Skip to main content
sharethis

เมื่อ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) และกลุ่มเพื่อนพม่า (Friends of Burma) ได้จัดเวทีสาธารณะ สถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า: จากประวัติศาสตร์อาณานิคมและความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์สู่การลงทุนของไทยและผลกระทบในพม่า” ที่ห้องประชุม ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย วันดี สันติวุฒิเมธี บรรณาธิการศูนย์ข่าวสาละวินโพสต์

 
ภายในงานมีการฉายสารคดีเรื่อง “Damming the Yintalai” โดย Karenni Development ซึ่งนำเสนอผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่เกิดขึ้นกับชาวยินตะไล โดย ดร. ชยันต์ วรรธนภูติ ศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) ได้กล่าวเปิดงานว่าท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการเลือกสรรของสื่อมวลชนนั้นทำให้เราไม่สามารถรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน ฉะนั้นสารคดีเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นการทำงานจากในพื้นที่จริงจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศพม่านั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งมีคนพม่าที่ทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย คนไทยจึงควรที่จะต้องใส่ใจต่อประเด็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น โดยการแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในเวทีนี้จะเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น
 
 
เผยการสู้รบรัฐกะเหรี่ยงทำผู้อพยพทะลักกว่า 3,500 คน
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย- พม่า จังหวัดตาก นั้นได้มีตัวแทนจากในพื้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูล โดยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ได้เข้าโจมตีกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองพลที่ 7 ซึ่งเป็นกองกำลังของกะเหรี่ยง KNU ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 3,500 คน ต้องละทิ้งหมู่บ้านและหนีมายังประเทศไทย โดยแต่ละวันนั้นมีผู้ที่หลบหนีการสู้รับดังกล่าวมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถยืนยันจำนวนคนได้
 
ทั้งนี้ยังมีบางครอบครัวที่ยังอยู่นอกเขตที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน โดยตอนแรกคนเหล่านี้จะได้พักอยู่ในที่พักชั่วคราวประมาณ 2-3 เดือน แต่หลังจากการประชุมกับผู้นำในระดับอำเภอนั้นได้สรุปผลการประชุมว่าบริเวณดังกล่าวจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่หลบหนีมาจากประเทศพม่า ดังนั้นพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้พักที่วัดและถูกขอให้ออกจากวัดโดยเร็ว แต่ทางเอ็นจีโอในพื้นที่กับกลุ่ม KNC ได้เจรจากับเจ้าของที่ดินและได้ที่แล้ว โดยจะต้องจ่ายข้าวสารเป็นจำนวน 12 กระสอบต่อเดือนให้กับเจ้าของที่ดิน
 
 
นักวิชาการเผยประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงตั้งแต่ยุคอาณานิคมถึงการต่อสู้ปัจจุบัน
ต่อมา ดร. ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า: กรณีศึกษากลุ่มกะเหรี่ยง” โดยให้ข้อมูลว่าในช่วงก่อนยุคอาณานิคมนั้นผู้คนหลากหลายภูมิหลังทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอยู่กระจัดกระจายหลายร้อยกลุ่มและมีการโยกย้ายเพื่อหาพื้นที่ทำกิน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรมกับกลุ่มต่างชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้จึงทำให้ไม่มีสำนึกเรื่องชาติพันธ์
 
ดร. ขวัญชีวัน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงยุคอาณานิคมนั้นอังกฤษดำเนินการยึดส่วนล่างของพม่าได้ในปี ค.ศ. 1826 แล้วทำการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานภาษาเพื่อการวางนโยบายการบริหารคนและพื้นที่ จึงทำให้กลุ่ม “กะเหรี่ยง” หรือ “Karen” “คะหยิ่น” “ยาง” มีฐานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 1 กลุ่ม และจัดกลุ่มอื่น ๆ ที่มีภาษาร่วมกัน (ตามหลักภาษาศาสตร์) ให้เป็นกลุ่มย่อย เช่น สะกอ โป บเว ต่องสู้ คะยา ฯลฯ อีกกว่าสิบกลุ่ม และได้มีการแบ่งเขตการปกครอง ให้เขตพรมแดนอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แยกส่วนจากพม่าจึงทำให้ชนชาติกะเหรี่ยงนั้นไม่เคยอยู่ใต้การปกครองของพม่า
 
ทั้งนี้ในปี 1946 ผู้แทนกะเหรี่ยง (Goodwill Mission) ได้เดินทางไปอังกฤษเพื่อยื่นข้อเสนอให้กะเหรี่ยงมีรัฐอิสระที่ปกครองตนเองที่ครอบคลุมอำเภอสาละวิน เขตตะนาวศรีและบางส่วนของพะโค ซึ่งอังกฤษไม่ยอมรับข้อเสนอจึงได้มีการก่อตั้ง สหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNU) และ กองกำลังป้องกันตนเอง (KNDO) ขึ้น โดยในปี 1948 นั้นกลุ่มกะเหรี่ยงได้มีการประกาศเอกราช และการเริ่มการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่มีกะเหรี่ยงบางส่วนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าทำให้การเคลื่อนไหวอ่อนตัวลง แต่ใน ปี 1967 นั้นเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากอยู่ภายใต้การนำของนายพลโบเมียะ และยังได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาและไทยในยุคสงครามเย็น
 
“ปัจจุบันนั้นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่านั้นมีการแตกตัวหลายกลุ่ม โดยกองกำลังต่าง ๆ บริเวณชายแดน พยายามช่วงชิงและคุมพื้นที่ของตน เพื่อหารายได้จากธุรกิจการค้าชายแดนมาสนับสนุนการอยู่รอดของกองกำลัง อย่างไรก็ตามทุกกลุ่มยังพยายามเน้นการเชิดชูอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และการต่อสู้เพื่อการสร้างชาติของตน”
 
