Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ ๖-๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา สมัชชาคนจนเขื่อนเขื่อนหัวนาและราษีไศลประมาณ ๒,๕๐๐ คน ร่วมจัดงานรำลึกครบรอบ ๑ ปีการชุมนุม และจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปทั้ง ๑๑ คน ในระหว่างการชุมนุม ๑๘๙ วัน (๔ มิถุนายน – ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒) รวมทั้งจัดเวทีประชุมติดตามและปรึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเขื่อน หัวนาและเขื่อนราษีไศล ระหว่างชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา กรมชลประทาน นำโดยนายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน และตัวแทนฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งผลการประชุมและปรึกษาหารือ สร้างความพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย และสามารถบรรลุข้อตกลงที่สำคัญๆเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ แก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างราษฎร กรมชลประทาน และรัฐบาล ต่อไป 
 
นายไพทูรย์ โถทอง แกนนำชาวบ้านเขื่อนราษีไศล กล่าวถึงการมารวมตัวกันครั้งนี้ว่า “ปีที่แล้วเราได้มาชุมนุมอยู่นี่ ๖ เดือนกว่า วันนี้เป็นวันหนึ่งที่เราต้องมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ ผู้ที่เสียชีวิตตลอดการต่อสู้ในกรณีของเขื่อนราษีไศลและหัวนา จำนวน ๑๑คน และก็เป็นการรำลึกถึงการชุมนุมครบรอบ ๑ ปีสำหรับการมาชุมนุมอยู่ที่นี้ และได้รับชัยชนะ ได้รับการแก้ไขปัญหาจากจุดนี้ เรารำลึกถึงผลสำเร็จที่มาชุมนุมอยู่นี่ ๖ เดือน ซึ่งก่อนที่จะยุติการชุมนุมก็ได้มีการตกลงและรับปากรับคำเป็นมั่น เป็นเหมาะในการแก้ปัญหาทั้งเขื่อนหัวนาและราษีไศล แต่เมื่อเรากลับไปแล้ว งานที่รับปากไว้กลับยังไม่มีผลปรากฏ” 
 
“วันนี้จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่เราต้องมาทวงสัญญา ทวงคำพูดที่ว่าจะแก้ไขปัญหาให้เราให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ แต่ว่าตอนนี้การแก้ปัญหายังอยู่ที่เดิม ทั้งกรณีทับซ้อน นานอกอ่าง ทั้งที่เรามีการติดตามงานกันโดยตลอด แต่มีการผัดวันประกันพรุ่ง โยนไปหาคนนั้นคนนี้ ดังนั้นวันนี้ก็ได้นัดหมายทั้งสองฝ่ายลงมาพบปะพี่ น้องเพื่อตอบข้อซักถามของพี่น้อง ที่มันติดขัดตรงนี้มันเกิดจากอะไร ซึ่งปัญหาของเรา ถ้าเราไม่คืบไม่คลาน ไม่มีการรวมตัวกัน งานต่างๆก็จะหยุดชะงักทันที วันนี้ทุกคนจะได้รับทราบคำตอบด้วยตัวเองไม่ต้องรอฟังจากแกนนำ”นาย ไพทูรย์ ย้ำ 
 
ด้าน อ.ชัยพันธ์ ประภาสะวัต ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่พวกเราเดินมาได้ถึงวันนี้ นั่นก็คือความอดทน การต่อสู้อันยาวนานใช้วิธีสันติอหิงสา นี่ก็คือตัวอย่างของการต่อสู้ สมัชชาคนจนต่อสู้ด้วยความมีวินัยตลอดมา และที่สำคัญต้องให้คนเขารู้สึกว่า เขาเห็นใจเรา เพราะเราเดือดร้อน ซึ่งด้วยสันติ อหิงสานี่เอง ที่ทำให้สะเทือนจากที่นี่ค่อยๆสั่นไปถึงกรุงเทพ จนเขาอยู่ไม่ได้เขาก็ต้องลงมาแก้ไข วันนี้สื่อมวลชนก็เอาเรื่องของราษีไศลเผยแพร่ไปทั่วประเทศ คนได้เห็นการต่อสู้สันติ อหิงสาอย่างจริงจังจากกรณีของราษีไศลและหัวนา” 
 
