Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากรายงานข่าวเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า กำลังตำรวจเดนมาร์กได้ปะทะกับผู้ชุมนุมเดินขบวนประท้วงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและเข้าจับกุมผู้เดินขบวนราว 230 คน บริเวณใกล้ศูนย์ประชุมเบลลาสถานที่จัดการประชุม ซึ่งการปะทะกันเกิดขึ้นหลังจากผู้เดินขบวนประมาณ 1,500 คนพยายามเคลื่อนเข้าไปยังศูนย์ประชุมฯ เพื่อหวังกดดันตัวแทน 194 ประเทศทั่วโลกที่กำลังเจรจาอยู่ในอาคาร ทั้งนี้จากภาพข่าวทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยซึ่งรายงานสถานการณ์ดังกล่าว ได้ปรากฎภาพคนไทยที่อาจเข้าร่วมการชุมนุมและอาจถูกตำรวจเดนมาร์กจับกุมตัวไปด้วย

วันนี้ (17 ธ.ค.52) จากการสอบถามไปยัง นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ซึ่งอยู่ในประเทศไทย กล่าวให้ข้อมูลว่า จากการคิดต่อประสานงานทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวได้จบลงไปแล้วและไม่ได้มีการสูญเสียใดๆ อีกทั้งไม่มีคนไทยที่เดินทางไปกับคณะทำงานและได้เข้าร่วมชุมนุมถูกจับกุม ส่วนภาพข่าวที่เห็นเป็นเหตุการณ์ขณะที่คนไทย 3 คน ซึ่งร่วมขบวนอยู่ในวงล้อมของตำรวจ และถูกผลักดันให้ออกจากที่ชุมนุม ด้วยสถานการณ์ที่ชุลมุนทำให้ขาดการติดต่อไประยะเวลาหนึ่ง แต่ขณะทุกคนปลอดภัยดี อาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากการใช้แก๊สน้ำตา

ทั้งนี้ ในส่วนของสถานที่จัดการประชุมคู่ขนาดที่ชื่อว่า KlimaForum ที่สนามกีฬา ดีจีไอ-บิเง็น ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามการชุมนุมครั้งนี้

นายจักรชัย ให้ข้อมูลด้วยว่าคนไทยที่ร่วมเดินทางไปยังกรุงโคเปนเฮเกนกับทางคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ประกอบด้วย เอ็นจีโอ 3 คน และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแก้ปัญหาอย่างไม่เป็นธรรมจำนวน 7 คน โดยมีจุดมุ่งหมายในการไปนำเสนอ แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งร่วมติดตามการเจรจาและผลักดันข้อเสนอ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พบและพูดคุยกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กรุงโคเปนเฮเกน อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงความสมานฉันท์ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาในระดับสากล

ส่วนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ก่อนหน้านี้ ในประเทศไทยได้มีการจัดการประชุมเรื่องในพื้นที่เครือข่ายต่างๆ อาทิ เกษตร ประมง และพลังงาน ซึ่งก็ได้มีการจัดทำท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนต่อปัญหาดังกล่าว ซึ่งก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกับคณะเจรจา และได้มีการยื่นให้นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไปแล้วที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมเจรจาของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศ (AWG-LCA) และการเจรจาของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยพันธกรณีต่อเนื่องสำหรับประเทศไทยใน ภาคผนวกที่ 1 ภายใต้พิธีสารเกียวโต (AWG-KP) ในส่วนของภาคประชาชนจากประเทศต่างๆ ก็ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกนด้วย

นายจักรชัยกล่าวด้วยว่า การชุมนุมในครั้งนี้ ทางคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม Climate Justice Action หรือ CJA ส่วนงานภาคปฎิบัติของเครือข่าย Climate Justice Now ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของความเป็นธรรม โดยต้องการประท้วงแบบสันติวิธี แต่ก็ได้มีการคาดการณ์แล้วว่าอาจถูกปราบปราบโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งในส่วนคณะทำงานฯ เองก็ได้มีการประเมินในเรื่องนี้ทุกระยะ แต่เมื่อดูจากผลการเจรจา ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 2 วันก็จะสิ้นสุดลง แต่การเจรจาก็ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลง ที่จริงใจต่อการแก้ปัญหา มีแต่การพูดคุยกันในเรื่องผลประโยชน์ ทำให้ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม

