Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีเดินสายพบสื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูปสื่อ ย้ำไม่ก้าวก่ายแทรกแซงการทำ หน้าที่ของสื่อ ขณะที่ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น รัฐบาลยึดถือในเรื่องของสนธิสัญญาคือการกำหนดว่าสันปันน้ำคือเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

วันนี้ (18 ก.ค.) เวลา 09.00 น.  ณ  สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 77 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้ 
ช่วงที่ 1

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ  กลับมาพบกันทุกเช้าวันอาทิตย์นะครับ รายการในวันนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงนะครับ ช่วงแรกนั้นจะเป็นการรายงานการทำงานของรัฐบาลในชช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตามปกติ  สำหรับช่วงที่ 2 นั้นจะมีการสัมภาษณ์โดยพิธีกรรับเชิญ ในวันนี้จะไปคุยกันโดยเฉพาะก็คือเรื่องการแก้ไขปัญหาไข่ โดยเฉพาะอย่างเมื่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นการที่จะปรับระบบในเรื่องของการทำธุรกิจในเรื่องของไข่อีกครั้งหนึ่งก็คือแสดงออกชัดเจนถึงการที่จะกลับไปสู่ระบบที่มีความเป็นเสรีมากขึ้น หลังจากที่เราพบปัญหาว่าเมื่อมีความพยายามในการที่จะจำกัดปริมาณตั้งแต่แม่ไก่ คือแม่พันธุ์แล้ว ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อราคาไข่ในปัจจุบัน และในช่วงสุดท้ายครับก็เป็นการไปเก็บบรรยากาศของการประชุมของสภาเด็กและเยาวชนที่เป็นการจัดสมัชชา  ซึ่งจะมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปด้วย และก่อนที่จะจบรายการนั้นจะมีสกู๊ปต่อเนื่องจากที่เราได้ชมกันมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือจากการที่เราไปติดตามผู้ที่ได้แสดงความคิดเห็นเข้ามาในโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด ซึ่งก็มีความคิดดี ๆ จากพี่น้องประชาชนที่อยากจะมีเสียงในการที่จะช่วยกำหนดทิศทางของการปฏิรูปต่อไป

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อสารมวลชนในการปฏิรูปสื่อ

สำหรับช่วงแรกนั้นก็อยากจะคุยถึงงานทางด้านการปฏิรูป 2 เรื่องที่อาจจะยังไม่ได้มีการพูดหรืออธิบายในรายละเอียดมากนัก เรื่องแรกก็คือเรื่องของสื่อสารมวลชน การทำงานในเรื่องของการปฏิรูปสื่อคงจะแตกต่างจากงานทางด้านอื่น ๆเพราะว่าคงจะไม่มีคณะกรรมการซึ่งทำขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากว่าคงไม่ค่อยเหมาะสมที่จะดำเนินการในรูปแบบอย่างนั้น เพราะโดยหลักแล้วเรื่องของสื่อสารมวลชน สิ่งที่เราต้องการทำก็คือทำอย่างไรที่จะให้สื่อสารมวลชนนั้นมีเสรีมาก และการใช้เสรีนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการกำกับดูแลจุดยืนของรัฐบาลก็คือต้องการที่จะให้สื่อสามารถทำหน้าที่ในการกำกับดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด  ที่ผ่านมานั้นองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ก็ได้มีการจัดประชุมสัมมนา และในขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐก็มีท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี องอาจ คล้ามไพบูลย์  พร้อม ๆ กับทางคณบดีคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งช่วยทำงานในด้านการประสานงานด้วย  

ก่อนหน้านี้มีความห่วงใยครับว่าการปฏิรูปสื่อจะเป็นความพยายามของรัฐบาลในการที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือไปก้าวก่ายการทำงานของสื่อหรือไม่ เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจนะครับ  ผมเลยได้ไปพบปะกับบรรดาสื่อสารมวลชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปพบกับค่ายสื่อ 2 ค่ายใหญ่ และจะพยายามพบปะกับกลุ่มอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายต่อไป  ได้มีการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นกัน  ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และได้ประโยชน์อย่างมาก มีงานหลายเรื่องซึ่งเป็นงานซึ่งทำงานด้วยกันมาก่อนหน้านี้ ก็คือการพยายามที่จะผลักดันในเรื่องของกฎหมายการคุ้มครองวิชาชีพสื่อก็ดี หรือการที่จะเร่งรัดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมากำหนดแนวทางในการกำกับดูแลกิจการในเรื่องของวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และก็มีองค์กรกำกับที่เป็นอิสระ ซึ่งก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  แต่ว่าที่ได้พูดคุยกันเพิ่มเติมครับก็คือมองว่าทางรัฐบาลนั้นควรจะได้มีการช่วยส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มความเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพ  สื่อขณะนี้ก็มีหลายประเภทหลายแขนงที่มีความเข้มแข็งมีความต่อเนื่องมาโดยตลอดก็คือหนังสือพิมพ์  

แต่ว่าสิ่งที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันก็มองค่อนข้างตรงกันว่ากรณีของวิทยุโทรทัศน์ กรณีของวิทยุกระจายนั้น ยังมีปัญหาอยู่ว่าองค์กรที่มาทำงานดูแลกันเองในส่วนของสื่อในสาขาเหล่านี้ อาจจะยังไม่ได้มีประสบการณ์ยาวนาน และต้องทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะรวดเร็วมาก ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง  ขณะเดียวกันครับอีกจุดหนึ่งซึ่งจะมาช่วยงานทางด้านของการปฏิรูปสื่อได้ก็คือองค์กรของภาคประชาชนที่เข้ามาติดตามในเรื่องของการทำงานของสื่อ ปัจจุบันก็มีนะครับได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่ยังค่อนข้างอยู่ในระดับที่จำกัด ก็จะมีองค์กรที่มาติดตามเฝ้าระวังประเมินเรื่องของพื้นที่สื่อ เช่นว่าการนำเสนอข่าวนั้นให้พื้นที่อย่างเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงเรื่องของการที่จะดูความเหมาะสมของรายการต่าง ๆ ซึ่งสามารถที่จะร้องเรียนไปได้  เป็นลักษณะของการคุ้มครองผู้บริโภคไปในตัวด้วย แต่ว่าที่เห็นตรงกันนะครับจากการไปแลกเปลี่ยนกับสื่อก็คือว่าตรงนี้น่าจะเพิ่มความเข้มแข็งขึ้น แน่นอนรัฐบาลคงไม่เข้าไปทำหน้าที่เสียเอง แต่คงต้องอาศัยกลไกอย่างเช่น สสส. หรือว่าหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งมีความเป็นอิสระ มีระยะห่างพอสมควร ที่จะเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมองค์กรที่มาทำงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น และคงจะต้องประสานใกล้ชิดมากขึ้นกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อไป 

อย่างไรก็ตามครับยังมีบางสื่อซึ่งยังจะต้องมีการหาแนวทางในการที่จะทำงานให้มีความพอดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของสื่ออินเตอร์เน็ต  ซึ่งบางครั้งจะมีเสียงร้องเรียนเข้ามาถึงเรื่องของการใช้พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่าบางครั้งการเข้าไปดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ดูจะหนักเกินไป นั่นคือว่ายกตัวอย่างเช่น เวลามีเว็บไซต์ซึ่งมีปัญหาจากการแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานสนทนา แต่ว่าสุดท้ายมีการเข้าไปดำเนินการกับเว็บทั้งหมด ซึ่งอย่างนี้ก็คงจะต้องมาหาแนวทางและความพอดี ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะต้องไปเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อที่จะให้สื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำงานในการตรวจสอบได้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงอาจจะต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทก็ดี หรือความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย

ในส่วนของสื่อของรัฐเองก็ต้องมีการดำเนินการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงปฏิรูปเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ท่านรัฐมนตรีกำลังดำเนินการที่จะให้มีการเปิดพื้นที่ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของช่อง 11 เองก็จะมีการผลักดันให้มีรายการที่มีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน สามารถที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อที่จะเป็นเวทีที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผมก็อยากจะขอยืนยันว่างานทางด้านการปฏิรูปสื่อก็จะยึดเจตนารมณ์นี้ และแนวทางการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ก็ยึดในเจตนารมณ์นี้เช่นเดียวกัน  ผมจะให้ความสำคัญกับการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งองค์กรกลไกของสภา และองค์กรอิสระ อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้กระทั่งในเรื่องของไข่ ทางคณะกรรมาธิการการเกษตรของสภาผู้แทนราษฎร ก็มาพบกับผม ก็ได้ทำงานทำการบ้านมาอย่างดี และก็มีข้อเสนอแนะ ซึ่งในที่สุดก็ปรากฏว่าสอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรี การทำงานในลักษณะนี้ที่เราให้ความสำคัญกับตัวแทนของประชาชนทั้งในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในกรรมาธิการ  จะเป็นแนวทางที่จะทำให้ระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยของเรามีความเข้มแข็งขึ้น พร้อม ๆ กันไปนะครับก็จะมีกลไกขององค์กรอื่น ๆ เช่น สภาที่ปรึกษา หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจะมีข้อเสนอแนะหรือมีข้อสังเกตที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งในบางเรื่องนั้นจะได้มีการพูดคุยในรายการนี้ในช่วงนี้ แต่เป็นในช่วงท้าย  

