฐานในการปฏิบัติการของเขาได้ แต่พอมาเข้าจริงกลายเป็นอีกเรื่อง คือมลายูมุสลิมบอกว่าขอบคุณแต่เราไม่รับความช่วยเหลือ นี่ไม่ใช่สงครามของคุณ เป็นสงครามการปลดปล่อยดินแดนมลายูมุสลิมแค่ 3 จังหวัดกับ 4 อำเภอของสงขลา เขาจะเอาของเขาแค่นี้ ฉะนั้นพวกนักรบญีฮัจญ์จากต่างประเทศก็งง จนถึงปัจจุบันท่าทีนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนก็เลยทำให้ประเทศไทยโชคดี ไม่มีเหตุการณ์วางระเบิดขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างอินโดนีเซีย-บาหลี หรือที่ปากีสถาน แมริออต เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ปิดประตูไม่ยอมให้นักรบต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย  รับอุดมการณ์ รับความรู้ทางเทคนิคมา แต่ไม่รับตัวบุคคล ไม่รับนักรบเข้ามาต่อสู้ด้วย"


 


 


2 ช่วงของพันธมิตรฯ


 


อย่างไรก็ดี หลังยุคทักษิณ หลังการรัฐประหาร ก็ดูเหมือนการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้พลิกกลับข้าง


"รัฐประหารของ คมช. ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องรัฐประหาร ผมมองว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ เลย เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีด้วยซ้ำ"


 


"พันธมิตรฯ สำหรับผมมองเป็น 2 ช่วง พันธมิตรฯ 1 และพันธมิตรฯ 2 พันธมิตรฯ 1 อย่างน้อยก็มีความชอบธรรมในการเคลื่อนตัว เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบที่สำคัญที่สุดกระบวนการแรกคือ สื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเสรีภาพแรกที่ทักษิณเลือกที่จะปราบ ถูกทำลาย ตัวแปรที่สองก็คือ อำนาจการตรวจสอบการคานในระบอบประชาธิปไตย ก็ถูกทำลายด้วยการรวบอำนาจ รัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบได้ เหลือ ส.ว.น้ำดีไม่กี่คน ดูได้เวลาลงโหวตที่เหลือก็เป็นตรายางไป องค์กรอิสระถูกแทรกแซงยกกระบิ-จบ สื่อพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นการหวังให้กลไกประชาธิปไตยที่เป็นทางการทำหน้าที่ เพื่อที่จะเอารัฐบาลมาแสดงความรับผิดชอบ เอาเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิก่อน ยังไม่ต้องพูดเรื่องคอรัปชั่น มันไม่สามารถทำงานได้ แต่ประชาชนมีทั้งสิทธิและเสรีภาพในการที่จะแสดงออกได้ 2 ปัจจัย คือ เสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งแล้วมาชุมนุมกัน รัฐธรรมนูญรองรับอยู่ หลักสากลที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองก็ยอมรับ แต่เป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ"


 


"พันธมิตรฯ 1 มีลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ทางกายภาพแทบจะไม่เห็นเลย ทางสัญลักษณ์การใช้คำพูดอาจจะมีบ้าง นั่นคือพันธมิตรฯ 1 และก็มีเรื่องของการนำข้อมูลที่ถูกปิดกั้นเปิดออกมาให้คนเห็น  การรับรู้ก็เลือกได้ว่าคุณจะอยู่ข้างพันธมิตรฯ หรือไม่อยู่-เลือกได้ เป็นเรื่องของ civil movement พันธมิตรฯ 1 มีลักษณะของการเป็นกระบวนการพลเมือง กระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยทางตรงของพลเมือง การลงสู่ท้องถนน การไปอยู่ที่สนามหลวง สวนลุมฯ เป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตย"


 


"นั่นคือพันธมิตรฯ 1 และก็มีพันธมิตรฯ 1 ครึ่ง คือจุดเริ่มเปลี่ยนของพันธมิตรฯ ถ้ามองจากนักสิทธิมนุษยชนออกไป เริ่มน่าเป็นห่วงก็คือ มีการมองว่าประชาธิปไตยซึ่งฐานของอำนาจรัฐอยู่ที่ประชาชน ไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย การเรียกร้องขอนายกฯ พระราชทาน มาตรา 7 ที่องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมทั้งรัฐบาลต่างประเทศ สหประชาชาติทั้งหลาย มองว่า เอ๊ะ-ในเมื่อเป็นขบวนการพลเมืองที่เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย แต่คุณไม่เชื่อในกระบวนการประชาธิปไตย ประเทศไทยมีปัญหาอะไร เรื่องมาตรา 7 เป็นเรื่องที่เราเริ่มจับตามอง เอ๊ะ-มันชักทะแม่งๆ แล้ว ก็ยังไม่มีการขยายความอะไรมากนักในช่วงนั้น จนกระทั่งช่วงพันธมิตรฯ 1 ครึ่ง คือช่วงใกล้ๆ รัฐประหารก็เริ่มมีวาทกรรมอื่นนอกจากนายกฯ พระราชทาน  มองว่าการใช้กำลังทหารเข้ามาระงับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อันนี้บวกกับเรื่องนายกฯ พระราชทาน ทำให้ภาพของพันธมิตรฯ 1 ครึ่ง ถ้ามองจากมาตรฐานสากลเริ่มมีปัญหาชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังเป็นปัญหาเรื่องวาทกรรมและเรื่องหลักคิด ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรม แล้วก็นำมาสู่รัฐประหารและก็ยอมรับ ตัวพันธมิตรฯ ก็สลายไป"


 


"ซึ่งถ้าเป็นองค์กรประชาธิปไตยจริงๆ ก็ต้องยืนหยัดว่า การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย คุณไม่สามารถเอาสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมาทำลายสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเป็นสมการที่อย่างไรมันก็ผิด แล้วคุณจะได้อะไรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่ๆ มันเป็นสมการที่ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ผมยังเชื่อว่าจริงๆ ในตอนนั้นรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย ในช่วงเวลานั้นสถานการณ์สุกงอมมากแล้ว ต่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ก็จะไม่มีการยอมรับ จะอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องล้มไป ต่อให้เลือกใหม่อีก 2-3 รอบก็ต้องล้ม คือไม่จำเป็นต้องทำการปฏิวัติ ตอนนั้นผมเชื่อว่าการรับรู้ของประชาชนสูงพอ จนทำให้ทักษิณหรือใครที่มาเป็นร่างทรงทักษิณอยู่ในอำนาจไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องไปรองรับสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อุตส่าห์อดทนมาได้ตั้งนาน สร้างการเรียนรู้มาได้ตั้งนาน จู่ๆ ก็หมดความอดทนไปดื้อๆ นอกจากเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้วยังกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เราคิดว่ามันหายไปจากสังคมไทยตั้งนานแล้ว คือการบอกว่าอัศวินขี่ม้าขาวคือการมาทำรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อุตส่าห์สู้กันมาเมื่อพฤษภาทมิฬและคิดว่าจะไม่มีแล้ว กลับมาใหม่อีก ซึ่งในตอนนั้นอาจจะมองว่า เนื่องจากฝ่ายที่ถูกขับไล่ออกไปเป็นฝ่ายที่ถูกเกลียดชัง แต่ในอนาคตใครจะไปรู้ว่าอาจจะเป็นฝ่ายที่ประชาชนรักก็ได้"


 


