Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อคืน (2 เม.ย.) ผมดูรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ทาง ASTV แขกรับเชิญของรายการคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ให้ความเห็นว่า การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมืองขณะนี้ และเสนอว่า ทางออกควรจะตั้ง “รัฐบาลคนดีแห่งชาติ”

ในเวลาถัดมา ผมได้ดูรายการ “ตอบโจทย์” ทางทีวีไทยฯ “หมอตุลย์” (นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์) หนึ่งในแกนนำสำคัญของ “เสื้อสีชมพู” ที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุน “การไม่ยุบสภา” และชู “วาระ” ปกป้องสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง และ (ที่พวกเขาเห็นว่า) การจาบจ้วงสถาบันของคนเสื้อแดง

เรื่องข้อเสนอ “รัฐบาลคนดีแห่งชาติ” ยอมรับว่าเป็นไอเดีย “โคตรบรรเจิด” จริงๆ ครับ แต่ผมจินตนาการไม่ออกว่า ใน “โลกที่เป็นไปได้” (possible world) รัฐบาลเช่นนี้มีหน้าตาอย่างไร!

ส่วนการชู “วาระ” ปกป้องสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงนั้น เป็นเรื่องที่สะท้อนวิธีคิดของคนชั้นกลางในเมืองฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดงว่า พวกเขาช่างไม่ยอมเรียนรู้ความเป็นจริงที่วางอยู่ตรงหน้า และช่างไม่เปิดใจรับความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าเอาเสียเลย

ความคิดแบบ ดร.อาทิตย์ กับหมอตุลย์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ “ชุดความคิด” ของชนชั้นกลางในเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายไม่เอาเสื้อแดง (ที่ไม่ใช่เพียงไม่เอา “ทักษิณ”) แม้ชุดความคิดเช่นนี้ไม่ (น่าจะ) ใช่ชุดความคิดของคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ก็เป็นชุดความคิดที่ “ส่งเสียงดัง” มากที่สุด ผ่านสื่อกระแสหลัก หรือยึดพื้นที่ในสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี มาเป็นเวลานาน

นับแต่ยุคเปิดให้ “คนนอก” ที่เป็น “คนดี” มาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐประหารขจัดคนเลวแล้วหาคนดีมาเป็นนายกฯ จนถึงรัฐบาลที่มีนายกฯที่ดีพร้อมอย่าง “อภิสิทธิ์” (ประวัติดี มือสะอาด การศึกษาดี มาดผู้ดี พูดดี แถมหน้าตาดีอีกต่างหาก) ถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่ถูกครอบงำ/ถูกชี้นำด้วยชุดความคิดของคนชั้นกลางในเมืองดังกล่าว

แก่นของชุดความคิดเช่นนี้คือ การไม่ยอมรับว่า การเลือกตั้งคือเงื่อนไขจำเป็นของความเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด

เมื่อไม่ยอมรับเช่นนี้ ก็อ้างสิ่งอื่นมายืนยันความเป็นประชาธิปไตย เช่น อ้างอำนาจการตรวจสอบของภาคประชาชน ความโปร่งใสของรัฐบาล ความเป็นธรรมาธิปไตย (?) ฯลฯ และเลยไปถึงขนาดว่ารัฐประหารก็อาจเป็นวิธีการที่ทำให้ได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยได้ (ดังที่อ้างกันว่ารัฐบาลสุรยุทธ์เป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลทักษิณ)

แต่ปัญหาคือ ถ้ารัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชน (เช่น โดยผ่านนโยบายที่ประชาชนเลือก ฯลฯ) ตามระบอบประชาธิปไตย เราจะใช้เกณฑ์อะไรมาตรวจสอบว่ารัฐบาลนั้นทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ฉะนั้น อำนาจการตรวจสอบ ความโปร่งใส จะมีความหมายที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต่อเมื่อเป็นการตรวจสอบรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนมาก่อน

แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ทว่าถูกอำมาตย์ หรือ “อำนาจพิเศษ” (ที่ไม่ยึดโยงอยู่กับอำนาจของประชาชน) เข้ามาครอบงำ/กำกับ/แทรกแซง การครอบงำ/กำกับ/แทรกแซงนั่นเอง ย่อมเป็นการไม่เคารพ/เบี่ยงเบน/ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน เช่นนี้แล้วย่อมเป็น (รัฐบาลในความหมายที่เรียกกันในขณะนี้ว่า) “รัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้ระบบอำมาตยาธิปไตย”

และยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลที่อำมาตย์หรืออำนาจพิเศษเข้ามา “แทรกแซง” การแต่งตั้งโดยตรง (เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์) ความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่มีแล้วตั้งแต่แรก แต่น่าอัศจรรย์ว่าเมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “ความไม่ชอบธรรม” ดังจนแสบแก้วหู คนชั้นกลางในเมืองกลับตอบสนองได้แค่ “ฟัง” แต่ “ไม่ได้ยิน”

นอกจากไม่ได้ยินแล้ว ยังตะโกนสวนออกมาว่า “ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ไม่แก้ปัญหา!!” ต้องตั้ง “รัฐบาลคนดีแห่งชาติ!!” (แต่ไม่มีคำตอบว่าไม่ยุบสภาแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร)

นี่เป็นวิธีคิดของ “อภิสิทธิชน” และคนชั้นกลางในเมืองที่เคยชินการ “ผูกขาด” อำนาจการตัดสินใจแทน และวิธีคิดเช่นนี้เองที่รองรับการดำรงอยู่ของระบบอำมาตยาธิปไตย!

อาจไม่ใช่ว่าคนชั้นกลางในเมืองจะชอบอำมาตย์ ทว่าวิธีคิดของพวกเขาเป็นฐานรองรับการดำรงอยู่ของระบบอำมาตย์ และโชคไม่ดีของคนชั้นล่างที่อำมาตย์กับคนชั้นกลางในเมืองมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นจริงอยู่กับการแชร์ผลประโยชน์ และความเป็นอภิสิทธิชนร่วมกันมากกว่าที่จะมาแชร์ทุกข์สุขกับคนชั้นล่าง

ฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่เคารพความเสมอภาคของ 1 คน = 1 เสียง การเลือกตั้งที่ให้สิทธิประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่พวกเขาชอบ ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม สองมาตรฐาน ฯลฯ อัน (ควรจะ) เป็น “ข้อเรียกร้องหลัก” ของคนชั้นล่าง จึงไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาโดยคนชั้นกลางในเมืองอย่างเท่าเทียมกับประเด็น “ทักษิณ”

จริงๆ แล้ว คนชั้นกลางในเมืองไม่เชื่อว่าทักษิณจะกลับเข้าสู่การเมืองได้อีก แต่การที่พวกเขาชูประเด็น “ทักษิณ” เหนือกว่า “ข้อเรียกร้องหลัก” ของคนเสื้อแดง แสดงถึงความใจแคบและการหวงอำนาจตัดสินใจแทนของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด!

ยิ่งการชูประเด็นปกป้องสถาบัน “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ของพวก “เสื้อสีชมพู” ในขณะนี้ยิ่งแสดงถึง “ความเลือดเย็น” ต่อความทุกข์ยากของคนเสื้อแดงที่เสียสละออกมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมที่เหลื่อมล้ำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น (ซึ่งในที่สุดแล้วจะเกิดประโยชน์แม้กับฝ่ายที่คัดค้าน)

ไม่น่าเชื่อว่า “ความเลือดเย็น” ต่อความทุกข์ยากของคนชั้นล่าง จะแสดงออกมาจาก “อาจารย์” มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนี้ จะเมินเฉยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เห็นตำตา และมีความสุขกับการใช้ “สมองอันปราดเปรื่อง” ผลิตซ้ำวาทกรรมปกป้อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เพื่อค้ำจุนระบบอภิสิทธิชนให้กดทับอำนาจของประชาชนอยู่ต่อไป!
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net