“ตอนนี้เรากำลังถอดบทเรียนเหล่านี้เพื่อจะขยายแนวคิดการต่อสู้แบบ สันติอหิงสาทำอย่างไร เพื่อให้พี่น้องที่อื่นๆได้รับรู้ด้วยว่าความสำเร็จของการต่อสู้ มันมีคุณค่า ถึงแม้จะยังไม่จบสิ้นทั้งหมด แต่วันนี้คุณูปการที่พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายได้ลุกขึ้นสู้มาเป็นเวลา ยาวนาน ได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศนี้ก็เกิดจากพี่น้องราษีไศลและ หัวนาได้เริ่มต่อสู้ขึ้นมา ทำให้รัฐยอมรับสิทธิของชุมชน สิทธิที่เราไม่ได้ถือครองเป็นปัจเจก ไม่ได้ถือครองเป็นกระดาษ ถือครองโดยสิทธิในการที่เราทำกินเท่านั้น เมื่อเอาที่ของเราไป และน้ำมาท่วมเรา ก็ต้องคืนที่ให้เราใหม่ หรือชดเชยมาเป็นค่าชดเชย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในราษีไศล ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ จดจำจารึกว่าเมื่อใดที่พี่น้องลุกขึ้นสู้เมื่อ นั้นความสำเร็จจะรออยู่เสมอ แต่การต่อสู้นั้นต้องต่อสู้ด้วยความจริงเท่านั้น สัจธรรมความจริงมีอยู่หนึ่งเดียวไม่มีหลายอย่าง ถ้าพ่อแม่พี่น้องมีความจริงได้รับความเดือดร้อนจริงสู้ไปอย่างไร ก็ต้องได้รับชัยชนะ” ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวย้ำหนักแน่น

สำหรับกิจกรรมในงาน วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ ได้มีการเชิญอ.ชัยพันธ์ ประภาสะวัต มาเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับนโยบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ เคลื่อนไหวภาคประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งนิมนต์ พระมหาวีระ กิตฺติวณฺโณ ประธานกองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการผู้นำชุมชนคน สุรินทร์ และนายชุมพร เรืองศิริ คณะประสานงานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุรินทร์ มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องแนวทางการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการ และการสร้างความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาชน
 
ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่  ๗ มิถุนายน ชาวบ้านทุกคนก็ได้มาร่วมกันทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ล่วง ลับทั้ง ๑๑ คน ที่เสียชีวิตลงระหว่างการชุมนุม จากนั้นเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ทางคณะของนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ และนายวีระ วงศ์แสงนาค ได้เดินทางมาถึงที่ทำการเขื่อนราษีไศลและได้มี การพบปะปราศรัยกับชาวบ้านที่มารวมตัวอยู่ในเวทีกลาง 
 
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวว่า “ตนเข้าใจประเด็นปัญหาสิ่งที่พี่น้องอยากให้ดำเนินการ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านเป็นห่วง หลังได้รับหนังสือเชิญจากทีมงานและก็ได้มอบหมายให้ตนมา แทนท่าน ด้วยความสำนึกว่า พวกเราทุกคนต้องทำงานรับใช้พี่น้องด้วยขั้นตอนและ กติกาที่ต้องทำตามร่วมกัน เพื่อจะให้พี่น้องทั้งหลายได้รับการชดเชย ได้รับการเยียวยาและการฟื้นฟู ตามขั้นตอนที่ตกลงกันเอาไว้” 
 
“โครงการนี้เป็นโครงการที่มีปัญหาแต่อดีต หน้าที่พวกเราก็คือต้องยอมรับว่ามีปัญหา แล้วก็นั่งลงคุยกัน แก้ปัญหาร่วมกันเพื่อให้พี่น้องทั้งหลายได้รับการ ดูแลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกไม่แบ่งไม่มีสีเสื้อ ไม่มีความแตกต่างทางความคิด ทุกคนคิดเหมือนกันว่า เมื่อพี่น้องได้รับผลกระทบแล้ว หน้าที่ของพวกเราก็ต้องมาดูแลผลกระทบและแก้ปัญหาเหล่านั้น นี่คือจุดยืนและความตั้งใจที่จะทำ”ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงเกษตรและสหกรณ์ย้ำ 
 
ด้านนายวีระ วงศ์แสงนาค กล่าวว่า “วันนี้มาทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับ ผลกระทบจากทั้งสองโครงการ ทั้งสองฝายที่ยังมีปัญหา บางส่วนก็ได้รับการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว แต่บางส่วนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ซึ่งตนเองได้รับการมอบหมายจากท่านอธิบดีให้ลงมาร่วมประชุมที่นี่กับ แกนนำเพื่อที่จะนำปัญหาทั้งหมดมาดูว่า ยังติดตรงไหนประเด็นอะไร แล้วเราจะเร่งรัดอะไรเพื่อให้งานต่างๆที่พี่น้องยังรอคำตอบมีความ หวัง ได้รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร จะได้การชดเชยตอนไหน งานต่างๆทั้งหมดจะฟื้นฟูวิถีชีวิตของพี่น้องเพื่อ ให้กลับคืนสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้น 
 
