Skip to main content
sharethis

ประชาธรรมเรียบเรียง การเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” ในเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย โดยศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล (พร้อมคลิป)

 

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
 
00000
 
ช่วงที่สองของการอภิปรายในเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจัดโดยภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มจับตาขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทย (Thai Social Movement watch) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สำนักข่าวประชาธรรม และประชาไท ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นการเสวนาหัวข้อเรื่อง “ปฏิรูปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” 
 
นอกจากความเชื่อที่ว่า “การปฏิรูป” ท่ามกลางบรรยากาศที่จำกัดเสรีภาพ ปกปิดข้อเท็จเหตุการณ์สลายการชุมนุม การเลือกป้ายสีเสื้อทางเมืองอย่างสุดโต่งจนได้ยินเสียงฝ่ายตรงข้ามอย่างแผ่วเบา ไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปได้แล้ว ยังมีอีกประเด็นที่นักวิชาการอาวุโสอย่าง ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มองว่าคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้มอง หรือมองแล้วไม่เห็น พร้อมทั้งข้อเสนอที่ว่า คณะกรรมการปฏิรูปทั้งหลายควรต้องฟัง
 
00000
 
 
3 สูง 3 ครอบงำ : โครงสร้างการเมืองที่ต้องปฏิรูป
 
ศ.ดร.อานันท์ อภิปรายว่า ส่วนแรกที่อาจารย์ชาญวิทย์ (ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พูดไปแล้ว ถึงแนวคิดการเมือง แต่ตนคิดว่าต้องพูดทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ในการพูดถึงการเมืองเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนต้องตั้งสติให้ดี และอาศัยแนวคิดบางส่วนที่ช่วยมองสถานการณ์แบบนี้
 
เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจการเมือง นักคิดคนสำคัญที่เราต้องพึ่งพา คือ คาร์ล มาร์ก ซึ่งบอกว่าเราไม่สามารถมองเฉพาะปรากฏการณ์ได้ การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงต้องมองเชิงโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงการมองถึงสิ่งที่เห็นแต่พูดไม่ได้ หรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแต่เรามองไม่เห็นให้มากขึ้น
 
ประการที่สอง คือ วิธีคิดนั้นสำคัญ วิธีคิดจะสามารถเจาะเข้าไปในสิ่งที่เราเข้าไม่ถึง เวลาที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมันไม่มี การเปลี่ยนแปลงมันต้องมีคนทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตามแนวคิดมาร์กก็จะบอกว่าทุกอย่างมันมีเงื่อนไข เราก็ต้องดูว่าเงื่อนไขอะไรที่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
 
ประการที่สาม ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงมันมีเรื่องอำนาจของการครอบงำและการใช้ความรุนแรง ส่วนของการครอบงำเป็นปัญหา ฉะนั้นการหลุดจากอำนาจการครอบงำต้องใช้ความคิดแบบวิพากษ์ 
 
สามวิธีคิดนี้คือสิ่งที่ตนจะนำมาอธิบาย เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เพราะหากจะปฏิรูปโดยปราศจากความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ยึดติดกับอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อ ก็อาจทำให้การปฏิรูปเข้าลึกเข้าโพรงได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สังคมไทยปัจจุบันก้าวข้ามพ้นการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมานานแล้ว มีความหลากหลายมหาศาล แต่เรายังมองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้ มันจึงเป็นปัญหา ทำให้วิธีคิดของการปฏิรูปเป็นอคติ หรืออยู่บนสมมุติฐานที่ไม่ถูกต้องได้
 
สังคมไทยปัจจุบันอยู่ในโลกไร้พรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดแบบพรมแดนจึงเป็นปัญหามาก สังคมไทยไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมืองอยู่ในภายใต้โลกาภิวัตน์ ดังนั้นด้วยเงื่อนไขที่ว่าเราเป็นสังคมของความหลากหลายและอยู่ในโลกไร้พรมแดน ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาหรือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการปฏิรูป เพราะสิ่งที่พูดยังอยู่ในเงื่อนไขเก่าๆ ก็อาจเป็นปัญหาได้
 