“เกิดอะไรขึ้นก็ต้องเกิด เพราะเขามาเพื่อสู้” นายจักรชัยกล่าว


เผยเตรียมจัดประชุม เชิญ “รัฐ-ชาวบ้าน” แจงผลไปโคเปนเฮเกน

ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม เปิดเผยถึงการดำเนินการต่อไปภายหลังการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนว่า ได้มีการวางแผนการจัดการประชุมในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยจะมีการเชิญตัวแทนภาครัฐที่เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติฯ เพื่อมาให้ข้อมูลความคืบหน้าในเวทีเจรจา และจะเชิญภาคประชาชนที่เดินทางไปร่วมการชุมนุมที่โคเปนเฮเกนมาร่วมให้ข้อมูลด้วย โดยการเหมือนกับที่ได้มีจัดไปเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นเป็นการพูดคุยก่อนหน้าการประชุมที่โคเปนเฮเกน

อย่างไรก็ตาม การประชุมที่โคเปนเฮเกนเป็นเพียงโอกาสหนึ่งในการแก้ปัญหาเท่านั้น เพราะปัญหาโลกร้อนมีหลายมิติ แต่หากไม่มีการเจรจาการหาข้อยุติเพื่อแก้ปัญหาคงทำได้ลำบาก ซึ่งก็อาจต้องมีความหลากหลายในรูปแบบการเจรจามากขึ้น นอกจากนั้น การที่จะบอกว่าการเจรจาประสบผลสำเร็จ ก็ต้องดูว่าเป็นความสำเร็จสำหรับใครด้วย ทั้งนี้ สำหรับการเจรจาในเวทีโลกแล้ว การแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะทำได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประเทศใหญ่ๆ ซึ่งจะยอมรับข้อเสนอได้มากแค่ไหนก็เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์

นายจักรชัยกล่าวต่อมาถึงการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาโลกร้อนว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องหันมามองปัญหาโลกร้อนในมิติความเป็นธรรม ทั้งนี้ ตามหลักการสำคัญของคณะทำงานฯ การแก้ปัญหาโลกร้อนต้องไม่เป็นการเอาเปรียบคนจน คนตัวเล็กตัวน้อย ยกตัวอย่างเช่น การที่คนชั้นกลางทั่วไปลดโลกร้อนโดยการไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่ใช้ถุงผ้า ในขณะที่คนจนต้องลดโลกร้อนโดยการถูกไล่ออกจากที่ทำกิน มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือมีโรงฟฟ้าพลังแกลบมาเผาทำฝุ่น ขี้เถ้า กระจาย มาตั้งอยู่ข้างบ้าน

ส่วนเรื่องที่ต้องร่วมผลักดันในระดับสากล คือ เรื่องความรับผิดชอบในประวัติศาตร์เรื่องโลกร้อน ซึ่งผู้ที่ก่อปัญหาสั่งสมมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น และในเรื่องของความเป็นธรรม ที่ทางคณะทำงานไม่เห็นด้วยกับการนำกลไกตลาดมาแก้ไขปัญหา รวมทั้งการที่อนุญาติให้มีการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกที่หนึ่ง แล้วไปลดอีกที่หนึ่งเพื่อให้สามารถปล่อยก๊าซต่อไปได้ เพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คณะที่เดินทางไปโคเปนเฮเกน ร่วมกับคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันพรุ่งนี้

อนึ่ง การประชุมครั้งที่ 15 ของประเทศภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประชุมครั้งที่ 5 ของประเทศภาคีในพิธีสารเกียวโตได้เริ่มวาระการประชุมระยะที่ 2 ที่กรุงโคเปนเฮเกนเมืองหลวงของเดนมาร์ก ในระหว่างวันที่ 7-18 ธ.ค.นี้ มีขึ้นเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศภายหลังปี 2012 เมื่อพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดลง

 

 
ทั่วโลกร่วมทวงคืนอำนาจประชาชน สร้างความเป็นธรรมแก้วิกฤตโลกร้อน
 
รายงานโดย คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
จากกรุงโคเปนเฮเกน
16 ธ. ค 52
 
 
โคเปนเฮเกน, 16 ธันวาคม: ภาคประชาชนทั่วโลกร่วมเดินขบวนทวงคืนอำนาจแก่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ถูกรัฐบาลเดนมาร์กใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ที่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมไทยร่วมเดินขบวนด้วย องค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งทำหนังสือประท้วงความรุนแรงที่เกิดขึ้น การจับกุมนักกิจกรรมไปหลายร้อยคน รวมถึงการปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชนในการร่วมสังเกตการณ์ประชุมโลกร้อนครั้งประวัติศาสตร์ของภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรุงโคเปนเฮเกน
 