"นักสิทธิมนุษยชนหลายคนก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ตอนที่ คมช.เข้ามาหลายคนก็เห็นว่าทักษิณเป็นภัยที่ร้ายแรงมากกว่า แต่ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือการรัฐประหาร ล้วนแต่เป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั้งสิ้น สิทธิมนุษยชนไม่สามารถเลือกข้างได้ว่าความชั่วร้ายอันไหนเป็นความชั่วร้ายที่น้อย อันไหนเป็นความชั่วร้ายที่มาก จึงจะเข้าข้างความชั่วร้ายที่น้อยแล้วไปกำจัดความชั่วร้ายที่มาก เราเลือกข้างไม่ได้"


 


"ผมไม่เห็นด้วยกับบทความที่ปรากฏมาไม่กี่วันว่าให้นักสิทธิมนุษยชนเลือกข้าง เราเลือกข้างไม่ได้ สิทธิมนุษยชนมีอยู่อันเดียว ก็คือสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ความชั่วร้ายจะน้อยหรือมากก็เป็นความชั่วร้ายทั้งสิ้น การตำหนิไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่ภาคใต้ ตำหนิรัฐก็ต้องตำหนิขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วย ประณามรัฐก็ต้องประณามขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วย การประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนรัฐบาลคุณทักษิณ ก็ต้องประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการรัฐประหารด้วย เพราะทันทีที่รัฐประหารก็ต้องมีการประกาศกฎอัยการศึก มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ พยายามที่จะปิดกั้นสิทธิทางการเมืองเพื่อสร้างสมรภูมิการเลือกตั้งที่ลำเอียงอย่างมาก แต่พอลำเอียงอย่างมากในเชิงกติกา ก็ยังไม่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่มุ่งหวังจะกำจัดได้ ซึ่งคุณจะบอกว่าคนเหล่านั้นถูกซื้อเสียงก็อาจจะเป็นได้ ผมเคยเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ เราก็ยอมรับว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นร่างใหม่ของพรรคไทยรักไทย ก็ดูจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่สามารถเข้าถึงคนในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ในต่างจังหวัดได้ ขณะที่ประชาธิปัตย์ไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดลักษณะนั้นได้ เงินก็สู้ไม่ได้ ในเชิงนโยบายก็สู้ไม่ได้ ก็ต้องยอมรับสภาพ นั่นคือกติกาประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับอย่างนั้น ในที่สุดถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่เข้าท่าก็ใช้กระบวนการที่มีอยู่ และเงื่อนไขก็จะต่างไป"


 


"คราวนี้มาถึงพันธมิตรฯ 2 แล้ว หลังจากมีการปฏิวัติก็มีการชำระโครงสร้างทางการเมืองอย่างเป็นทางการใหม่หมดเลย อำนาจของรัฐบาลถูกทำให้อ่อนแอลง รัฐบาลถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นจากฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการตรวจสอบจากภายนอกก็ทำได้ง่ายขึ้น การลงโทษพรรคการเมืองก็หนักหน่วงมากขึ้น กลไกทางการเมืองอย่างเป็นทางการเอื้อให้สามารถเอารัฐมารับผิดชอบได้ รัฐบาลก็ไม่เข้มแข็ง สั่งอะไรคนก็ไม่ทำ"


 


"ตอนนั้นนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตื่นเต้นมาก ที่คุณเฉลิมประกาศจะทำสงครามยาเสพติดครั้งใหม่ บอกถ้าจะตายอีก 4-5 พันคนก็โอเค. ทุกคนเฮ้ย-เอาอีกแล้ว แต่พอเอาเข้าจริงเห็นได้ชัดว่า ความเข้มแข็งของรัฐบาลไม่เหมือนกับสมัยทักษิณ สมัยทักษิณเดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฟื้นฟูคำขวัญที่บอกว่า ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้  ตำรวจไทยเลยทำอย่างสนุกสนานเลยตอนนั้น แต่พอรัฐบาลสมัครบอกว่าจะทำสงครามยาเสพติดรอบใหม่ ไม่มีใครทำตาม เพราะรู้สึกว่าเฮ้ย-รัฐบาลจะคุ้มหัวเราได้หรือเปล่า สมัยรัฐบาลสมัครทุกคนบอกว่าตัวรัฐบาลเองยังจะเอาตัวไม่รอด จะมาสั่งนโยบายที่คาบลูกคาบดอกอย่างนี้ คนทำตามดีไม่ดีติดร่างแหไปด้วย ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาถึงขนาดว่าจะต้องระดมคนออกสู่ถนน เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นจุดต่างแล้วว่าพันธมิตรฯ 1 มาเป็นพันธมิตรฯ 1 ครึ่ง ไปเป็นพันธมิตรฯ 2 มันมีการเปลี่ยนผ่าน ที่สามารถตั้งคำถามได้ว่า เอ๊ะ-มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องออกสู่ถนน"


 


"อย่างไรก็ดี  เมื่อออกสู่ถนนแล้วผมก็ยังเป็นคนที่ไม่เห็นปัญหาว่า การที่ประชาชนจะชุมนุมประท้วงบนถนนจะเป็นปัญหาได้ นั่นเป็นเรื่องของการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่นอย่างรุนแรง ทำได้"


 


แต่เหตุผลไม่พออย่างนั้นหรือ ?


"คือจะไปชุมนุมประท้วงก็ได้ แต่ข้อเสนอที่พอเป็นพันธมิตรฯ 2 ข้อเสนอที่ชัดเจนของเขาคือ ข้อเสนอที่ไม่เอาประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่ที่มาในช่วงกลางปีนี้ เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าเป็นห่วงว่าพันธมิตรฯ กลายเป็นอะไรไปแล้ว จากที่เป็นขบวนการพลเมืองที่ขับเคลื่อนตามแนวทางประชาธิปไตย ตอนที่เป็น 1 ครึ่งก็เริ่มแย่แล้ว พอการเมืองใหม่จุดยืนด้านประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามอย่างหนักเลยว่าการเมืองใหม่นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเป็น anti democracy เป็นการต่อต้านประชาธิปไตย ที่สำคัญก็คือมันเป็นล้อกลับในชื่อของขบวนการเอง ที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มันไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตยแล้ว เพราะข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่เป็นข้อเสนอที่ไม่มีความเชื่อมั่นเหลืออยู่เลยต่อสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เป็นเรื่องของการดูถูกประชาชนด้วยซ้ำว่าประชาชนถูกซื้อเสียงได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะมีอำนาจในการตัดสินใจ อำนาจการตัดสินใจควรจะถูกโอนไปสู่คนกลุ่มอื่นซึ่งมีวุฒิภาวะทางการเมืองสูงกว่า  เราเอาอะไรมาเป็นตัววัดว่าคนเราไม่เท่าเทียมกัน เป็นโจทย์ที่พันธมิตรฯ จะต้องตอบให้ได้ว่าเรื่องการเมืองใหม่คืออะไร และก็เห็นความพยายามที่จะแก้โจทย์อันนี้ แต่จนปัจจุบันก็ยังแก้ไม่ได้ เมื่อ 2-3 วันตัวแทนของฝ่ายที่สนับสนุนพันธมิตรฯ ไปชี้แจงที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก็ไม่สามารถชี้แจงอะไรได้ ก็ยังวนอยู่ตรงนี้ว่าจริงๆ แล้วคนเรามันไม่เท่ากันหรือ นี่เป็นเรื่องใหญ่นะ อันนั้นเป็นเรื่องจุดยืนทางการเมืองของพันธมิตรฯ 2 ซึ่งมีปัญหามาก"


 


เรื่องนี้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ ?


