Skip to main content
sharethis

 

11 เม.ย. 53 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะนักวิชาการจากสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ กล่าวถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่กรุงเทพมหานครเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิตและบาทเจ็บจำนวนมากว่า เป็นเรื่องที่ช็อคความรู้สึก และงงกับเหตุการณ์ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ในรัฐบาลนี้ และเป็นเรื่องน่าเสียใจกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยหารือกันในกลุ่มนักวิชาการและนักรัฐศาสตร์ภาคใต้ เพราะยังงงกันอยู่ บวกกับเป็นช่วงสงกรานต์ จึงยังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ ต้องรอดุวันสองวันนี้ก่อน น่าจะมีความเคลื่อนไหวออกมา
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง กล่าวต่อว่า ส่วนตัวคิดว่าอาจเป็นเพราะรัฐบาลถูกบีบจากหลายฝ่าย ซึ่งเมื่อพลาดไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องประณาม และต้องพิสูจน์ความจริงกันต่อไป
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่เหมือนกับครั้งอื่นๆ เพราะมีตัวแปรหลายอย่าง เยอะแยะไปหมด ต่างฝ่ายต่างก็มีวาระของตัวเอง และในแต่ละฝ่ายก็มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดง คนที่เข้าร่วมด้วยความบริสุทธิ์ใจก็มีเยอะ แต่คนที่ต้องการใช้ความรุนแรงก็มี แต่ก็เห็นได้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ใช้อาวุธร้ายแรง
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง กล่าวด้วยว่า ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็บอกว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง แต่ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มคนที่ใช้อาวุธ เช่น ระเบิดM79 ซึ่งไม่รู้ว่าเป้นกลุ่มไหน แต่ก็มีอยู่ อาจมองได้ว่าเป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ซึ่งการทำเช่นนั้น ไม่มีใครชนะ มีแต่แพ้กับแพ้ แม้แต่ฝ่ายเสื้อแดงเองที่ถูกสายการชุมนุมจะทำให้มีคนตาย อาจมองว่าเป็นฝ่ายชนะ แต่เอาเข้าจริงก็แพ้เหมือนกับทุกๆ คนในประเทศไทย
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง กล่าวเสริมว่า ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในทันทีทันใด เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีความซับซ้อนมาก มีคนที่อยู่เบื้องหลังเยอะแยะไปหมด แต่ตนก็ยังให้เครดิตกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอยู่ เพราะเป็นคนสุภาพดีมีมารยาททางการเมือง เชื่อว่าน่าจะออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือขอโทษ
 
นายสมกิจ อนันตเมฆ ประธานหอชุมพร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า ตอนนี้ทางคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หอการค้าไทย ต้องหยุดกิจกรรมการทุกอย่างก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการประชุมวางแผนการพัฒนาต่างๆ เพราะจะเป็นท่าจับตามองของสังคมว่า ตนในฐานะตัวแทนหอการค้าภาคใต้จะเลือกไปอยู่ข้างไหน ต้องปล่อยให้ไหลไปตามน้ำที่เชี่ยวก่อน ขวางไม่ได้ เรือล่มแน่ พอไหลไปถึงจุดที่น้ำนิ่งแล้วค่อยดึงกลับมา
 
นายสมกิจ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนได้แนะนำนายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทยตลอดว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ ทางหอการค้าไทยต้องเป็นกลาง รักษาบทบาในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่เลยเถิดไปถึงเรื่องทางสังคมหรือการเมือง เช่น เรียกร้องให้ยุบสภา ปล่อยให้คนอื่นทำหน้าที่นั้นไป เพราะไม่ใช่บทบาทของหอการค้าไทย
 
นายสมกิจ กล่าวด้วยว่า คนที่เป็นรัฐบาลต้องบริหารตั้งแต่กษัตริย์ลงมาจนถึงคนที่เป็นโจร หมายถึงในสังคมไทยมีคนหลากหลาย แต่ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้แยกคนบางมกลุ่มออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนค่อนข้างเสียความรู้สึก
 
นายสมกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของภาคใต้จากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เพราะรายได้หลักของคนภาคใต้มาจากภาคเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ยังมีราคาดีอยู่ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน
 
นายสมกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้น ชาวต่างชาติก็ยังมาเที่ยวตามปกติ เช่นเดียวกับทางภาคเหนือ เพราะการชุมนุมเดินขบวนในมุมมองของชาวต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในกรุงเทพมหานครกระทบแน่นอน เพราะเป็นพื้นที่ชุมนุม
 
“ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นการเศรษฐกิจภาคใต้มีอย่างเดียวคือ นักลงทุนที่เอาเปรียบประชาชน โดยไปร่วมมือกับรัฐบาลและมาหาประโยชน์โดยการเอาเปรียบประชาชน” นายสมกิจ กล่าว
 
นายสมกิจ กล่าวต่อว่า จริงอยู่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ขึ้นอยู่กันนโยบายของรัฐบาล ส่วนหอการค้าก็ปฏิบัติตามกรอบที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์กำหนด แต่สถานการณ์ที่เป็นยังลำบาก เพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้มีอำนาจจริง คนมีอำนาจไม่ได้บริหาร คนบริหารไม่ได้มีอำนาจ จึงทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น รัฐบาลต้องการยุบสภา แต่มีคนหนึ่งมาพูดว่าอย่ายุบสภา ก็ไม่ได้ยุบ เพราะไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง
 
นายสมกิจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยิ่งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้ เช่น แลนด์บริดจ์ ไม่ต้องพูดถึงแล้ว เพราะตอนนี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นแล้ว เพราะแม้แต่การทำโครงการใหญ่ของรัฐบาลขณะนี้ก็ยังมีข่าวเรื่องการจับผิดกันเองอยู่ แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นได้อย่างไร หรือถึงจะทำโครงการจริงๆ แหล่งเงินกู้ที่จะนำมาใช้ก็ไม่ให้ เพราะไม่เชื่อมั่น
 
ก่อนหน้านั้น เมื่อเช้าวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมณ์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชิดชนก ราฮิมมูลา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์, ดร.สามารถ ทองเฝือ รองคณบดีฝ่ายกิจการการนักศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แถลงข่าวสนับสนุนการยุบสภา แนะนำให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้ให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยชูคำขวัญ “การเมืองหลากสี เคารพวิถีความต่าง อดทนบนเส้นทางความขัดแย้ง”
 
โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ มีดังนี้
 
1.คณะฯ มีความเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการเดินหน้าจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 เพื่อแก้ไขกติกาทางการเมืองให้มีความชอบธรรมและตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งนี้ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยการแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคการเมือง อาทิ ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เท่านั้น หากแต่ต้องรื้อทวนทิศทางการพัฒนา แนวทางการบริหารประเทศทั้งหมดที่ผ่านมา และมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด
 
2.ในฐานะที่เป็นสถาบัน ซึ่งทำงานกับพื้นที่ของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะฯ มีความเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่คนในสังคมไทยกำลังเรียนรู้ช่องทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลากหลาย เป็นก้าวหนึ่งของการแสดงออกถึงความคิดเห็น สิทธิ เสรีภาพทางการเมือง โดยอยู่บนฐานของความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง
 
3.สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปรากฏขึ้นในเมืองหลวงขณะนี้ มีจุดร่วมเดียวกันกับสถานการณ์ชายแดนใต้คือ “อคติ” ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำ ภายใต้สีเสื้อที่ต่างสี ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง “อคติ” นี้จะกลายเป็นเงื่อนไขของสงครามความรู้สึกแง่ลบระหว่างมวลชนที่ยืดเยื้อ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยั้งการสร้างอคติต่อกันและกัน อันจะเป็นสิ่งที่จะทำร้ายสังคมไทยต่อไปในระยะยาว
 
4. ดังนั้น คณะฯ จึงขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในสังคมอดทนต่อความขัดแย้งและหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองในห้วงเวลานี้
 
คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังเห็นด้วยว่าการยุบสภาเป็นทางหนึ่งที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ หากแต่จะต้องรวมถึงการแก้ไขกติกาทางการเมือง ปูทางให้แก่การพัฒนาการเมืองและการบริหารประเทศโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนเพื่อแก้ไขกติกาทางการเมืองให้มีความชอบธรรม และตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ
 
ในการเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบาย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะที่เกื้อกูล ทุกฝ่ายทุกกลุ่มต้องมีสิทธิโดยเสรีและเป็นธรรมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสันติและไม่ถูกคุกคามในทุกเวลา สถานที่
 
ท้ายสุดนี้คณาจารย์ได้กล่าวให้กำลังใจให้เหล่าคนไทยเข้มแข็ง ผ่านวิกฤตของความขัดแย้งนี้ไปได้โดยไม่ด่วนปฏิเสธ เบื่อหน่าย หรือเกลียดชังการเมืองไปเสียก่อน และสรุปข้อเรียกร้องว่าให้ “เจรจาแก้ปัญหา ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 และทบทวนปัญหาเชิงโครงสร้าง” บนพื้นฐานคำขวัญที่ว่า “การเมืองหลากสี เคารพวิถีความต่าง อดทนบนเส้นทางความขัดแย้ง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net