แต่ว่าอีกด้านหนึ่งที่เป็นงานทางด้านการปฏิรูปซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวคืบหน้าไป ก็คือในเรื่องของตำรวจ  คณะกรรมการซึ่งจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้จะได้หยิบเอางานซึ่งเคยมีการนำเสนอตั้งแต่สมัยรัฐบาลของท่านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ว่าไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้น ขณะนั้นก็มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจค่อนข้างกว้างขวาง  แต่ว่าผมได้คุยกับท่านประธานคือท่านพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร  ท่านก็ยอมรับว่าคงมีความจำเป็นที่จะต้องมาปรับปรุงและจัดลำดับความสำคัญในข้อเสนอแนะ ซึ่งเคยได้มีการดำเนินการมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้สามารถปฏิบัติได้จริงค่อนข้างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

กต.ตร.เป็นกลไกที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานกับตำรวจได้

เมื่อวานนี้เองผมได้มีโอกาสเรียกประชุมเชิญคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ  (กต.ตร.) ทั่วประเทศมาประชุม พี่น้องประชาชนหลายคนอาจจะไม่ทราบว่า กต.ตร.คืออะไร กต.ตร.นั้นเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เรามีการเปลี่ยนกรมตำรวจมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความคาดหวังก็คือว่าเราจะมีกลไกที่เรียกว่า กต.ตร. คือคณะกรรมการที่ตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของทางตำรวจ ซึ่งจะมีตั้งแต่ในระดับของกรุงเทพมหานคร ในระดับจังหวัด และมีทุกสถานีตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นนครบาล หรือภูธร องค์ประกอบของคณะกรรมการนี้จะมีทั้งในส่วนของตำรวจด้วยกันเอง และในสถานีตำรวจมีตำรวจชั้นประทวนด้วย แล้วจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชน เราหวังเป็นอย่างยิ่งครับว่ากลไกนี้จะสามารถทำให้ประชาชนเข้ามามีความใกล้ชิด และมีส่วนร่วมกับงานของตำรวจมากยิ่งขึ้น ผมอยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนนะครับ ใครที่ยังไม่ทราบว่ามีกลไกนี้อยู่น่าจะได้พยายามที่จะมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อที่จะให้คณะกรรมการเหล่านี้สามารถติดตามการทำงานของตำรวจได้ ปัญหาที่เป็นปัญหาในชุมชนของท่าน เช่น ปัญหาอบายมุข ปัญหาการจราจร อย่างในกรณีของกรุงเทพมหานคร หรือความต้องการที่จะเห็นการทำงานในเชิงรุกของตำรวจ  ผมคิดว่าไม่มีใครดีไปกว่าพี่น้องประชาชนเองที่จะให้ข้อมูล และกต.ตร. จะเป็นช่องทางสำคัญในการที่พี่น้องประชาชนจะมีส่วนร่วมกับตำรวจได้  อันนี้ก็เป็นความคืบหน้าอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานการปฏิรูป ซึ่งผมก็หวังว่าจะมีการเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน 

สำนักงานสถิติฯ สำรวจความคิดเห็นประชาชน

ในสัปดาห์หน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เราได้ไปทำพร้อม ๆ กับโครงการอื่น ๆ ในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้อง  ก็ได้สรุปมาแล้วซึ่งได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของความต้องการของประชาชน มีการให้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม  สิ่งแวดล้อม และปัญหาอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีการดำเนินการไปให้กับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่  จะได้ดำเนินการงานทางด้านนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป  

รัฐบาลไทยยึดสันปันน้ำคือเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะถือโอกาสรายงานพี่น้องประชาชนในสัปดาห์นี้ก็คือ ข้อห่วงใยของพี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา สัปดาห์ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พร้อมทั้งสภาที่ปรึกษาฯ และองค์กรอื่น ๆ ได้มาให้ข้อคิดเห็นและสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวทางของรัฐบาลในการดำเนินการในเรื่องนี้  ก็ขอเรียนยืนยันจุดยืนที่ชัดเจนนะครับว่ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันและผมนั้น ยึดถือในเรื่องของสนธิสัญญาก็คือการกำหนดว่าสันปันน้ำคือเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ยกเว้นกรณีของตัวปราสาทพระวิหารซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลโลกไปแล้ว และรัฐบาลไทยก็เคารพตามคำวินิจฉัยของศาลโลกนั้น แม้จะมีการแถลงสงวนสิทธิ์ไว้ อยากจะขอเรียนครับว่าที่ห่วงใยกันมากว่ามีการจะไปยอมรับในเรื่องของแผนที่ ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทางกัมพูชาใช้ในการฟ้องร้องในคดีนั้นมากำหนดเส้นเขตแดน 

ขอยืนยันนะครับว่าทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีการยอมรับแผนที่ แต่การดำเนินการในการที่จะกำหนดหลักเขตแดนซึ่งเรามีข้อตกลงเมื่อปี 2543 เพื่อที่จะได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการปะทะหรือการสู้รบกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้ยึดสันปันน้ำอย่างชัดเจนเป็นแนวทาง ส่วนการจะทำแผนที่ แผน ที่ใดจะใช้ได้หรือไม่ ก็ต้องมาทาบดูกับพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริง  ซึ่งฝ่ายไทยเรามั่นใจนะครับว่าเมื่อกำหนดจากแนวสันปันน้ำแล้ว ความเข้าใจของเราน่าจะถูกต้องว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และจะไม่ต้องมีข้อ วิตกกังวลว่าจะนำไปสู่การสูญเสียดินแดน ขณะเดียวกันพื้นที่ซึ่งมีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ เราก็เป็นของเรา เขาก็เป็นของเขา สภาพในพื้นที่นั้นก็ต้องบอกครับว่ามีทั้งสองฝ่ายปะปนกันอยู่  แต่ด้วยข้อตกลงปี 2543 ทำให้ไปกระทบกระเทือนกับเรื่องของสิทธิ แล้วขณะเดียวกันการดำเนินการในเรื่องนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการของสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญของไทย  เพราะฉะนั้นผมอยากจะเรียนว่าเวลาที่มีการรุกล้ำหรือมีการเข้ามาของ ประชาชนฝ่ายกัมพูชานั้น ทางกระทรวง การต่างประเทศจะใช้วิธีการในการทำหนังสือประท้วง และในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็จะพยายามมีวิธีการในการที่จะแสดงสิทธิเหนือพื้นที่ตรงนั้น เพื่อบ่งบอกว่าเรามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งก็เป็นแนวทางซึ่งทำกันมา แล้วก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกับทางกัมพูชาในบางช่วง แต่ว่าโดยรวมแล้วทั้งสองฝ่ายก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะมีการปะทะกัน แล้วจะใช้กระบวนการตามที่ผมได้เล่าให้ฟังนะครับ คือตามข้อตกลงเมื่อปี 2543 ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาของเรา 

ผมก็ขอเรียนครับว่าการที่ยังไม่มีข้อยุติตรงนี้ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งเราจะใช้ในการที่กัมพูชากำลังเดินหน้าในการที่จะบริหารพื้นที่ในการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกในเรื่องของปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะมีการประชุมที่บราซิลในช่วงปลายเดือนนี้  ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุวิทย์ คุณกิตติ ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะในการที่จะไปประชุมและแสดงจุดยืนที่ชัดเจน และได้ทำงานมาต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว มีการรายงานให้ผมทราบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้เราได้โน้มน้าวหลายประเทศว่าตราบเท่าที่ปัญหาเรื่องของการจัดทำหลักเขตแดนตามข้อตกลงต่าง ๆ ยังไม่ยุตินั้น ก็ไม่น่าที่จะสมควรที่จะอนุมัติในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ในส่วนของปราสาทพระวิหารให้กับทางฝ่ายกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่ากัมพูชานั้นได้ยื่นแผนหรือเอกสารได้ครบถ้วน ในการที่จะดำเนินการบริหารพื้นที่ตรงนั้นเป็นลักษณะของมรดกโลก  

สิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือว่าแน่นอนนะครับเรื่องนี้มีมุมมองข้อคิดเห็นในทางกฎหมายที่อาจจะแตกต่างกัน แต่ ขอยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็นแล้วจะเชิญทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหา แต่ว่าท่านสบายใจและมั่นใจได้ครับว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรในการที่จะไปทำให้ประเทศไทยนั้นเสียประโยชน์หรือว่าถึงขั้นกับเสียดินแดนโดยเด็ดขาด การทำงานนั้นยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และจะทำทุกวิถีทางด้วยความเข้มแข็ง  แต่ขณะเดียวกันก็จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงและกระทบกระทั่งในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันนี้ก็คือสิ่งที่อยากจะถือโอกาสรายงานพี่น้องประชาชนในสัปดาห์นี้นะครับ พักกันสักครู่นะครับ เดี๋ยวไปดูการสัมภาษณ์โดยพิธีกรรับเชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาไข่ และในช่วงท้ายของรายการจะมีบรรยากาศของการประชุมสมัชชาของเด็กและเยาวชน และต่อท้ายด้วยการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นมาในโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิดครับ

ช่วงที่ 2

พิธีกร สวัสดีครับ รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์วันนี้ ผม กฤษนะ ละไล มาทำหน้าที่เป็นพิธีกรรับเชิญ นะครับ ในวันนี้ ท่านนายกฯ ก็เดินทางมาถึงสถานที่นี้แล้วครับ สวัสดีครับท่านนายกฯ ครับ เบื้องหลังการถ่ายทำ นี่ก็กำลังฟังรายงานจากคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เราจะมาพูดคุยกันในวันนี้ด้วยส่วนหนึ่ง สวัสดีครับท่านนายกฯ ครับ

นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ

พิธีกร วันนี้มาลุยฟาร์มไก่นะครับ

นายกรัฐมนตรี ตอนนี้ได้ยินแต่เสียงอยู่ ยังไม่ได้เข้าไปดู

พิธีกร ผมมาตอนแรกนึกว่าประมาณตี 4 ตี 5 เห็นไก่ขัน ท่านนายกฯ เคยมาฟาร์มไก่บ้างไหมครับก่อนหน้านี้

นายกรัฐมนตรี ผมยังไม่เคยมาที่เกษตร ที่นี่นะครับ ตอนนั้นไปก็ไปเยี่ยมที่กำแพงแสนด้วย แต่ก็ไม่ได้มาดูเรื่องไก่ แต่มาคราวนี้ไม่ดูไม่ได้ เรื่องไข่

พิธีกร ท่านนายกฯ ข่าวน่าหวาดเสียว บอกไข่มาร์คแพงมาก

นายกรัฐมนตรี มันก็เป็นความแปลกอย่างหนึ่งครับว่า รู้สึกว่าประเทศเรานี้จะวัดราคาสินค้าที่ไข่เป็นหลัก และไข่ก็จะผูกติดอยู่กับชื่อนายกฯ เป็นอย่างนี้มาตลอด

พิธีกร และราคาไข่นี้จะว่าไปแล้วก็เป็นตัวพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลด้วยนะครับท่านนายกฯ ว่าจะมีกึ๋นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขนาดไหน

นายกรัฐมนตรี ที่จริงก็เป็นเรื่องแปลกนะครับอย่างที่ผมบอกว่าทุกอย่างวัดกันที่ไข่ และไข่ก็มาอยู่กับนายกฯ นี้นะครับ ก็เป็นปัญหาซึ่งเราก็ย้อนกลับไปดูนี้ ช่วงหลังนี้เริ่มจากตอนไข้หวัดนก ไข้หวัดนกก็ถือว่ามีผลกระทบกระเทือนรุนแรงมากต่ออุตสาหกรรมทั้งหมด เพราะว่าตอนแรกก็มีความตื่นตระหนก ก็คงจำกันได้ พอหลังจากนั้นมานี้ก็ต้องมีการจัดระบบในเรื่องของการทำ ก็เป็นความ พยายามในขณะนั้นว่าคงจะต้องหาทางที่จะมีกลไกพิเศษขึ้นมาบริหารในเรื่องนี้ แล้วก็จริง ๆ เท่าที่ผมสอบถามกลับไป ตอนนั้นประมาณปี เริ่มตั้งแต่ปี 45 - 46 - 47 อะไรแถวนั้นมานี้ มาจนถึงกระทั่งออกระเบียบมาประมาณปี 49 ความคิดของเขาจริง ๆ แล้วอยากจะให้มันเป็นเรื่องของเอกชน เพื่อที่จะมาควบคุมในเรื่องของปริมาณอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด แต่ว่ามันก็คงทำกันยาก เขาก็เลยต้องอาศัยภาครัฐเข้าไปด้วย เป็นระเบียบสำนักนายกฯ มา แล้วก็เลยมีคณะกรรมการที่เขาเรียกเอ้กบอร์ด ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิ และก็จะมีการประสานงานกับเอกชนผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษา ทีนี้ก็พยายามทำให้มันเกิดเสถียรภาพ ทำมาอย่างนั้น แต่ว่าปรากฏว่าก็มีการร้องเรียนและก็มีเสียงบ่นกันมา สุดท้ายเหมือนกับเป็นการจำกัดโอกาส ซึ่งก็เข้าใจได้นะครับว่า

พิธีกร ขออภัยครับ ตอนนี้ฝนเริ่มตก เข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการ อยู่นี่เปียกแน่ เดี๋ยวเข้าไปชมในฟาร์มไก่ วันนี้นายกฯ อภิสิทธิ์จะพาไปดูชีวิตวงจรชีวิตไก่ไข่ ทำไมราคาแพง ว่าวันนี้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์คุณทีเดียวฝนตกเลย

พิธีกร วันนี้เรามาสัมภาษณ์นายกฯ กลางสายฝนเลย ท่านนายกฯ ครับเดี๋ยวสักครู่ครับ ขออภัยครับเขาต้องมีการฆ่าเชื้อ ก่อนจะเข้าไปสู่ฟาร์มไก่ไข่ที่นี่นะครับ ครบขั้นตอนนะครับเดี๋ยวจะเข้าไปข้างใน วันนี้เป็นรถเข็นผมเลย นายกฯ ช่วยยกด้วย ราคาขึ้นนะคันนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ครับ เข้ามาในฟาร์มไก่ เสียงมันเจี๊ยวจ๊าวเลย มันดีใจนายกฯ มาเยี่ยม

นายกรัฐมนตรี ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใช่หรือเปล่า แต่ว่าเมื่อกี้ที่เล่าอยู่ก็คือว่า พอหลังจากนั้นมา หนึ่ง ก็มีการเลี้ยงระบบปิดมากขึ้น แล้วเขาก็พยายามที่จะจำกัดในเรื่องของปริมาณไข่ที่ออกมาสู่ตลาด ทีนี้เขาก็มีการตั้งเป้ากันว่าปีหนึ่งนี้มีการนำเข้าแม่พันธุ์ไก่กี่ตัว เพื่อที่จะคุมตั้งแต่เรื่องราคาลูกไก่อะไรต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งความจริงต้องบอกว่าแม้กระทั่ง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ราคาไข่ก็ยังมีขึ้นและมีลงด้วย เพราะว่าตอนที่ผมเข้ามาตอนแรก ๆ ก็ยังมีช่วงหนึ่งที่บอกว่าไข่ถูก ต้องมารณรงค์กันให้กินไข่

พิธีกร ผมจำได้ปลายปีที่แล้วก็ยังถูกอยู่เลย ต้นปีก็ยังถูก

นายกรัฐมนตรี ถูกต้อง

พิธีกร มาตอนนี้มันแพงเอา ๆ

นายกรัฐมนตรี แต่ว่าตอนนี้ที่เราเห็นก็คือว่า พอมองย้อนกลับไปประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ที่บอกจะควบคุมเรื่องของปริมาณนี้ ปรากฏว่าเอาเข้าจริงไก่ที่เข้ามาก็น้อยกว่าที่กำหนดกันไว้

พิธีกร แม่พันธุ์ไก่ไข่

นายกรัฐมนตรี ใช่ และก็มีเกษตรกรที่มาร้องว่าพอเขาอยากเลี้ยงเขาก็ไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้นตอนหลังนี้ก็เลยไม่แปลกว่าของนี้มันขาด มันน้อย

พิธีกร พอน้อยก็...ปกติทั่วไป

นายกรัฐมนตรี ใช่ ๆ ทีนี้เราก็ต้องมาดูที่รัฐบาลพยายามทำไปแล้วตอนนี้ก็คือว่า หนึ่ง ทำอย่างไรจะให้มีไข่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ตอนนี้ 1. ก็ใช้วิธีว่าที่เคยส่งออกได้เยอะนี้บอกอย่าส่ง ซึ่งก็ลดลงมาโดยลำดับ

พิธีกร เอามากินในประเทศก่อน ให้ชาวบ้านบริโภค

นายกรัฐมนตรี เอามาขายในประเทศ 2. ไก่นี้เขามีอายุของเขา ที่เขาพอปรับได้ พอมันอายุมากเข้า ๆ มันก็ไข่น้อยลง ทีนี้บางช่วงนี้ตอนที่เขาพยายามจะกำกับปริมาณนี้ เขาก็กำหนดอายุมันสั้นหน่อย ตอนนี้เราก็บอก

พิธีกร ขยายเวลา

นายกรัฐมนตรี ขยายไปหน่อยเพื่อให้มีไข่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น

