Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับจากการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมาได้สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์สังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันพรรคการเมืองซึ่งเป็นที่มาของอำนาจรัฐและการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชน ตลอดจนเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นระบบพรรคการเมืองมากขึ้นตามลำดับนั่นหมายถึงประชาชนเริ่มมีจิตสำนึกในจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ จึงเริ่มรวมกลุ่มทางการเมืองและจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาเพื่อเป้าหมายในการเข้าไปกำหนดนโยบาย
 
พรรคการเมืองจึงเป็นการรวมกันของกลุ่มบุคคลในสังคมโดยสมัครใจมีอิสระที่จะสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของตนอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ในการทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อต้องการส่งตัวแทนเข้าทำหน้าที่ในสภา อันจะได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยผ่านกระบวนการสรรสร้างแนวความคิดทางการเมืองเพื่อให้สาธารณชนยอมรับและสนับสนุนตามทิศทางของกลุ่ม
 
ความเป็นองค์กรที่มีลักษณะต่อเนื่องนี่เองที่ทำให้พรรคการเมืองมีความต่างออกไปจากการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ในลักษณะของกลุ่มเคลื่อนไหวเฉพาะกิจเพื่อเรียกร้องบางเรื่องราว ดังนั้นกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจึงสร้างเงื่อนไขหรือหลักประกันเพื่อให้เกิดความเคร่งครัดในการสร้างวัตถุประสงค์ทางการเมืองให้เป็นจริง เช่น จะมีกฎเกณฑ์เรื่องลักษณะการจัดตั้งหรือเรื่องจำนวนสมาชิกที่มีพอสมควรหรือบทบาทหน้าที่ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง
 
เมื่อพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานในระบบรัฐสภาหรือการเมืองในระบบประชาธิปไตยในลักษณะตัวแทน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนจัดตั้งพรรคการเมืองได้สะดวกขึ้น และให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการจัดตั้งเพื่อให้สามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่
 
แม้ว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันของเอกชนที่ปัจเจกมารวมตัวกันโดยตรง ไม่ถือว่าเป็นสถาบันของรัฐหรือเป็นสถาบันที่ถืออำนาจรัฐ แต่หากดูบทบาทหน้าที่ตามระบบกฎหมายจะพบว่ากฎหมายได้ให้ความสำคัญต่อสถาบันพรรคการเมือง และถือเสมือนว่าเป็นสถาบันรัฐในทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะนอกจากพรรคการเมืองจะมีบทบาทในการสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนแล้ว พรรคการเมืองยังเป็นสถาบันที่กำหนดนโยบายสาธารณะและตัดสินใจทางนโยบายให้แก่รัฐด้วย เราจึงไม่อาจแยกสถาบันพรรคการเมืองออกจากรัฐได้
 
พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracies)สามารถช่วยในการอธิบายเป้าหมายของกลุ่ม ช่วยอุ้มชูกลไกทางการเมือง จัดทำและส่งเสริมทางเลือกด้านนโยบาย และนำเสนอทางเลือกต่างๆให้กับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคการเมืองในรัฐสภาย่อมส่งผลเกื้อหนุนต่อรัฐบาลให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และนักการเมืองในพรรคเดียวกันมีแนวโน้มที่จะมีความรับผิดชอบซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น เนื่องจากต้องประสบกับปลายทางการเมืองที่เหมือนกันนั่นคือการลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งต่างก็มีความมุ่งหวังอย่างเดียวกันว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งจากเงื่อนไขของการที่ได้ใช้ชื่อพรรคร่วมกัน ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าพรรคการเมืองสามารถรับประกันว่านโยบายที่นำเสนอในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะเป็นทางเลือกในการแปลไปเป็นการตัดสินใจในเวทีสาธารณะที่เป็นประโยชน์ของพรรคการเมืองต่อการเลือกตั้ง [1] ในระบอบประชาธิปไตย
 
