Skip to main content
sharethis

ที่กระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีและโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายสมโชค บุญกำเนิด รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวถึงการตั้งศูนย์ข้อมูลความมั่นคงจังหวัดภาคใต้ โดยได้นำเครื่องจีทีสแกน ซึ่งสามารถสแกนร่องรอยสารเสพติด ระเบิดและอาวุธปืน มาประกอบการแถลงข่าว

นายชาญเชาว์ กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลความมั่นคงจังหวัดภาคใต้ เป็นการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์หลักฐาน ดีเอ็นเอ สารพันธุกรรม วัตถุพยานในการคลี่คลายคดี และผู้เชี่ยวชาญจากดีเอสไอ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการประมวลข้อมูลมีความถนัดด้านการสื่อสารอิเล็กทรอนิคส์ และด้านการสืบสวนสอบสวน ทั้ง 2 หน่วยงานเอามารวมกันในส่วนนี้ หากทหารในพื้นที่สงสัยได้เบาะแสมาเบื้องต้นต้องการขยายผล ก็ติดต่อมาที่ศูนย์ข้อมูลฯ โดยไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ ยกเว้นจะมีการขอให้เข้าไปที่เกิดเหตุ

“ผมต้องสร้างศูนย์ข้อมูลฯ นี้ขึ้นมาเพื่อให้การข่าวจับต้องได้และโปร่งใส เป็นเทคนิคในการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะถ้าเราปล่อยให้การข่าวเป็นเรื่องการสืบสวนเพียงอย่างเดียวและเป็นการซื้อข่าวโดยไม่มีการจัดระบบ จะเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักประกันให้กับประชาชน การจัดระบบฐานข้อมูลเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างสมดุลและถ้าพัฒนาสำเร็จจะพัฒนาเป็นการสร้างศูนย์ข้อมูลอาชญากรรม คราวนั้นจะเป็นพยานหลักฐานได้ เราจะไม่ปล่อยให้งานด้านการข่าวเป็นเรื่องของการซื้อข่าว ลอยลม หรือเป็นสายลับ นี่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการเพื่อความโปร่งใส” นายชาญเชาว์กล่าว

นายชาญเชาว์ กล่าวด้วยว่า ประชาชนที่ให้ข้อมูลเป็นเบาะแสกับศูนย์ฯ จะเป็นการให้ข้อมูลในทางลับ หากมีการเปิดเผยหรือต้องไปเบิกความต่อศาลเป็นพยานให้การพนักงานสอบสวน ก็จะมีการคุ้มครองพยานชัดเจน ส่วนการรวบรวมข้อมูลทุกประเภท ในส่วนงานนิติวิทยาศาสตร์ มี 2 ด้านประกอบด้วยการพิสูจน์ที่สามารถยืนยันได้เลยว่าคนร้ายคือใครและอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิสูจน์แล้วอาจไม่ใช่พยานหลักฐานที่ศาลจะลงโทษได้ทันทีและเป็นเพียงแต่การชี้ช่อง ดังนั้นประโยชน์สูงสุดที่ชาวบ้านจะได้ จึงต้องเอามารวมกันระหว่างคนที่เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนและคนที่เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่นิติวิทยาศาสตร์บอกอะไรแล้วแปลว่าใช่เลย

“ในฐานข้อมูล ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นคนร้ายหมด ยกตัวอย่างเรื่องการติดต่อสื่อสาร ผมทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มา 7 ปี เป็นไปได้ว่าเบอร์โทรศัพท์ผมก็อยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นงานศูนย์ข้อมูลไม่ใช่ศูนย์ข้อมูลอาชญากรรม ชาวบ้านต้องมั่นใจ จึงต้องเน้นย้ำว่าข้อมูลหมายถึงอะไร ไม่ใช่ข้อมูลอาชญากรรม และไม่ใช่เหวี่ยงแหกับพี่น้องประชาชนไปเสียทุกคน วันนี้เราจะทำให้เห็นเลยว่าเรามีความโปร่งใส เป็นส่วนหนึ่งของงานการข่าว ฉะนั้นคนที่เอาประโยชน์ไปจากฐานข้อมูลของเราต้องเข้าใจตรงนี้” นายชาญเชาว์กล่าว

