Skip to main content
sharethis

16 มิ.ย. 53 - มติชนออนไลน์รายงานสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง "จากสงครามสู่สมานฉันท์-ลองฟังประสบการณ์จากไอร์แลนด์เหนือ" เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีรศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นายอเล็กซ์ มาสคีย์ สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือจากเขตเบลฟาสต์ใต้ พรรคซีนเฟน (Sinn Fein) นายจิมมี่ สแปรตต์ สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือจากเขตเบลฟาสต์ใต้ พรรคเดโมเครติก ยูเนียนนิสต์ ปาร์ตี้ (ดียูพี) Democratic Unionist Party (DUP) นายไมเคิล คัลเบิร์ต ผู้อำนวยการ คอยสต์ (Coiste) อดีตสมาชิกกลุ่มขบวนการกองทัพกู้ชาติไอริช (ไออาร์เอ) Irish Republican Army (IRA) และนักโทษการเมือง และนายเอียน ไวท์ ผู้อำนวยการศูนเกลนครี เพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ ทำงานในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้ เพื่อลดความรู้สึกแตกแยกระหว่างกลุ่มบุคคลและระหว่างชุมชนต่างๆ

พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าคิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ควรต้องศึกษาเพื่อให้สังคมไทยอยู่กันอย่างสันติสุข จึงได้ก่อตั้งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลขึ้น เพราะคนไทยขาดความรู้ในการป้องกันความขัดแย้งและขาดความรู้เรื่องการเยียวยาเพื่อให้เกิดความปรองดอง โดยใช้กรณีศึกษา อย่างเช่นไอร์แลนด์เหนือ ที่มีความคิดแตกต่างกัน แต่ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งสมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือและอดีตสมาชิกกลุ่มขบวนการไออาร์เอ เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาก่อน ทุกวันนี้ร่วมมือกันในกระบวนการสันติภาพ นำไปสู่การยุติความรุนแรงที่ยืดเยื้อได้ในที่สุด จึงได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ จัดเวทีสาธารณะนี้ขึ้น

นายอเล็กซ์ มาสคีย์ กล่าวว่า จากมุมมองการเมืองที่ต่างกัน เช่น ตนกับนายจิมมี่ มีวัตถุประสงค์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เราเจรจาและสามารถทำงานร่วมกันได้ ทำงานแบบประชาธิปไตย โดยนับถือแนวคิดทางการเมืองแม้เราจะไม่เห็นพ้องต้องกัน ตนคิดว่าการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามเป็นการสร้างสันติ เราจำเป็นต้องยอมรับว่ามีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น บางครั้งก็มีการใช้อาวุธ การเจรจาสำคัญที่สุดว่าเราต้องรับฟังอีกฝ่ายว่าที่มาของข้อขัดแย้งคืออะไร ปัญหาเกิดจากอะไร ขณะนี้เราวางแผนอนาคตให้กระบวนการต่างๆ นำข้อตกลงที่บรรลุไปปฏิบัติอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงความรุนแรง ความยุติธรรม ตกลงเพื่อสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหา นำข้อตกลงมาสร้างความไว้วางใจ การเสวนาในครั้งนี้คงไม่มีคำตอบให้กับปัญหาในเมืองไทย แต่อยากให้ทุกคนได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเรา

ด้านนายจิมมี่ สแปรตต์ เปิดเผยว่า ตนเป็นตำรวจมา 30 ปี อยู่ในเขตที่ขัดแย้งมาโดยตลอด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงต่างๆ เริ่มลดลงแล้ว ตอนที่เป็นตำรวจก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมาทำงานอยู่ที่สภา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองกับคนที่เคยขัดแย้งกันมาก่อน ผ่านช่วงเวลาอันยาวนานจนสามารถคุยกันได้ เราได้เรียนรู้จากคนที่มีความเห็นต่าง อดทนกับคนที่ปูมหลังไม่เหมือนกัน หัดฟังคนอื่นบ้าง คุณไม่มีทางจะได้รับทุกอย่าง เราต้องประนีประนอมเพื่อที่จะให้ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย พยายามเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น บางคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องประนีประนอมแต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างจะคลี่คลายเอง

"ผมมองว่าเมืองไทยต้องใช้เวลา ไอร์แลนด์เหนือเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เรามีทั้งการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิทางการเมือง ช่วงที่ผมเป็นตำรวจใหม่ๆ เขาก็เรียกร้องสิทธิพลเมือง เราต้องมองย้อนอดีตเพื่อหาแนวทางการทูต ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง เราจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยให้ความขัดแย้งลดลง และพร้อมที่จะพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในเมืองไทย แต่ไม่ยัดเยียดวิธีแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป" นายจิมมี่ แนะ

นายเอียน ไวท์ ระบุว่า นี่ถือเป็นครั้งสำคัญที่จะสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของไอร์แลนด์เหนือ ทุกคนที่เข้าร่วมเวทีสาธารณะในครั้งนี้ ไม่ใช่คนที่ได้สิทธิพิเศษแต่อย่างใด แต่เรามีกระบวนการในการสร้างสันติภาพ โดยยอมรับว่าไอร์แลนด์เหนือเองก็ยังไม่ได้สร้างสันติได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พวกเราช่วยกันสร้าง ซึ่งเราไม่ได้มีคำตอบให้กับประเทศไทย ทำได้แค่ให้แง่คิดมุมมอง เพราะเรามีบางมิติที่คล้ายกัน แต่บางอย่างก็มีเฉพาะในไทยเท่านั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้งของเรามีความรุนแรงขึ้นๆ ลงๆ ปลายปี 1960 ถือว่ารุนแรงมาก เราพยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมนั้นมีหลายฝ่ายมาก เช่น องค์กรต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หน่วยรักษาความมั่นคงปลอดภัย ด้านรัฐบาลอังกฤษก็มีองค์กรติดอาวุธหรือทหารบ้าน เป็นทั้งชาวไอริชและชาวอังกฤษ และความขัดแย้งดังกล่าวก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก มี 3 หมื่นคนที่ถูกคุมขังเพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยข้อตกลงหยุดยิงในช่วงแรกยังไม่ได้ผล เพราะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้ก่อน ต้องสร้างความเข้าใจให้ชาวไอริชเห็นด้วยให้ได้ จนในปัจจุบันไอร์แลนด์เหนือปกครองแบบแบ่งสรรอำนาจ

"ผมว่าความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นการมองโลกที่ต่างกัน แม้ความเชื่อต่างๆ จะไม่เหมือนกัน อาทิ ความเชื่อทางศาสนา แต่เราจำเป็นต้องมีความขัดแย้งเพื่อถ่วงดุลกัน อย่างบนเวทีเราเองก็เป็นคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน บทเรียนที่เราได้คือการเรียนรู้อดีตว่าสันติต้องทำอย่างเป็นกระบวนการ แม้ว่าไอร์แลนด์เหนือจะไม่เหมือนสถานการณ์ของภาคใต้ในประเทศไทย แต่การแก้ปัญหาต้องรู้ก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร การสร้างสันติต้องรวมทุกฝ่าย ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งผู้นำต้องเป็นคนที่มีบทบาทอย่างมาก"

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net