อย่างไรก็ตามระบอบประชาธิปไตยที่กำลังก้าวย่างไปข้างหน้ามักต้องเผชิญกับภาวะชะงักงัน อันเนื่องมาจาก การกำหนดขอบเขตอำนาจของรัฐในการควบคุมดูแลพรรคการเมืองอย่างเข้มงวด ในขณะที่พรรคการเมืองเองจะต้องนำเสนอนโยบายเพื่อจูงใจประชาชนที่สามารถตรึงการตัดสินใจเลือกพรรคที่ตนต้องการให้เข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบาย หากการจัดทำกฎหมายพรรคการเมืองปราศจากการระบุเงื่อนไขที่กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติได้หรือไม่สามารถปฏิบัติสิ่งใดได้แล้วนั้น ประเทศก็จะเสี่ยงกับการมีระบบการเมืองที่ปราศจากเมตรตาธรรม และจริยธรรมเพราะมีแต่จดจ้องทำลายล้างซึ่งกันและกัน
 
ในขณะเดียวกัน หากรัฐบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมดูแลการจัดตั้งการรณรงค์ การกำหนดนโยบาย และการดำเนินงานของพรรคการเมืองมากเกินไปก็อาจปิดกั้นมิให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของสังคม [2] และพรรคการเมืองจะไม่ยึดโยงกับความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ดังนั้นการการพิจารณาสถานะของสถาบันพรรคการเมือง เราจะต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองกับรัฐ พรรคการเมืองกับพรรคอื่นๆ พรรคการเมืองกับสมาชิกพรรค และที่ไม่อาจมองข้ามได้ต้องพิจารณาถึงพรรคการเมืองกับสาธารณชนเป็นสำคัญ
 
สิทธิและหน้าที่ของพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐควรคำนึงถึงในอันดับต้นๆสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นไปตามหลักการสากล 4 ประการ คือความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นสาธารณะ และความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค [3]
 
หลักเสรีภาพของพรรคการเมืองหมายถึง เสรีภาพในการตั้งพรรค ซึ่งถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะริเริ่มขึ้นมาเอง มิใช่เรื่องของรัฐ นอกเหนือจากเสรีภาพในการตั้งพรรคแล้ว ประชาชนยังมีเสรีภาพในการทำกิจกรรมอื่นๆ ของพรรค ซึ่งหมายถึงการเลือกนโยบาย การจัดองค์กรภายใน การเลือกชื่อพรรค การกำหนดข้อบังคับพรรค การเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการเลือกสมาชิกพรรค การจัดการเรื่องรายรับและทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงเสรีภาพที่จะยุบพรรคของตนด้วย ซึ่งเสรีภาพในที่นี้ มิใช่เสรีภาพขององค์กรพรรคการเมืองเท่านั้น แต่หมายถึงเสรีภาพของปัจเจกชนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคที่จะมีสิทธิเข้าหรือออกจากพรรคได้เสมอ ดังนั้น กฎเกณฑ์ของรัฐต้องเอื้อให้เกิดเสรีภาพดังกล่าวนี้
 
หลักความเสมอภาคในระหว่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะการมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ในการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือของสาธารณะ เช่น สื่อ หรือพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง ความคุ้มครองเรื่องความเท่าเทียมนี้ ยังมีผลบังคับทางอ้อม ไปยังภาคเอกชนมิให้ปฏิบัติต่อพรรคการเมืองโดยไม่เท่าเทียมด้วย เช่น การเลือกปฏิบัติต่อพรรคการเมืองหรือการให้พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งผูกขาดในการพิมพ์หรือการใช้สื่อของเอกชน ทั้งนี้ เพราะการเมืองยุคปัจจุบันเป็นเรื่องของประชาธิปไตยแบบมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีการแข่งขันกัน นอกจากนั้นยังรวมถึงการที่ประชาชนทุกๆคนที่อาศัยอยู่ในทุกพื้นที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน เช่นกรณีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศนี้ไม่ว่ายากดีมีจน หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ใดก็มีสิทธิลงคะแนนได้หนึ่งเสียงอย่างเท่าเทียมกัน
 
