Skip to main content
sharethis

กก.ติดตามสถานการณ์วุฒิสภา เชิญผู้บังคับการตำรวจ 4 จว. ระบุ รัฐบาลเข้าทำ 19 พ.ค. โดยไม่แจ้งพื้นที่ เหตุป้องกันเผาศาลากลางไม่ทัน ชี้ชาวบ้านไม่พอใจรัฐบาลกล่าวหาคนเสื้อแดงล้มสถาบัน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 มิถุนายน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา รองประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมเชิญพล.ต.ต.ศักดา เตชะเกรียงไกร ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ขอนแก่น พล.ต.ต.ปราโมทย์ เอี่ยมทัศน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.มุกดาหาร พล.ต.ต.เดชา ชายบุญชม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจ.อุดรธานี และพล.ต.ต.สมพงษ์ ทองวีระประเสริฐ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุบลราชธานี มาชี้แจง ซึ่งทั้งหมดถูกย้ายมาช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังจากที่ทั้ง 4 จังหวัด มีการเผาศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมของการชี้แจง ผู้บังคับการทั้ง 4 นายระบุว่า ไม่คาดคิดว่า สถานการณ์จะบานปลายเพราะวันที่ 18 พฤษภาคม วุฒิสภาไปเจรจากับแกนนำ นปช.และรัฐบาล มีสัญญาณที่ดี แต่เมื่อเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม รัฐบาลเข้าปฏิบัติการณ์ที่ราชประสงค์จึงรู้สึกผิดหวัง ส่วนการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ทั้งกำลังและอุปกรณ์ไม่พร้อม มีกำลังน้อยกว่าผู้ชุมนุม 10 เท่า เพราะต้องแบ่งกำลังมาที่ กทม. อย่างไรก็ดี ได้เน้นการเจรจาและไม่ใช้อาวุธกับประชาชน เพราะต้องทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ต่อไปอีกนาน และยังมีปัญหาการประสานกับส่วนกลางทำให้ไม่มีใครทราบว่าเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ฝ่ายรัฐจะเข้าสลายการชุมนุม จึงเตรียมความพร้อมในพื้นที่ได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ได้บันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์และตามจับกุมผู้ก่อเหตุในภายหลัง เพราะช่วงเกิดเหตุไม่สามารถไปจับกุมได้เลย นอกจากนี้ ฝ่ายตำรวจยังระบุตรงกันว่า ได้ไปสอบถามชาวบ้านที่มาชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัด ได้รับคำตอบว่า ชาวบ้านต้องการมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง และรู้สึกโดนดูถูก ไม่พอใจกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐาน ไม่พอใจที่โดนกล่าวหาว่าเป็นพวกล้มสถาบัน  

พล.ต.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า คนเสื้อแดงในจังหวัดมุกดาหารส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และเป็นกลุ่มแดงนิรนามซึ่งเป็นชาวญวนที่เพิ่งได้สัญชาติไทย ที่น่าสนใจคือ ไม่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยในจังหวัด สำหรับสถานการณ์การเผาศาลากลาง ผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม และขอใช้พื้นที่ข้างศาลากลางจังหวัดชุมนุม ซึ่งเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม วิทยุชุมชนคนเสื้อแดงแห่งหนึ่งประกาศตั้งแต่เวลา 06.00 น. ที่สถานการณ์ที่ราชประสงค์ว่า ทาหารล้อมสลายชุมนุมแล้วและมีคนบาดเจ็บ จึงให้มารวมตัวกันที่ข้างศาลากลางจังหวัด ซึ่งจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นพันคน ส่วนตำรวจที่อุดรฯทั้งจังหวัดมี 700 นายเศษ แต่ขณะนั้นก็เพิ่งส่ง 1 กองร้อยมาผลัดที่สน.ลุมพินี ทำให้เหลือกำลัง 3 กองร้อยประมาณ 500 นาย จึงเอาไม่อยู่ ประกอบกับพื้นที่กว้าง เมื่อคนเฮโลเข้ามาจึงทำอะไรไม่ได้ และตอนนั้นยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จังหวัด ทำให้ตำรวจทำอะไรรุนแรงไม่ได้ เครื่องมือสำหรับดำเนินการตามหลักสากล 7 ขั้นตอนในการสลายการชุมนุมก็ไม่มี มีแค่รถฉีดน้ำ และยังถูกสั่งห้ามใช้ปืนจนกว่าจะประกาศ พ.ร.ก. จึงไม่สามารถระงับเหตุได้