“ตนเป็นส่วนหนึ่งที่ได้มารับผิดชอบในเรื่องโครงการนี้ ก็อยากจะทำให้ดีที่สุด แต่ก็อยากฝากว่าในระบบราชการนั้น งบประมาณเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัด บางทีตนเองในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ ก็อยากจะทำให้เร็ว อยากจะทำให้เสร็จ ให้ทันใจของพี่น้อง แต่ปัญหาก็อยู่ที่งบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งบางครั้งก็เป็นงานนโยบาย ซึ่งทางผมเองก็มีหน้าที่ต้องผลักดันให้ แต่ก็อยู่กับฝ่ายการเมืองด้วย”รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวชี้แจง 
 
ในเวลาต่อมา ทางคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และแกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและ เขื่อนหัวนาพร้อมด้วยที่ปรึกษา จึงได้เข้าประชุมติดตามและปรึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัว นาและเขื่อนราษีไศล การประชุมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันตามบันทึกที่แนบไว้ท้ายข่าว [1]

ภายหลังการประชุม นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวปราศรัยกับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่งว่า “หลังจากประชุมกัน เรื่องใหญ่ๆก็ได้ข้อยุติ ไม่ว่าการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ การตั้งคณะกรรมการร่วมติดตามผลการศึกษาของเขื่อนราษีไศล ตรงนี้ตนรับหน้าที่กลับไปดำเนินการผลักดันต่อ แบกปัญหากลับไปแก้ไขปัญหาที่กรุงเทพ สรุปว่าเรื่องปัญหาต่างๆที่พี่น้องเดือดเนื้อร้อนใจ ที่มานั่งรอกันอยู่ที่นี่ พวกเราก็ได้มีการประชุมจนได้ข้อยุติเป็นส่วนใหญ่ หลายเรื่องต้องใช้เวลาอีกบ้าง แต่ทั้งหมดก็ต้องยอมรับว่าแกนนำทุกคนมีความตั้งใจมากในการประชุม เพื่อที่จะให้ได้ข้อยุติ ให้พี่น้องได้รับค่าชดเชย สำหรับผู้ที่ยังมีปัญหาอยู่ และพี่น้องจะได้รับการฟื้นฟูเยียวยาหลังจากได้รับค่าชดเชยแล้ว ตรงนี้เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนจะได้ตั้งอกตั้งใจทำงานกันต่อ หวังว่าพี่น้องก็คงจะสบายใจขึ้นและจะได้กลับไปตั้งใจทำงานกันต่อ พวกเราทุกคนหวังว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดพี่น้องจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องที่ดี” 
 
“โครงการของรัฐในอนาคตที่จะเกิดขึ้นก็คงจะได้บทเรียนจากที่นี่ ไม่ว่าเรื่องของราษีไศลหรือหัวนาก็ตาม เป็นเพื่อจะได้ไม่ทำให้พี่น้องได้รับความเดือดร้อนต่อไปอีก ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของเราจะเอาบทเรียนจากที่นี่ไปแจ้งให้กับ รัฐบาลได้รับทราบว่า ที่พี่น้องเดือดร้อนเพราะโครงการของรัฐในอดีตมันผิดพลาด มันทำให้พี่น้องต้องมานั่งๆนอนๆอยู่ที่นี่ เพื่อจะมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ต่อไปนี้รัฐบาลจะดำเนินโครงการอะไร จะได้ไม่ต้องทำงานอย่างชุ่ยๆอีก จะได้ไม่ต้องทำงานอย่างๆไม่รอบคอบอีก”นายประพัฒน์ กล่าวเสริม 
 