"เกี่ยว เพราะสิทธิเรื่องการเมืองคนทุกคนต้องมีสิทธิทางการเมืองเท่ากัน จู่ๆ จะมาตัดสิทธิคนส่วนใหญ่ จำนวน ส.ส.ที่อยู่ในสภาฯ ความเป็นประชาธิปไตยมันตั้งอยู่บนสิทธิการแสดงออกทางการเมือง จะบอกว่าคนกลุ่มหนึ่งสิทธิทางการเมืองน้อยกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ตัวแทนของเขาจึงมีได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวแทนของอีกกลุ่มมีได้ 70 เปอร์เซ็นต์ มันเกิดอะไรขึ้น ต่อให้หลังจากนั้นมีการปรับสูตรเป็น 50:50 ถามว่าแล้วอีก 50 มันหายไปไหน"


 


"คือตอนชุมนุมปิดถนน องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่มีใครมีปัญหาเลย ก็ชุมนุมไปอยู่ในพื้นที่จำกัด ประกาศพื้นที่ชัดเจน ไม่สร้างความเดือดร้อน หลายคนชมด้วยซ้ำว่ารูปแบบการจัดตั้งองค์กรของพันธมิตรฯ สามารถทำให้คนที่มาชุมนุมมีวินัย ไม่เกะกะระรานใคร  นั่นคือช่วงแรกตรงมัฆวานฯ จำได้ว่าวันที่เคลื่อนครั้งแรก 25 พ.ค. ผมสังเกตการณ์ตรงศรแดง ทางฝ่าย นปก.มา ถือก้อนหินถือหนังสติ๊กมาฟาด ยังมองว่าพันธมิตรฯ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงตอบโต้ เป็นฝ่ายถูกกระทำ และรัฐก็เปิดทางให้เกิดการกระทำนั้นได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในวิสัยเห็น นปก.ถืออาวุธมาแต่ไกล แทนที่จะกั้นแนว ตำรวจปล่อย รูปแบบนี้ก็เกิดต่อเนื่อง มีชุมนุมที่ไหนก็จะมี นปก.ไปรังควาน พันธมิตรฯ ก็เจ็บกันระนาว"


 


"ที่อุดรธานี Human Rights Watch ออกแถลงการณ์ เป็นแถลงการณ์ชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่ง เราสรุปเลยว่ารัฐปล่อยให้มีการจัดตั้งมวลชนมาชน โดยมวลชนที่จัดตั้งโดยฝ่ายรัฐโยงใยถึงสมาชิกระดับสูงของพรรคพลังประชาชน เราพิสูจน์ได้ในเรื่องนั้น และเจ้าหน้าที่รัฐก็จงใจให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งการกระทำของรัฐในลักษณะดังกล่าวเป็นการเติมเชื้อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เราตำหนิรัฐบาลไทยแรงมาก พรรคพลังประชาชนแรงมาก"


 


"แต่หลังจากนั้นจุดที่เราเริ่มจับตามองก็คือ เรื่องวาทกรรมทางการเมืองก่อน เมื่อกี้ที่เราคุยเรื่องการเมืองใหม่เป็นจุดแรกว่า เอ๊ะ-หลังจากที่พันธมิตรฯ เป็นภาพที่พยายามขับเคลื่อน แม้ว่าจังหวะเวลานั้นเราอาจจะตั้งคำถามว่ายังไม่จำเป็นนะ แต่ก็ยังอยู่ในกรอบที่รับได้ พอมาสร้างวาทกรรมเรื่องการเมืองใหม่นี่คือประการที่หนึ่ง"


 


"ประการที่สองคือ เมื่อพันธมิตรฯ ติดอาวุธสร้างกองกำลังให้กับตัวเอง เรื่องการจัดตั้งรัฐซ้อนรัฐในสายตาของนักสิทธิมนุษยชนยังถือเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ เป็นสิ่งที่ movement ขบวนการพลเมือง แล้วยังตั้งอยู่บนฐานความคิดเรื่องการดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืน ซึ่งอารยะขัดขืนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์และความรุนแรงเชิงกายภาพ"


 


"แต่พอพันธมิตรฯ ติดอาวุธให้กับตัวเอง  และก็ภาคภูมิใจถึงขนาดแกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีพร้อมชูไม้เบสบอล จุดนั้นผมบอกว่าคุณเสียสภาพการเป็นขบวนการอารยะขัดขืนแล้ว และวาทกรรมที่เรียกฝ่ายตรงข้าม ทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม เริ่มจากเรียกว่าเป็นรัฐบาลสัตว์นรก จากสิ่งที่เกิดขึ้นที่อุดรธานี  การกระทำของฝ่ายรัฐบาลเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายอย่างมาก แต่การที่ฝ่ายพันธมิตรฯ เริ่มวาทกรรมทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม เขาก็บั่นทอนความชอบธรรมในหลักการของตัวเองไปด้วย และก็เริ่มเยอะขึ้น ถ้าคุณเริ่มมองว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คน คุณก็ใช้ความรุนแรงกับเขาได้เพราะเขาไม่ใช่คน ฆ่าได้ ทำร้ายได้"


 


"ระหว่างการเห็นคนชูปืนกับคนชูไม้หรือมีด  ผมจะเป็นห่วงความรุนแรงที่เกิดจากคนชูไม้หรือมีดมากกว่า เพราะไม้หรือมีดเป็นอาวุธที่จะทำร้ายได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะประชิด และต้องกระทำหลายครั้ง หมายถึงถ้าถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือตายต้องตีหรือแทงซ้ำแล้วซ้ำอีก  เพราะฉะนั้นระดับของความเกลียดชังมันจะต้องสูงอย่างมาก ขณะที่ปืนความรู้สึกผิดอาจจะน้อย ถ้ายิงไกลๆ ออกไปก็คงโดนสักนัด ความมุ่งมั่นความเกลียดชังไม่จำเป็นต้องรุนแรงมากถึงขนาดนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นการเห็นคนจำนวนมากที่ถืออาวุธที่ต้องใช้ในระยะประชิด และก็เรียกอีกฝ่ายว่าไม่ใช่คน มันเป็นจุดที่สร้างความเป็นห่วงมาก"


 


"และในที่สุดเมื่อพันธมิตรฯ ปรับสภาพตัวเองจากการรับเป็นรุก ที่บุกเข้าไปที่ NBT เรื่องการใช้กำลังจึงเป็นจุดที่น่าห่วง การเข้าไปยึดสถานที่ราชการแม้ผิดกฎหมาย แต่การยึดทำเนียบฯ ก็ยังเป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองอยู่บนเส้นคาบลูกคาบดอก แต่ส่วนที่เข้าไปที่ NBT ติดอาวุธชัดเจน สภาพการเป็นอารยะขัดขืนจบไปเลยอย่างสมบูรณ์"


 


"หลังจากนั้น การที่พันธมิตรฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปติดหมายไล่ตี อันนั้นรัฐทำผิด รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยไม่มีความจำเป็น นั่นชัดเจนช่วงนั้นรัฐผิด พอไปที่ บช.น.ก็แก๊สน้ำตาตูมเข้ามา แก๊สน้ำตาเป็นมาตรการระดับกลางๆ ระดับ 5-6 แล้ว จาก 0-4 หายไปไหน"


 


"ความเป็นห่วงที่พันธมิตรฯ ติดอาวุธเป็นจริงเกิดขึ้นก็คือวันที่ 2 ก.ย.ที่ นปก.เคลื่อนมา วันนั้นมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายเป็นมวลชนที่มีอาวุธและมีความเกลียดชังกันอย่างยิ่ง จุดที่เป็นปัญหาคือ รัฐไม่ได้ทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มวลชน 2 ฝ่ายปะทะกัน แต่มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายก็มีความผิดด้วยเพราะใช้อาวุธประหัตประหารกัน สังคมต้องยอมรับว่าวันนั้นเป็นต้นมา สังคมต้องยอมรับแล้วว่าพันธมิตรฯ เป็นกองกำลังที่มีอาวุธ เป็นกองกำลังการเมืองที่ติดอาวุธ ติดอาวุธถึงขั้นที่ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามได้ วันนั้นทุกฝ่ายผิด และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการให้คำตอบว่าแล้วใครเป็นคนที่ทำให้คนของ นปก.ต้องตาย และคนของพันธมิตรฯ เจ็บสาหัส วันที่ 2 ควรจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ต้องสอบสวนด้วย เพราะนำไปสู่การประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถ้า พล.อ.อนุพงษ์เอาด้วย ป่านนี้บ้านเมืองคงไปอีกแบบหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถามผม เหตุการณ์วันที่ 2 นัยสำคัญทางการเมืองมันทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้น ควรจะได้รับความสนใจ มีการตรวจสอบ แต่กลับไม่มีใครสนใจจะตรวจสอบ"


 


 


ตั้งคำถามทั้งสองฝ่าย


 


นั่นคือการแยกแยะเป็นช่วงๆ ของสุณัย ว่าฝ่ายใดบ้างละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือใช้ความรุนแรงในช่วงใด ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.