ภาคประชาชนที่ติดตามปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิกฤติการณ์โลกร้อนจากทุกมุมโลกและชาวเดนมาร์กจำนวนมากได้รวมตัวกันอย่างคับคั่งหลายพันคนท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ หิมะโปรยลงมาเป็นระยะ ๆ ตลอดวัน และอุณหภูมิประมาณศูนย์องค์ศาเซลเซียส และร่วมเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์เป็นระยะทางยาวมุ่งสู่ศูนย์ประชุมเบลลาเซ็นเตอร์ในกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นเวทีประชุมของภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 15 (COP15) และบรรดาผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งของสหรัฐอเมริกาและของไทยจะเดินทางมาร่วมด้วยเป็นครั้งแรกในวันนี้ (17 ธ.ค. 52) เพื่อ ทวงคืนอำนาจแก่ประชาชน” (Reclaim Power demonstration)
 
การรวมตัวของภาคประชาชนทั่วโลกครั้งนี้เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่สุดในการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาโลกร้อนภายใต้การนำของเครือข่ายระหว่างประเทศสองเครือข่ายใหญ่ที่รณรงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการรับมือกับวิกฤตการณ์โลกร้อนคือ Climate Justice Now (CJN) และ Climate Justice Action (CJA) ที่ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากเห็นว่า การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนของบรรดาผู้แทนรัฐบาลนานาประเทศไม่ได้มุ่งหน้าไปสู่ความจริงจังในการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อนอย่างแท้จริง โดยยอมให้ประเทศร่ำรวยและกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีอิทธิพลครอบงำการเจรจา ที่ต้องการชักนำให้การเจรจาที่ควรจะนำไปสู่การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง กลายเป็นการเจรจาเพื่อต่อรองรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนของกลุ่มประเทศร่ำรวย ขณะนี้การเจรจากำลังผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาผิด ๆ และไม่มีความจริงจังกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วโลก ไม่ต่างกับการเจรจาการค้าการลงทุนที่เกิดมาแล้วหลายเวที
 
รัฐบาลเดนมาร์กได้เกณฑ์กำลังตำรวจปราบจลาจลเพิ่มเติมจากเยอรมนีและสวีเดนหลายพันคนมาเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของเดนมาร์กเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอย่างเข้มงวดตลอดเวลาที่การประชุมเริ่มขึ้น รถตำรวจพร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่หลายพันคนได้ตามคุมการเดินเท้าของประชาชนมาตลอดเส้นทาง แต่ไม่สามารถแยกสลายขบวนในระหว่างทางได้เนื่องจากกลุ่มผู้เดินขบวนคล้องแขนอย่างเหนียวแน่นเป็นแนวป้องกันการแทรกแซงของตำรวจทั้งด้านซ้ายและขวาของขบวน แต่ในที่สุดเมื่อประชาชนเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ศูนย์ประชุมและพยายามเข้าไปจัดตั้งเวที สมัชชาประชาชนขึ้นภายในศูนย์ประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้กำลังจำนวนมากพร้อมอาวุธครบมือ ทั้งกระบอง แก๊สน้ำตา สเปร์พริกไทย และสุนัขตำรวจอีกหลายตัวเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระบองนับสิบราย ได้บาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยอีกหลายสิบคน และจับกุมพร้อมใส่กุญแจมือนักกิจกรรมไปประมาณ 230 คน ที่อยู่ด้านหน้าของขบวน หลังจากนั้นใช้รถขนาดใหญ่ขับต้อนผู้ชุมนุมออกจากถนน ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนแตกสลายออกจากกัน
 
ขณะเดียวกันมีผู้แทนเจรจาของบางประเทศและตัวแทนเอ็นจีโอกว่าสองร้อยคนในศูนย์ประชุมที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงของตำรวจพยายามจะเดินออกมาสมทบด้านนอก แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้กระบองตีเพื่อกันไม่ให้มีใครออกมาสมทบกับผู้ชุมนุมที่ด้านนอก
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังนำกำลังตำรวจปิดทางเข้าบางส่วนของสถานที่จัดเวทีคู่ขนานของภาคประชาชนที่คลิมาฟอรั่ม (Klima Forum) ที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมทางรถไฟและรถประจำทางของเมืองด้วย รวมไปถึงการปิดการเดินรถไฟทั้งหมดในช่วงบ่าย เพื่อตัดเส้นทางการไปรวมตัวของภาคประชาชน พร้อมกับมีรถตำรวจตระเวนไปทั่วเมืองอยู่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และเข้มงวดมากขึ้นในวันนี้เนื่องจากมีผู้นำประเทศหลายประเทศเดินทางมาร่วมประชุมรวมถึงผู้นำสหรัฐอเมริกาและของไทยด้วย
 