พิธีกร ท่านนายกฯ ครับ ตอนนี้ดูเหมือนว่ามันจะหายเครียดแล้ว เพราะก่อนหน้านี้มันหน้าร้อนจัด อากาศมันอุณหภูมิ 30 ปลาย ๆ 40 ต้น ๆ

นายกรัฐมนตรี ผมต้องบอกว่าเรื่องอากาศก็มีผลนะครับ แต่ว่าตัวหลักจริง ๆ ที่เราดูนี้ต้องเป็นเรื่องของโครงสร้างมากกว่า เพราะฉะนั้นพอเราทำเรื่องอายุไก่ พอทำเรื่องส่งออกเสร็จ กระทรวงพาณิชย์ก็มาช่วยอีก เพราะว่าไข่ก็ต้องบอกว่าตอนหลังนี้มันก็มีเหมือนกับการไปซื้อของตลาด ถ้าไปซื้อตลาดสดตอนนี้ก็ 3 บาทกว่า แต่ว่าถ้าเข้า Super คำนวณก็ออกมาแล้ว 5 บาท 6 บาท เพราะตัวการบรรจุหีบห่อ Pack นี้เป็นตัวที่ราคาสูงขึ้น

พิธีกร ตอนนี้ราคาหน้าฟาร์ม นายกฯ ครับ วันนี้เรามาฟาร์มไก่ ถ้าจะมาซื้อไข่ไก่ไปขาย

นายกรัฐมนตรี 2.80 บาท

พิธีกร มันก็ยังเท่าเดิมสิครับนายกฯ มันก็ยังแพงอยู่ดี

นายกรัฐมนตรี เราต้องพยายามสิครับ ตอนนี้ก็พยายามกันครับว่าพอเรายืดตัวนี้ออกไปนี้ และก็ที่สำคัญเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ ก็เลยตัดสินใจแล้วว่าถ้าปล่อยบริหารในโครงสร้างเดิม มันจะยาก เพราะว่าเวลาที่มีการไปตกลงอะไรกันนี้ เกิดมีการไปจำกัดปริมาณมากขึ้นนี้ ในที่สุดราคาก็จะแพงมาก เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องบอกว่าไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้ต้องกลับมาทำเสรีดีกว่า ถ้าจะมีการบริหารจัดการต้องไม่ใช่ในรูปแบบที่นำมาสู่ปัญหาแบบนี้ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เขาก็มาร้องเรียนกับผมว่าเขาไม่ค่อยมีโอกาส เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาจัดระบบใหม่ แต่ว่าเอาละช่วงนี้เราก็ถือว่าทำความเข้าใจชัดเจน กรมปศุสัตว์ หน่วยงานต่าง ๆ ว่า จะต้องมีการเปิดเสรี แต่ว่าในส่วนของโครงสร้างที่ว่าเอ้กบอร์ดนี้ เราก็เอาผู้เชี่ยวชาญจากที่นี่ ที่เกษตร ไปช่วยเราศึกษาหน่อย ให้เวลาไป 2 เดือน ตอนนี้ก็เหลือสักเดือนครึ่ง บอกหน่อยสิว่าวันข้างหน้าจะทำอย่างไร ว่าเราสามารถบริหารให้พอมีเสถียรภาพได้ แต่ไม่เป็นการกีดกันจนกระทั่งทำให้เกิดการณ์ภาวะอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ที่มันแพง

พิธีกร มีคนเขาบอกว่าราคาไข่ไก่นี้ วันละ 25 ล้านฟอง ถูกไหมครับ ที่มันไข่ออกมาให้คนไทยบริโภค บางส่วน จะทำให้มันราคาแพงมันก็ไม่ยาก ราคาถูกก็ไม่ยาก แต่ที่มันยากสุดนี้คือราคาพอดี นายกฯ ครับ

นายกรัฐมนตรี นั่นหละ

พิธีกร ราคาพอดีที่คนเลี้ยงก็โอเคพอใจ คนซื้อก็ไม่มันแพง

นายกรัฐมนตรี ผมคิดอย่างนี้นะ ผมดูคนซื้อก่อนนะครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วนี้โปรตีนที่ถูกที่สุดอยู่ที่นี่

พิธีกร นี่เลย จะ 3 บาท 5 บาท ก็สุดแท้แต่....

นายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งสมัยก่อนนี้มีช่วงหนึ่งหมอห้ามไม่ค่อยอยากให้คนอายุมาก ๆ หน่อยกินไข่ ตอนหลังนี้เขาไม่ค่อยว่าแล้ว ผมยังคิดว่าอันนี้สำหรับประชาชนส่วนใหญ่นี้ นี่คือโปรตีนในราคาที่เรียกว่าถูกที่สุด

พิธีกร จับต้องได้

นายกรัฐมนตรี และผมก็ไม่รู้นะ ผมไม่รู้ว่าคุณกฤษนะกับผมนี่ทานไข่ทุกวันเหมือนกัน

พิธีกร ระดับนายกฯ ทานไข่ทุกวันเลยหรือครับ

นายกรัฐมนตรี คืออะไรถ้ามีไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่อะไรมันก็เห็นแล้วอดไม่ได้ กินข้าวกะเพราก็มีไข่ดาวอีก

พิธีกร ทานทุกวันเลย

นายกรัฐมนตรี เกือบจะทุกวัน

พิธีกร ถ้ามีโอกาสเมนูไข่ ไม่มีพลาด

นายกรัฐมนตรี ใช่ ๆ

พิธีกร วันนี้ท่านนายกฯ พาผมมาดูฟาร์มไก่ที่นี่นะครับ เป็นอาหารที่อยู่กับคนไทยทุกระดับ ตั้งแต่ล่างสุดจนถึงบนนี้

นายกรัฐมนตรี อันนั้นอันที่หนึ่ง อันที่สอง เอาละ ถ้าเกิดการแข่งขันมันทำให้เกิดภาวะล้นตลาดจริง ๆ ผมว่ามันก็เป็นแรงจูงใจให้ทุกคนหาวิธีการในการปรับตัว อย่างเช่น อย่างตอนที่เรายืดอายุไก่ ตอนนั้นก็อาจจะให้มันยืนกรงสั้นลงก็ได้ และก็จริง ๆ คิดไกลไปถึงขั้นว่า ตอนที่เรามีปัญหาเรื่องนม เราก็ทำเรื่องนมโรงเรียน ตอนนี้ถ้าเราคิดว่าจริง ๆ เราก็อยากให้เด็กกินไข่ ก็อาจจะ

พิธีกร ไข่โรงเรียน

นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้คิดชื่ออย่างนั้น

พิธีกร ก็อาจจะมีในอนาคตใช่ไหมครับ

นายกรัฐมนตรี ครับ

พิธีกร นี่เยอะจริง ๆ นะครับ แต่ดูวงจรนี้ดูแล้วมันก็แออัดกันแบบนี้นะครับ กว่ามันจะไข่ให้เราได้กินกัน แล้วเห็นเขาบอกนี้ครับ นายกฯ พอดีเห็นอาหารไก่ นี่ละที่เขาบอกตัวการทำให้ไข่ไก่ราคาแพง

นายกรัฐมนตรี คือต้นทุนนี้นะครั ต้นทุนมันก็มีตั้งแต่เรื่องของตัวลูกไก่ แล้วก็เป็นอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ก็ไปขึ้นอยู่กับเรื่องราคาข้าวโพด ถั่วเหลืองอะไรต่าง ๆ เราก็พยายามไล่ดูนี้ ปรากฏว่าที่ขึ้นมากช่วงหลังคือลูกไก่ อาหารสัตว์มันก็มีสวนทางกันนะครับ ข้าวโพดกับถั่วเหลืองนี้สวนทางกันอยู่ แล้วต้นทุนที่ขึ้นไปมากจริง ๆ ตอนนี้เป็นเรื่องลูกไก่ ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าปัญหานี้มาจากต้นทางเลย ก็คือเรื่องของแม่พันธุ์ ลูกไก่ ไข่สาว ที่ตอนนี้ต้องมาแก้ไขปัญหา ทีนี้มันก็จะมีการร้องเรียนเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากคนทำธุรกิจจะมีตั้งแต่พวกที่ทำครบวงจร บริษัทใหญ่ ๆ เขามีทั้งอาหารสัตว์ มีทั้งแม่พันธุ์ มีทั้งอะไรต่าง ๆ และก็ทำธุรกิจไข่ไก่ แต่ว่ารายย่อยอาจจะไม่ได้ทำครบวงจร ก็มีเสียงร้องเรียนว่า อุตสาหกรรมที่มันมีการผูกขาด หรือว่ามีการค้าขายไม่เป็นธรรมนี้เราก็บอกอันนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องดูโครงสร้างด้วย เพราะว่าถ้าเกิดซื้อลูกไก่ พวกอาหารสัตว์อะไรทำนองนี้ครับก็มีการร้องเรียนกันอยู่

