Skip to main content
sharethis

เผยผู้ว่าฯเชียงรายทำหนังสือให้จีนเปิดเขื่อนแก้วิกฤตน้ำโขงแห้งขอด แต่ถูกปฏิเสธจีนบอกปัดคำขอไทยให้เปิดเขื่อนแก้วิกฤตน้ำโขงแล้ง ภาคประชาสังคมเตรียมกดดันต่อในที่ประชุมเอ็มอาร์ซี

มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 53 ที่ผ่านมา ชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายแม่น้ำเพื่อชีวิต สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่สำรวจปัญหาการลดลงของแม่น้ำโขงในพื้นที่บริเวณศาลาท่าน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สุดเขตแดนประเทศไทยติดต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว  ระหว่างวันที่ 6-7 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งเป็นลานดินขนาดใหญ่ในพื้นที่ฝั่งไทย เหลือเพียงร่องน้ำแคบๆ ในฝั่งลาวเท่านั้น ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าเดือนเมษายนของทุกปี น้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับสูงพอที่จะจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีระหว่าง ประเทศไทย ลาว และพม่าได้ แต่ปีนี้ไม่สามารถจัดงานได้ เพราะน้ำแห้งมาก

นายมิติ ยาประสิทธิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงแสนกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ชาวเชียงแสนกำลังคิดจะปรับตัวเพื่อรับสภาพน้ำในแม่น้ำโขงที่มักจะล้นตลิ่ง และไหลท่วมพืชผลทางการเกษตร แต่ปีนี้กลับเกิดปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน คือระดับน้ำเริ่มแห้งมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 จนหาปลา ทำการเกษตรไม่ได้ บางรายถึงขั้นคิดจะไปขายแรงงานในเมือง

"ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯเมืองยูนนาน ประเทศจีน ขอให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนจิงหงมาช่วยเหลือพื้นที่ท้ายน้ำ แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเก็บน้ำไว้สำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ขณะที่รัฐบาลไทยก็ได้แต่เกรงใจจีนไม่กล้าดำเนินการใดๆ" นายมิติกล่าว

ร.อ.ธงชัย จันทร์มิตร รน.เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง อ.เชียงแสน กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลการไหลอย่างผิดปกติของน้ำในแม่น้ำโขงตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเริ่มมีเขื่อนแห่งแรกพบว่าปริมาณน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามปริมาณฝนที่ตก และไม่เป็นไปตามสถิติที่เคยเก็บไว้ตามฤดูกาลก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนในจีน

ด้านนายชวลิต วิทยนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เคยสำรวจชนิดของปลาในแม่น้ำโขงที่สบกก อ.เชียงของ พบว่ามีประมาณ 80 ชนิด แต่วิกฤตนี้จะทำให้ปลาหายไปมากกว่าครึ่ง เช่น ปลาบึก ปลาสร้อย ปลาปาก ฯลฯ ปลาชนิดแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ ปลาบึก เพราะต้องว่ายทวนน้ำจากบริเวณน้ำตกหลี่ผี แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ขึ้นมาวางไข่ที่แก่งคอนผีหลง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อน้ำลดอย่างนี้โอกาสแพร่พันธุ์ก็จะหายไป 1 ปี ทั้งที่ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่แล้ว

"การที่แม่น้ำโขงแห้งจนวิกฤตเวลานี้มาจากหิมะบนเทือกเขาหิมาลัยละลาย มากขึ้น จากภาวะโลกร้อน และยิ่งจีนสร้างเขื่อนก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น" นายชวลิต กล่าว

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการที่ได้ล่องเรือสำรวจแม่น้ำโขงเห็นชัดเจนว่าปัญหาดังกล่าวขึ้นกับการ ปิดเปิดเขื่อนในจีน แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ดังนั้นวันที่ 8 มีนาคมนี้ จะตั้งกระทู้ในที่ประชุมวุฒิสภา

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า การใช้แม่น้ำนานาชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องมีกติการ่วมกัน เพราะจีนพูดเสมอว่าถ้ามีข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดว่าน้ำท่วมน้ำแล้งเพราะ เขื่อนในจีน จีนจะยอมรับและร่วมมือ ดังนั้นรัฐสภาจะผลักดันกติการ่วมใน 6 ประเทศให้เร็วที่สุด และนายกรัฐมนตรีต้องดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

ด้านนายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้สามารถสรุปผลกระทบในแม่น้ำโขงในรอบ 10 ปี ได้ 5-6 ประเด็น คือ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในจีน ปัญหาการระเบิดเกาะแก่งเพื่อใช้ในการเดินเรือพาณิชย์ การใช้สารเคมี การทำประมงผิดวิธี การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ

"แต่เขื่อนในจีนมีผลมากที่สุด โดยหลังจากเปิดเขื่อนแห่งแรกในปี 2536 ชาวบ้านรับรู้ได้ถึงความผิดปกติ กระทั่งปี 2546 ที่เขื่อนแห่งที่ 2 และ 3 เปิดใช้ทำให้ชัดเจนว่า การปิดและเปิดเขื่อนของจีนเป็นสาเหตุสำคัญ โดยปี 2551 เกิดน้ำท่วมที่เชียงของ แค่หนึ่งคืนมีน้ำสูงถึง 1 เมตร กระทั่งมีเขื่อนแห่งที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 น้ำก็แห้งตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา เหลือเพียง 0.38 เมตร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในการประชุมคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนเมษายนนี้ เครือข่ายลุ่มน้ำโขงในภาคเหนือและภาคอีสานจะเคลื่อนไหวใหญ่ โดยจะเปิดเวทีคู่ขนาน  รวมทั้งจะไปตั้งเวทีที่หน้าสถานทูตจีน เพื่อกดดันให้จีนแสดงสปิริต และจะทำหนังสือเชิญชวนไปยังรัฐบาลในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ร่วมกันกดดัน ด้วย" นายนิวัติกล่าว

ด้านนายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ �เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ� เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาผลกระทบต่อแม่น้ำโขงและยังสงสัยอยู่ว่าจะเกี่ยวข้อง กับประเทศจีนหรือไม่อย่างไร ซึ่งในวันที่ 8 มีนาคมนี้ที่จะมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนของจีน จะขอให้จีนร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงได้รับผล กระทบ

"รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ  แต่ก็ต้องขอความร่วมมืออีกครั้งหนึ่งว่า การใช้น้ำเพื่อการเกษตร ต้องร่วมกันบริหารจัดการ เพราะเราต้องมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับข้าวนาปีซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net