การที่จะปฏิรูปได้เราต้องเข้าใจโครงสร้างที่อยู่ข้างหลัง โครงสร้างปัจจุบันมีลักษณะอย่างไรภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมา ขอสรุปเงื่อนไขที่มีปัญหา 3 ประการ 
 
ประการที่ 1 คือ มีลักษณะ High rent คือมีการเก็บค่าเช่าทางเศรษฐกิจสูงมาก สะท้อนให้เห็นว่ามีการกดขี่ขูดรีดค่าแรงสูงมาก หมายความว่า ส่วนต่างระหว่างค่าแรงกับผลผลิตมวลรวมของประเทศชาติมันต่างกันมหาศาล และมีส่วนต่างที่เราเรียกว่าส่วนเกินหายไป ข้อสงสัยที่ไม่มีใครตอบคือ ส่วนต่างตรงนี้หายไปไหน มีการเอาส่วนเกินไปจากคนที่ใช้แรงงานมากเกินไป ซึ่งสาเหตุนี้เกิดจากสิ่งที่จะพูดต่อมาคือ
 
ประการที 2 High risk ภาระความเสี่ยง การที่สามารถเอาส่วนต่างที่หายไปได้เพราะมีการผลักภาระความเสี่ยงไปให้ “คนที่พูดไม่ได้” รับผิดชอบ เช่น กรณีมาบตาพุด เอาประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะไป แต่ผลักภาระให้คนพื้นที่รับผิดชอบ อันนี้ภาพใหญ่ ถ้าพูดในภาพเล็ก เมื่อพูดถึงชาวนา เรายังยึดติดอยู่ว่าสังคมเราเป็นสังคม land base อยู่ การปฏิรูปจึงติดกับการปฏิรูปที่ดิน มันถูกส่วนเดียว และไม่ใช่ส่วนหัวใจ อีกส่วนหนึ่งคิดว่าสังคมเราไม่อยู่บน land base แต่เปลี่ยนมาเป็น capital base economy คือเศรษฐกิจที่ฐานอยู่บนทุน พูดง่ายๆ คือชาวนาปัจจุบัน เวลาผลิต ปัญหาที่ดินไม่สำคัญเท่ากับทุน เช่นการผลิตแบบพันธะสัญญา มีปัญหา คือชาวนาเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ระบบการผลิตทำให้ชาวนากลายเป็นแรงงานบนที่ดินตัวเอง และเมื่อไรเกิดความเสี่ยงชาวนารับไป แต่เมื่อเกิดกำไรนายทุนก็มาขอแบ่ง เป็นต้น กรณีอย่างนี้มันทำให้เกิด High risk ซึ่งไม่ได้หมายถึงความเสี่ยงจากธรรมชาติ แต่มันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ผิดปกติของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
 
ประการที่ 3 High lost คือ ระบบเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวมามันทำให้เกิดสูญเสียความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคน มีตัวตน แต่เขาไม่เห็นหัวคุณ หมายความว่า ระบบเศรษฐกิจแบบนี้มันทำให้เกิดผู้ผลิตรายย่อย (แบบที่มาร์กเคยพูดไว้) และผู้ผลิตรายย่อยไม่ได้อยู่ในคำนิยามที่เป็นปกติที่เคยเข้าใจได้ มันอยู่นอกนิยาม เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า ภาคผลิตไม่เป็นทางการ เช่น ผู้รับเหมาช่วง รถรับจ้าง ฯลฯ ซึ่งเปลี่ยนจากฐานการผลิตบนที่ดินมาเป็นทุนอย่างที่กล่าว ฉะนั้นการปฏิรูป ไม่ว่าจะหวังดีให้สวัสดิการอะไรก็แล้วแต่ไม่อาจเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะเขากลายเป็นสิ่งที่ เรียกว่า “มนุษย์ล่องหน” อยู่ชายขอบถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากร อันนี้เป็นคำอธิบายการปฏิรูปกับโครงสร้าง เพื่อให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิด High rent High risk High lost ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มองกัน
 