พิธีกร ราคาไข่ไก่ในวิสัยของท่านเป็นแบบไหนครับ

นายกรัฐมนตรี ตอนนี้เราก็คิดว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ราคาจะค่อย ๆ ปรับตัวลง แต่ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือว่า ที่กำลังปรับโครงสร้างครั้งนี้ก็จะทำให้ระยะยาวไม่เกิดปัญหาในลักษณะนี้อีก แต่ว่าที่แก้ต้นทางนี้ต้องเข้าใจนะครับ แม่พันธุ์ที่บอกจะเอาเข้ามานี้ กว่าจะมาสู่ไข่ฟองแรกนี้ ประมาณ 12 - 13 เดือน

พิธีกร ก็มีช่วงเวลาของเขา

นายกรัฐมนตรี ใช่ แต่ว่าอย่างน้อยที่เราเห็นคือการนำเข้าแม่พันธุ์ปีนี้ ยังค่อนข้างเป็นไปตาม อาจจะเกินเป้าที่กำหนดไว้ แต่ว่าที่ปีที่แล้วที่มันหายไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ อันนั้นคือที่มาของปัญหาในวันนี้

พิธีกร สรุปในยุคสมัยของท่าน ราคาไข่ไก่ควรอยู่ที่ฟองละ

นายกรัฐมนตรี ขยับลง ๆ

พิธีกร ต้องต่ำกว่า 2.80 บาท

นายกรัฐมนตรี ครับ

พิธีกร วันนี้ก็มาดูในฟาร์มไก่เลย เดี๋ยวเราไปชมกันข้างหน้าเลยครับนายกฯ เดี๋ยวผมต้องไปคุยกับท่านนายกฯ ตรงหน้าฟาร์มไก่เลย

นายกรัฐมนตรี ได้ ๆ

พิธีกร มีอีกหลายเรื่องเลยนายกฯ ครับ ตอนนี้ต้องถามนายกฯ ล่วงหน้าถึงเรื่องของเหตุการณ์ความรุนแรง และความปรองดอง Roadmap เพื่อชาติ เดี๋ยวไปคุยกันข้างหน้า

นายกรัฐมนตรี ไก่ไม่เกี่ยวงานนี้

พิธีกร ไก่ไม่เกี่ยวแล้วครับ ดูท่านนายกฯ เข็นแบบเชี่ยวชาญมาก ด้วยความคุ้นเคย เพราะว่าพี่สาวท่านก็นั่งวีลแชร์ คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของผลงานความสุขของกะทิ ออกมาหน้าฟาร์มไก่ครับท่านนายกฯ ยังมีกลิ่นตามมาหน่อย ๆ เลย มาเจอนายกฯ อภิสิทธิ์ทั้งทีต้องถามเรื่องการบ้านการเมืองด้วย นี่ก็ผ่านมาประมาณ 2 เดือนเต็มแล้ว จากเหตุการณ์เมษา พฤษภา โดยเฉพาะ 19 พฤษภา จะถามว่า 2 เดือนที่ผ่านมามันมีสัญญาณอะไรบ่งชี้ว่าบ้านเมืองเราเริ่มกลับฟื้นคืนสู่ความปกติแล้ว

นายกรัฐมนตรี คือถ้าพูดถึงภาพกว้าง ๆ นะครับ ผมว่าพี่น้องประชาชนก็คงสัมผัสได้ รู้สึกได้ว่า ความสงบเรียบร้อย ความเป็นปกตินี้กลับเข้ามามากขึ้น อาจจะมีข่าวคราวอยู่เป็นครั้งเป็นคราว เหตุการณ์หรือว่าผลที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ รัฐบาลก็พยายามที่จะเดินหน้าให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2 อาทิตย์ก่อนเราเลิก พ.ร.ก.ไปได้ 5 จังหวัดนะครับ ผมคาดว่าอาทิตย์นี้เลิกได้อีกบางจังหวัด ก็จะค่อย ๆ พยายามที่จะนำทุกอย่างกลับเข้าไปสู่กติกา ภาวะที่เป็นปกติที่สุด แต่ว่าส่วนไหนที่ไม่ปกตินี้ก็ติดตามใกล้ชิดเพราะว่าก็กังวลว่า เดี๋ยวจะมีการไปพูดว่า ไปใช้อำนาจในลักษณะที่ไปละเมิดสิทธิ์ หรือเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งอีก ก็มีการตรวจสอบตลอด ตอนนี้ผมก็ให้ทางทั้ง ศอฉ. ทั้งตำรวจ เขาได้ให้ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องการใช้ พ.ร.ก. ไปควบคุมตัวอะไรใครอย่างไร ซึ่งความจริงตอนหลังนี้ส่วนใหญ่มันเข้าสู่กระบวนการคดีอาญาตามปกติอยู่แล้ว ทีนี้เราก็ไม่ประมาท ต้องยอมรับ และเราก็ต้องพยายามที่จะทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน พร้อม ๆ กันไปนี้ งานเยียวยา งานที่เป็นการปฏิรูป งานปรองดอง การตรวจสอบเหตุการณ์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า กลไกทุกอย่างก็เรียกว่าเกือบจะครบถ้วนแล้ว ก็จะเหลือคณะกรรมการของอาจารย์คณิต ที่ตรวจสอบเหตุการณ์ ที่ระเบียบซึ่งผ่านการตรวจของฝ่ายกฎหมายมา ผมก็เพิ่งลงนามไป ท่านก็จะไปตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ

พิธีกร แล้วชีวิตนายกฯ ละครับ กลับมาปกติหรือยังครับ

นายกรัฐมนตรี ผมก็ ถ้าถามผมก็บอกว่ากลับไปอยู่ที่บ้านมานานแล้วครับ ไม่ได้ต้องนั่งอยู่ในสถานการณ์ของ ศอฉ. อยู่

พิธีกร ไม่ต้องอยู่ราบ 11 แล้ว

นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องอยู่แล้ว

พิธีกร เดือนกว่าแล้วใช่ไหมครับ

นายกรัฐมนตรี ครับ นานแล้วครับ แล้วการทำงานก็ อย่างที่เห็นนี้ละครับ ออกไปไหนมาไหนที่จะต้องไปติดตามงานก็มีความเป็นปกติมากขึ้น

พิธีกร เสื้อเกราะก็ไม่มี มีแต่พระเยอะขึ้น

นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ให้มาแล้วก็กำชับว่าต้องอยู่กับตัวครับ

พิธีกร คดีการลอบสังหารนายกฯ ตอนนี้ยังมีอยู่ไหมครับ

นายกรัฐมนตรี ต้องถามฝ่ายความมั่นคง คือพูดตรง ๆ นี้ข่าวคราวการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มมีอยู่ ข่าวคราวว่ามีความพยายามของบางกลุ่มที่อาจจะใช้ความรุนแรงมีอยู่ เป็นปกติธรรมดา

พิธีกร แล้วเมื่อไรนายกฯ จะไปอีสาน คำถามคลาสสิคเลย อีสาน ภาคเหนือ เป็นปกติ อย่างไม่ต้องมีกำลังอะไรอย่างนี้

นายกรัฐมนตรี ผมต้องบอกคุณกฤษนะอย่างนี้นะครับ ที่จริงการไปนี้ ก่อนหน้าที่ผมจะมาเป็นนายกฯ อะไรต่าง ๆ ก็ไปกันอยู่ตลอดเวลา เพิ่งมามีระยะหลังนี้ ที่มีกระบวนการที่บอกว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งไปตรงนี้ ก็จะมีอีกฝ่ายยกพวกมาอะไรทำนองนี้ ซึ่งเราก็พูดมาตั้งแต่ต้นว่าเราไม่สนับสนุน ทีนี้ผมก็ลงพื้นที่มา ก่อนเกิดเหตุการณ์ก็ไปนะครับ ภาคเหนือไปมา 2 - 3 ครั้ง ภาคอีสานก็ไป ภาคกลางก็ไป บางครั้งก็มีคนมาชุมนุม แต่ว่าหลายครั้งที่มาชุมนุมนี้ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ที่เราไปด้วยซ้ำ มันก็มีการระดมมาได้ ปัจจุบันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ทีนี้ถามว่าไปได้ไหมผมบอกผมไปได้ ผมก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่เขาดูแลผมได้ แต่ผมถามว่าถ้าผมไปแล้วนี้มันเกิดเรื่องขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่เขาต้องไปปะทะกับคนที่มานี้

พิธีกร ก็วุ่นวาย

นายกรัฐมนตรี เกิดเลือดตกยางออก เลวร้ายกว่านั้นเกิดมีความรุนแรงไปกว่านั้นนี้มันก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น ต้องแก้ก่อน

