Skip to main content
sharethis

วันนี้ (20 ตุลาคม 2552) ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี จัดการประชุมค้นหารูปแบบความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ห้องบัวทิพย์ 1 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ, เอกชน, องค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมประมาณ 60 คน

นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หน่วยงานในการจัดการทรัพยากรน้ำมีมาก แต่ไม่ได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเวลาประชาคม ชาวบ้านอยากได้น้ำ แต่พอผ่านผู้แทนทีไรได้ถนนกลับมาทุกที ไม่ทราบเป็นอะไร ตนมีความเห็นว่าการรวมตัวของประชาชนอย่างเข้มแข็งสำคัญมาก ไม่ใช่ให้นโยบายข้างบนมาครอบงำ ต้องทำในสิ่งที่เราอยากทำ

ดร.อินธิรา ซาฮีร์ คณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความเห็นด้วยกับนายกอบจ.อุบลฯ ที่หน่วยงานจัดการน้ำไม่มีเอกภาพ เป็นเบี้ยหัวแตก เงินเยอะแต่ไม่บูรณาการแผน น่าจะใช้จ.อุบลฯเป็นต้นแบบลองบริหารร่วมกัน เพราะจ.อุบลราชธานีเป็นที่รวมของน้ำเสียจากทุกที่ ปลายน้ำอยู่ที่นี่ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำถ้ามีการจัดการร่วมกันน่าจะแก้ปัญหาได้

นายวิสูตร อยู่คง นักวิชาการป่าไม้ เสนอให้มีกระบวนการจัดการป่าทาม บริเวณวังยาง ซึ่งเป็นป่าทามที่ยิ่งใหญ่เป็นแหล่งกรองแม่น้ำมูลแม่น้ำชีได้เป็นอย่างดี หากประกาศเป็นแหล่งชุ่มน้ำระดับจังหวัดได้จะเป็นอานิสงส์อย่างสูง

นายสมาน มานะกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุบลราชธานี เล่าว่าหลายครั้งที่มีการออกแบบบริการทรัพยากรน้ำวางแผนร่วมกับนักวิจัย สอบถามชาวบ้าน ดูพื้นที่ที่ควรทำ ไม่ควรทำ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด แต่พออนุมัติงบประมาณ ไม่เป็นไปตามการวางแผนเลย เพราะนักการเมืองจะชี้เอา ต้องพื้นที่นั้น พื้นที่นี้ ล้านแปด ล้านเก้า ไม่ต้องอีอ๊อคชั่นบอกเบ็ดเสร็จ ทำอย่างไรจึงจะดำเนินการจากแผนที่มาจากผู้ใช้น้ำจริงๆ ได้

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นักวิชาการ ข้าราชการ ชาวบ้าน สื่อ ต้องมาร่วมมือกันถึงจะสามารถจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้ หมดเวลาของการก่อม็อบประท้วงขัดแย้งรุนแรงแล้ว ต้องมาเน้นสิทธิชุมชน เพื่อเป็นการ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดการ “ทำลาย” ทรัพยากร กรรมการสิทธิฯก็จะทำหน้าที่นี้ เสนอให้ สกว.เป็นเจ้าภาพ คนในพื้นที่เป็นเลขาฯ ขับเคลื่อน เชื่อมทุกภาคส่วนมาช่วยกันจะสามารถจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net