ด้าน พล.ต.ต.สมพงษ์ กล่าวว่า ที่อุบลราชธานี มีคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวมาโดยตลอด แต่พอมีการประกาศภาวะฉุกเฉินก็ไม่มีการชุมนุมจนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เริ่มมีการเคลื่อนไหว เช่น ปิดสะพานเชื่อมเขตอำเภอ เผายางหลายจุด แต่ผู้ว่าฯก็ให้นโยบายว่าให้เจรจา ตอนนี้มีแค่เผายางยังรับได้ แต่เมื่อข่าวออกไปที่ส่วนกลาง ภาพคงกลายเป็นว่า สถานการณ์เริ่มหนัก ส่วนกลางจึงประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อคืนวันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีหน่วยคุมฝูงชนอยู่ 2 กองร้อย ส่วนอีก 1 กองร้อยส่งมากทม. แต่เมื่อเห็น ส.ว.เป็นคนกลางเจรจากับแกนนำ นปช.และรัฐบาล ก็เห็นสัญญาณที่ดี และฝ่ายทหารยืนยันว่า ถ้าจะสลายชุมนุมจะแจ้งล่วงหน้ามาที่อุบลราชธานีก่อน 12 ชั่วโมง ซึ่งตนก็เห็นว่า พอเตรียมกำลังในพื้นที่ดูแลความเรียบร้อยได้ทัน เพราะระดมกำลังตำรวจทุกอำเภอมาที่ส่วนกลางของจังหวัดได้ภายใน 4 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่า เช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ก็เกิดเหตุ ฝ่ายปกครองทุกคนตกใจ จึงเอาตำรวจไปเตรียมในศาลางกลางจังหวัด 300 นาย แต่เมื่อตอนเที่ยง มีข่าวออกมาว่า แกนนำ นปช.ที่ กทม.จะมอบตัว ที่อุบลฯก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และชะลอการไปปิดวิทยุชุมชนตามที่ส่วนกลางสั่งการมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม แม้เช้าวันที่ 19 พฤษภาคม จะได้หมายค้นแล้วก็ตาม เพราะผู้ว่าฯ เห็นว่า ไม่ควรสร้างประเด็นให้ประชาชนโกรธเคืองเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี สุดท้ายเวลาประมาณ 13.00 น. ก็มีการเผาศาลากลาง

พล.ต.ต.สมพงษ์ กล่าวว่า เมื่อมีการเผา ตำรวจมีเพียงโล่และหมวก และก็มีไม่ครบคน  แต่ละคนก็อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ชุมนุมมีหนังสติ๊กยิงหิน หัวน็อต ตำรวจจึงถูกผลักดันให้ล่าถอยไปข้างหลังศาลากลางแทน ส่วนพนักงานดับเพลิงก็ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ เพราะเข้ามาฉีดน้ำก็เจอหนังสติ๊ก และรถดับเพลิงก็โดนกักและเผา การจะให้ทำตาม 7 ขั้นตอนสากลในการสลายการชุมนุม ความเป็นจริงคงทำยากมาก เพราะคนเฮโลเข้ามา และตำรวจที่นี่ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับมวลชนเลย

"ด้านหนึ่งถามว่า ถ้าตำรวจใช้ความรุนแรงแล้วสุดท้ายมีความผิด คนสั่งการระดับที่สูงกว่าก็จะบอกว่า ให้แนวทางชัดเจนในการใช้อาวุธไปแล้วว่าให้ยิงต่ำกว่าเข่า ระยะไม่เกิน 35 เมตร ถามว่า ตอนเกิดเหตุจริงไม่มีใครทำได้แน่ และตำรวจที่นี่ก็ไม่เคยฝึกแบบนี้มา แต่พอตำรวจไม่ดำเนินการ ส่วนกลางก็มองว่า เราเป็นตำรวจมะเขือเทศ ซึ่งความเป็นจริงเราไม่มีสี แต่เราต้องทำงานกับประชาชนในพื้นที่ มันก็เลยรู้จักกันดีแล้วจะให้ทำอย่างไร และเขาก็ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่เหมือนทหารที่ส่งเข้ามา ทำเสร็จแล้วก็กลับกรมกองไม่ต้องสัมผัสประชาชนอีก ถามว่า ถ้าย้อนหลังได้ วันที่ 19 พฤษภาคม ถ้าผมสั่งยิงจริงๆ เพื่อป้องกันศาลากลางจังหวัด แล้วมีคนตาย ตำรวจก็กลายเป็นจำเลยอีก สรุปคือ เราลำบาก เพราะถูกคนที่มีอำนาจรังแกตลอด พอไม่ได้ดั่งใจเขาก็เล่นงานเรา ผมเสนอว่า เมื่อประชาชนมีสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ต่อไปก็ตั้งตำรวจปราบจลาจลมาเป็นหน่วยต่างหากไปเลย และไม่ต้องให้ทำงานแบบตำรวจปกติ ให้เขาฝึกรอเหตุการณ์ไป ไม่เช่นนั้น ใช้ตำรวจปกติ จะทำอะไรก็ยาก" พล.ต.ต.สมพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ส.ว.หลายคน อาทิ นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้สอบถามว่า ฝ่ายตำรวจมองว่า อนาคตนับจากนี้สถานการณ์ในจังหวัดจะเป็นอย่างไร ถ้าจะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำได้หรือไม่ และคนในพื้นที่ตอนนี้มั่นใจกรรมการอิสระ 4-5 ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นหรือไม่ และปัญหาที่ฝ่ายตำรวจว่ามา ผู้บริหาร สตช.ได้สรุปบทเรียนเพื่อแก้ไขแล้วหรือยัง ซึ่ง พล.ต.ต.เดชา กล่าวว่า การเลิก พ.ร.ก.หรือไม่ คงแนะนำไม่ได้ เพราะตำรวจเป็นฟันเฟืองของการบริหาร แต่จะมีหรือไม่มี พ.ร.ก. ที่อุดรฯก็บังคับใช้กฎหมายไปตามปกติ แต่การมี พ.ร.ก.แล้วจะสนธิกำลังเร็วกว่าหรือไม่นั้น อยู่ที่การสนับสนุนของหน่วยที่เกี่ยวข้องมากกว่า ส่วนเรื่องการปรองดอง ตนเปรียบเทียบว่า เหมือนรถโดนชน แม้จะซ่อมแล้วแต่ความรู้สึกในใจก็ยังมีอยู่ จึงขึ้นกับระยะเวลาและการแสดงออกของภาครัฐที่ต้องจริงใจ จริงจัง เสมอต้นเสมอปลาย แต่ถ้ารถไม่ชนเลยจะดีที่สุด

ส่วน พล.ต.ต.สมพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มจากนี้ต่อไป คนเสื้อแดงน่าจะมีการเคลื่อนไหว ตนได้ลงพื้นที่ตั้งแต่แรก ตอนแรกๆ ผู้ชุมนุมอาจมาด้วยสินจ้างบ้าง แต่พอมากันเรื่อยๆ คนก็อิน มาด้วยใจเพราะอยากฟังข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ทั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างเสนอข้อมูลด้านเดียว แต่รัฐบาลไม่สามารถเอาไปจูงใจคนในพื้นที่ได้ สรุปแล้วคือ ไม่มีใครดีกว่าใคร แต่จะไปโทษใครก็คงไม่ได้ ส่วน พ.ร.ก.จะให้ประกาศใช้อยู่หรือไม่นั้น ถึงจะมีหรือไม่มี การเคลื่อนไหวมีแน่ เพียงแต่ตอนนี้ที่นิ่งๆ อยู่ เพราะผู้ชุมนุมเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนชีวิตและจิตใจอย่างรุนแรง ส่วนกรรมการอิสระชุดต่างๆ เท่าที่ตนได้ไปสอบถามคนเสื้อแดงที่อุบลฯ คนที่นี่ไม่มั่นใจ ซึ่งถ้าเป็นตนเป็นคนตั้ง ตนจะไม่เลือกบุคคลที่เป็นเป้าหมายของคนเสื้อแดงเลย มีคนพูดกันว่า คนเก่งกว่าอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์หรือนิด้าก็มีเยอะ ทำไมไม่เอามา หรือบางคนก็ประชดว่า ถ้าตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ครบชุดเลย ส่วนกรรมการชุดนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯและนพ.ประเวศ วะสี คนที่นี่ไม่ได้พูดถึง ทั้งนี้ตนคิดว่า ฝ่ายรัฐปากบอกว่า ปรองดอง แต่อีกด้านไล่ล่า ถ้าตอนนี้ฝ่ายรัฐหยุดและทอดเวลาออกไปให้คนที่เห็นตรงข้ามมีที่ยืนบ้าง น่าจะดีขึ้น เพราะตอนนี้คนรู้สึกว่า แทบไม่มีที่ยืนบนแผ่นดินแล้ว