พิธีกร แก้ที่ต้นทางปัญหา

นายกรัฐมนตรี ผมก็ถามว่าจะต้องแก้ที่ใคร ผมบอกว่าถ้าเราเรียกร้องความเป็นธรรม เราเรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งแรกที่เราต้องยอมรับกันก่อนคือ 1. ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นสังคมต้องเรียกร้องคนที่มาขัดขวางคนต่างหาก ไม่ใช่มาเรียกร้องว่า ทำอย่างไรจะไปปราบปราม หรือจะต้องไปดื้อดึง หรือจะไปอย่างนั้นอย่างนี้ สังคมทั้งสังคมต้องบอกว่าอยากจะเป็นประชาธิปไตยกันจริงไหม มีประเทศประชาธิปไตยไหนบ้างที่เขาบอกว่าคนกลุ่มหนึ่งสามารถไปขัดขวางการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ผมก็เลยบอกว่า ก็ถึงเวลาจำเป็นเหมาะสมผมก็ไปครับ แต่ว่าถ้าไปนี้เพียงเพื่อบอกว่าผมได้ไปแล้ว ปรากฏว่าไปเสร็จก็มีคนมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ เลือดตกยางออก ไปก็อยากจะไปให้มัน ใครอยากจะมาชุมนุมแบบเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหานะครับ ก็ว่ากันตามที่เคยเป็นมาเหมือนก่อนนี้ในอดีต

พิธีกร นี่เผลอแป๊บเดียวก็ทำงานมา 1 ปี 7 เดือนแล้ว เกินครึ่งทางแล้วนะครับ

นายกรัฐมนตรี ผมก็ไม่ได้นับนะครับ

พิธีกร นับวาระสภาฯ จริง ๆ 23 ธันวาใช่ไหมครับ อีกประมาณ 1 ปี 5 เดือน

นายกรัฐมนตรี อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมก็ได้พูดมาตลอดนะครับว่า จริง ๆ แล้วยังไงมันไม่ใช่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย มีวาระของมันอยู่แล้ว ปีหน้าสภาฯ ก็หมดวาระอยู่แล้ว

พิธีกร นี่กะให้ครบวาระเลยหรือครับ

นายกรัฐมนตรี เปล่าครับ ผมบอกว่ายังไงนี้ปีหน้ามันก็หมดวาระอยู่แล้ว อยากเลือกตั้งเร็วขึ้น ผมก็บอกว่าก็ทำให้บ้านเมืองสงบสิ ถ้าบ้านเมืองสงบได้เลือกตั้ง แต่ถ้าจะเอากำลังมาข่มขู่คุกคามเพื่อหวังให้มีการเลือกตั้งนี้ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมครับ คนไทยไม่อยากเห็นว่ามีประเพณีของการใช้การข่มขู่คุกคามมาเพื่อต้องตอบสนองความต้องการ เพราะฉะนั้นพิสูจน์กันนี้ผมบอกว่าอยากเลือกตั้งเร็วผมไม่เคยมีปัญหา ผมถามมีนายกฯ กี่คนบ้างเคยเสนอ บอกผมตัดวาระตัวเองไป 1 ปีเลย เลือกตั้งเร็วขึ้น ไม่มีหรอกครับ นี่ก็เสนอแล้ว แต่บอกให้เพียงว่าจะทำอย่างนั้นคุณก็ช่วยกันดูแลให้บ้านเมืองสงบ แต่ว่าถ้าจริงใจอยากจะได้สิ่งนี้ก็ทำบ้านเมืองให้สงบ ถ้าไม่ทำบ้านเมืองสงบก็แสดงว่าไม่ได้จริงใจที่จะทำอันนี้ อยากจะได้อย่างอื่นมากกว่า

พิธีกร ที่ผมถามเรื่องเวลารัฐบาล 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ก็คือจะถามคำถามทิ้งท้าย เพราะว่าท่านคิวทองเหลือเกิน วันนี้ไปอีกหลายงานเลยนะครับ นี่เกินเวลาแล้ว วันนี้กี่งานครับ

นายกรัฐมนตรี ก็เมื่อเช้าก็มีไปงานของตำรวจ กต.ตร. เพราะว่าเป็นดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่ นายกฯ ได้พบกับ กต.ตร. ทั่วประเทศ กต.ตร. รู้จักไหมครับ

พิธีกร คืออะไรครับ คณะกรรมการ

นายกรัฐมนตรี นี่ไงมันมีมา 10 กว่าปีแล้ว

พิธีกร คณะกรรมการของกรรมการตำรวจ

นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เชิงอย่างนั้นครับ มันเป็นกรรมการที่เขาตั้งขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ประจำทุกสถานีตำรวจที่มีประชาชนเข้าไปร่วม

พิธีกร ท้ายสุดครับ สิ่งที่ผมอยากจะให้นายกฯ พูดบอกประชาชนด้วย และผมก็จะรอฟังตรงนี้ด้วยนะครับ ในฐานะที่ทำงานมา 1 ปี 7 เดือน งานต่าง ๆ ก็แล้วแต่ท่านนะครับ ผมอยากจะเห็นภาพเสก็ตช์ประเทศไทยอีก 5 ปี หรือ 10 จากนี้ไป เพื่อที่ผมจะเตรียมตัวด้วย ว่าชีวิตผมอย่างมนุษย์ล้อจะดีขึ้นไหม

นายกรัฐมนตรี พูดอย่างนี้เดี๋ยวเขาตกใจว่าผมจะประกาศอยู่ 5 ปี 10 ปี เอาอย่างนี้ ผมทำงาน 1 ปี 7 เดือนนี้จุดหนึ่งที่ผมยืนยันเลยก็คือว่าสิ่งที่ผมอยากเห็น คนไทยทุกคนมีหลักประกันมากขึ้น คำว่าหลักประกันคืออะไร คือความมั่นคงในชีวิต เมื่อก่อนนี้คนที่เราบอกว่ามีหลักประกันมั่นคงก็ข้าราชการ ใช่ไหมครับ และรัฐวิสาหกิจ ต่อมาคนทำงานบริษัทเอกชนอาจจะเงินเดือนสูง สิทธิประโยชน์ดี มีประกันสังคม แต่มีคนอีกตั้ง 30 - 40 ล้านคนซึ่งไม่มีตัวนี้ เราก็เริ่มทำประกันรายได้เกษตรกร ถูกไหมครับ ใครแก่เฒ่าก็มีเบี้ยยังชีพให้ ลูกหลานก็เรียนฟรี และตอนนี้เบี้ยคนพิการก็จัดให้ครบตามที่มีการขึ้นทะเบียนกัน

พิธีกร นี่ในส่วนของผู้ด้อยโอกาส

นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ เพราะฉะนั้นเราก็จะทำแนวอย่างนี้ต่อไป เพื่อให้สิทธินี้มี แล้วก็คงจะไม่ได้ให้รัฐบาลให้เปล่าอย่างเดียว เราก็จะทำระบบที่เรียกว่าให้เขานี้มีการมาสมทบเงิน ก็จะมีกองทุนเงินออมอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ผมคิดว่าอยากจะเห็นเกิดขึ้นใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้าว่า คนไทยเกิดมาทุกคนนี้จะอยู่ชนบท จะเป็นชาวนา ชาวไร่ เกิดมาแล้วเป็นผู้ด้อยโอกาส อย่างน้อยที่สุดมีความมั่นใจว่าพื้นฐานชีวิตของเขามีบางสิ่งบางอย่าง มีโอกาสนะครับ ทีนี้อย่างอื่นก็เป็นเรื่องปัญหาหลายเรื่องที่เราอยากจะทำ ก็ทำไปได้เยอะนะครับ เช่น เราก็ฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมา มีความริเริ่มที่จะให้เศรษฐกิจของเราก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้มากขึ้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์อะไร อันนี้ก็ว่าไปตามปกติ แต่ว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือชีวิตของชาวบ้านทุกคน ให้มีความมั่นคง ที่ตรงนี้ก็จะต้องทำเพิ่มเติม และปัญหาที่เป็นปัญหาเฉพาะ เช่น ที่ทำกิน หนี้สิน ก็กำลังไล่ทำ อย่างชนิดที่เรียกว่าผมกล้ายืนยันได้ว่าใน 1 ปี 7 เดือน หรือเมื่อพ้นวาระไปนี้ รับรองได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาให้กับจำนวนคนได้ค่อนข้างที่จะมากที่สุด อย่างนี้นอกระบบตอนนี้ก็ประมาณ 400,000 ในอดีตก็เคยทำมากสุดก็ 80,000 - 90,000 คน อย่างนี้เป็นต้น

พิธีกร หลายเท่านะครับ แล้วอย่าลืมทางลาดนะครับนายกฯ ครับ

นายกรัฐมนตรี อันนี้ก็มีมติแล้ว ในตอนสมัยท่านนายกฯ ชวน เราก็ออกมาบังคับเฉพาะที่เขาก่อสร้างใหม่ ใช่ไหมครับ มันก็จะมีพวกอาคารเก่า ๆ ที่มันไม่มี

พิธีกร นี่คือสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการโดยตรงเลย

นายกรัฐมนตรี ใช่ ๆ ทีนี้พอมาชุดนี้เราก็บอกว่า ถึงเวลาที่ต้องมาไล่ดูของเก่าบ้าง ตอนนี้ก็กำหนดไปแล้วว่า บรรดาสถานที่ราชการที่คนใช้บริการเยอะ ๆ นี้ให้มี ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลเขาไม่ค่อยมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ว่าพวกประเภทที่ว่าการอำเภออะไรต่าง ๆ พวกนี้

