Skip to main content
sharethis

กระทรวงยุติธรรม ร่วมกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” พบการปฏิบัติละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขัง “นปช.”  แจงประเด็นผู้ถูกคุมตัวไม่มีทนายให้คำปรึกษา-ไม่สามารถติดต่อครอบครัว-เจ็บไม่ได้รับการรักษา 

 
หมายเหตุ - พ.อ.เฟื่องวิชช์ อนิรุธเทวา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ที่กระทรวงยุติธรรม กรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงผลการลงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องขังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้กระทำผิดตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ยังมีการปฏิบัติลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
--------------------
 
1.ประเด็นข่าว
หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้เสนอข่าวกรณี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงผลการลงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่มีการควบคุมตัวผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า ยังมีการปฏิบัติในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1.1 ผู้ถูกควบคุมตัว 28 ราย ไม่มีทนายความคอยให้คำแนะนำในการสู้คดี
1.2 บางรายไม่รู้ว่าถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
1.3 ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวที่อยู่ในต่างจังหวัดอะไร
1.4 ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล
 
2. ข้อเท็จจริง
2.1 ข้อมูลผู้ต้องขัง ปัจจุบันมีผู้ต้องขับกลุ่ม นปช.ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวนรวม 59 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค.53)
2.2 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และได้พบกับผู้ต้องขังกลุ่ม นปช.บางส่วน และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนปรากฏเป็นประเด็นข่าวตามข้อ 1
 
3. การชี้แจงประเด็นข่าว
 
ประเด็น 1.1 ผู้ถูกควบคุมตัว 28 ราย ไม่มีทนายความคอยให้คำแนะนำในการสู้คดี
กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการหรือแต่งตั้งทนายความให้แก่ผู้ต้องหา หรือผู้ถูกควบคุมตัวที่มีความผิดตามพระราชกฤษฎีกาบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือคดีอาญาใดๆ ได้ แต่หากผู้ต้องหาดังกล่าวได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ศาลต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีศาลต้องถามความต้องการ และถ้าจำเลยต้องการทนายความ ศาลจะต้องตั้งทนายความให้เสมอ (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรค 2)
 
นอกจากการตั้งทนายความให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวแล้ว กระทรวงยุติธรรมได้มีระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2549 ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนเงิน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น ผู้ต้องหาหรือทายาทสามารถขอสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว หรือในการจ้างทนายความว่าความในคดีอาญา รวมถึงการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนยุติธรรมได้อีกทางหนึ่ง
 
สำหรับกรณีนี้ จากการตรวจสอบทราบว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีทนายความ ชื่อ นายจีระศักดิ์ บุณณะ เลขหมายใบอนุญาตให้เป็นทนายความ 1672/2529 ได้มาติดต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครพร้อมหนังสือลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ขอคัดรายชื่อผู้ต้องขับในคดีดังกล่าวทั้งหมดที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานครและเรือนจำกลางคลองเปรม โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการติดตามสอบข้อเท็จจริง และลงนามในใบแต่งทนายความ ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการให้ตามความประสงค์แล้วส่วนจะไปเป็นทนายความให้กับทุกคนหรือไม่นั้น กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบ
 
ประเด็น 1.2 บางรายไม่รู้ว่าถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
การถูกจับกุมตัวผู้ต้องหาในการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าพนักงานผู้จับกุม จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับกุมทราบในโอกาสแรก พร้อมทั้งจะต้องแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุมให้ทราบด้วย ซึ่งเป็นเป็นไปตามมาตรา 7/1 และมาตรา 83 ประกอบกับมาตรา 2 (16) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหาแล้ว จะเป็นสิทธิของผู้ถูกจับกุมจะรับหรือปฏิเสธ และสามารถแต่งตั้งทนายความ หรือผู้ที่ตนเองไว้วางใจ เข้าร่วมรับฟังการสอบสวนได้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนก็จะให้ผู้ถูกจับกุม ลงลายมือชื่อรับทราบตามข้อกล่าวหาตามที่พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อกล่าวหาไว้ ซึ่งในการนี้ ผู้ถูกจับกุมสามารถคัดค้านการจับกุมหากเห็นว่าตนถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
กรณีนี้ แม้ว่าตอนที่ผู้ต้องขังจะถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนปกติของ ป.วิฯ อาญา เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มิได้กำหนดไว้ก็ตาม แต่เมื่อมีการส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนนำตัวไปฟ้องและฝากขังต่อศาลพนักงานสอบสวนก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิฯ อาญา ซึ่งจะต้องมีการแจ้งข้อหาให้ผู้ถูกจับกุมทราบ ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อ้างถึง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องขังดังกล่าว จะอ้างว่าไม่ทราบข้อกล่าวหาว่าตนกระทำความผิดอะไร
 