 
นักพัฒนาห่วงพม่าก่อสงครามหวังเปิดทางสร้างเขื่อนสาละวินป้อนไฟฟ้าไทย
ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช. เหนือ) ได้กล่าวในประเด็น “การลงทุนของไทยและผลกระทบในพม่า กรณีเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง” โดยกล่าวถึงประเทศไทยว่ามีการมูลค่าลงทุนในประเทศพม่าเป็นอันดับสามรองจากประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ โดยการลงทุนที่หลายๆ ประเทศเข้ามาดำเนินการนั้นคือการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า สำหรับประเทศไทยนั้น บมจ.กฟผ. ได้ลงนามข้อตกลงบันทึกข้อตกลง (MOA) กับการไฟฟ้าพลังน้ำพม่าเป็นจำนวนเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อสร้างเขื่อนฮัตจี ซึ่งมีที่ตั้งห่างจาก อ.สบเมย ใน จ.แม่ฮ่องสอนเพียง 47 กิโลเมตร โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,360 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จะต้องถูกส่งเข้าที่ อ.ท่าสองยาง จ.แม่ฮ่องสอน ถึง 1,300 เมกะวัตต์ นอกจากยังมีการสร้างเขื่อนท่าซาง ซึ่งจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่กว่า 500,000 ไร่ โดยหากสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า และทั้งสองเขื่อนนี้ได้ถูกบรรจุในแผนพลังงานของประเทศไทย (PDP) ฉบับปี 2009
 
ทาง กฟผ.นั้นได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฮัตจี โดยผลจากการศึกษาระบุว่าผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจะเกิดขึ้นกับหมู่บ้านจำนวน 6 แห่ง แต่รายงานจากคนในพื้นที่นั้นชี้ชัดว่าจะส่งผลกระทบกับหมู่บ้านถึง 31 แห่ง นอกจากนี้การศึกษาดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในฝั่งไทยเลย หากมีการสร้างเขื่อนก็จะทำให้การเพาะปลูกพืชผักริมตลิ่งแม่น้ำสาละวินที่เคยทำในหน้าแล้งนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
 
นายมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่การสู้รบในขณะนี้นั้นเป็นพื้นที่ที่จะใช้ในการสร้างเขื่อน ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการสู้รบดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้สามารถสร้างเขื่อนได้ ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนทางรัฐบาลพม่าย่อมจะเข้ามาควบคุม และจะส่งผลให้มีผู้อพยพมายังประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้การสร้างเขื่อนฮัตจีนั้นมีต้นทุนสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ แต่ราคาไฟฟ้าต่อหน่วยที่มักถูกนำในการโฆษณาว่าราคาถูกกลับยังเป็นราคาเดิมทั้งที่ต้นทุนสูงขึ้น
 
นอกจากนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น บมจ. กฟผ. ได้ยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว และในแผนพลังงานก็ได้ลดการสร้างโรงไฟฟ้าบางส่วนลง เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีพลังงานสำรองในปริมาณที่มากแล้ว ฉะนั้นการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นนั้นจึงไม่ได้มาจากความต้องการพลังงาน แต่เป็นเรื่องผลกำไรขององค์กรที่ บมจ. กฟผ. นั้นเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นไฟฟ้าที่ได้จากประเทศพม่านั้นจะส่งเข้ามาประเทศไทยเพื่อนำไปใช้ในโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถสร้างได้หรือไม่
 
“เราอย่าไปคิดว่า ถ้าประเทศเราไม่สร้างก็จะต้องมีประเทศอื่นสร้างอยู่ดี ฉะนั้นเราก็สร้างเองดีกว่า ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวเกินไป และเป็นการซ้ำเติมปัญหา”
 
 
นักวิชาการสิทธิมนุษยชนห่วงผู้ลี้ภัย เหตุไทยไม่เคยยอมรับสถานะ
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลถึง “บทบาทของ ASEAN และ UN ต่อกรณีพม่า” โดยกล่าวว่า ผู้ที่หลบหนีการสู้รับมาจากประเทศพม่ายังประเทศไทยนั้นรัฐบาลไทยจะไม่รับรองสถานภาพ ผู้ลี้ภัย (Refugee) ให้ เพราะหากมีการรับรองเท่ากับยอมรับว่าประเทศพม่านั้นมีปัญหาภายในและจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ฉะนั้นที่พักของคนเหล่านี้จะไม่เรียกว่าค่ายผู้ลี้ภัย (Camp) แต่จะเรียกว่าที่พักชั่วคราว (Temporary Shelter) ซึ่งประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีท่าทีเช่นเดียวกันนี้
 
ดร.ศรีประภา กล่าวว่า องค์การสหประชาชาตินั้นไม่มีอำนาจในการคว่ำบาตรประเทศพม่า ถึงโดยอำนาจแล้วสามารถไล่ออกจากการเป็นสมาชิกได้ แต่เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากและไม่สามารถทำได้โดยง่าย นอกจากองค์การสหประชาชาติแล้วอาเซียนเองก็ไม่มีอำนาจในการที่คว่ำบาตรได้ อย่างกรณีพิบัติภัยนาร์กีสนั้น ทางกลุ่มประเทศอาเซียนเองก็ต้องรอเป็นเดือนกว่าจะเข้าประเทศพม่าเพื่อไปให้ความช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตามทางตัวแทนประเทศพม่าก็จะตัดพ้อว่าประชาคมโลกไม่มองด้านดีของรัฐบาลพม่าว่าสามารถเจรจาเรื่องการปลดอาวุธของกลุ่มต่างๆ ได้สำเร็จ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net