ขณะที่ นายสนั่น ชูสกุล ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า “อยากให้ทุกคนภูมิใจว่า พวกเรานี่เองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ และประสบชัยชนะด้วยฝีมือของตนเอง อยากบอกว่าผลการประชุมที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นไปด้วยความเต็มใจของ ทุกฝ่าย เขาไม่ได้กลัวพี่น้องว่ามากันเยอะ แล้วต้องอนุมัติ ต้องผ่าน ไม่ใช่ แต่ว่าเรื่องราวเป็นไปตามสัจธรรม ตามหลักของความจริงที่พี่น้องใช้สันติวิธีในการต่อสู้ เพราะว่าเขาเชื่อ จากการที่เราพูดให้เขาเข้าใจว่า พี่น้องมาด้วยความเป็นมิตรไมตรีและสมานฉันท์ และก็เอาความจริงมาตั้ง เพราะฉะนั้นนี่คือผลงานของพี่น้องทุกคน คนธรรมดาสามัญ มดตัวน้อยนี้เอง ที่บันดาลให้เกิดความสำเร็จ ทุกคนมีบทบาทมีความสำคัญทั้งนั้น นี่คือผลสัมฤทธิ์ของการต่อสู้ ของความอดทน ของความไม่เบียดเบียนกัน ของความที่เอาความจริงเป็นหลัก ใจเย็นเพียงพอในการต่อสู้” 
 
ด้าน นายประดิษฐ์ โกศล แกนนำชาวบ้านเขื่อนราษีไศล กล่าวว่า “คำตอบพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ทุกคนต้องมาช่วยกันทำ ถ้าเราไม่ช่วยกันแบบวันนี้ พวกเราก็ไม่ได้คุยกับ ท่านวีระ พวกเราก็ไม่ได้เห็นตัวแทนรัฐบาล ซึ่งเป็นที่ปรึกษา มาให้คำตอบบางเรื่องที่สามารถตอบได้ บางเรื่องที่ตอบไม่ได้ก็จะนำไปเสนอรัฐมนตรี เพื่อนำไปเร่งรัดและติดตามปัญหาต่อไป วันนี้ถือว่าทุกคนได้มาร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต สังคมความเป็นอยู่ที่ดีของเรา” 
 
หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงได้เก็บของและเดินทางกลับในเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น.

 


 








ประเด็นในการปรึกษาหารือ

 

สรุปการการแก้ไขปัญหาผลกระทบเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง

 

๑.กรณีเขื่อนหัวนา

            คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ สาระสำคัญ คือ

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการฝายหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ และเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝายหัวนา โดยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาโครงการก่อสร้างฝายหัวนาต่อไปจนแล้วเสร็จ ตลอดจนสำรวจข้อมูลและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมชลประทานถือปฏิบัติอยู่ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการแก้ไขผลกระทบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของโครงการต่อไปด้วย

          ดังนั้น เพื่อให้มีความคืบหน้าทางการปฏิบัติ จึงควรมีแผนงานที่ชัดเจน ๕ เรื่อง คือ

 

๑.๑ การตั้งคณะทำงานปักเขตอ่างเก็บน้ำ ระดับ ๑๑๔ ม.รทก. โดยให้มีส่วนร่วมระหว่างกรมชลประทานและราษฎร

 

ความเห็น

๑.๑ การปักขอบขอบเขตอ่างเก็บน้ำที่ระดับ ๑๑๔ ม.รทก

๑.      การปักหลักเขตเดิมของหัวนา หลักเดิมมีปัญหาเรื่องการปักระดับไม่ชัดเจน  ปี ๒๕๕๓ ได้รับงบประมาณในการจัดทำหลักเขตใหม่ ๖๐ กม. โดยการสำรวจทั้งสองฝั่งแม่น้ำ  ยังไม่ชัดเจนว่าเริ่มต้นที่บริเวณไหน  ในปีหน้าจะมีการของบประมาณจัดทำการสำรวจหลักระดับน้ำให้แล้วเสร็จ

๒.     เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบการปักขอบเขตอ่าง ระหว่างกรมชลประทานและชาวบ้าน ทำหน้าที่ติดตามการตรวจสอบพื้นที่ของคณะทำงาน สามารถติดตามการทำงานได้ทุกสองอาทิตย์ ไม่ใช่ปฏิบัติงานในพื้นที่ /ระดับพื้นที่เป็นหน้าที่ของคณะทำงาน สัดส่วนของคณะทำงาน ฝ่ายละ ๕ คน เป็นตัวแทนของฝ่ายราชการ ชลประทาน ชาวบ้าน และตัวแทนจากคณะทำงานในระดับพื้นที่  แต่งตั้งโดยกรมชลประทาน มีการมอบหมายให้สำนักงานชลประทานจังหวัดเป็นคณะทำงาน  เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการทำงานในระดับพื้นที่คือ หากมีการสำรวจพื้นที่ให้มีตัวแทนชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์และเสนอให้มีการประชุมคณะทำงานในพื้นที่ หากพื้นที่นั้นสำรวจเสร็จแล้ว