ถามถึงวิธีการรวบรวมข้อมูลของดีเอสไอว่ารวมถึงการดักฟังโทรศัพท์ซึ่งอาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ นายชาญเชาว์ กล่าวว่า “ที่มาของฐานข้อมูลต้องได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเราไม่ถือว่าเป็นฐานข้อมูลในนี้”

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า เรื่องความมั่นคงกับสิทธิเสรีภาพต้องสมดุลกัน ถ้าในกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์ปกติ ตำรวจทั่วไป กฎหมายธรรมดาดูแลได้ก็ว่าไป แต่เขตพื้นที่ภาคใต้มีการประกาศกฎอัยการศึก โดยหลักสากลเขาก็ต้องยอมแลกสิทธิเสรีภาพบางอย่างเพื่อควบคุมอาชญากรรม

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อปี 2547 ดีเอสไอเริ่มสืบสวน รวมพยานจัดโครงสร้างกลุ่มงานความมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการทำงานในคดีพิเศษ 3-4 คดี ซึ่งเป็นที่สนใจ อาทิ คดีปล้นปืน ได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหากับพวก คดีระเบิดหน้าโรงแรม ซี เอส ปัตตานี รวมถึงเหตุระเบิดในภาคใต้หลายแห่ง ภายหลังจากส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทหารและตำรวจ ทางดีเอสไอก็ได้พบตัวตนของตัวเองที่เป็นจุดแข็ง คือความเชี่ยวชาญชำนาญในการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงในการรวบรวมข้อมูลการติดต่อสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ สื่อดิจิตอล ที่เชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายกระทำความผิด

ขณะนี้มีฐานข้อมูลที่ใหญ่พอสมควรในการวิเคราะห์ข้อมูลส่งให้หน่วยงานความมั่นคงที่ร้องขอมา และต่อมามีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกัน เคียงบ่าเคียงไหล่ตำรวจ  ทำให้เกิดการบูรณาการและได้รับความน่าเชื่อถือสูงมาก

นายสมโชค กล่าวว่า เครื่องจีทีสแกน สามารถตรวจสารเสพติด สารระเบิด หรือดีเอ็นเอผู้กระทำผิด ซึ่งนับแต่เกิดเหตุที่กรือเซะ และตากใบ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็ได้ลงไปช่วยเก็บข้อมูลกรณีภาคใต้ เริ่มเก็บดีเอ็นเอและวัตถุพยานขึ้นมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จนขณะนี้เก็บมาแล้ว 22,193กรณี เป็นดีเอ็นเอที่มาจากตัวบุคคล 21,391 รายการและดีเอ็นเอจากวัตถุพยาน 802 รายการ ส่วนการใช้เครื่องมือตรวจสอบทางด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้น บอกได้เพียงว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้เกี่ยวข้องสุจริตหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับการสืบสวนสอบสวน นอกจากนั้น เมื่อเกิดเหตุระเบิด ทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ว่าจะมีเหตุระเบิดซ้ำอีกหรือไม่

“ในการปิดล้อมตรวจค้น ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไม่มีความเชี่ยวชาญเชิงกฎหมาย ที่อยู่ๆ เราจะดิ่งเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นและตามอำนาจหน้าที่ของเราไม่ชัดขนาดนั้น แต่เราไปในฐานะผู้ช่วยของพนักงานสอบสวน ผู้ช่วยของทหารในภาคใต้ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจปิดล้อมก็ขอความร่วมมือเรา ในฐานะผู้ชำนาญการ ในที่สุดได้ดีเอ็นเอ บางครั้งเจอโทรศัพท์ เจอสารระเบิด เจอเทปพันสายไฟที่พันระเบิด รวมทั้งบุคคลต้องสงสัย เราเก็บเอามาเป็นฐานข้อมูลทั้งสิ้น เราเก็บมาตั้งแต่กรณีตากใบ วันดีคืนดี เราพบว่ามี นาย ก.นาย ข. ตั้งแต่รุ่นตากใบในปี 2547-48 วันดีคืนดี ณ ปี 2549-2550 เราไปพบดีเอ็นเอของคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุในการวางระเบิดบ้าง ในบ้านหลังหนึ่งบ้าง ตรวจพบดีเอ็นเออันเดียวกับของนาย ก. นาย ข. เป็นการบ่งชี้ว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่เริ่มทำงานที่ตากใบและเริ่มมากระจายงานในพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันนี้คือสิ่งที่โยงกันเป็นระบบ ค่อนข้างเห็นชัด

