Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 8 ม.ค. โชติศักดิ์ อ่อนสูง เขียนจดหมายเปิดผนึกผู้ถูกกล่าวหากรณีการคุกคามทางเพศ โดยประชาไทแก้ไขบทความนี้โดยเปลี่ยนจากชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ผู้เขียนบทความใช้เรียกขาน แทนด้วยคำว่า “พี่…”

 

จดหมายเปิดผนึก

ถึง พี่...

แรกทีเดียวเมื่อได้อ่านคำชี้แจงของ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เรื่อง ปัญหาการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ในองค์กร ครส. ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอ (http://www.thaingo.org/board_2/view.php?id=1964) ก็ทำให้ผมอดรู้สึกเซ็งไม่ได้ เพราะแม้จะไม่ใช่เรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนอะไร แต่กว่า ครส.จะหาข้อสรุปได้ก็ปาเข้าไปถึง 3 เดือน และหากว่าก่อนหน้านั้นไม่มีบทความที่เขียนทวงถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ (http://thaingo.org/writer/view.php?id=1450) ก็ไม่แน่ใจว่ามันจะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน (หรืออาจไม่มีวัน?) แถมคำชี้แจงดังกล่าวยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อ “ผู้กระทำผิด” อีกต่างหาก สะท้อนให้เห็นว่านอกจากความเป็นธรรมจะเดินทางเชื่องช้าอืดอาดเหลือเกินแล้ว ในแวดวงเอ็นจีโอยังมีกระบวนการ “ปกป้องนักละเมิดสิทธิมนุษยชน” ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

อย่างไรก็ตามในท้ายคำชี้แจงดังกล่าวซึ่งได้ระบุข้อความสั้นๆแต่สำคัญข้อความหนึ่งว่า “อนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นใบลาออกจากเลขาธิการของ ครส.แล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552” จึงทำให้ผมรู้แน่ชัด (ก่อนนั้นรู้จากข่าวลือ) ว่า “พี่...” คือคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้คุกคามทางเพศในกรณีดังกล่าว เพราะผมรู้ว่าในช่วงเกิดเหตุพี่เป็นเลขาธิการของ ครส.อยู่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกค้างคาใจมากๆก็คือทั้งๆที่ได้ข้อสรุปแล้วว่ามีการล่วงละเมิดจริงแต่คำชี้แจงดังกล่าวกลับเลือกใช้คำว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” แทนที่จะใช้คำว่า “ผู้กระทำผิด”

ความค้างคาใจของผมคงจะเลือนหายจากความทรงจำไปตามกาลเวลาหากว่าเมื่อไม่นานมานี้รุ่นน้องคนนึงไม่ได้เล่าให้ผมฟังว่า “พี่...” บอกกับเขาว่าจริงๆ แล้วเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การคุกคามทางเพศอย่างที่พี่ถูกกล่าวหา แต่เป็นการจงใจใส่ความเนื่องจากฝ่ายหญิงไม่พอใจที่เห็นพี่ไปจีบผู้หญิงคนอื่น (ซึ่งรุ่นน้องคนที่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังเป็นคนที่ผมเชื่อถือและเขาบอกว่าเขาได้คุยกับพี่โดยตรง)

สิ่งที่รุ่นน้องคนนั้นเล่าให้ฟังไม่เพียงรื้อฟื้นความค้างคาใจที่ผมมีเท่านั้น แต่ยังทำให้ผมงุนงงสับสนอีกด้วย เพราะเดิมในคำชี้แจงของ ครส.บอกว่าพี่ยอมรับว่าได้กระทำการคุกคามทางเพศต่อผู้ปฏิบัติงานหญิงในขณะปฏิบัติงานจริง และยังบอกอีกว่าพี่ได้แสดงการสำนึกผิดโดยการขอโทษผู้เสียหายต่อหน้าคณะกรรมการไต่สวน แล้วพี่ยังจะทำหนังสือแสดงการขอโทษผู้เสียหายเป็นลายลักษณ์อักษรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต่างจากคำบอกเล่าของรุ่นน้องที่เพิ่งเล่าให้ผมฟังโดยสิ้นเชิง ผมจึงเขียนจดหมายฉบับนี้มาถามพี่ตรงๆ เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะต้องจบลงอย่างเป็นธรรม

หากเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงการใส่ความอย่างที่พี่บอกกับรุ่นน้องคนนั้น ผมอยากให้พี่... ต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด พี่อย่าคิดว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเอง เพราะในความเป็นจริงแล้วมันเป็นการต่อสู้เพื่อยืนยันความเป็นจริง เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม

บ่อยครั้งที่เรื่องทำนองนี้ถูกเล่าลือกันในแวดวงนักกิจกรรม/นักเคลื่อนไหวทางสังคม/เอ็นจีโอ และเกือบทุกครั้งผู้ถูกกล่าวหาก็มักจะถูกพิพากษาไปแล้วโดยสังคม นี่คือความเลวทรามของ “ระบอบข่าวลือ” เพราะมันไม่เคยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้ง (หากจะโต้แย้งก็จะถูกข้อหา “ร้อนตัว” เพิ่มเข้าไปอีก) แต่กรณีของพี่อาจถือว่าโชคดีกว่ากรณีอื่นๆ ที่อย่างน้อยที่สุดก็ได้มีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ มีการตั้งกรรมการสอบสวน แต่ผมไม่เข้าใจว่าในเมื่อพี่ไม่ผิดทำไมผลการสอบสวนถึงออกมาแบบนี้ หรือว่ามีเรื่องลับลมคมในอะไรในการสอบสวนดังกล่าว (ซึ่งนั่นอาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมในคำชี้แจงถึงยังเรียกพี่ว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” แทนที่จะใช้คำว่า “ผู้กระทำผิด”)

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะยืนอยู่ข้างพี่หรือเป็นพวกพี่โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น (อย่าลืมว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ลงชื่อใน http://www.prachatai.com/journal/2009/12/26829) เพราะแม้จะมีคนบอกว่าพี่ยืนยันว่าพี่ไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ก่อนหน้านี้ผมก็เคยได้ยินมาว่านี่ไม่ใช่กรณีเดียวที่พี่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีรายหนึ่งซึ่งเป็นเอ็นจีโอต่างประเทศได้เคยทำจดหมายร้องเรียนต่อประธาน ครส.ไล่ๆกับกรณีที่มีคำชี้แจงออกมา ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆจาก ครส.) ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมสนใจก็คือความจริงและความเป็นธรรมเท่านั้น

ผมเลือกสื่อสารกับพี่โดยเขียนเป็นจดหมายเปิดผนึก เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และยิ่งไม่ใช่เรื่องภายในองค์กร แต่เป็นเรื่องที่สังคม-โดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงนักกิจกรรม/นักเคลื่อนไหวทางสังคม/เอ็นจีโอจะต้องนำไปเป็นบทเรียน (เราคงไม่เห็นด้วยถ้าผัวตบตีเมีย(หรือในทางกลับกัน)แล้วบอกว่าคนอื่นห้ามยุ่งเพราะเป็นเรื่องในครอบครัว หรือเราคงไม่เห็นด้วยถ้าผัวข่มขืนเมียแล้วบอกว่าเป็นเรื่องในมุ้ง) คนผิด(ไม่ว่าจะเป็นพี่ถ้าทำผิดจริงหรือคู่กรณีถ้าเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงการใส่ความ)จะต้องถูกลงโทษ เพราะผมเห็นว่าเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ความชั่วร้ายมันยังดำรงอยู่ได้ก็เพราะว่าคนที่กระทำผิดไม่เคยถูกลงโทษ การลงโทษผู้กระทำผิดอาจไม่ใช่ทางออกที่จะยุติปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่อย่างน้อยมันก็จะช่วยสร้างมาตรฐานสำหรับกรณีในอนาคตได้

ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาทางด้านศีลธรรม-จริยธรรม แต่เป็นอาชญากรรม (ไม่ว่าที่สุดแล้วจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศหรือในทางกลับกันเป็นการใส่ร้ายป้ายสีก็ตาม) มีความต่างกันอย่างแน่นอนระหว่างพระเสพย์เมถุนกับพระข่มขืนแม่ชีหรือสีกา มีความต่างอย่างแน่นอนระหว่างการเป็นชู้กับเมียชาวบ้านกับการข่มขืนเมียชาวบ้าน และมีความต่างอย่างแน่นอนระหว่างหารซื้อบริการทางเพศกับการบังคับข่มขืน เพราะนั่นคือความแตกต่างระหว่างเรื่องของศีลธรรม-จริยธรรม(ซึ่งในความเห็นของผมเป็นเรื่องไร้สาระ)กับเรื่องอาชญากรรม