ข้อสรุป

๑.     การปักหลักเขตเดิมของหัวนา หลักเดิมมีปัญหาเรื่องการปักระดับไม่ชัดเจน  ปี ๒๕๕๓ ได้รับงบประมาณในการจัดทำหลักเขตใหม่ ๖๐ กม. โดยการสำรวจทั้งสองฝั่งแม่น้ำ  ยังไม่ชัดเจนว่าเริ่มต้นที่บริเวณไหน  ในปีหน้าจะมีการของบประมาณจัดทำการสำรวจหลักระดับน้ำให้แล้วเสร็จ

๒.      เห็นด้วยที่จะมีคณะทำงานติดตามการปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำ ของราษฎร โดยสัดส่วนของคณะทำงานชุดนี้ มีฝ่ายละ ๕ คนทั้งส่วนราชการและส่วนของราษฎร โดยมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการตรวจสอบระดับพื้นที่ ยกเว้นมีปัญหาทางเทคนิคที่ให้หน่วยงานส่วนกลางลงมาช่วยแก้ไขปัญหา และมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ได้  โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดศรีสะเกษ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

 

                   ๑.๒ การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร มีชุดเดิมอยู่แล้ว ราษฎรเสนอให้ใช้ชุดเดิม และทำงานต่อเนื่องจากที่ดำเนินการไว้แล้ว

                        ๑.๓ การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สิน

                        ๑.๔ การแต่งตั้งคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชย

 

๑.๒ การแต่งตั้งคณะกรรมทั้งข้อ ๑. ๒ – ๑.๔ 

            ชี้แจง ตามมติครม.วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ นั้น คณะกรรมการเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินเดิมนั้น ถือว่าหมดวาระไปตามหลักการของมติครม. ในส่วนคณะกรรมการที่จะต้องแต่งตั้งใหม่ จะเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ เป็นไปตามมติที่ให้อำนาจกรมชลประทานดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบได้  คือ คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทาน ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ดำเนินการกำหนดราคาและดำเนินการจ่ายเงินอยู่แล้ว ในข้อ ๑.๒ – ๑.๔  ที่ชาวบ้านเสนอมา แต่มีข้อด้อยคือ มีภาคราชการ ไม่มีภาคราษฎร  แต่สามารถแต่งตั้งให้มีผู้แทนราษฎรเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการได้ หรือคณะทำงานได้  

          ข้อสรุป

๑.     เห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมการจ่ายค่าทดแทนเพื่อการชลประทาน ซึ่งมีผู้ว่าราชการ เป็นประธาน ตามมติครม. ๑๑ ก.ค. ๒๕๓๒ 

๒.     เห็นด้วยที่ คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีนายอำเภอเป็นประธาน   โดยอำเภอละ ๑ ชุด

๓.     คณะอนุกรรมการจ่ายเงิน  มีปลัดอำเภอเป็นประธาน

หากการดำเนินงานมีปัญหา หรือข้อขัดข้อง คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการสามารถแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและพิจารณารายละเอียดนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา

 

             ชี้แจงเพิ่มเติม ผลการศึกษาของรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ได้ระบุว่า ให้มีการแต่งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบ

- รายงานการศึกษา แม้ครม.จะเห็นชอบแล้วตามรายงานดังกล่าว แต่ยังไม่มีเอกสารจากครม.  /อำนาจการฟื้นฟูเป็นอำนาจของกระทรวง ซึ่งรมต.กระทรวงอาจจะตั้งเองได้ หรือเรียกว่า คณะกรรมการติดตามการฟื้นฟูผลกระทบหรือกำกับการฟื้นฟูผลกระทบ มีรมต.เป็นประธานและตัวแทนส่วนต่างๆ  เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงเกษตร ฯ แล้ว

- รายงานการศึกษาของหัวนา ถือเป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมาก และอยากให้ข้อเสนอที่อยู่ในรายงานเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นจริง

 

ข้อสรุป 

-          ท่านที่ปรึกษารมต.เกษตร จะทำหน้าที่ติดตามเอกสารจากมติครม. ให้เร็วที่สุด

-          เห็นด้วย ที่จะจัดตั้งมีคณะกรรมการตามข้อ ๑.๕ โดยมีรมต.เกษตรฯ เป็นประธาน ส่วนอำนาจหน้าที่ให้ทีมสมัชชาคนจนร่วมกันกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้เสนอต่อไป

 

                   ๑.๖ ปรึกษาเรื่องผลกระทบจากโครงการขนาดเล็กในท้องถิ่น

                   - กรณีการขุดลอกของโครงการหนองแปน มีชาวบ้านคัดค้าน แต่มีการดำเนินการขุดลอกและเอาดินไปถมที่ดินของชาวบ้าน