แต่ปัญหามันไม่ได้มีแค่นี้ เพราะขณะที่โครงสร้างแบบใหม่ขึ้น โครงสร้างอำนาจเก่าไม่ค่อยเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนแต่สร้างการครอบงำขึ้นมา ซึ่งมีอยู่ 3 การครอบงำ
 
หนึ่งครอบงำโดยความคิดชาตินิยมแบบไร้สติ เช่น เรื่องเขาพระวิหาร การสังหารคนมุสลิมภาคใต้ (ที่คนไทยรู้สึกเฉยๆ) เป็นต้น คือ เราสร้างและป้ายความผิดให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนค้ายาที่ฆ่าแล้วไม่บาป เป็นต้น 
 
สอง ถูกครอบงำทำให้เชื่อว่าเมื่อมีปัญหาก็ต้องใช้สถาบันเดิมๆ ในการแก้ปัญหา เช่น พอมีปัญหาก็ใช้บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นสถาบันดั้งเดิม ในขณะที่สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว หรือพยายามจะใช้ชุมชนในการแก้ปัญหาอยู่ตลอด ดังคำกล่าวที่ว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ตนกลับคิดว่าหมู่บ้านมีแต่ปัญหา จะมีคำตอบได้อย่างไร ซึ่งคิดว่าอันนี้เป็นการครอบงำที่หนัก และยังไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร
 
สาม ถูกครอบงำหนักขึ้นไปอีกคือ มองความขัดแย้งเป็นเชิงลบ และยังใช้ปิดปากไม่ให้คนพูด ถ้าคิดได้แค่นี้ก็ไม่ต้องไปปฏิรูปหรอก การปฏิรูปมันต้องขัดแย้ง มีสังคมไหนปฏิรูปโดยไม่ขัดแย้งบ้าง ไม่ใช่ไม่ให้คนพูด ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนพูดน้อยหน่อย การเปลี่ยนแปลงต้องเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องการความขัดแย้งมหาศาลเลย ดังนั้นเราควรมองความขัดแย้งทั้งในเชิงลบและเชิงบวกเพราะความขัดแย้งนำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ ถ้าเรามองเชิงลบเพียงอย่างเดียว ด้านเดียว ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
 
นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ที่อยากจะเรียกว่า 3 สูง 3 ครอบงำ ถ้าถามว่าเราต้องการปฏิรูป เราจะทำอย่างไร คิดว่า เสียงที่ไม่ได้พูดก็เพราะคุณเป็นคนล่องหนอยู่ และที่พูดไม่ได้เพราะถูกครอบงำอยู่นั่นเอง การปฏิรูปจึงต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เราต้องเข้าใจว่าปัญหาเป็นเรื่องของการเมืองเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นตลาดเสรี แต่โลกเสรีทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ มันต้องให้ความสำคัญอีกด้าน คือ ฟรี และ แฟร์ สังคมเราเน้นแต่ฟรีแต่ไม่เน้นแฟร์ ถ้าอย่างนี้ทำอะไรไม่ได้ จะทำได้ต้องปรับกลไกเชิงสถาบันหลายตัวที่ต้องมาทำหน้าที่ปรับดุลยภาพของอำนาจใหม่เพื่อลดการขูดรีดแรงอย่างสูงไม่ให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ลดปัญหาความเสี่ยงในระบบทุนนิยม เช่น เรื่องระบบภาษี ที่คนจน คนรวยไม่ควรจะเสียภาษีเท่ากัน ตอนนี้ยังเก็บภาษีทางอ้อมอยู่ทำให้เงินภาษียังไม่เพียงพอ เป็นต้น อีกประเด็นที่สำคัญอย่างมากคือ ปฏิรูปเกี่ยวกับกลไกการใช้ทรัพยากรส่วนรวม ไม่ใช่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ ต้องให้หลายฝ่ายในสังคมต้องเข้ามาร่วมจัดการการใช้ ต้องเป็นเชิงซ้อนมากขึ้น
 