พิธีกร สถานที่ราชการ

นายกรัฐมนตรี ถูกต้อง

พิธีกร ซึ่งต้องเป็นต้นแบบด้วยซ้ำไป

นายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วตอนนี้ก็จะมีพวกขนส่งมวลชนนะครับ รถเมล์ใหม่เขาก็กำลังสู้กันอยู่ว่าต้องมีพื้นต่ำ  แล้วก็รถไฟฟ้า ส่วนต่าง ๆ เขาก็ทำมากขึ้น ตอนนี้เราก็กำหนดให้ทำมากขึ้น แอร์พอร์ตลิงค์ มีปัญหารางกับตัว

พิธีกร นี่ไง รู้ปัญหาจริง

นายกรัฐมนตรี วันนี้อาจจะต้องไม่สวยงามเพราะต้องมีอะไรมาพาดหน่อย แต่ว่าเขาก็อธิบายว่ามันไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะรถที่ความเร็วสูงมันจำเป็นจะต้องมีระยะห่างอยู่ ดูละเอียดครับเพราะว่าผมตัดสินใจว่าเป็นนายกฯ นี้ คือนายกฯ มีกรรมการที่เป็นประธานอยู่เป็นหลายร้อยชุด ก็ต้องเรียกว่าจะต้องมอบรองนายกฯ เรื่องไหนอย่างไรบ้าง เรื่องสังคมนี้ผมรับมาดูหมด เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ ผมจะดู เพราะผมถือว่าเรื่องเศรษฐกิจนี้ผมคุมได้มี ครม.เศรษฐกิจ นะครับ ก็มาดูประเด็นเหล่านี้ละเอียดครับ เรื่องของคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็กเยาวชน ก็ตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุดครับ

พิธีกร ผมฟังแล้วเชื่อมั่นมากขึ้นแล้ว ว่าจากนี้ไปผมจะได้ไปใช้แอร์พอร์ตลิงค์ และห้องน้ำท่านนายกฯ ฝากด้วยห้องน้ำ

นายกรัฐมนตรี ครับ ห้องน้ำก็ให้ปรับแล้วครับ ให้ทั้งรางและที่จับ

พิธีกร ขอบคุณมากครับ วันนี้ถ้าจะถามต่อคงยกเลิกอีก 3 หมายงานข้างหน้านี้ วันนี้ก็เวลามีจำกัด ต้องขอขอบคุณท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครับ ขอบคุณมากครับ

นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ

พิธีกร เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์นะครับ วันนี้ลาไปก่อนครับสวัสดีครับ

ช่วงที่ 3

ตัวแทนเด็กและเยาวชน ในการจัดงานรวมพลังเยาวชนไทย พลังแห่งแผ่นดิน เทิดไท้องค์ภูมินทร์ นวมินทร์มหาราชา เฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554เด็กและเยาวชนในวันนี้มาจากสภาเด็กและเยาวชนทั้ง 76 จังหวัด สภานักเรียน สภานิสิตนักศึกษา และองค์กรเอกชนต่าง ๆ ที่เด็กและเยาวชนได้จัดขึ้นเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

นายรัชฎะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ข้อสรุปทั้ง 7 ประเด็นสำคัญจากสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติที่เราระดมความคิดเห็นกันมาเพื่อสรุปผลว่าเด็กและเยาวชนต้องการเห็นประเทศไทยได้รับการแก้ปัญหา และได้รับการพัฒนาในมุมมองใดบ้างประเด็นที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของประเด็นการศึกษา อยากให้มีการศึกษา ให้ผู้พิการและเด็กพิเศษให้มีผู้ดูแลผู้พิการประจำสถานศึกษา ให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาเด็กและเยาวชนต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ให้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยส.) เพิ่มวงเงินกู้ยืมในระดับอุดมศึกษา และมัธยมศึกษา ส่งเสริมและเปิดโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา และมีมาตรการรองรับอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการกับอบายมุขรอบสถานศึกษา ข้อเสนอประเด็นด้านสื่อ เด็กและเยาวชนอยากได้ช่วงเวลา prim time ตั้งแต่ 16.00-21.30 น. เป็นรายการที่เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ต่อเด็กเยาวชน ครอบครัว ควรส่งเสริมให้มีการต่อลิขสิทธิ์หรือสนับสนุนสื่อที่มีคุณภาพผ่านกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ประเด็นด้านสวัสดิการ อยากให้รัฐบาลมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณสมทบเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ ส่งเสริมให้มีกองทุนเด็กและเยาวชนประจำจังหวัด ให้มีการสอบวัดสมรรถนะของลูกจ้างชั่วคราว เส้นทางของสวัสดิการไทยในมุมมองของเยาวชน เราอยากให้รัฐรับภาษีเพิ่ม จัดทำประชาพิจารณ์เวทีประชาคมจากทุกภาคส่วนเพื่อระดมความคิดเห็น ประเมินข้อวิเคราะห์วิจารณ์ประชาสังคม ความต้องการและสร้างภาพอนาคตจำลองประเทศไทยที่มีรัฐสวัสดิการ ข้อเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจ อยากให้รัฐบาลจัดทำรูปแบบการพัฒนาระบบการเกษตรไทยอย่างใกล้ชิด โดยให้มีความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาที่พร้อมกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ข้อเสนอประเด็นด้านการเมือง  เสนอให้มีคณะเยาวชนที่ปรึกษาประจำกระทรวง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยตรง จัดตั้งอนุกรรมการในเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในทุกเรื่องให้มีสัดส่วนของเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วม การประกวดนักการเมืองต้นแบบ สร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในมุมมองของสังคม และมอบรางวัลให้นักการเมืองดีเด่น ข้อเสนอประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เราอยากให้นำขยะมาใช้เป็นพลังงานทดแทน และเปลี่ยนขยะเป็นเงิน เปลี่ยนจากปัญหาให้เป็นโอกาส เด็กและเยาวชนอยากเห็นครับ อยากเห็นภาพอนาคตที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายต่อปีที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ อยากให้มีการควบคุมดูแลมากขึ้นโดยส่งเสริมสนับสนุนในนโยบายของพระราชบัญญัติป่าชุมชนให้เป็นจริง ข้อเสนอประเด็นด้านสาธารณูปโภค ให้รัฐบาลส่งเสริมและให้ข้อมูลด้านการใช้พลังงานทางเลือก ออกมาตรการ และสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญทั้ง 7 ประเด็นก็เป็นข้อเสนอจากสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติประจำปี 2553 ครับ

นายกรัฐมนตรี  7 ประเด็นที่ได้มีการนำเสนอมาก็ต้องขอแสดงความชื่นชมว่าค่อนข้างที่จะครอบคลุมปัญหาหลัก ๆ ของสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน  ข้อแรกในเรื่องของการศึกษาก็ยืนยันนะครับว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากทั้งในเรื่องของโอกาส และเรื่องของคุณภาพในปัจจุบัน  ก็เรียนตรง ๆ ว่าข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดเรื่องนี้คือเรื่องบุคลากร  เพราะว่าบุคลากรที่จะมาทำงานทางด้านนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมและต้องมีทักษะที่เหมาะสม ขอเรียนว่าแม้แต่ในกรณีซึ่งเราบอกว่ามีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนที่จะมาทำ เพราะฉะนั้นกระบวนการที่คงจะต้องไปเร่งรัดตรงนี้เป็นพิเศษจากข้อเสนอตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องของการสร้างบุคลากรที่จะมารองรับการทำงานตรงนี้  

เรื่องการปฏิรูปการศึกษาซึ่งมีคณะกรรมการขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน เวลานี้ที่เรียกกันง่าย ๆ ที่สุดคือเหมือนกับ สสส.ทางด้านการศึกษาขึ้นมา ซึ่งผมเป็นประธานในคณะกรรมการได้กันเงินเอาไว้แล้ว ที่จะมาส่งเสริมหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ มาทำงานในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าช่องทางที่เหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นการที่สภาหรือสมัชชาของเด็กและเยาวชนถือเป็นหน่วยที่ไปทำโครงการและขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหรือคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป กยส. รัฐบาลก็พยายามทั้งเพิ่มเงิน ทั้งบริหารจัดการให้มีเงินมากขึ้น แต่ที่อาจจะต่างอยู่สักนิดคือเสนอมานี่คืออยากได้วงเงินเพิ่ม ขณะนี้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญว่าอยากให้จำนวนคนที่ได้กู้เพิ่มมากขึ้นก่อน ส่วนที่ได้ไปแล้วยังไม่จุใจ อยากให้คิดถึงเพื่อนที่จะมีโอกาสมาได้ เพราะต้องยอมรับนะครับ พอเงินมีจำกัด ถ้าเราเพิ่มวงเงินก็หมายถึงว่าเราก็ตัดโอกาสคนที่กำลังจะเข้ามา เรียนว่าอยากให้จำนวนคนเพิ่มก่อน ส่วนวงเงินนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องสื่ออันนี้ก็ขอเรียนครับว่ารวมทั้งเรื่องของการจัดเวลา prim time ต่าง ๆ หลักจริง ๆ ก็คือหน่วยงานก็คือ กสทช. ที่จะเกิดขึ้น เขาจะต้องเป็นคนทำ และปัญหาที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ก็เพราะว่าเรากำลังอยู่ในรอยต่อระหว่าง กทช. ไปสู่ กสทช. แต่ว่าอันนี้ใกล้จะจบ สภาฯ ก็จะพิจารณากฎหมายใหม่เสร็จน่าจะภายในสมัยประชุมหน้า และจะเร่งตั้ง กสทช. ขึ้นมา เขาจะเป็นคนที่จะคุมกติกาตรงนี้ 