                   ชี้แจง    โครงการขุดลอกหนองแปน เป็นโครงการขุดลอกแก้มลิงตามนโยบายไทยเข้มแข็ง  อบต.หนองอึ่งส่งมอบที่ดินให้กรมชลประทาน  ทำให้พบปัญหาเรื่องเขตที่ดินระหว่างราษฎร

สรุป   รับทราบปัญหาและให้นายช่างลงไปแก้ไขปัญหา

๒.กรณีเขื่อนราษีไศล

            ๒.๑ การศึกษาผลกระทบทางสังคม

คณะกรรมการศึกษาผลกระทบได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ จากนั้นประธานได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาได้เตรียมรายชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูผลกระทบจากการสร้างโครงการฝายราษีไศลและมีการส่งเอกสารไปตามลำดับเพื่อนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

          แต่ได้มีราษฎรบางกลุ่ม ประกาศลงทะเบียนชื่อและเก็บเงินสมาชิกโดยอ้างว่าจะนำเงินค่าเสียโอกาสมาจ่ายให้คนละหนึ่งแสนบาทเป็นรายคน ได้ยื่นเรื่องคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่อป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูผลกระทบจากการสร้างโครงการฝายราษีไศลและขอเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

          ทางกลุ่มสมัชชาคนจนได้ยืนยันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ คือให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามที่ได้เตรียมไว้แล้ว พร้อมให้มีการตรวจสอบการลงทะเบียนรายชื่อราษฎรในพื้นที่เพราะจะเกิดความเสียหายต่อกรมชลประทานโดยตรง

          ข้อเสนอ

ให้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ เพื่อให้มีการนำมติของคณะกรรมการศึกษาผลกระทบเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยเร็ว เพราะระยะเวลาล่วงเลยมามากแล้ว

 

ชี้แจง

-กลุ่มราษฎรกลุ่มอื่นที่ขอมีส่วนร่วมและไปยื่นหนังสือที่ท่านนายก และทำหนังสือไปที่รมต.กระทรวงเกษตรฯ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีปัญหาเรื่องนี้ มีการนำเสนอไปที่ครม.แล้ว แต่ยังคาอยู่   ประเด็นที่หารือคือ การเสนอให้ครม.

รับรองและเห็นชอบได้ ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เลย

-กรณีค่าสูญเสียโอกาสของราษฎรนั้น เป็นเรื่องยากมากและแทบจะไม่มีโอกาส ส่วนราชการยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก  แต่หากเป็นการสนับสนุนเรื่องการฟื้นฟูผลกระทบนั้น ก็สามารถสนับสนุนให้ได้

-ประเด็นในระดับพื้นที่ มีการลงทะเบียนเพื่อจัดตั้งกลุ่มเรียกร้องค่าสูญเสียโอกาส ซึ่งทางสำนักงานมูลล่างได้เรียกประชุมกลุ่มทุกกลุ่มและทำหนังสือชี้แจงให้ทุกหมู่บ้านแล้ว สิ่งที่กลุ่มอื่นๆเรียกร้องคือ การมีส่วนร่วมเป็นกรรมการร่วมกับสมัชชาคนจน  มีกระแสข่าวลือในพื้นที่ ประเด็นสำคัญที่ทางสมัชชาคนจนคัดค้านคือ แนวคิดและแนวทางปฏิบัติงานที่ไม่ตรงกัน  จึงเสนอให้มีการหารือกันอีกครั้งกับท่านรัฐมนตรี

เสนอว่า ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบ ในสัดส่วนของสมัชชาคนจนเลย หลังจากนั้นจึงทำ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) กันใหม่ เพื่อให้มีกระบวนการเตรียมแผนปฏิบัติการ  

สรุปว่า    ให้เสนอรายงานผลกระทบทางสังคมดังกล่าว เสนอครม.และให้ครม.รับรอง  โดยเสนอให้ครม.มอบอำนาจกระทรวงเกษตรฯ มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบของสมัชชาคนจนก่อน เพื่อให้เริ่มดำเนินการแผนฟื้นฟูได้

 ส่วนเรื่องการปรึกษากับรัฐมนตรี ทางสมัชชาคนจนจะปรึกษาหารือกัน วิเคราะห์และวางแผนเกี่ยวกับการฟื้นฟูดังกล่าวร่วมกับกระทรวงเกษตรอีกรอบ

 