 


"วันที่ 7 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือทางฝ่ายพันธมิตรฯ ซึ่งสูญเสียสถานะการเป็นขบวนการพลเมืองและใช้หลักการอารยะขัดขืนไปตั้งแต่ตอนต้นๆ และสูญเสียไปอย่างชัดเจนมากๆ ในเหตุการณ์วันที่ 2 ก.ย. พอมาถึงวันที่ 7 เขาไม่ใช่ขบวนการอารยะขัดขืนแล้ว การตัดสินใจในการเคลื่อนมวลชนก็ดี การปิดล้อมรัฐสภาก็ดี"


 


"ตัวการปิดล้อมไม่มีปัญหา แต่เอาโซ่ไปคล้องไม่ให้คนเข้าออก อันนั้นมีปัญหาแล้ว เพราะคุณไปคุกคามสิทธิคนอื่นจุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่มีปัญหาแล้ว อาวุธมีไปไหม มี ต้องยอมรับว่าพันธมิตรฯ พกอาวุธไปด้วย ที่สามารถทำร้ายถึงชีวิตได้"


 


"แต่การตัดสินใจของรัฐวันนั้น รัฐสามารถเลี่ยงได้ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะรู้ว่าพันธมิตรฯ มีเจตนาไปทำอย่างนั้น มีความมุ่งมั่นมีความเกลียดชังก็ไปประชุมที่อื่นก็ได้ ไปแถลงนโยบายที่อื่นก็ได้ หรือว่าถ้าจำเป็นรัฐก็สามารถอ้างหลักความชอบธรรมในการรักษากฎหมายได้ แต่ต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก นี่คือกติการะหว่างประเทศเลย เป็นแนวทางที่สหประชาชาติวางไว้ในการใช้กำลังอาวุธ เป้าหมายสำคัญที่สุดคือการรักษาชีวิตมนุษย์ ต้องไม่ทำให้คนตาย หรือถ้าเจ็บต้องเจ็บน้อยที่สุด ต้องเริ่มจากการเจรจา การเตือน แม้แต่จะเอาตำรวจมาวางแนวโล่พร้อมกระบองก็ต้องบอกว่าตำรวจจะมานะ หลังจากนั้นก็เจรจา คุณจะอยู่นานเท่าไหร่ ยิงแก๊สน้ำตาก็ต้องมีการเตือน มีหรือเปล่า-ไม่มี"


 


"และที่สำคัญก็คืออำนาจการทำลายล้างของอุปกรณ์ที่ใช้ในวันนั้น ตัวแก๊สน้ำตาเป็นมาตรการในการสลายมวลชนที่ได้รับการยอมรับในทางสากล แต่ถ้าแก๊สน้ำตาที่ใช้เป็นประเภทที่มีผลร้ายแรงแถมมา ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันในทางสากล กรณีของประเทศไทยเป็นกรณีที่เปิดสู่สาธารณะเป็นประเทศแรกว่าอำนาจจากแรงระเบิดของแก๊สน้ำตาอาจจะทำให้เกิดการฉีกขาดของอวัยวะได้ อันนี้เป็นความรู้ใหม่ของนานาชาติเลย ตกใจกันมากว่าตอนนี้มีประเทศไหนที่ผลิตแก๊สน้ำตาที่มีอำนาจร้ายแรงอย่างนี้หรือ จีนถึงเต้นเป็นเจ้าเข้า เพราะเป็นคนส่งออก เพิ่งจัดโอลิมปิกไปก็เสียหน้า ในทางความมั่นคงเราแยกประเภทอาวุธเป็นอาวุธที่ทำให้ตาย กับอาวุธที่ไม่ทำให้ถึงชีวิต บนกระบอกแก๊สน้ำตาจะเขียนไว้ บอกให้ตัวผู้ใช้และผู้ถูกกระทำรู้ว่าที่คุณโดนมันไม่ทำให้ตายนะ เป็นอาวุธที่อยู่ในกติกาสากลนะ ในการคุมมวลชน"


 


"ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เป็นอย่างที่คุณหญิงพรทิพย์แถลงจริงว่าแรงระเบิดทำให้แขนขาดขาขาดได้ วันนั้นดูการจำลองเหตุการณ์ ผมคิดว่าคงไม่เจตนายิงให้โดนเสาโกลล์ คงพลาดแล้วกระสุนมันโดดขึ้นสูง แต่ขนาดเหล็กเสาโกลล์ฟุลบอลยังยุบ แล้วถ้าโดนเนื้อมันจะขนาดไหน และระยะที่ยิงในวันนั้น เราออกแถลงการณ์เรื่องนี้ก็เอาเทปข่าวจากสำนักต่างๆ มาดู ก็เห็นว่ายิงในระยะกระชั้น เจ้าหน้าที่หลายคนยิงในแนวตรง ถ้ายิงโค้งคือยิงตามหลัก และถ้าคำแถลงของคุณหญิงพรทิพย์ได้รับการพิสูจน์จากแหล่งอื่น การใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจวันนั้นนอกจากไม่เป็นไปตามขั้นตอนแล้วยังมาสู่เรื่องของความรุนแรงเกินกว่าเหตุด้วย"


 


"เพราะฉะนั้นรัฐมีส่วนตรงนี้ และความรับผิดชอบจะไม่อยู่เพียงแค่ผู้ปฏิบัติการ ต้องไปถึงผู้สั่งการในทุกระดับชั้นด้วย แถลงการณ์ที่ Human Rights Watch ออกมาเมื่อวันที่ 15 ก็ระบุตรงนี้ว่ารัฐต้องแสดงความรับผิดชอบวันที่ 7 เนื่องจากเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ"


 


"แต่ในทางกลับกันเราก็ตั้งคำถามกลับไป และจะย้อนไปถึงเหตุการณ์ก่อนวันที่ 7 คือวันที่ 2 ก.ย.และวาทกรมหลักๆ ของพันธมิตรฯ ด้วย ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบางอย่างกับชุมชนสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่มีการตั้งคำถามว่าการกระทำของพันธมิตรฯ นั้นมีผลลบหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร การตั้งคำถามที่สำคัญวันนั้นและมีผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยต่อไปในอนาคตอีกยาวเลย เป็นเรื่องที่น่าห่วง ก็คือการตั้งคำถามของคณะกรรมการสอบสวนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งขึ้นมา เป็นการตั้งคำถามที่ตีวงแคบจนเกินไปว่าแก๊สน้ำตาสามารถทำให้แขนขาขาดได้หรือไม่ ควรจะตั้งคำถามว่าอาวุธใดบ้างทำให้เกิดการบาดเจ็บดังกล่าว นั่นจะเป็นการตั้งคำถามที่ถูกต้องเหมาะสมมากกว่า ในเชิงการสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสากล คือถ้าบอกว่าแก๊สน้ำตาทำให้แขนขาขาดได้หรือไม่ แสดงว่ามีการตั้งสมมติฐานไปล่วงหน้าแล้วว่ามาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นั่นเอาเฉพาะเรื่องแขนขาขาดอย่างเดียว ยังตั้งคำถามผิดเลย เหมือนกับฟันธงล่วงหน้า มีอคติล่วงหน้าแล้วว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิด องค์กรสิทธิมนุษยชนและนักสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในประเทศไทยก็ไปในแนวเดียวกันหมด โดยที่ไม่ตั้งคำถามว่าแล้วอีกฝ่ายหนึ่งล่ะ"