เรื่องสวัสดิการนั้นที่เสนอมาดีมากเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้อาสาสมัครเข้าไปดูแล อันนี้ อสม.ยังไงก็ต้องทำอยู่ แต่เบี้ยยังชีพกับเบี้ยคนพิการแนวของเราขณะนี้ก็คือว่าจะส่งเสริมให้มีการโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง สำหรับการวาดภาพจำลองเส้นทางรัฐสวัสดิการหรือระบบสวัสดิการ ก็ยืนยันนะครับว่ากำลังดำเนินการกันอยู่ขณะนี้ รวบรวมตัวเลขต่าง ๆ เดิมคิดว่าจะปรับทุกอย่างเข้าสู่ความเป็นระบบสวัสดิการที่สมบูรณ์ได้ ก็คือ 2559 แต่ว่าดูจะช้าเกินไป ก็พยายามที่จะดึงเขากลับเข้ามา และผมเข้าใจว่าคณะกรรมการปฏิรูปของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ก็คงจะเข้ามาทำงานทางด้านนี้ด้วย 

สิ่งที่ผมยืนยันว่าจะพยายามเพิ่มขึ้นต่อไปคือภาษีเหล้า ภาษีบุหรี่  แล้วภาษีที่ดินและทรัพย์สินยืนยันว่าจะเดินหน้าเพื่อที่จะให้มีการจัดเก็บเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นรายได้หลักของท้องถิ่นต่อไป  ส่วนภาคการเกษตรนั้นขอเรียนว่าจริง ๆ โครงการประกันรายได้เป็นโครงการซึ่งปูทางไปสู่การสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรรมอยู่  ด้านการเมือง ผมไม่แน่ใจว่า 3 กระทรวงอยากจะมีที่ปรึกษาเพิ่มเติมหรือเปล่านะครับ และถ้าถามใจผมนี่ ผมคิดว่าผมอยากให้ช่องทางของสภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกที่ป้อนการมีส่วนร่วมของพวกเราไปที่กระทรวงอยู่แล้ว มากกว่าที่จะไปมีคณะขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นวงที่เล็กลงไปอีก และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรกันต่าง ๆ ตลอดเวลา  แต่ว่าอันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งคงจะไปดูว่าเป็นอย่างไรนะครับ ประกวดนักการเมืองต้นแบบ ผมไม่ทราบใครจะเป็นคนตัดสินครับ  

สิ่งแวดล้อม เรื่องของหลักของการแก้ปัญหาพื้นที่ป่า และการถือครองที่ดิน โดยหลักของการให้ชุมชนเข้ามาจัดการตรงกับโครงการโฉนดชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้เปิดสำนักงานแล้ว จะสำรวจพื้นที่นำร่องให้ได้ประมาณ 30 กว่าพื้นที่ทั่วประเทศ เดินหน้าภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้ และการที่จะรณรงค์จูงใจ รวมทั้งการส่งเสริมในเรื่องพลังงานทางเลือก ก็มีการดำเนินการ เรื่องถุงพลาสติกก็เป็นเรื่องที่ดีที่มีการนำเสนอมา ถ้ารณรงค์กันเฉย ๆ บางทีก็เอาความสะดวก เอาความง่าย ถ้าเกิดลองเราบอกว่าขอให้ทุกห้างคิดค่าถุงพลาสติก ผมรับรองมีคนถือตระกร้ามากขึ้นแน่นอน หรือว่าถ้าเราพยายามทำให้กล่องโฟมแพงขึ้น คนก็จะกลับไปใช้ปิ่นโตมากขึ้น  อันนี้ผมว่ามันต้องพยายามทำกันอย่างนี้  ก็อยากจะขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งสำหรับข้อเสนอต่าง ๆ ยังมีการประชุมต่อเนื่อง แล้วก็ทั้งหมดจะไปนำเสนอในคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง และขอขอบคุณทางกรรมาธิการและผู้เกี่ยวข้องที่ได้จัดเวทีในวันนี้ และเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คนที่ให้ความสำคัญและเสียสละเวลามา เพื่อที่จะมาช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างบ้านเมืองของเราให้เป็นบ้านเมืองที่ดีขึ้น ขอบคุณครับ

ความคิดเห็นของตัวแทนเด็กและเยาวชน

 - ขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านได้ให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้มาแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน คือจะเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตข้างหน้า

- สิ่งที่ผมอยากจะฝากให้นายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือปัญหาด้านครอบครัว ถ้าครอบครัวของทุกคนในประเทศไทยเข้มแข็ง จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเด็ก ๆ  ที่จะเป็นอนาคตสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปให้ร่วมกันมีต้นทุนชีวิตที่ดีขึ้นในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

- อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและศีลธรรมในเด็กและเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีได้ในอนาคต

- ร่วมกันนะครับ ถ้าเราอยากจะมีโลกที่สีเขียว แต่ตัวเรากลับมองโลกเป็นสีขาวดำ แล้วยังจะไม่ช่วยกัน แค่ต้นไม้ต้นเดียว หนทางที่ง่ายที่สุดสำหรับพวกเราแค่เพียงต้นเดียว 63 ล้านคน 63 ล้านต้น มันจะแตกกิ่งก้าน แตกหน่อออกลูกได้มากสักเท่าไหร่ ช่วยกันครับ ต้นไม้ในวันนี้อาจจะเป็นต้นไม้ที่ใหญ่โตที่ให้ร่มเงาของลูกหลานคุณในช่วงต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ก็เป็นได้ครับ

- เดี๋ยวนี้เด็กดูสื่อกันเยอะมาก ละครทุกวันนี้สื่อออกมาตบตีกัน  การพนัน สุรา อยู่หมด แล้วเด็กก็จะลอกเลียนแบบ ละครหลังข่าวไม่ต้องเลื่อนเวลาก็ได้ ขอให้เปลี่ยนเนื้อหาในละครให้มีสาระและประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนให้มากที่สุดเท่านั้นก็พอแล้วค่ะ

- อยากให้แก้ไขเรื่องยาเสพติดในเด็กและเยาวชนครับ

- วันนี้ได้มาร่วมกับสมัชชา วันนี้หนูไม่ได้มาในนามของสภาเด็ก แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่สภาเด็กได้เชิญ หนูเป็นสภาของสภานักเรียนก็มีความดีใจมาก ก่อนอื่นต้องบอกดีใจมาก ๆ ค่ะเพราะมีไม่กี่เวทีหรอกค่ะที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสได้พูด วันนี้หนูเลยมองว่าทุกปัญหาที่เพื่อนเสนอไป มีหลายครั้งที่เราได้เสนอปัญหา แต่มีแค่กี่ครั้งที่ปัญหาของเราได้ถูกนำไปใช้หรือได้ถูกไปแก้ปัญหาจริง ๆ เป็นเพราะผู้ใหญ่ยังไม่เปิดใจ หรือยังไม่คิดว่าความคิดของเด็กมีค่ามากพอ ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าคบเด็กสร้างบ้าน เดี่ยวนี้เด็กไม่สร้างบ้านแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้เด็กสร้างชาติค่ะ เพราะว่าลองคิดดูนะคะผู้ใหญ่คิดแค่ว่าปลูกต้นไม้ ๆ ไปปลูกในป่าสิคะ เด็กคิดมากกว่านั้นค่ะ เด็กสามารถคิดได้ว่าทำไมถึงต้องปลูกต้นไม้ และปลูกต้นไม้เพื่ออะไร เดี๋ยวนี้เด็กอลังการค่ะ เด็กปลูกต้นไม้ใน facebook ค่ะ สิ่งแรก ๆ ที่เด็กทำเป็นสิ่งใหญ่ ๆ ในประเทศชาติถูกไหมคะ ฉะนั้นแล้วอยากบอกผู้ใหญ่ทุกคนว่าอย่าลืมนะคะว่าเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า และเด็กวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

(ช่วงสกู๊ปการแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมการปฏิรูปประเทศไทย ในโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด จาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดแม่ฮ่องสอน)

ที่มาข่าว:

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
จินตนา - วิมลมาส ถอดเทป 

http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=46800

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net