อย่างไรก็ดีผู้ชุมนุมที่เหลืออีกสองพันกว่าคนที่ถูกตำรวจปิดล้อมไว้ใกล้ศูนย์ประชุมเบลลาได้พยายามประกาศจัดตั้ง สมัชาชาประชาชนเพื่อทวงคืนอำนาจแก่ประชาชนได้สำเร็จ จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนกลับมาในเมือง โดยมีกำลังตำรวจจำนวนมากประกบมาตลอดทางเพื่อกันไม่ให้ประชาชนเข้าสมทบได้
 
ยิ่งกว่านั้น เมื่อคืนวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนจากหลายประเทศกว่าหนึ่งแสนคนได้ออกมาเดินขบวนและมุ่งหน้าไปที่ศูนย์ประชุมเบลลาเซ็นเตอร์ ตำรวจได้ติดตามจับกุมนักกิจกรรมภาคประชาชนไปเกือบ 1000 คน ในคืนวันที่ 14 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าไปจับกุมนักกิจกรรมไปอีกนับร้อยคนในมาพบปะสังสรรค์และฟังการบรรยายจากสื่อมวลชนชาวแคนาดาชื่อดัง นางนาโอมิ ไคลน์ ตามด้วยบุกเข้าจับกุมนายทาดซิโอ มูลเลอร์ ผู้ประสานงานคนสำคัญของ Climate Justice Action ในเวลาต่อมา
 
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ควบคุมการมีส่วนร่วมของตัวแทนภาคประชาสังคมจากทั่วโลกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีการประชุมและควบคุมเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. เป็นต้นมา โดยลดจำนวนผู้ร่วมสังเกตการณ์ประชุมจากภาคประชาชนลงให้เหลือเพียงร้อยละ 35 จากที่ลงทะเบียนไปอย่างถูกต้องหลายพันคนให้เหลือเพียง 1000 คน และในวันนี้ (17 ธ.ค) จะลดลงให้เหลือเพียง 90 เท่านั้น ทั้งนี้ศูนย์ประชุมเบลลาสามารถรองรับผู้ร่วมประชุมได้ถึง 15,000 คน แต่ทางฝ่ายยูเอ็นที่ดูแลสถานที่อ้างเหตุผลการลดจำนวนเอ็นจีโอลงว่า สถานที่ประชุมรองรับคนจำนวนมากไม่ได้ จำเป็นต้องลดจำนวนคนลง และเพื่อรักษาความปลอดภัยของสถานที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน รวมไปถึงการเตรียมตัวรับมือการประชุมครั้งนี้ของรัฐบาลเดนมาร์กก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยในเดนมาร์กอย่างรุนแรง และทำให้ประเทศนี้ไม่หลงเหลือความน่าเชื่อในเรื่องนี้อีกต่อไป
 
ความตึงเครียดจากสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาต่อรองที่กลุ่มชาติร่ำรวยและกลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเองพิทักษ์ประโยชน์ในการค้าการลงทุนของตนอย่างเหนียวแน่น แม้กระทั่งประธานการประชุมภาคีครั้งนี้คือ นางคอนนี้ เฮดการ์ด ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงานและภูมิอากาศของเดนมาร์กไม่อาจยอมรับการกระทำของรัฐบาลตัวเองได้ประกาศลาออกจากการเป็นประธาน COP 15 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เกิดการสลายการชุมนุมขึ้น
 
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นและเป็นธรรม และตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านที่ร่วมชุมนุมประท้วงในโคเปนเฮเกนครั้งนี้ขอประณามการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นกับที่มาชุมนุมกันอย่างสันติและเพื่อร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขวิกฤตการณ์โลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะเลวร้ายลงให้ก้าวไปในทางที่ถูกต้อง ขอให้รัฐบาลเดนมาร์กปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่โดยเร็วและปราศจากเงื่อนไขใด ๆ และขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศร่ำรวยยอมรับความกระทำของตนที่เป็นตัวการสำคัญในการก่อปัญหาโลกร้อนและเดินทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนจริงจังในประเทศของตนเอง
 