๒.๒ ปรึกษาหารือการจ่ายค่าชดเชยที่ยังตกค้าง

๑) กรณีการการรับค่าชดเชยที่เจ้าของที่ดินเสียชีวิต ดำเนินการผ่านทุกกระบวนการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน

สรุป จ.ศรีสะเกษกับร้อยเอ็ดเรียบร้อยแล้ว เข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว เหลือการตรวจสอบของจังหวัดสุรินทร์ จะแล้วเสร็จประมาณวันอังคารที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๓ นี้

 

๒) กรณีการแก้ไขปัญหาเรื่องทับซ้อน

- ทับซ้อนยอมรับ (ยอมรับในที่ดินส่วนเหลือจากการทับซ้อน)

 ชี้แจง   กรณีทับซ้อนแปลงที่จ่ายโดยกรมพัฒนาฯ กรณีที่ยอมรับ คณะ ก.ก. อำเภอพิจารณาและติดประกาศอีกครั้ง  คณะทำงานอุทธรณ์ได้ส่งให้มีการอ่านแปลภาพ  ความซับซ้อนของการตรวจสอบในกรณีทับซ้อน คณะทำงานต้องแจกแจงประเภทของการทับซ้อนออกมาให้ชัดว่า ทับซ้อนอย่างไรและจะแก้ไขปัญหาอย่างไรในแต่ละกรณี 

- ทับซ้อนกระโดด (ทับซ้อนเต็มแปลง) ชี้แจง  ควรให้ช่างรังวัดกรมที่ดินลงตรวจสอบในพื้นที่ และรอให้คณะกรรมการจังหวัดประชุมเพื่อเสนอต่อกรมที่ดินต่อไปฯ

เสนอ ให้คุณอนันต์ ผู้รับผิดชอบ จัดทำเอกสารชี้แจงให้ตัวแทนชาวบ้านได้รับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีทับซ้อนของราษีไศล.

                    ๓) กรณีปัญหาของราษฎร ๑๙ ราย ที่ดินจำนวน ๒๑ แปลง

                   - การไม่ยอมรับค่าชดเชย เนื่องจากผลการพิจารณาไม่เป็นไปตามมติ ๑ ก.พ. ๒๕๔๓ มีการพูดคุยหลายรอบ แต่ไม่มีข้อตกลง และมีข้อสรุปล่าสุดว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเกี่ยวข้องกับมติ ครม.

                   เสนอว่า ให้มีการยื่นคำร้องไปให้มีการดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง

                   ๔) กรณีนานอกอ่างที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการลงรางวัดพื้นที่

          -อยากให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินในส่วนของราษฎร ซึ่งได้ยื่นรายชื่อไปตั้งแต่การชุมนุมครั้งที่แล้ว มีการปรึกษาหารือกันแล้ว พบว่า มีปัญหาเรื่องงบประมาณ

          ชี้แจง  ท่านรองวีระ รับปากที่จะติดตามเรื่องนี้ให้

 

๑.๖ กรณีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์  มีทั้ง ๓ จังหวัด  จ.ศรีสะเกษ มีการรังวัดแล้ว มีเรื่องขัดข้องข้างเคียง ช่างรังวัดแล้ว ยังไม่ขึ้นรูปแปลง และยังไม่ได้ถ่ายมาให้กรมจัดหาที่ดิน, สุรินทร์ มีการรังวัดแล้ว ๕ – ๖ แปลง ราษฎรชี้ผิดตำแหน่ง ยังไม่ส่ง, ร้อยเอ็ดรอช่างลงรังวัด 

 

๑.๗ การขอข้อมูลของฝายห้วยพอก เกี่ยวกับการก่อสร้างฝายห้วยพอก ในพื้นที่ตำบลยางสว่าง  ซึ่งอยู่ในกรณีนอกอ่างเก็บน้ำ    

 

 

๓.เรื่องอื่นๆ

            ๓.๑ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ปรึกษาเรื่องการใช้ที่ดินและสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูผลกระทบและแผนงานอื่นในระยะยาว

          สรุป  - การถมที่จะเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

       - ส่วนเรื่องสาธารณูปโภค ทางสำนักงานมูลล่างจะช่วยติดตั้งให้

       - ปีแรกขอให้มีโรงเรือนภายในศูนย์ก่อนในปีแรก

      - การจัดการเรื่องที่ดินต้องรอเวลาประสานกับกรมธนารักษ์

      -  ควรมีกิจกรรมการปลูกป่าเสริมในป่าทามได้

 