ส่วนสถิติปี 2552 ที่ผ่านมา งานต่างๆ มีเยอะที่ไปช่วยทหารออกตรวจข้อมูล เก็บข้อมูลผู้ต้องสงสัย 900 กว่าคน ซึ่งเต็มใจให้เก็บข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำผิด ซึ่งคนที่ถูกเก็บดีเอ็นเอ ก็ระวังตัวเอง ไม่ไปทำผิดแน่นอนและได้ฝึกคนเหล่านี้ตรวจดีเอ็นเอด้วยเพราะเจ้าหน้าที่ของเราไม่พอ พบพานวัตถุซึ่งเป็นสารระเบิดและยาเสพติด 6 พันกว่ารายการ และสารประกอบวัตถุระเบิดอีก 6 ร้อยกว่า สารเสพติดอีก 177 รายการ รวมทั้งบุคคลสูญหาย อีก ปัจจุบันเรามีสาระบบ 149 รายการเฉพาะภาคใต้ ทั้งหมดนี้คือสาระที่ทำอยู่

ขอยกตัวอย่างเคสที่มีการเก็บและพบข้อเท็จจริงสามารถโยงมาจับกุมคนในการดำเนินคดีได้ คดีแรกลอบวางระเบิดทางรถไฟ ส่งผลให้มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ จ.นราธิวาส ซึ่งผลการตรวจฐานข้อมูลวัตถุพยานครั้งแรก พบว่าดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมไปตรงกับผู้ต้องสงสัยที่ร่วมชุมนุมที่ตากใบ แล้วต่อมาได้ไปแจ้งพนักงานสอบสวนเข้าควบคุมดำเนินคดีตามขั้นตอน ตัวอย่างที่ 2 คือการส่งจดหมายข่มขู่ชาวบ้าน พอตรวจได้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ส่งจดหมายได้แลบลิ้นเลียซองก่อนปิดซอง แล้วตรงนั้นเอามาสกัดเป็นดีเอ็นเอส่วนบุคคลได้หรือแสตมป์ก็ด้วย ในที่สุดตรวจพบว่าเป็นวัตถุพยานที่ส่งจากเหตุการณ์ต่างๆ ใน จ.นราธิวาส ผลจากการปิดล้อมตรวจค้นเลยนำเอาบุคคลผู้ต้องสงสัยทั้งครอบครัวมาตรวจดีเอ็นเอแล้วจึงพบข้อเท็จจริงว่าเป็นดีเอ็นเอของคนในบ้านไหน อีกรายการหนึ่งคือเทปกาวที่พันระเบิดมีลายนิ้วมือติด ก็นำมาสกัดพบโยงใยกับกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานด้านนี้ในที่อื่นๆ สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใคร” นายสมโชคกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีเหตุระเบิดล่าสุดในภาคใต้ พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมต่างๆ ส่วนดีเอสไอได้ทำงานด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าทำอะไร เพื่อไม่ต้องการให้คนร้ายรู้เท่าทัน ส่วนกรณีเหตุระเบิดเมื่อ 2 วันที่แล้วก็คงมีการทำงานร่วมกัน แต่ชั้นนี้อาจจะเร็วเกินไปยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเรียนให้ทราบได้ว่าเราวิเคราะห์ฟันธงได้ว่าเกิดอะไร

ด้านเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ กล่าวว่า กรณีที่เจาะไอร้อง เมื่อฝ่ายข่าวสืบสวนมาได้ว่ากลุ่มใดต้องสงสัย ก็จะหาข้อมูลส่งมาให้เราวิเคราะห์เครือข่ายเพื่อเข้าปิดล้อมตรวจค้นเครือข่าย เพื่อตรวจสอบหาการกระทำผิดให้ได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีกี่เครือข่าย เจ้าหน้าดีเอสไอ กล่าวว่า ฐานข้อมูลเก็บจากคดีพิเศษ อาทิยาเสพติด จากนั้นทำการเชื่อมโยงติดต่อขยายผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วจะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ โดยมีการเชื่อมกันอยู่โดย ไม่สามารถบอกเป็นจำนวนเครือข่ายได้ แต่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ชี้ชัดจากพยานหลักฐานว่าเครือข่ายยาเสพติดเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ เพราะระบุได้เพียงว่ามีการติดต่อกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net