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ซึ่งรวมตัวกันขึ้นมาเพื่อต้นปี พ.ศ. 2551 มีความเห็นว่า การเจรจาของภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 13 ที่กรุงบาหลี อินโดนีเซีย และครั้งที่ 14 ที่เมืองพอซนัน ประเทศโปแลนด์ และล่าสุดนี้ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก มีแนวโน้มและนัยสำคัญที่ชี้ให้เห็นชัดว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่กำลังจะสรุปออกมาจะยิ่งวิกฤตโลกร้อนไปสู่หายนะให้เร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญด้วยวิธีการซื้อขายเครดิตคาร์บอนโดยประเทศร่ำรวย ความพยายามที่ต้องการนำป่าไม้และที่ดินเพื่อการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดซื้อขายคาร์บอน รวมไปถึงการหวนคืนไปหาพลังงานนิวเคลียร์ที่อ้างว่าเพื่อปัญหาโลกร้อน การสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต่อไป และการพยายามทำให้คนเชื่อว่า พลังงานจากถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด เป็นต้น หากปล่อยให้มีการแก้ไขปัญหาตามแนวทางนี้ ไม่เพียงแต่ประชาชน โดยเฉพาะชุมชนเกษตรรายเล็ก ชนเผ่าต่าง ๆ ชาวประมง และคนยากจนอีกจำนวนมากจะเดือดร้อนขึ้นเท่านั้น ภัยพิบัติจากโลกร้อนจะเกิดเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้นอย่างไม่สามารถย้อนเวลามาแก้ไขได้อีกเลย
 

 

ถก “โลกร้อน” ไร้เงาผ่าทางตัน

ในส่วนความคืบหน้าของเวทีเจรจา เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานว่าสำนักข่าวต่างประเทศรายงานการประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนแห่งสหประชาชาติว่า จนถึงขณะนี้ยังคงประสบกับภาวะทางตัน ต่อกรณีการหารือเรื่องร่างข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ถึงแม้ว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นก่อนหน้านี้ว่า จะให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่กลุ่มชาติยากจนในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนก็ตาม

รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวแทนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังคงถกเถียงในประเด็นว่า กลุ่มประเทศใดที่ควรจะเป็นผู้นำลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และประเด็นเรื่องปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงแผนการช่วยเหลือกลุ่มชาติยากจนต่อการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้หารือกับประธานาธิบดีลูลา อินาซิโอ ดา ซิลวา แห่งบราซิล ผ่านทางโทรศัพท์ ก่อนเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงโคเปนเฮเกน ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยผู้นำสหรัฐฯ เรียกร้องให้บราซิลแสดงบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน มีผลการศึกษากรณีปัญหาภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดเผยโดยคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจสำหรับลาตินอเมริกาและแคริบเบียน หรืออีซีแอลเอซีว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในหลายๆ ชาติของภูมิภาคลาตินอเมริกา จำนวนถึงร้อยละ 40 กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนในระดับถึงขั้นสูญพันธุ์ภายในปี 2643

 

“มาร์ค” เตรียมแถลงผลประชุมฯ จากเดนมาร์ก 19 ธ.ค.นี้

ส่วนสำนักโฆษก รายงานข่าวว่า วันนี้ (17 ธ.ค.) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคมนี้ เวลา 14.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (COP15) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ประมาณ 15-20 นาที หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม และจะบันทึกเทปรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์” อีกประมาณ 40 นาที โดยมีนายกิตติ สิงหาปัด เป็นผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ผ่านระบบ TelePresence มายังชั้น 28 อาคารเซ็นทรัลเวิล์ด โดยระบบนี้จะเป็นการถ่ายทอดตามเวลาจริง (real time)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ ทางรัฐบาลจะใช้บริการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) โดยใช้ระบบ Webcam เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้แถลงและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สัญญาณถูกตัดไป และขณะนี้มีหลักฐานชัดเจนจากภาพโทรทัศน์วงจรปิดแล้วว่ามีเจ้าหน้าที่มาตัดสายสัญญาณบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยใช้รถสีส้ม และจะต้องมีการยืนยันก่อนว่าบุคคลในภาพวงจรปิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของ กสท.หรือไม่ และเข้ามาตัดสัญญาณด้วยเหตุผลอะไร เพราะในภาพที่เห็นเป็นการตัดสัญญาณก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์เพียงแค่ 1 นาที เท่านั้น สัญญาณก็หายไป หลังจากนั้นก็จะมีรถสีเดียวกัน คนกลุ่มเดียวกันมาต่อสัญญาณกลับให้อีกครั้งในช่วงบ่าย ตนจึงได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางกฎหมายแล้ว เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net