Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนไทยในแผ่นดินไทยนับว่าโชคดีเพราะภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ใน มาตรา 4 ซึ่งระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง และรับรองสิทธิชุมชน” แต่สำหรับบุคคลที่ไร้รัฐ ไร้ชาติ ในประเทศไทยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนยังไม่ชัดเจน ไม่ว่าสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการเดินทาง สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเข้ารับการศึกษา ในเรื่องนี้มาตรการของรัฐไทย ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ความพยายามขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ โดยการพิสูจน์ทราบสัญชาติว่าเป็น คนพม่า คนกัมพูชา หรือ คนลาว และการขึ้นทะเบียนดังกล่าวก็เพื่อให้คนเหล่านั้นได้สิทธิในการขายแรงงาน(ราคาถูก) ให้กับสถานประกอบการ การทำงานที่เสี่ยง หรือการทำงานที่สกปรกและไม่มีคนไทยอยากทำ ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงในภาครัฐบาลในทำนอง ว่า การใช้แรงงานต่างด้าวยังมีความจำเป็น เพราะอุตสาหกรรมหลายชนิดคนไทยไม่ทำ เช่น ประมง ประมงต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหนัก โรงสี ฯลฯ ที่ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ ดังนั้น ครม.จึงได้อนุมัติ ให้ สถานประกอบการใดที่ต้องการคนต่างด้าวทำงาน ต้องประสานกับกรมการจัดหางาน เพื่อประกาศรับคนทั่วไปที่เป็นคนไทยเข้ามาทำงานก่อน แต่ถ้าไม่มีแล้ว จึงจะนำคนต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนทำงานได้ พร้อมกับให้มีการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 จะเห็นว่า คำสำคัญอยู่ที่ “ให้มีการพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อย”

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ถ้าคนเหล่านั้นไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้จะทำอย่างไร ถ้าพิจารณาตามมาตรการที่กำหนดโดยรัฐบาลคือ ผลักดันให้พ้นจากประเทศไทย แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ มีผู้คนจำนวนมากในประเทศไทยที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ เช่น ชาวกระเหรี่ยง ชาวมอญ แถว ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ตาก จนถึงเชียงราย คนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย บางคนอพยพเข้ามาในช่วงสงครามสู้รบในพม่า บางคนอยู่ตั้งแต่คลอดจนอายุกว่า 60 ปี และ บางคนอีกเช่นกันที่อพยพเมื่อไม่นานมานี่เอง และ แน่นอนทางพม่าก็คงให้สัญชาติพม่าไม่ได้เพราะไม่ได้เกิดที่พม่า พูดภาษาพม่าชัดน้อยกว่าภาษาไทย บางคนพูดพม่าไม่ได้เลยนอกจากภาษากระเหรี่ยง ภาษามอญ และ ภาษาไทย เมื่อพม่าไม่ให้สัญชาติ และ ทางรัฐไทยก็ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ คนเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพคนไร้รัฐ ไร้ชาติไปโดยปริยาย ซึ่งคนเหล่านี้แม้จะอยู่ในสังคมไทยก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายและสถานประกอบการณ์ก็ไม่สามารถให้ทำงานได้เนื่องจาก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ใน มาตรา 27 ระบุว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงาน เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงานกับตนเพื่อทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ณ ท้องที่หรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต" และ มาตรา 54 ระบุบทลงโทษว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน"

หากถามว่า ณ ปัจจุบัน คนไร้รัฐ คนไร้ชาติ เหล่านี้มีสภาพเช่นใด คงต้องตอบว่า ส่วนใหญ่อาศัยในตะเข็บชายแดนที่ข้ามไปข้ามมาเพื่อหนีการกวาดล้างของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในมุมมืดและซอกหลืบที่ขาดการพัฒนา โดยที่คนเหล่านี้ขาดหลักฐานการบ่งชี้ความมีตัวตน อันนำมาซึ่งสภาพปัญหาที่ไม่ประสงค์ทั้งฝ่ายของรัฐบาลไทย และ ฝ่ายของบุคคลที่ไร้รัฐ