 


"ในฐานะผู้สอบสวนอย่างเป็นกลางต้องมองความเป็นไปได้ในหลายๆ ทาง ไม่ฟันธงไปเลย คือสังคมไทยมีประสบการณ์ที่บอบช้ำจาก 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ คือรัฐเป็นผู้ใช้ความรุนแรง อาจจะมีปมในใจเรื่องความเจ็บช้ำในตอนนั้นมาก่อน ก็ฟันธงไปล่วงหน้าว่ารัฐเป็นตัวร้ายแน่ๆ ซึ่งใช้ไม่ได้กับเหตุการณ์ปัจจุบันเมื่อวันที่ 7"


 


"คำถามของกรรมการสิทธิตีวงแคบไป เหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นในวันนั้น คนบาดเจ็บสาหัส ตำรวจถูกเสียบถูกยิง ถูกขับรถทับ ไม่มีการสอบสวนเลยจากองค์กรสิทธิมนุษยชนใดๆ ไม่มีการสอบสวนจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ภาพเหตุการณ์เลยกลายเป็นว่ารัฐกระทำกับประชาชน ซึ่งมันไม่ใช่ความเป็นจริงทั้งหมด นี่เป็นบรรทัดฐานที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย"


 


"ผมพยายามหาคำตอบว่าทำไมไม่มีการซักถามเรื่องนี้ว่าจริงๆ แล้ววันนั้นพันธมิตรฯ ทำอะไรบ้าง เพราะว่ากลับมาประเด็นหลักที่ว่าสิทธิมนุษยชนไม่สามารถเลือกข้างได้ ใครเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อนเรา คนที่เราเคารพยกย่องนับถือ แต่เมื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนคนเหล่านั้นคือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะต้องถูกทวงถามให้แสดงความรับผิดชอบ และมีการเรียกร้องให้ใช้กระบวนการตามกฎหมายเสมอ ไม่สามารถละเว้นไว้ได้เพราะนี่เป็นเพื่อนเราหรือคนที่เราเห็นใจ มันคนละส่วนกัน หลักการคือหลักการ ผมพูดอย่างนี้มาตลอด ผมเคยถูกสื่อต่างชาติสัมภาษณ์ว่านายกสมัครต้องออกจากตำแหน่งเพราะรายการทำกับข้าว  เขาถามผมว่ามันตลกหรือเปล่า ผมบอกว่าความขัดแย้งผลประโยชน์ทับซ้อน 5 บาทกับ 1 ล้านมันก็คือผลประโยชน์ทับซ้อน มันคือหลักการ จะหนักจะเบาก็ต้องเป็นหลักการ ทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลทำผิดเราไปทวงถามความเป็นธรรม เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งทำผิดเราก็ต้องทวงถามในลักษณะเดียวกัน อย่างจริงจังเปิดเผยหนักหน่วงพอกัน เราไม่สามารถว่า เฮ้ย แรงกับข้างนี้แล้วอีกข้างหนึ่งไม่แรง"


 


มองว่าพันธมิตรฯ จงใจไหม ?


"อันนี้ถึงบอกว่าต้องตั้งคำถามตามหลักการสอบสวนของสิทธิมนุษยชนสากล เราจะไม่มีธงล่วงหน้า แต่ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่ถูกต้องก่อนว่าคุณมีความจงใจให้เกิดความรุนแรงในวันนั้นไหม คำถามที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือคุณมีอาวุธไหม และพอคุณมีอาวุธคุณใช้ความรุนแรงไหม โจทย์ที่สามจะเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุด  แล้วเจตนาของคุณที่ใช้ความรุนแรงคืออะไร ความรุนแรงเพื่อป้องกันตัวเอง เป็นความรุนแรงเพราะคุณโกรธแค้น เป็นการตอบสนองเพราะเห็นเพื่อนถูกกระทำ มันต้องมีอย่างน้อย 3 โจทย์นะ สองโจทย์แรกเป็นรูปธรรมตอบง่าย แต่ถามว่าใช้ไปทำไม แต่ตอนนี้ทั้ง 1 2 3 มันไปตั้งกับด้านรัฐด้านเดียว อีกด้านหนึ่งไม่ได้ตั้งเลย"


 


ก็มีคนมองว่าพันธมิตรฯ มีเจตนาแฝงเพื่อให้ความรุนแรงเป็นผลย้อนไปโค่นล้มรัฐบาล


"ก็เป็นรูปแบบ ถ้าดูวาทกรรมมาตลอด พันธมิตรฯ 2 เขายืนยันมาตลอดว่ารัฐบาลแม้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ถูกทำลายความชอบธรรมโดยวาทกรรมไปแล้วว่าเป็นรัฐบาลตัวแทน รัฐบาลสัตว์นรก สามารถถูกล้มล้างไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นในทัศนะของพันธมิตรฯ ผมเชื่อว่าเขาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องยี่หระอะไร แต่ถามว่านานาชาติยี่หระไหม ยี่หระอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่น่ากลัว อย่างตอนนี้คุณอาจจะอ้างว่าเพราะมันเป็นรัฐบาลที่ชั่วร้ายถูกกำจัดไปก็ไม่เป็นไร  แต่ว่าถ้าสักวันหนึ่งเป็นรัฐบาลเทพ รัฐบาลคนดี และถูกอีกด้านหนึ่งที่ปัจจุบันเรียกว่าเป็นพวกสัตว์นรกตั้งมวลชนขึ้นมา มีอาวุธพอๆ กันมาโค่นล้ม แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันก็พายเรือในอ่าง อย่างที่ผมบอกคุณไม่สามารถเอาความชั่วร้ายมากำจัดความชั่วร้ายได้ คือสมการมันผิด ความชั่วร้ายกับความชั่วร้าย มันไม่ใช่ความดี มันเป็นไปไม่ได้"


 


บางฝ่ายมองว่าพันธมิตรฯ ตั้งใจให้เกิดการสลายการชุมนุม เพื่อจะเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลออกไป โดยยอมเสียสละชีวิตคน


"ถ้าเป็นเช่นนั้นจุดนี้จะเป็นจุดที่ต้องได้รับการตรวจสอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะต้องมีการทวงถามความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงมากๆ จากทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับตัดสินใจ และปฏิบัติการ ผู้ประสานงานในวันนั้น แต่ที่น่าเสียใจที่สุดคือถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคนที่ไปตายไปเจ็บก็เป็นแค่หมากเบี้ยบนกระดาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าถ้าชีวิตคนถูกลดทอนค่าเป็นแค่หมากเบี้ยในทางเกมการเมือง โดยเฉพาะถ้าเกิดจากการกระทำของคนที่อ้างตัวว่ามีมาตรฐานทางศีลธรรมทางการเมืองสูงกว่าคนอื่น แต่เราจะรู้คำตอบนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีการตั้งคำถาม แต่ถามว่าบัดนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยพร้อมจะตั้งคำถามนี้หรือไม่ นักวิชาการจำนวนมากในประเทศไทยที่เลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้ แต่เลือกข้างไปแล้วเรียบร้อยจะต้องมาทบทวนตัวเองว่ากล้าพอจะตั้งคำถามนี้หรือเปล่า"