          ๓.๒ รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการคนทาม (ราษีไศล) และกองทุนสวัสดิการฮักแม่มูน (หัวนา)  ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ ซึ่งครบ ๑ ปี แล้วปรึกษารัฐบาลในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการของเครือข่าย เช่น การลงทะเบียน การสมทบจากภาครัฐ และการสนับสนุนทางวิชาการ

                   - ชี้แจง  มีการจัดทำกลุ่มสวัสดิการชุมชนของกลุ่มชาวบ้านราศีไศล ชื่อ กองทุนสวัสดิการคนทาม  และกลุ่มหัวนาชื่อ กองทุนสวัสดิการฮักแม่มูน จำนวน ๕๑๗ คน  ผลที่เกิดขึ้นคือ การสร้างสวัสดิการของคนจนภายในเครือข่ายร่วมกัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือกัน ก่อนที่จะขอรับการสนับสนุนจากภายนอก  ภายใต้การรวมตัวกันของกลุ่มในส่วนของเครือข่ายเชิงภูมินิเวศน์ ไม่ใช่ในรูปแบบของกลุ่มในอบต.หรือตามระบบที่รัฐได้กำหนดไว้

          สรุป ท่านที่ปรึกษาได้ประสานไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้พมจ.ของจังหวัดศรีสะเกษได้เข้ามาดูแลและติดตามการทำงานของกองทุนสวัสดิการทั้งสองกลุ่มอย่างใกล้ชิด

 

          ๓.๓ รายงานผลและปรึกษาเรื่องโครงการชลประทานชุมชน ซึ่งมีการริเริ่มไว้ตั้งแต่คราวการชุมนุมกลางปี ๒๕๕๒ เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างกับสมัชชาคนจน ที่ผ่านมามีการสำรวจ การจัดทำประชาคม ๙ ตำบล การเขียนโครงการ การประชุมร่วมกันกับทุก อบต. ในอนาคตจะดำเนินการต่อให้เป็นจริงอย่างไร

          - ชี้แจง   มีการริเริ่มโครงการในช่วงการชุมนุมเมื่อปี ๒๕๕๒ มีการจัดทำโครงการขนาดเล็กเกี่ยวกับชลประทานร่วมกันระหว่างชาวบ้านและสำนักงานมูลล่าง ในพื้นที่ ๙ ตำบล โดยมีการทำประชาคมและปรึกษาหารือกับตัวแทนอบต.ทั้ง ๙ ตำบลรอบพื้นที่แล้ว

          - สำนักงานมูลล่าง ชี้แจงเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับชาวบ้าน มีการให้ความรู้เรื่องชลประทานและมีการจัดเวทีเชิญอบต.ในเขตรับผิดชอบของมูลล่างทั้งหมด ๙ ตำบล ๑๘ งาน ในปี ๒๕๕๔ มีการของบประมาณ ๔๓ ล้านบาท ในส่วนของการทำแก้มลิงในพื้นที่แต่ละแห่งที่เสนอไว้  มีการเสนอโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก่อสร้างโดยมูลล่าง อบต.พื้นที่รับผิดชอบในการดูแลต่อไป  

          เสนอ ให้ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ช่วยสนับสนุนและขยายผลเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการชลประทานชุมชนให้กับท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบต่อไป

 

          ๓.๔ การขอข้อมูลแผนที่รังวัดของกรณีอ.อุทุมพรพิสัย

          - มีการยื่นขอมติครม.ใหม่ในการใช้มติครม. ๑๑ ก.ค. ๒๕๓๒ มาใช้แทน แผนที่อันเดิมขอใช้ไม่ได้   แต่ผลการดำเนินงานเดิมไม่ได้ยกเลิกแต่ขอใช้เป็นฐานข้อมูล 

          ๓.๕ กรณีความคืบหน้าในการทำงานของกรณีหัวนา  การประชุมการทำงานสามารถประชุมในเบื้องต้นได้แล้ว ฝ่ายกองกฎหมายที่ดินรับในการประสานงานเพื่อให้มีการดำเนินงานต่อเนื่อง  ซึ่งต้องมีการรายงานให้กับกรมชลฯ ได้รับทราบผลการประชุมปรึกษาหารือในวันนี้เพื่อวางแผนการทำงานล่วงหน้าได้ ขณะนี้ทางฝ่ายราชการยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนมากนัก

          - การประสานงานควรมีกลไกการสื่อสารระหว่างชลประทานและชาวบ้าน เพื่อให้มีการติดตามสื่อสารกัน ที่ประชุมให้ คุณจำรัส สวนจันทร์  ทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างส่วนกลางและชาวบ้าน ซึ่งโดยตำแหน่ง คุณจำรัส จะเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว  


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net