สภาพที่ไม่พึงประสงค์ของฝ่ายรัฐบาลไทยที่มีต่อบุคคลไร้รัฐ ก็เริ่มต้นจากการวิตกกังวลเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้บางส่วนก็ก่ออาชญากรรมในแผ่นดินไทย และไม่สามารถติดตามตัวได้ เพราะไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน เมื่อบุคคลเหล่านี้เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลก็เป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลไทยต้องแบกรับ และที่สำคัญยิ่งก็คือความยากต่อการควบคุมพาหะของโรคระบาดร้ายแรง เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในตัวมนุษย์ไม่มีพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ว่าจะเป็นไอกร่น ชิกุนคุนยา วัณโรค มาลาเรีย โรคเท้าช้าง อหิวาร์ตกโรค และกระทั้ง โรคเอดส์ การที่ คนเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลต่อการดื้อยาอาทิเช่น เชื้อวัณโรคที่รักษาง่าย ๆ ด้วยยาบางชนิดที่ต้องทานต่อเนื่อง แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถกลับเข้าไทยได้ในช่วงเวลาที่ต้องรับยาเพิ่ม ปัญหาก็คือ เชื้อดื้อยา ซึ่งการรักษาก็ต้องยากลำบากมากขึ้น และ หมายถึง บรรดาเชื้อดื้อยาดังกล่าวก็จะติดสู่คนไทยด้วย

ส่วนสภาพที่ไม่พึงประสงค์ของบุคคลไร้รัฐ ก็คือขาดโอกาสรับการศึกษา แม้ว่าจะเรียนในโรงเรียนตามชายแดนจนจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็ไม่สามารถได้รับใบสุทธิแสดงวิทยฐานะ เพื่อใช้สำหรับการศึกษาต่อ ขาดโอกาสถือครองทรัพย์สินแม้ว่าจะเป็นน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ขาดโอกาสเดินทาง ขาดโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และ ขาดสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ส่วนหนึ่งถือกำเนิดและตายในผืนดินแห่งนี้ รวมถึงมาตรการปฏิบัติของรัฐไทยในบางครั้งมาตรการผลักดันที่นำคนไร้สัญชาติเหล่านี้ออกนอกประเทศ ได้แยกแม่ แยกลูกออกจากกัน โดยมารดาผลักดันออกที่ระนอง ส่วนลูกสาวอายุเก้าขวบถูกผลักดันออกที่กาญจนบุรี คำหนึ่งที่คนไร้รัฐบอกกับเรา ว่าเธอพยายามตะโกนบอกว่า "ลูกเธอยังไม่ได้มาด้วย" แต่เสียงเธอถึงแม้จะดังจนข้าราชการไทยได้ยิน แต่ไม่มีใครเข้าใจในภาษาของเธอ และ วันนี้เธอก็ยังไม่เจอลูกสาวของเธออีกเลย

ดังนั้นด้วยสภาพปัญหาที่กล่าว ชี้ให้เห็นว่า มาตรการเรื่องการพิสูจน์ทราบสัญชาติ และ มาตรการผลักดันให้พ้นจากประเทศ จึงเป็นไปได้ยากยิ่ง