และวิธีคิดเรื่องการจัดการเชิงซ้อนต้องนำมาใช้กับระบบที่มีปัญหามากที่สุดของสังคมไทยในเวลานี้ คือเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรม ที่ยังเป็นลักษณะเชิงเดี่ยว ต้องเป็นเชิงซ้อน ต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาดุลในระบบยุติธรรมให้มากขึ้น 
 
ทั้งหมดต้องเสริมอำนาจของ ประชาชน ไม่ใช่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาทำให้ ตอนนี้เราอาจมีปัญหาประชาธิปไตย กระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไปไม่ถึงไหน การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยต้องเปลี่ยนตามบริบท คือต้องคิดเรื่อง การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยภายใต้โลกที่มันเปลี่ยนแปลง (โลกาภิวัตน์) ต้องอาศัยแนวคิดของ กัมชี่ ที่บอกว่าการต่อสู้ ประชาธิปไตยในโลกาภิวัตน์ต้องต่อสู้เชิงประเด็นด้วย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมเรายังเน้นเรื่องรูปแบบมากเกินไป ขาดประเด็นเนื้อหา เพราะฉะนั้นจึงทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันไม่ก้าวหน้า ประชาธิปไตยในกระแสโลกกาภิวัฒน์ต้องมีประเด็นเนื้อหามากกว่านี้ และเราต้องช่วงชิงความหมายของประชาธิปไตยด้วยเพื่อยกระดับ เพราะทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนต่างอ้างประชาธิปไตยทั้งหมด การต่อสู้ประชาธิปไตยในสมัยนี้ไม่ง่ายเหมือนสมัยรัฐชาติเพราะมีปัญหาเชิงซ้อนเข้ามาอย่างมาก
 
00000
 
 
Peace process ก่อนการปฏิรูป
 
รศ.สมชาย อภิปรายว่า อ่านงานอยู่สามสี่ชิ้น ที่พูดถึงราวันดา บอสเนีย และไอร์แลนด์เหนือ เกี่ยวกับเรื่องสงครามกลางเมือง สิ่งที่ขบคิดจึงอาจแตกต่างจากคณะกรรมการปฏิรูป ตนคิดว่าสิ่งที่เราควรคิดถึงในระยะเฉพาะหน้าอาจจะไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปหรืออาจมีเรื่องอื่นที่ควบคู่กับการปฏิรูป ฉะนั้น เรื่องที่จะพูด มี 3 ประเด็น ใหญ่ๆ ด้วยกัน
 
เรื่องแรก คือ ในงานการไต่สวนสาธารณะที่หาความจริง ที่เคยไปพูดซึ่งจัดขึ้นวันเสาร์ (ซึ่งเป็นวันปราบเซียน) สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือหอประชุมเล็กแน่นจนเข้าไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือคำอภิปรายของคนที่มาเข้าร่วม ซึ่งอยู่ในวัยกลางคนอายุ 30 กว่า เขาพูดว่าที่อาจารย์พูดอ้อมไป คือ “ก็รู้ไม่ใช่หรือว่าปัญหาของสังคมนี้อยู่ที่ไหน ทำไมไม่พูดกันตรงๆ นักวิชาการก็ทำได้แค่นี้ วนไปวนมา พวกเราในห้องรู้ใช่ไหม ว่าปัญหาในห้องอยู่ที่ไหน” ทำให้เสียงปรบมือในห้องดังกระทึ่ม คำถามคือสังคมไทยตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้น ที่สำคัญงานวันนั้นไม่ได้ออกสู่สื่อกระแสหลัก หมายความว่าคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นที่แตกต่างแต่ไม่สามารถสะท้อนความคิดนี้ออกสื่ออกสาธารณะได้ 
 
คำถามคือ สังคมสงบ ปกติสุขหรือไม่ จะบอกว่าสงบก็ไม่ใช่ เพราะมีระเบิดเกิดขึ้น มีสงครามกลางเมืองหรือไม่ ก็ไม่เชิง เราจะอธิบายสถานการณ์นี้อย่างไร คิดว่าน่าจะใกล้เคียง คือ not war not peace พร้อมที่จะสงบสุข และพร้อมที่จะรบ อารมณ์แบบมึงปรองดองเมื่อไรกูปรองดองด้วย มึงรบเมื่อไรกูรบด้วย
 