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมงงมากๆก็คือการที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความขัดแย้งเหลือง-แดง (ดูบทบรรณาธิการเดอะเนชั่น 5 ธันวาคม 2552 http://www.nationmultimedia.com/2009/12/05/opinion/opinion_30118025.php แต่ผมอ่านจากฉบับแปลที่ลงในประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2009/12/26939) แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อพี่ก็ไม่ใช่เสื้อเหลือง (ซึ่งเท่าที่ผมรู้พี่ยืนยันแบบนี้มาตลอด) ขณะเดียวกันก็ไม่เคยได้ยินว่าพี่เคยไปชุมนุมหรือไปร่วมกิจกรรมกับฝ่ายเสื้อแดงเลย ส่วนฝ่ายผู้เสียหายนั้นผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวก็เลยไม่รู้ว่าชอบใส่เสื้อสีอะไร แต่ได้ยินมาว่าครอบครัวชอบสีเหลือง ซึ่งสมมุติว่าเธอชอบสีเหลืองเหมือนครอบครัว เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเหลือง-แดงได้ก็ต่อเมื่อพี่เป็นฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งถ้าเป็นจริงผมจะรู้สึกแปลกใจมากๆ

แต่ก็เอาเหอะ สมมุติว่าฝ่ายหนึ่งเป็นเสื้อเหลืองจริงส่วนอีกฝ่ายเป็นเสื้อแดงจริง เราก็ควรจะปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปเหรอ? โยนให้เป็นเรื่องเหลือง-แดงโดยไม่ต้องไปสนใจข้อเท็จจริงว่ามีการล่วงละเมิดจริงหรือมีการใส่ความจริงอย่างนั้นเหรอ? ผมคิดว่าไม่ เราจะต้องช่วยทำความจริงให้ปรากฏและเอาคนผิดมาลงโทษ ไม่งั้นต่อไปมีคดีตีหัวกันหรือคดีข่มขืนกันแล้วก็โบ้ยว่าเป็นความขัดแย้งเหลือง-แดงก็จบยังงั้นสิ?

ในจดหมายฉบับนี้ผมพูดถึงการลงโทษหลายครั้ง พี่หรือคนอื่นที่ได้อ่านอาจจะสงสัยว่าผมมีอำนาจอะไรไปลงโทษคนนั้นคนนี้ แน่นอนว่าผมไม่มีอำนาจสั่งจับใครเข้าคุก หรือสั่งปรับเงินใคร แต่ผมคิดว่าผม (และคนอื่นๆ)สามารถลงโทษทางสังคมได้ เช่น การประณาม หรือการไม่สังฆกรรมกับผู้กระทำผิดหรือแม้แต่กับองค์กรที่ผู้กระทำผิดสังกัดอยู่โดยเฉพาะหากเป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นๆในองค์กรหรือในทางปฏิบัติแล้วมีอิทธิพล/อำนาจในองค์กร ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะชี้ว่าใครผิดใครถูกจะต้องผ่านกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมด้วย

ความจริงแล้วผมอยากให้รัฐเข้ามาจัดการปัญหานี้ ซึ่งความเห็นนี้อาจจะขัดใจใครหลายๆคน แต่ผมคิดว่าตราบใดที่รัฐยังคงทำตัวเป็นภาระของสังคม เช่น ยังเก็บภาษี รัฐก็ควรทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม (ไม่งั้นก็ควรยกเลิกรัฐไปซะ) ซึ่งสำหรับกรณีนี้คงจะต้องรอให้เจ้าทุกข์ร้องเรียนหรือแจ้งความต่อรัฐเสียก่อนรัฐถึงจะสามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าไม่ว่าเจ้าทุกข์จะแจ้งความหรือไม่และรัฐจะอำนวยความยุติธรรมให้ได้หรือไม่เพียงใดก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะเอามาอ้างเพื่อนิ่งดูดายต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้น

สุดท้ายผมอยากให้พี่มีกำลังใจในการต่อสู้ หากว่าพี่ไม่ได้ทำผิดอย่างที่ถูกกล่าวหาพี่ก็ควรต่อสู้ให้ถึงที่สุด และหากกระบวนการสอบสวนที่ผ่านมาโปร่งใส ไม่เป็นธรรม พี่ก็ควรออกมาเปิดโปงต่อสาธารณะ เพราะยังมีคนอีกมากที่จะไม่นิ่งดูดายต่อความชั่วร้ายที่เกิดขึ้น

 

ด้วยความระลึกถึง

โชติศักดิ์ อ่อนสูง

8 มกราคม 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net