Skip to main content
sharethis

พ.อ.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าววันนี้ (12 เม.ย.) ถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า การประกาศครั้งนี้ คล้ายกับการประกาศในพื้นที่ จ.ชลบุรี เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพื้นที่เท่านั้น


 


เมื่อถามว่าแนวทางของกองทัพ จะรองรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และจะสามารถยุติเหตุการณ์ได้หรือไม่ พ.อ.จิตตสักก์ กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว เห็นว่า ไม่น่าจะยุติใดๆ ได้ เพราะเท่าที่ดูในระดับการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่อาจค่อนข้างสับสน เนื่องจากไม่แน่ใจในการบังคับใช้ พ.ร.ก. ตั้งแต่ประกาศที่ จ.ชลบุรีแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สับสน ไม่มีความมั่นใจว่า อำนาจหน้าที่มีมากน้อยเพียงใด และอย่างไรบ้าง


 


ส่วนเมื่อถามว่าเกี่ยวกับกฎหมาย ที่รองรับการปฏิบัติด้วยหรือไม่ เพราะตำรวจเคยมีบทเรียน เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2550 พ.อ.จิตตสักก์ กล่าวว่า ทำนองนั้น ถ้าบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องพิจารณาระดับในการปฏิบัติ เพราะเมื่อรัฐบาลบอกว่า จะปฏิบัติอย่างนุ่มนวล ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และยุทธวิธีการในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเหมือนเดิม ไม่สามารถทำอะไรได้


 


"รัฐบาล ต้องมีมาตรการเป็นขั้นเป็นตอนว่า จากเบาไปหาหนักในระดับของความรุนแรงเท่าที่ทำได้ขณะนี้ก็แค่นี้ มันไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิบัติ ซึ่งผมมองว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเพียงภาพกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดในการปฏิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดมาตรการออกมา ทั้งนี้ สังเกตได้จากนายทหารระดับผู้ใหญ่เกิดความอึดอัดเพียงแต่ไม่พูดเท่านั้นเอง" พ.อ.จิตตสักก์ กล่าว


 


พ.อ.จิตตสักก์ กล่าวอีกว่า ดูจากการที่มีการนำรถสายพานลำเลียงพล ออกมาจากหน่วยของกองพันทหารม้าที่ 1 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ วิ่งไปที่ย่านศูนย์การค้าพารากอน แสดงถึงความสับสน ในคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องนำรถเกราะ ออกมาในลักษณะนี้ เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ถ้าไม่มีทหารคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ต้องมีคนที่เสียสละตำแหน่ง เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เพราะการปฏิบัติอื่นๆ ดูแล้วไม่มีผลอะไร


 


 


"กองทัพ" ส่งทหารตรึงสี่แยกทั่วกรุง


 


ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเขตกทม.และปริมณฑล เมื่อเวลา 16.30 น. ทางศูนย์รายงานการชุมนุมและข่าวสารด้านการจราจร ได้รายงานว่า ทางกองทัพ ได้ส่งทหารเข้าดูแลสถานที่สำคัญใน กทม.และปริมณฑล โดยมีการอ้างเหตุว่า "เพื่อป้องกันการก่อความวุ่นวายและระงับเหตุร้าย รวมทั้งดูแลทรัพย์สินของทางราชการและของพี่น้องประชาชน จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและขออภัยในความไม่สะดวก และเพื่อความปลอดภัย ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม"


 


ต่อมาเวลา 17.00 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทุกคนในเขตกทม.และปริมณฑล กลับเคหะสถานเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่


 


เวลา 17.45 น. ทหารได้ไปถึง แยกอู่ทองใน แยกราชเทวี แยกประตูน้ำ แยกพญาไท แยกเสาวนีย์ และแยกสะพานเสี้ยว เรียบร้อยแล้ว จากนั้นเวลา 18.00 น. ศูนย์รายงานการชุมนุมและข่าวสารด้านการจราจร ที่มีนายสาทิตย์ เป็นประธาน ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์สื่อสารสถานการณ์ฉุกเฉินสำนักนายกรัฐมนตรี"



 


 


สนธิกำลังกว่า 56 กองร้อย ดูแลสถานที่สำคัญทางราชการ


 


เมื่อเวลา 18.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดงได้ทำการยึดรถเมล์สาย 53 สาย 23 จำนวนกว่า 10 คัน เมื่อมาปิดเส้นทางบริเวณการเข้าออกบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเพื่อ ป้องกันกลุ่มมือที่สามมาสร้างความวุ่นวาย ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ร่วมประชุมอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) เพื่อประเมินสถานการณ์ในการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตามการการประกาศ ใช้ พรก.ฉุกเฉิน และที่ ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ติดตามสถานการณ์ภายในของแต่ละเหล่าทัพ


 


ทั้งนี้เบื้องต้น กองทัพจะจัดส่งกำลังสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 56 กองร้อย ตามแผน "อาร์มทอง" เพื่อดูแลสถานที่ราชการสำคัญ โดยแบ่งพื้นที่โซนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะใช้กำลังจากกองทัพภาคที่ 1 ประกอบด้วย กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยให้ พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการควบคุมกำลังพล ส่วนโซนในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จะให้ทางกองทัพเรือ เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่โซนในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.อยุธยา จ.นครปฐม จะให้ทางหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) กองทัพอากาศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล


 


 


ตั้งกองบัญชาการการแพทย์ฉุกเฉิน 3 จุดในกทม.


 


นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ทีมแพทย์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ตั้งกองบัญชาการการแพทย์ฉุกเฉินใน 3 จุดได้แก่ จุดแรกที่พอสว. จุดที่สองรพ.รามาธิบดีและจุดที่สาม สถานีวิทยุพล 1 ด้านข้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรถพยาบาลเตรียมไว้ประมาณ 30-40 คัน และแพทย์ พยาบาลกว่า 100 คนอยู่บริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งยังมีรถพยาบาลจากรพ.พระนั่งเกล้า นนทบุรี รพ.บางพลี สมุทรปราการ และรพ.ปทุมธานี เตรียมพร้อมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อโทร.1669 ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารกับผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือส่งตัวผู้บาดเจ็บไปรักษา ได้ทันที


 


นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผอ.ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ได้ตั้งกองบัญชาการแพทย์ฉุกเฉินในรพ.ในสังกัดเช่น สำนักการแพทย์ กทม., รพ.วชิระ, รพ.กลาง ทั้งนี้ เตรียมพร้อมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อโทร.1646


 


 


ลือแซ่ด! จะนำหน่วยรบพิเศษ ลพบุรี มาที่พล.ม.2



 


รายงานข่าวจากกองทัพเปิดเผยว่า ในเวลาประมาณ 20.00 น. คืนนี้ จะมีการนำทหารจากหน่วยรบพิเศษ ลพบุรี เข้ามาในกรุงเทพฯ ประมาณ 50 คน ลำเลียงโดย ฮ.ชีนุก และนำมาส่งที่พล. ม.2 ซึ่งหน่วยรบชุดนี้มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการใช้ปืนสไนเปอร์ และมีความเชี่ยวชาญด้านการช่วยตัวประกัน โดยคาดว่าจะมาผสมกับกำลังในส่วนของกรุงเทพฯ และจะมีปฏิบัติการล็อคแกนนำ นปช. ในช่วงเช้ามืด


 


 


เรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์, เนชั่นแชแนล, มติชนออนไลน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net