เรากำลังอยู่ในระหว่างทางหรือไม่ ซึ่งอาจจะแยกไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ มีนักวิชาการ คือ James D. Fearon เขียนงานชิ้นหนึ่งชื่อว่า Why Do Some Civil Wars Last So Much Longer than Others? คือทำไมสงครามกลางเมืองถึงยาวนานนัก เขาศึกษาสงครามกลางเมืองตั้งแต่ 1945 ถึงปลายศตวรรษที่ 20 พบว่าสงครามกลางเมืองในโลกนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เขาทำเพื่อที่จะตอบว่าทำไมถึงมีสงครามกลางเมือง เพื่อดูระดับความรุนแรง และระยะเวลาของสงครามกลางเมือง เขาแบ่งสงครามกลางเมืองเป็น 4 ประเภท คือ
 
หนึ่ง สงครามกลางเมืองแบบรัฐประหาร พบว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ มักจะกินเวลาไม่นาน เพราะเป็นเรื่องของมีอำนาจอยู่ในมือ รบกันแล้วก็วัดความแข็งแกร่ง ใครมากกว่าชนะไป
 
แบบที่สอง ต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อสู้ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับคนในอาณานิคม วัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องเอกราช โดยทั่วไปไม่ยาวนานเท่าไหร่
 
สาม สงครามแบบบุตรแห่งแผ่นดิน เป็นความขัดแย้งระหว่างคนภายในรัฐที่ต่างเชื้อชาติ บางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐ บางกลุ่มเป็นคนที่อยู่ชายขอบ ประเด็นที่เป็นปัญหาคือเรื่องที่ดิน การแย่งชิงทรัพยากร สงครามประเภทนี้กินระยะเวลานาน
 
สี่ เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากกลุ่มที่มีความมั่นคง เช่น ในพม่ากลุ่มต่อต้านพม่ารับการสนับสนุนจากกลุ่มค้าฝิ่น ในไทยอาจะเป็น 6 ตุลา 19 
 
ปัจจัยที่จะดูว่ายาวนาน หรือไม่ คือ ความเข้มแข็งของอำนาจรัฐกับฝ่ายต่อต้าน ถ้าห่างกันมาก แนวโน้มของสงครามประเภทนี้จะกินเวลาไม่นานแต่ถ้าไม่แตกต่างกันมากจะมีแนวโน้มกินระยะเวลายาวนาน แต่ถ้ามันมาถึงจุดที่ทั้งคู่เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ รบไปก็ไม่มีใครแพ้ชนะ มันจะอยู่ในช่วง Peace process สันติภาพจะเกิดขึ้น
 
ปัจจัยหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจคือ ความขัดแย้งอยู่ในหมู่ชนชั้นนำจะจบง่าย แต่ถ้าแพร่กระจายไปในหมู่ประชาชนโอกาสของการยุติก็ยากมากขึ้น ความขัดแย้งแบบที่แพร่กระจายในหมู่ประชาชนเมื่อถึงจุดหนึ่งจะแสวงหาสันติภาพ 
 
พออ่านงานชิ้นนี้สิ่งที่ทำให้ผมนึกถึงคือ ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงมหกรรมการปฏิรูปประเทศ ถามว่าว่าใจกลางปัญหาคืออะไร ตนคิดว่า คือ ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ อำนาจในการต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งที่สังคมไทยต้องการ คือ หลังการเคลื่อนไหวพันธมิตรไม่มีการปฏิรูปประเทศ แต่หลังการเคลื่อนไหวเสื้อแดงมีการปฏิรูปประเทศ 
 