ประเด็น 1.3 ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวที่อยู่ในต่างจังหวัดได้
กรมราชทัณฑ์ไม่เคยปิดกั้นไม่ให้ผู้ถูกควบคุมหรือผู้ต้องขังติดต่อกับญาติแต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องดังกล่าวกรมราชทัณฑ์ได้มี ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2547 ได้กำหนดไว้ให้ ผู้ถูกควบคุมสามารถติดต่อกับญาติได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 มาตรา 7 มาตรา 33 และมาตรา 45 ประกอบกับมาตรา 7/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้กำหนดให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมสามารถให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และมีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
 
สำหรับกรณีนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ต้องขังกลุ่ม นปช.ได้มีการติดต่อทางจดหมายหรือทางครอบครัว ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการให้ตามระเบียบดังปรากฏตามบัญชีข้อมูลจดหมายที่ผู้ต้องขังติดต่อญาติจำนวน 7 รายที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้จัดทำไว้
 
ประเด็น 1.4 ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล
การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังที่มีสิทธิที่จะได้รับ โดยทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะมีสถานพยาบาลในเรือนจำ และมีแพทย์จากภายนอกเข้ามาทำการตรวจรักษาในช่วงเช้าทุกวัน ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้ต้องขังขอรับการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ประมาณวันละ 40 คน ผู้ต้องขังในเรือนจำที่ป่วยสามารถแจ้งความประสงค์ไปสถานพยาบาลได้โดยตรง โดยการนำบัตรประจำตัวใส่ลงในกล่องที่ทางแดนจัดไว้ให้ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 มาตรา 29 และมาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 (4) ก็ได้กำหนดให้สิทธิผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
 
สำหรับในกรณีของผู้ต้องขังกลุ่ม นปช.นั้น จากข้อมูลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีผู้ต้องขังจำนวน 24 คน ที่มาติดต่อขอรับการรักษาพยาบาล ดังปรากฏเอกสารหลักฐานตามสำเนาบัตรประจำตัวผู้ป่วยของผู้ต้องขัง (Opd card) ที่แนบมาพร้อมนี้
 
 
24 ผู้ต้องขัง "นปช." ขอรักษาพยาบาล

1. เอกชัย มูลเกษ เลขหมาย 1009/53 แดน 2 
2. ณัทกร ชยธรดำรงสุข แดน 4 
3. บัณฑิต สิทธิทุม เลขหมาย 1653/53 แดน 4 
4. ศุภณัฐ หุลเวช เลขหมาย 1654/53 แดน 6 
5. ธเนตร อนันตวงษ์ เลขหมาย 1871/53 แดน 2 
6. สมพล แวงประเสริฐ เลขหมาย 1887/53 แดน 4
7. โกวิทย์ แย้มประเสริฐ เลขหมาย 1945/53 แดน 5 
8. ประพฤทธิ์ พิพิธารมย์ เลขหมาย 2038/53 แดน2 
9. เพชร แสงมณี เลขหมาย 2039/53 แดน 4
10.ธาดา เปี่ยมฤทัย เลขหมาย 2044/53 แดน 4 
11.นคร สังสุวรรณ์ เลขหมาย 2045/53 แดน 5 
12.แก่น คำโคตร เลขหมาย 2046/53 แดน 5 
13.วีระยุทธ สุภาพ เลขหมาย 2048/53 แดน 5 
14.วิชัย แสงแพง เลขหมาย 2050/53 แดน 6 
15.ธนพงษ์ บุตรดี เลขหมาย 2187/53 แดน 8 
16.นพรัตน์ ศรีเข้ม เลขหมาย 2212/53 แดน 4 
17.เพอร์เซลล์ คอนเนอร์ เลขหมาย 2204/53 แดน 8 
18.ซาเวจ เจฟฟีย์ ฮัก เลขหมาย 2203/53 แดน 8 
19.ซยุต ไหลเจริญ เลขหมาย 2243/53 แดน 8 
20.สายชล แพบัว เลขหมาย 2447/53 แดน 4 
21.วีระ มุสิกพงศ์ เลขหมาย 2524/53 แดน 4
22.เฉลิมพงษ์ กลิ่นจำปา เลขหมาย 2575/53 แดน 4 
23.เดชพล พุทธจง เลขหมาย 2747/53 แดน 5 
24.จักรกริช จอมทอง เลขหมาย 1183/53 แดน
 

 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net