Skip to main content
sharethis

กรรมการติดตามสถานการณ์ วุฒิสภา เชิญ รัฐบาลแจงการเยียวยา-แผนปรองดอง “สาทิตย์” ระบุ กรรมการทุกชุดทำเสร็จ ต.ค.เสนอรัฐบาล จากนั้น 1 ธ.ค.ประกาศพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.53 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงความคืบหน้าเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและความคืบหน้าเรื่องแผนปรองดอง โดยนายกฯ มอบหมายให้นางอัญชลี วานิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง มาชี้แจงร่วมกับนายสาทิตย์

นายสาทิตย์ ชี้แจงว่า แบ่งการเยียวยาเป็น 3 ส่วนคือ 1.ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลซึ่งกำลังสรุปตัวเลขอยู่ ซึ่งการเยียวยาใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกรณี 7 ต.ค.51 โดยเกณฑ์นี้มีการใช้ไปแล้วเมื่อคราวเมษายน 52 รวมถึงคราวนี้ โดย ณ วันที่ 7 มิ.ย.ดำเนินการแล้ว 667 ราย รวม 36 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็นเสียชีวิต 30 ราย 12 ล้านบาท บาดเจ็บ 637 ราย 24 ล้านบาทเศษ และไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลแล้ว 159 ราย มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 2,000 บาท และกระเช้าของขวัญมูลค่า 1,000 บาท ส่วนบุตรของผู้เสียชีวิต เข้าใจว่าจะดูแลจนจบปริญญาตรีด้วย ซึ่งตัวเลขผู้มาขอรับความช่วยเหลือ ตอนนี้มีมากขึ้นแล้ว และจะช่วยทุกคน ไม่ได้แบ่งว่าเป็นผู้ต้องหาหรือไม่ โดยในส่วนคดีก็ดำเนินการแยกกับการช่วยเหลือ 

2.การเยียวยาฟื้นฟูจิตใจในส่วนผู้ชุมนุม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับผิดชอบ ซึ่งได้วางแผนสำรวจภาวะสุขภาพจิตและอารมณ์ มี 41 จังหวัดที่มีคนในจังหวัดมาร่วมชุมนุมมากเป็นเป้าหมาย ส่วนผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต สธ.ไปสำรวจเบื้องต้นพบ ภาวะความรุนแรงทางอารมณ์เฉลี่ยที่ 24 % ซึ่งตัวเลขสภาพปกติอยู่ที่ 10 % สะท้อนว่า มีอัตราสูงมาก สธ.ตั้งเป้าว่า ใน 3 เดือน ต้องทำให้ลดลง 3.กรรมการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

นายสาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับแผนปรองดอง ในส่วนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงฯ ตอนนี้นายคณิต ก็ต้องเสนอกรรมการและเสนออำนาจหน้าที่กระบวนการทำงานเพื่อให้ได้ความจริง นำไปสู่แผนการสร้างความปรองดองให้ ครม.ภายในวันที่ 21 มิ.ย.ส่วนความเชื่อมโยงของคณะกรรมการทุกชุด เช่น ชุดรัฐธรรมนูญ ชุดปฏิรูปสื่อ ชุดค้นหาความจริง และชุดปฏิรูปประเทศ ต้องทำเสร็จไม่เกินเดือนตุลาคม ซึ่งในทางคู่ขนานก็มีคณะกรรมการที่นายกฯ ตั้งขึ้น ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกฯจะนำผลของคณะกรรมการเหล่านั้นเชื่อมโยงไปถึงนายกฯ โดยต้องมีการไปหาประชาชนทุกภาคส่วนโดยทำสมัชชาประชาชน และทำโพลระดับชาติเพื่อหาทิศทางประเทศภายหลังวิกฤต ข้อมูลทั้งหมดจะกลับมาปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม และช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน รัฐบาลก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมากำหนดเป็นแผนซึ่ง วันที่ 1 ธันวาคม รัฐบาลต้องประกาศพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายนายจิตติพจน์ ได้ฝากความคิดเห็นต่อรัฐบาลว่า เท่าที่เห็นข้อมูลรัฐบาลยังไม่ความชัดเจนว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะมีกรอบภาระหน้าที่ในการทำงานจะทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร และขอฝากว่า การปรองดองคู่กรณีหลักซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 ฝ่าย รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้คู่กรณียอมรับกระบวนการเหล่านี้ได้ หากอีกฝ่ายยอมรับก็คิดว่ากระบวนการปรองดองของรัฐบาลมีโอกาสสำเร็จมาก แต่หากอีกฝ่ายไม่ยอมรับก็ยากที่จะปรองดอง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net