คณะกรรมการปฏิรูปนั้น มีหลายเรื่องต้องทำ แต่มีบางอย่างที่ควรต้องทำแต่ไม่ถูกพูดถึง และเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงพูดอยู่ตลอดเวลา คือ การสร้างสถาบันการเมืองใหม่ที่จัดการปัญหาอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมด้วย เช่น การพูด ไพร่ อำมาตย์ ทหาร สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเมืองเก่ามีปัญหา หรือกระบวนการยุติธรรมไทยนั้นไม่ตรงตรงมา สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของสังคมไทย ที่นำมาสู่ความแตกแยกสังคม สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปจะนำหน้าไปได้หรือ ชุดที่เป็นกรรมการนี้หลายคนที่จะวิจารณ์ควรจะต้องระวัง เพราะเป็นการรวมของนักปราชญ์ของแผ่นดินครั้งใหญ่ บางคนเป็นอาจารย์ บางคนคุมแหล่งทุนขนาดใหญ่ ใครจะกล้าวิจารณ์ มันเลยเป็นปัญหา 
 
สิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่างคือทำงานท่ามกลางความแตกแยก จะผลักดันอะไรให้เดินหน้าไปได้หรือ ซึ่งการปฏิรูปหรือทำให้มันเดินหน้าไปได้ คงต้องทะเลาะกันพอสมควรและเดินหน้าไป ยังการร่างรัฐธรรมนูญ 40 คือการปฏิรูปคือทำแล้วสังคมผลักให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่บัดนี้เรากำลังมีคณะกรรมการปฏิรูปบนฐานที่สังคมแตกเป็นเสี่ยงๆ คณะกรรมการปฏิรูปจะทำได้อย่างไร ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังทำไม่ได้ รัฐบาลยังไม่เอา แล้วจะไปปฏิรูปอย่างอื่นได้ หรือ ตนไม่เชื่อว่าจะทำได้
 
ประเด็นสุดท้าย คือ สังคมไทยต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพมากกว่า หมายความว่าเราต้องการการสร้างสถาบันการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย ก่อนที่จะปฏิรูปมันต้องสร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดสันติให้เกิดขึ้นก่อน ทุกคนควรยอบรับกฎเกณฑ์บางอย่างและโดดเข้ามาสู่เกมนี้ ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการปฏิรูป การปฏิรูปที่เกิดขึ้นบนความขัดแย้งอย่างกว้างขวางนี้ ไม่อาจประสบผลสำเร็จ เช่นกรณีภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแต่ก็เป็นปัญหาอยู่ เป็นต้น
 
สิ่งที่จะทำให้เกิดกระบวนการ Peace process ได้ คิดว่ามีอยู่สองประการ
 
ประการแรก ต้องหยุดความคับแค้นที่แพร่กระจายไปสู่สังคม โดยเฉพาะกรณี 91 ศพ ถ้าเราไม่รักษาแผลแล้วจะเดินไปข้างหน้าผมคิดว่ามันลำบาก สิ่งที่น่ากลัวมากคือ ความรุนแรงที่เกิดจากคนธรรมดาที่ไม่มีเครือข่าย น่ากลัว เพราะนั้นหมายความว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่เอาการเมืองในระบบแล้ว ฉะนั้น คณะค้นหาความจริงควรทำให้กระจ่าง ไม่ใช่อ้างดีเอสไอ เพราะรู้อยู่ว่าดีเอสไอไม่ได้รับความเชื่อถือ
 
ประการสุดท้าย ต้องตรวจสอบความเที่ยงตรงขององค์กรสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการทางการศาลที่จะทำให้ความขัดแย้งแพร่กระจายได้ อย่างศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปัญหามาก อย่างในคลิปที่เผยแพร่ในยูทูป คนที่มีหน้าที่พิจารณาคดียุบพรรค เรียกพรรคเพื่อไทยว่า “มัน” สะท้อนอคติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
 
สิ่งที่ต้องทำกันมากขึ้น คือ พวกเราต้องช่วยกัน เช่นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การควบคุมสถาบันการเมือง พวกเราต้องทำอะไรมากขึ้น ในสถานการณ์นี้ หวังว่าเราจะไม่ได้เดินไปสู่สงครามอย่างเต็มตัว มีกติกาที่เราสามารถโต้แย้งกันได้ แต่ไม่ทำให้เสียเลือดเสียเนื้อ 
 
................
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net