 


แต่สื่อ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ไม่ยอมตั้งคำถามด้านนี้


"ผมก็ไม่ใช่เด็กมากแล้ว แต่ยังเป็นน้องของเกือบจะทุกคน ผมก็ยังตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น วันที่เกิดเรื่องผมอยู่อังกฤษ แวบแรกเลยผมก็คิดเหมือนทุกคน คือเราผ่านพฤษาทมิฬมา ผมน้ำตาไหลเลย ประชาชนโดนปราบอีกแล้วหรือ ในแวบแรก แต่ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารมันเร็วมาก พอผมได้ดูภาพข่าว เฮ้ย มันไม่ใช่ล้อมปราบแบบที่เราเคยเจอ มันเป็นเรื่องของการปะทะ ตำรวจก็โดนขับรถทับ มันมีลักษณะแตกต่างออกไป แต่ก็ยังห่วง ยังเช็กรายชื่อว่ามีใครบ้างไหมที่เรารู้จัก แต่หลังจากแวบแรกสติเราต้องกลับมา เราต้องทำหน้าที่ คนเราแต่ละคนในการเลือกที่จะทำอาชีพ นักสิทธิมนุษยชนมันมีลักษณะพิเศษ เป็นอาชีพที่ต้องเลือกถึงมาทำ อาชีพอื่นไม่พอใจลาออกไปได้ แต่คนที่เป็นนักสิทธิมนุษยชนลาออกไม่ได้ ต้องเป็นไปตลอด เงินทองก็ไม่ได้ดีอะไร ศัตรูก็เยอะเพราะตรวสอบเขาไปทั่ว คือถ้าใจไม่รักก็ทำต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับการเลือกด้วยตัวเองก็จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด ผมมองว่ามี 2 อาชีพในชีวิตซึ่งตัวเองทำมาแล้ว คืออาจารย์กับนักสิทธิมนุษยชน ที่ต้องมีมาตรฐานความเคร่งครัดกับตัวเองสูงอย่างมาก ไม่สามารถอะลุ่มอล่วยให้ตัวเองได้เลยว่าเป็นตราชั่งที่เอียง มันเป็นไปไม่ได้"


 


 


จงใจปฏิเสธ


 


สุณัยบอกว่าแถลงการณ์ของ Human Rights Watch ยังถูกปฏิเสธที่จะกล่าวถึงจากสื่อกระแสหลักและองค์กรสิทธิมนุษยชนในไทย แม้ด้านหนึ่งจะเนื่องจากการแปลเป็นภาษาไทยล่าช้ากว่าปกติ


 


"มันถูกเลือกที่จะไม่พูดถึงแถลงการณ์ที่ออกมา และเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นคือเป็นแถลงการณ์ที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ผ่านสื่อใดๆ เลยในประเทศไทย ปกติแถลงการณ์ Human Rights Watch ค่อนข้างเป็นแถลงการณ์ที่คนพูดถึงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นแถลงการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าเกิดสภาพอะไรขึ้นกับวงการสิทธิมนุษยชน วงการสื่อสารมวลชน วงการนักวิชาการบ้านเรา เลือกที่จะไม่พูดถึงการตั้งคำถามทั้ง 2 ด้าน มันก็เป็นคำตอบในตัวของมันเอง ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะฉบับภาษาไทยยังแปลไม่เสร็จ แต่ว่าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ปกติจะได้ฉบับล่วงหน้าที่ส่งตรงมาจากนิวยอร์กประมาณเที่ยงคืน เขาจะออกออนไลน์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไม่ลงทั้งคู่ และประเด็นความรับผิดชอบจากฝ่ายพันธมิตรฯ ก็เป็นประเด็นที่ถูกเลือกที่จะไม่พูดถึงทั้งคู่ มันกลายเป็นว่า เฮ้ย สีเหลืองไม่พูดดีกว่า  ถ้าสีแดงพูดง่ายกว่า"


 


ก่อนหน้านี้ ในกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนเถียงกันเยอะไหม ?


"ก็มีการคุยกันว่าแค่ไหนถึงรับได้ ผมบอกว่าแค่ไหนก็รับไม่ได้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่ามากหรือน้อยก็คือละเมิดสิทธิมนุษยชน จะละเมิดโดยใครก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"


 


สุณัยเล่าขำๆ ด้วยว่าเมื่อก่อนเครือข่ายสิทธิมนุษยชนมีเมล์ส่งมาให้เขาตลอด แต่ตอนนี้เป็นครั้งคราว


 


"ตอนนี้บางเรื่องก็ไม่ส่ง จะไปได้อ้อมจากชาวบ้านอีกที เมื่อก่อนจะมีการโทร.มาคุยกัน เฮ้ย เรื่องนี้คิดยังไง ก็ค่อยๆ ห่างหายกันไป"


 


แล้วกับอาจารย์ไกรศักดิ์


"พี่โต้งโอเค เขาเข้าใจ คุยกันประจำ แต่ผมยังดึงตัวเองออกมานอกวงและวิจารณ์ได้ แกอาจจะลำบากหน่อย"


 


ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน บางคนก็บอกว่าอย่าเอามาตรฐานต่างประเทศมาจับเพราะไทยมีเงื่อนไขซับซ้อนกว่า ?


"สิทธิมนุษยชนของคนจนไม่มีกินหน้าถนนกับสิทธิมนุษยชนของผม เท่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเท่ากับฝรั่งต่อให้เป็นคนดำชาติอะไรก็ตาม  เพราะมันเป็นสิทธิของมนุษย์ ไม่ใช่แยกว่าสิทธิของคนไทย สิทธิคนรวย สิทธิคนจน เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถแยกได้ว่ามีสิทธิแบบฝรั่ง สิทธิแบบพัฒนาแล้ว กับสิทธิแบบกำลังพัฒนามีบริบทเฉพาะ มันแยกไม่ได้ เช่นเดียวกันประชาธิปไตยที่ไหนมันก็คือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหนก็ตามถ้าคุณเป็นมนุษย์สิทธิคุณเหมือนกัน เพราะถ้าคนที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนมาเป็น 20-30 ปี และเชื่อในเรื่องนี้มาตลอด แต่พอถึงเวลาตอนนี้กลับคำของตัวเองบอกว่ามันมีกรณีพิเศษที่เว้นวรรคให้ได้ ก็ควรจะตะขิดตะขวงใจ"


 


"และที่สำคัญที่กลัวที่สุดก็คือ ผมกลัวเรื่องของการสร้างบรรทัดฐานแห่งความชั่วร้ายขึ้นมา คือถ้าคุณเว้นวรรคได้ในตอนนี้  เพราะคุณเห็นว่าเป้าหมายเป็นเป้าหมายที่สูงส่งในความคิดของคุณเอง ในอนาคตก็อาจจะมีคนใช้ข้ออ้างเดียวกันมาทำร้ายอีกฝ่ายได้ เกิดบอกว่าจะทำสงครามยาเสพติดรอบ 2 เพราะยาเสพติดทำร้ายสังคม ก็อ้างว่าเป็นเป้าหมาย ก็ฆ่าสักอีก 6 พัน รับได้ไหม เหมือนวาทกรรมสมัยทักษิณว่ามันเป็นคนชั่ว ขายชาติ ยิงไป 2,800 คน ใน 3 เดือน ตอนนี้ก็เอาวาทกรรมเดียวกันมาจับ สมมติเป็นรัฐบาลที่เรียกร้องกันนัก แล้วเกิดมีนโยบายแบบเดียวกันนี้ รับได้ไหม คุณเว้นวรรคให้เขาแล้ว เว้นวรรคว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที อ้างว่าทำลายความชั่วร้าย เพราะฉะนั้นคนเว้นวรรคให้เขาตีเช็คเปล่าไปเลยทำอะไรก็ได้"