ด้านพล.ต.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า ที่มุกดาหาร การเลิก พ.ร.ก.หรือไม่เลิก พ.ร.ก.ไม่มีผล เพราะคนที่นี่ตัดสินใจตามแกนนำที่ กทม. ส่วนการสรุปบทเรียนของฝ่ายตำรวจ ทราบว่า ฝ่ายอำนวยการที่มี พล.ต.อ.อดุล แสงสิงแก้ว เป็นประธาน ได้สรุปบทเรียนของฝ่ายอำนวยการแล้ว แต่ฝ่ายปฏิบัติแบบที่พวกตนในพื้นที่ทำงาน ยังไม่มีการสรุป      

ขณะที่พล.ต.ต.ศักดา กล่าวว่า ที่ขอนแก่น จากการที่ตนไปสอบถาม ผู้ชุมนุมบอกว่า ไม่มีใครคิดล้มสถาบัน ซึ่งตนไปสังเกตการการชุมนุมพบว่า การปราศรัยก็ไม่มีการพาดพิงสถาบัน และเมื่อชุมนุมกันเสร็จเขาก็ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่เมื่อรัฐบาลโจมตีว่า ผู้ชุมนุมคิดล้มล้างสถาบัน เขาจึงรู้สึกว่าถูกปรักปรำ ตอนนี้ตนกลัวว่า การปิดช่องทางทุกช่อง เช่น วิทยุชุมชน จะทำให้มีการไหลลงใต้ดิน ซึ่งน่ากลัว ส่วนตอนนี้จะมี พ.ร.ก.หรือไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนคิดว่า ไม่แตกต่าง เพราะยังไงคนก็ชุมนุม ฉะนั้นถ้าให้คนเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเปิดเผย น่าจะดีกว่าเพราะจะได้รู้เขารู้เรา แต่ยิ่งไปจำกัดก็จะยิ่งรุนแรง ส่วนเรื่องการตั้งกรรมการอิสระเพื่อปรองดองและปฏิรูปประเทศ 4-5 ชุดนั้น คนเสื้อแดงที่นี่บอกว่า ไม่เชื่อมั่น และบอกว่า มีคนอื่นตั้งเยอะแยะทำไมไม่ตั้ง ทำไมตั้งคนที่ดูแล้วเป็นพวกของตนเอง ตนคิดว่า ตอนนี้ฝ่ายรัฐไม่ควรทำอะไรที่เป็นการผลักให้คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ควรเปิดเผยให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ผู้บังคับการทั้ง 4 คนชี้แจงเสร็จ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กรรมการ กล่าวว่า ส.ว.ที่ไปเจรจา พอจะรู้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมแล้วว่า รัฐบาลจะไม่ถอย แต่ส.ว.ก็หวังว่า จะชะลอได้บ้าง เปรียบเทียบว่า เวลาหมากัดกัน เราเอาน้ำไปสาด ก็พอชะลอได้ ส่วนตอนนี้ เมื่อคู่กรณีทะเลาะกัน แล้วฝ่ายหนึ่งก็เป็นคนตั้งกรรมการขึ้นมา ตนคิดว่า ต่อให้ตั้งเทวดา ก็แก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ได้  

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net