บัตรความเป็นคน (Human Card) เป็นหนึ่งในทางออก

ข้อเสนอเรื่องบัตรความเป็นคน ถูกริเริ่มและคิดเมื่อทางคณะเราได้ไปดูปัญหาของไร้รัฐที่ อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อเสนอเชิงหลักการคือ การให้ "บัตรความเป็นคน" แก่ทุกคนที่ต้องการมีบัตร โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ทราบสัญชาติอย่างชัดเจน และ แน่นอนเป้าหมายของบัตรความเป็นคน ต้องมีข้อจำกัดบางประการ อาทิเช่น ไม่ได้ให้เพื่อแสดงฐานะว่าเป็นพลเมืองไทย ไม่ได้ให้เพื่อการถือครอบครองที่ดิน ไม่ได้เป็นบัตรแสดงอภิสิทธิใด ๆ แต่เป้าประสงค์สำคัญของ บัตรความเป็นคน ควรเป็น "บัตรเพื่อมนุษยธรรม และ บัตรแสดงความมีอยู่ของตัวตน" บัตรนี้อาจใช้เมื่อผู้ไร้รัฐ ไร้ชาติเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งในปัจจุบันทางโรงพยาบาลหลายแห่งลำบากใจที่ให้การรักษา เพราะ สปสช. จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลก็ต่อเมื่อ เป็นคนไทยมีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ต่อไปเมื่อ รัฐไทยได้ให้บัตรความเป็นคน กับ คนไร้รัฐ ไร้ชาติ เหล่านั้น ก็ย่อมหมายถึง พวกเขาสามารถเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลได้ โดยโรงพยาบาลอาจรักษาไปก่อนส่วนค่าใช้จ่ายอาจเรียกเก็บจากหน่วยงานระดับนานาชาติ เพราะปัญหาการรักษาพยาบาลคนไร้รัฐ ไร้ชาติ เป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติ หรือ รัฐบาลไทยอาจตั้งกองทุนเพื่อมวลมนุษยชาติ เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายให้คนเหล่านี้ก็ย่อมเป็นไปได้ กรณีความเดือนร้อนของผู้คนที่เฮติ รัฐบาลไทยและชาวไทยทั้งหลายต่างแสดงความมีเมตตาอย่างล้นเหลือ เพื่อช่วยชีวิตผู้คนเหล่านั้น แล้วทำไมคนไร้รัฐ ไร้ชาติในผืนดินไทย เราจะให้การช่วยเหลือในแบบเดียวกันไม่ได้

รูปแบบของบัตรความเป็นคน ที่เหมาะสมก็คือ พัฒนาจากการดำเนินการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ "การออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติ" และ บัตรสีต่าง ๆ หรือรู้จักกันว่าบัตรรหัสศูนย์ ทางด้านของฐานข้อมูลที่ควรจัดเก็บเป็นลักษณะบ่งชี้บุคคล เช่น ภาพถ่าย ลายนิ้วมือ วันเดือนปีเกิด ความเป็นชนเผ่า โดยข้อมูลเหล่านี้อาจรวบรวมไว้โดยหน่วยงานราชการไทย โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ น่าจะเหมาะสมที่สุดเพราะดูแลเรื่องผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทั้งนี้ผู้ที่มีบัตรเหล่านี้ ทางรัฐบาลไทยก็ให้สิทธิความเป็นคนแก่พวกเขาเท่าที่พึงจะกระทำได้ เช่น ให้ได้รับการศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะและอาชีพ ได้รับการปกป้องจากการคุกคามจากผู้มีอิทธิพล ให้โอกาสที่จะฝากเงินไว้กับธนาคาร และ รัฐบาลไทยยังคงครองสิทธิที่จะเรียกบัตรความเป็นคนคืน หากกระทำผิดในกฎหมายไทย

และท้ายสุด บัตรความเป็นคน ย่อมหมายถึงสร้างความมั่นคงของมนุษย์ มีสถานะแห่งความเป็นคนให้กับคนไร้รัฐ ไร้ชาติได้ในระดับหนึ่ง เมื่อคนเหล่านี้มีความมั่นคงในชีวิต ย่อมหมายถึงการรักษาโอกาสของชีวิตโดยไม่กระทำอาชญากรรมร้ายแรงในสังคมไทย และ ท้ายสุดรัฐบาลไทย และ ประชาชนชาวไทยก็จะได้รับการยอมรับจากอาณาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่มีเมตตาธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net