 


สุณัยบอกว่าในความรู้สึกของเขาที่น่าเศร้า  คือนักสิทธิมนุษยชนบางคนไม่ให้ความสำคัญกับกรณีที่ นปก.ถูกตีตาย


 


"ในแถลงการณ์ที่ออกมา เรานับเหตุการณ์ตั้งแต่ 25 พ.ค.เกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นแถลงการณ์ที่ว่าด้วยความรุนแรงทางการเมือง มีประโยคหนึ่งบอกว่ามีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 3 คน และก็เจ็บอีกเป็นร้อย ก็มีคนส่งเมล์แย้งมาว่าตายแค่ 2 คน ผมก็ตอบกลับไปว่ามีคนของ นปก.ถูกตีตาย และก็ชัดเจนด้วยว่าใครเป็นคนตี โดนตีตายมันทารุณนะกว่าจะตาย ไม่ว่าเป็นข้างไหน คุณไม่นับว่าเขาเป็นคนหรือ"


 


"ก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่รู้จักกัน ผมโกรธก็ตอบอีเมลล์กลับไปอย่างเร็ว คนทุกคนก็คือคนนะ มันเกิดอะไรขึ้น และไม่ตรวจสอบสอบสวนเลย แถลงการณ์ของกรรมการสิทธิวันนั้นก็สุดโต่ง คือประณามรัฐไปเลย และก็แสดงความห่วงใยต่อความรุนแรง แสดงความเข้มข้นดุเดือดในการที่จะทำความจริงให้ปรากฏ วันเดียว หลังจากนั้นไม่มีการตามลูกกลับมา"


 


"แต่วันที่  7 เกิดความรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปกติการสืบสวนเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ไม่เคยดำเนินการใดๆ ได้รวดเร็วเลย ทนายสมชายที่ผมเคารพมาก กี่ปีแล้วตอนนี้ก็ยังไม่คืบหน้า คดีกรือแซะตากใบใช้เวลานาน คดีนักสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มถูกฆ่า คดีพระสุพจน์ ฯลฯ แต่วันที่ 7 เป็นปรากฏการณ์ใหม่คือใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์สามารถทำความจริงอย่างน้อยส่วนหนึ่ง หรือสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความจริงให้ปรากฏ และมีการสรุปอย่างที่ไม่มีการ cross check สรุปไปแล้วว่าใช่แน่ๆ เพราะคำถามชี้นำไปล่วงหน้าแล้ว"


 


ก็มีคนงงที่กรรมการสิทธิที่ไปสอบใช้เวลาวันเดียวสรุปว่าเป็นเพราะแก๊สน้ำตา ?


"ผมทำงานในพื้นที่ขัดแย้งมาตลอด ผมถูกส่งไปในพื้นที่สงครามบ่อย ก็ได้รับการอบรมเป็นเรื่องเป็นราวพอสมควร บาดแผลที่เกิดจากอาวุธประเภทต่างๆ มันบอกได้พอสมควร ด้วยการตรวจมันก็น่าจะเชื่อได้ว่าอะไรก็ว่าไป ไม่ใช่ ตูม ฟันธง มันไม่ใช่ เหตุการณ์รถระเบิดก็ไม่มีการตรวจสอบ สภาพบาดแผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาการบาดเจ็บอื่นๆ ของพันธมิตรฯ ด้วย คนที่โดนไฟไหม้ข้างหลัง รอยสะเก็ดตามตัว ก็ต้องได้รับการตรวจสอบ คุณจะเลือกตรวจสอบการบาดเจ็บประเภทเดียวไม่ได้ หรือตีวงว่าบาดเจ็บด้วยอาวุธประเภทไหน น่าจะมาจากอาวุธอะไร คราวนี้ก็ไปไล่เบี้ยว่าใครมีอาวุธประเภทนั้นไหม มันต้องตรวจสอบอย่างนี้ นี่คือความเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญสิทธิมนุษยชนเลือกข้างไม่ได้ มันไม่มีข้าง ถ้าเมื่อไหร่มีข้าง คุณไม่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อีกต่อไป ทันทีที่เลือกข้างคุณกลายเป็นผู้คุกคามสิทธิมนุษยชนไปแล้ว"


 


แล้วที่ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล ?


"แถลงการณ์ประณามรัฐด้านเดียว คือเราประณามรัฐได้ในเรื่องของการตัดสินใจสั่งการ ไม่มีการเตือนก่อน ประณามได้แค่นั้น แต่มากกว่านั้นยังไม่ได้ ควรบอกว่าแล้วจะทำอะไรต่อ คือประณามรัฐได้ว่าใช้อาวุธโดยไม่มีการตรวจสอบ แต่ก็ต้องสอบต่อไปอีก"


 


สุณัยเห็นด้วยว่าตำรวจไม่ได้สลายฝูงชนตามมาตรฐานสากล แต่ก็ต้องมององค์ประกอบอีกฝ่ายด้วย


 


"เรื่องมาตรการสลายมวลชนโดยไม่ทำให้ถึงชีวิตก็จะมีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ อย่างการใช้โล่กระบองในมาตรฐานสากลจะมีชุดที่เป็นโล่กระบอง และมีอีกทีมที่ไปหาตัวหัวหน้าหัวโจก พอเปิดแนวชุดนี้จะมีสนับแขนมีเกราะกันถูกแทง แต่ไม่มีโล่กระบองวิ่งเข้าไปรวบดึงตัวออกมา แนวโล่กระบองก็จะปิด จับใส่กุญแจ นี่คือวิธีการสลายฝูงชนของสากล ถ้าจะใช้กระบองตี ให้เริ่มจากข้อมือก่อน มันมีวิธีตามหลักสากล"


 


"แต่จุดหนึ่งที่ทำให้ตำรวจกลายเป็นจำเลยสังคม คือ ไม่มีการตั้งคำถามว่าอีกข้างหนึ่งมีของอะไรบ้าง ถ้าถามผมดูจากสภาพบาดแผลเจ้าหน้าที่ต้องตั้งคำถามแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยิงกันเองแน่ๆ แล้วด้ามธง มันควรจะถูกเรียกว่าหอกด้วยซ้ำ มันคือธงที่ถูกดัดแปลงสภาพแล้ว ที่จริงตั้งแต่วันที่ไปบุก NBT วันนั้นควรจะเป็นสัญญาณเตือนสังคมไทยแล้วว่าอาวุธที่มีเป็นอาวุธที่ทำร้ายถึงตายได้"


 


แกนนำก็บอกว่าในม็อบมีทหาร


"วันนี้ผมเพิ่งเจออาจารย์สมเกียรติ (หัวเราะ) อาจารย์สมเกียรติก็พูดบนเวทีว่ามีทหารมาฝึกให้ ก็พูดอย่างนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองไปหมดแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันนี้น่าห่วงกว่า"


 


"มันก็กลับมาว่าชั่วร้ายบวกชั่วร้าย มันต้องไม่นำไปสู่ความดีแน่ๆ มันเป็นตรรกะที่ผิด โดยเฉพาะตรรกะนี้ถูกใช้โดยคนที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่ายังอยากจะเป็นนักสิทธิมนุษยชนอยู่หรือเปล่า"


 


เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่มีเกียรติภูมิมา 20-30 ปี


"เกิดอะไรขึ้น คนเหล่านี้เป็นครู เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราตั้งใจว่าหลังจากพฤษภาทมิฬแล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก แต่บัดนี้ก็อึ้ง แต่ไม่ทำให้ท้อ ยิ่งภาระมาตกกับเรา ยิ่งต้องทำต่อไป เป็นเรื่องของเสียงข้างน้อย พรรคพวกหลายคนมาเจอกันก็ เฮ้ย ตอนนี้ไม่มีใครคุยด้วย เฮ้ย เราเหลือน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อก่อนขึ้นรถไฟฟ้ายัง เฮ้ย ว่าไง ตอนนี้ไม่มีใครทัก (หัวเราะ).


