Skip to main content
sharethis

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสากรรม ลงพื้นที่แม่รำพึง ชื่นชมในพลังของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองในฐานะของเจ้าประเทศ เห็นใจพี่น้องในการรวมพลังในการรักษาปกป้องทรัพยากร แต่อย่างไรประเทศก็ต้องพัฒนาเลยต้องกำหนดนโยบาย “อุตสาหกรรมต้องเป็นมิตรต่อชุมชน” ในการทำงานเพราะเป็นกระทรวงปลายน้ำ

13 ก.ย. 52 - นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมต.ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมคณะ เดินทางมายังศูนย์เฝ้าระวังป่าพรุแม่รำพึง ในเวลา 10.45 น. โดยมีชาวบ้านในพื้นที่มารอให้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อเดินทางมาถึงชาวบ้านได้จัดรถให้คณะรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางดูความสมบูรณ์ของป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ พร้อมทั้งอธิบายความเชื่อมโยงของระบบนิเวศน์ ที่มีความเชื่อมโยงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวบางสะพาน และมีการจัดการอ่าวโดยชุมชนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540 จนได้รับรางวัล 3 ปี ซ้อนจากรางวัลประมงดีเด่น รวมถึงมีมาตรการปิดอ่าวเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเล ถึง 3 ชั้น เพราะเป็นพื้นที่วางไข่ปลาทูที่หนาแน่นในอ่าวไทย เป็นที่หากินของฉลามวาฬสัตว์ทะเลหายาก/สัตว์คุ้มครองทางทะเล
ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมระหว่างพื้นที่ตั้งโครงการกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ไม่มีความเหมาะสมใดๆ กับโครงการอุตสาหกรรมทุกชนิดทุกขนาด ไม่ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ก็ตามเพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่ออ่าวบางสะพานโดยรวม จึงสมควรที่จะยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลให้พื้นที่เกิดความเปลี่ยนแปลง และสุ่มเสี่ยง เพราะมาตรการป้องกันใดๆ ของรัฐที่ผ่านมาก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เมื่อเกิดผลกระทบขึ้น ดังเช่นตัวอย่างจากกรณีมาบตาพุด
ภายหลังจากที่นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมต.ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมคณะ เดินทางมายังศูนย์เฝ้าระวังป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในเวลา 10.45 น. ก็ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายของป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งป่าแห่งนี้ได้มีมติครม.ประกาศรับรองให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา
โดยภายหลังจากที่เข้าสำรวจพื้นที่ประมาณ 30 นาที คณะทั้งหมดได้เดินทางเข้าดูพื้นที่บางส่วนของโรงงานในเครือสหวิริยา ว่าที่ดินบางส่วนมีคำสั่งเพิกถอนจากกรมที่ดินเนื่องจากบุกรุกป่าคุ้มครอง ป่าสงวนแห่งชาติ
หลังจากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางมายังศูนย์เฝ้าระวังป่าพรุ เพื่อรับหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายชาวบ้านในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลจากตัวแทนชาวบ้านที่พูดถึงภาพรวมของพื้นที่ทั้งหมด
นายสุพจน์ ส่งเสียง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า จากการมุ่งเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งที่มีหน่วยงานรัฐในการติดตามควบคุม/ตรวจสอบ หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมโรงงาน, กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, การนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างเช่น กรณีมาบตาพุดก็เป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้จริง และในพื้นที่ อ.บางสะพานซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำยิ่งเป็นการไม่สมควรที่ก่อโครงการอุตสาหกรรมใดๆ ในพื้นที่
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสากรรม กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น และตั้งใจลงมาดูพื้นที่ต่อหลังจากที่รับปากชาวบ้านไว้ ชื่นชมในพลังของชาวบ้านที่รักความเป็นธรรมลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองในฐานะของเจ้าประเทศ ทั้งยังเห็นใจพี่น้องในการรวมพลังในการรักษาปกป้องทรัพยากร แต่อย่างไรประเทศก็ต้องพัฒนา ต้องหันหน้าเข้ากัน ผมจึงกำหนดนโยบายที่ว่า “อุตสาหกรรมต้องเป็นมิตรต่อชุมชน” ขึ้นมา ทั้งนี้กระทรวงของผมเป็นกระทรวงปลายน้ำแล้ว แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด
จากนั้นนายชาญชัยพร้อมคณะได้เดินทางออกจากพื้นที่ อ.บางสะพาน แล้วเมื่อเวลา 13.30 น. โดยที่มีตัวแทนชาวบ้านในหลายพื้นที่ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมยุติการอนุมัติโครงการต่างๆ จนกว่าจะมีจะมีข้อระเบียบต่างตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 จะออกมาอย่างครบถ้วนเสียก่อน โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมในวันนี้มีจากหลายพื้นที่ ทั้งจากการชุมพร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยบรรยากาศการชุมนุมเป็นไปอย่างคึกคัก มีการตั้งเต้นท์นิทรรศการ รวมทั้งเอกสารข้อมูลของพื้นที่ต่างๆ โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 3,000 คน
นางจินตนา แก้วขาว กล่าวว่า แม้ว่าวันนี้ รมว.อุตสาหกรรมจะยังไม่รับปากอย่างเป็นรูปธรรมกับชาวบ้านว่าจะจัดการปัญหาข้อร้องเรียนชาวบ้านอย่างไร แต่ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่ รมว.ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการอนุมัติอนุญาตให้มีการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรม เดินทางมาดูพื้นที่เองว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเกิดอุตสาหกรรมแต่อย่างใด รวมทั้งลงมารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านโดยตรง ไม่ต้องให้ชาวบ้านต้องขึ้นไปเรียกร้องยังกระทรวงฯ
“ต่อไปกระทรวงฯ จะอนุมัติอนุญาตโครงการใด ควรมีการศึกษาอย่างรอบด้านเสียก่อนไม่ควรมุ่งเน้นเพียงแต่การส่งเสริมการลงทุน และไม่ควรจะมากำหนดขนาดและประเภทโครงการรุนแรงแต่อย่างใด เพราะที่จริงโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ควรที่จะต้องถือว่าเป็นโครงการรุนแรงแล้ว”
โดยภายหลังจากที่นายชาญชัยเดินทางกลับแล้ว ทางเครือข่ายชาวบ้านทั้งหมดได้ร่วมกันประชุมปรึกษาหารือเพื่อทำงานร่วมกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net