 


 


 


0000


 


 


 






 


นัยทางการเมือง


 


 


วันที่สนทนากันเป็นวันก่อนที่จะมีสรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมา เราจึงสอบถามความเห็นเพิ่มเติมต่อผลสรุปดังกล่าว


    


สุณัยบอกว่าเขาไม่คัดค้านผลการสอบสวนที่ระบุความผิดของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เห็นว่าเป็นการแถลงผลการสอบสวนเพียงด้านเดียว


    


"เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่เลือกปล่อยผลการสอบสวนเพียงบางส่วน คือหลังจากแถลงข่าวก็เห็นได้ว่ากรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ตั้งคำถามแคบ ตั้งคำถามครบทุกประเด็น แต่โจทย์เปลี่ยนไปว่าตั้งทุกประเด็นทำไมเลือกปล่อยแค่ส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐออกมาก่อน"


    


"แนวคำถามที่ออกมา พูดถึงความเสียหายการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดจากภาคประชาชนด้วย แต่ทำไมไม่สอบสวนคู่ขนานกันไป ให้ความสำคัญส่วนที่เกิดจากากรกระทำของตำรวจก่อนแล้วเสร็จเร็ว ถ้าเร็วขนาดนี้ได้ ไม่เสียหายอะไรที่จะทำคู่ขนานกันไป ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด ชุดหนึ่งดูการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ชุดหนึ่งดูการกระทำผิดของพันธมิตร ถ้าผลสอบเสร็จไล่เลี่ยกันจะได้ภาพชัดเจนสะท้อนความจริงว่าเป็นการใช้ความรุนแรงสองฝ่าย แต่เลือกทำงานด้านสอบสวนตำรวจออกมาก่อน และออกมาในช่วงที่มีความเปราะบางมากทางการเมือง ที่ผู้นำเหล่าทัพแสดงท่าที มีประโยคทองที่ว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ มันมีนัยทางการเมืองที่จะเสียหายอย่างมาก เปิดทางไปสู่การสร้างเงื่อนไขในการยุติการใช้อำนาจรัฐได้"


   


เขาเห็นว่าถ้าจะให้ดีต้องชะลอผลการสอบสวนไว้จนผลสอบด้านพันธมิตรเสร็จจึงนำเสนอคู่กันจะได้ภาพที่เป็นกลางมากกว่า แม้ในส่วนของรัฐที่ออกมาเขาไม่มีอะไรจะคัดค้าน


    


"ผมไม่ได้ขัดข้องอะไรเพราะผลสอบเจ้าหน้าที่รัฐก็ว่าไปตามเนื้อผ้า เชื่อได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพียงแต่อีกด้านหนึ่งมันหายไปไหน ถ้าไม่ได้หายก็ต้องเริ่มการทำงาน"


    


"กรรมการสิทธิฯ มีศักยภาพเร่งทำงานให้เสร็จเร็วได้ ถ้าการสอบสวนภาครัฐใช้เวลา 1 สัปดาห์ สัปดาห์หน้าก็ต้องทำซีกพันธมิตร แล้วนำเสนอรายงาน 2 ด้าน"


    


ถ้ามองดูสถานการณ์ขณะนี้แล้ว ความรุนแรงของสองฝ่ายจะลดลงไหม ?


"เท่าที่ดูแล้วทั้งสองฝ่ายยังมีความกระเหี้ยนกระหือรืออย่างมากที่จะใช้ความรุนแรง โดยมองว่าความรุนแรงเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งสองฝ่ายไปถึงขั้นเอาเป้าหมายมาสร้างความชอบธรรมให้วิธีการ ใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการที่สองซีกเชื่อว่าจะนำไปสู่เป้าหมายได้"


 


"พันธมิตรก็มีความเชื่อมั่นความรุนแรงอย่างชัดแจ้ง เช่นเราเห็นว่าท่าทีที่ผู้นำเหล่าทัพแสดงออกมาน่าห่วง แต่พันธมิตรยังไม่พอใจ ยังอยากให้มากกว่านั้น ขนาดออกมาด่ากันบนเวทีว่าไม่แน่จริง แน่จริงต้องทำมากกว่านี้ คือแค่ขู่ไม่พอต้องลงมือเลย ซึ่งนั่นไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย และมันไม่มีทางใช้ความรุนแรงทางการเมืองนำไปสู่เป้าหมาย ผลที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ประชาธิปไตยแต่จะหว่านเชื้อเผด็จการ ก็กลับไปที่ผมพูดว่าใช้ความชั่วร้ายทำลายความชั่วร้ายไม่มีทางสร้างสิ่งที่ดีได้"


   


สุณัยเห็นว่าท่าทีของสื่อ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ที่เลือกข้าง ก็จะก่อปฏิกิริยาให้ม็อบอีกฝ่ายยิ่งโกรธแค้น เช่นม็อบเสื้อแดงในวันเสาร์ถัดมา


 


"เขาโกรธเพราะรู้สึกว่าสังคมไม่เป็นธรรมกับเขา แน่นอนส่วนหนึ่งมาด้วยจ้าง ผมยอมรับ แต่ส่วนหนึ่งก็มาด้วยใจ เมื่อเห็นว่าในสังคมแสวงหาความเป็นธรรมไม่ได้"


 


"การเลือกมองปัญหาด้านเดียวว่ารัฐเป็นคนรับผิดชอบต่อความรุนแรงวันนั้นเพียงผู้เดียว ด้านหนึ่งก็ทำให้พันธมิตรได้ใจคิดว่าตัวเองไม่ผิด มองว่าเป็นการป้องกันตนเอง แต่ไม่ใช่ มันเป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น สอง ทำให้เกิดความเข้าใจบิดเบี้ยวต่อปัญหา รัฐบาลและตำรวจเป็นจำเลยข้างเดียว แต่ไม่ใช่พันธมิตรเป็นจำเลยด้วย"


 


"เหตุการณ์วันที่ 7 เปิดเงื่อนไขไปสู่การล้มล้างรัฐบาลด้วยการใช้กำลัง ถ้ามีรัฐประหารหรือการปะทะนองเลือดขึ้นมาระหว่าง นปก.กับพันธมิตร คนที่ต้องรับผิดชอบด้วยคือนักสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการที่สูญเสียจุดยืน"


 


"ผมเชื่อว่าความเป็นกลางไม่เลือกข้างจะบรรเทาการเผชิญหน้าได้ แต่วิกฤติคือนักสิทธิมนุษยชนนักวิชาการเลือกข้างไปแล้ว เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดร้ายแรง"


 


"ถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นว่ามีคนกลางที่รักษากติกากลางจริงๆ ไม่ว่าใครถูกรังแกทวงถามความเป็นธรรม เขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงนอกระบบ แต่เมื่อนักสิทธิมนุษยชนเลือกละทิ้งจุดยืนตัวเองคนกลางก็ไม่เหลืออยู่แล้วในสังคม"


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net