หลักการทำงานร่วมกับสาธารณชน หลักการทำงานและสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองร่วมกับสาธารณชน เป็นหลักการสำคัญเพราะพรรคการเมืองที่มีส่วนเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับสังคมและเป็นผู้ประสานงานระหว่างสภากับประชาชนในเขตเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าพรรคการเมืองต้องมีการสื่อสารกับสังคม ที่อาจเป็นทั้งการสื่อสารทางตรงกับประชาชนโดยตรง หรือผ่านทางสื่อเพื่อให้ประชาชนเข้าใจแนวทางและความคิดเห็นของพรรค โดยประชาชนมีสิทธิที่จะใช้ดุลพินิจเห็นสมควรในการเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคต่างๆ หรือไม่ตามประสงค์
 
หลักการมีประชาธิปไตยภายในพรรค เป็นการส่งเสริมให้พรรคการเมืองต้องสร้างกลไกประชาธิปไตยภายในให้เกิดขึ้น ไม่ว่าการมีข้อบังคับของพรรค หรือกิจกรรมอื่นใดที่มีหลักการประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานย่อมเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยทั้งสิ้น ดังนั้น พรรคการเมืองที่ฟังแต่คำสั่งผู้นำเพียงอย่างเดียวจึงเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีประชาธิปไตย อย่างที่สื่อมวลชนให้ฉายาว่า เถ้าแก่ หรือนายห้างตราใบห่อ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนี้อาจทำได้เพียงรูปแบบเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติ แม้จะมีข้อบังคับที่ดีแต่พรรคการเมืองก็มักจะมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการสั่งการจากผู้มีอำนาจตัวจริง ที่มีความเป็นไปได้สูงกว่าการริเริ่มหรือเรียกร้องจากสมาชิกพรรคจากด้านล่าง นอกจากนั้นหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อย ก็เป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้กับระบบภายในของพรรคการเมืองได้ด้วย หรือแม้กรณีการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่เหมาะสมหรือการควบคุมจริยธรรมของคนในพรรค ก็เป็นเรื่องสำคัญของประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน          
 
การเริ่มขยายบทบาทของประชาธิปไตยเสรี ที่ได้พยายามเบียดขับแนวทางสังคมนิยมออกจากกลไกของสังคมโลก ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 การพัฒนาทางการเมืองของประเทศประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และประเทศที่อยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งประเทศทั้งหลายเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางการเมือง 3 ประการคือประการแรกการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมระหว่างพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สองการสร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็งโดยให้ความช่วยเหลือองค์กรที่ประชาชนเป็นเจ้าของเพื่อรณรงค์ทางสังคมและสื่อมวลชนอิสระ และสามการเพิ่มความเข้มแข็งขององค์กรหลักของรัฐให้ระบบความยุติธรรมมีความเป็นอิสระ รวมทั้งการตรากฎหมายที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลรวมทั้งการจัดระบบราชการอย่างมีประสิทธิภาพ [4]
 
ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในกระบวนการประชาธิปไตยสมัยใหม่ระบบตัวแทนแต่การพัฒนาระบบสถาบันพรรคการเมืองกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีการยุบพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจากคำสั่งคณะรัฐประหาร คณะปฏิวัติ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คำสั่งศาลฎีกา และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนแล้วได้ส่งผลกระทบทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยเพาะการยุบพรรคจากคำสั่งคณะรัฐประหาร และมีการตรากฎหมายให้มีผลเป็นการลงโทษย้อนหลัง กลายเป็นความผิดปกติในสังคมประชาธิปไตย ที่ส่งผลให้แนวความคิดของประชาชนในสังคมไทยแตกขั้วนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิด ต่อเนื่องไปจนส่งผลกระทบต่อนโยบายการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างมากจนถึงปัจจุบันซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง
 
     
 
อ้างอิง
 
[1] ซูซาน สกาโรว์ (Susan scarrow). พรรคการเมืองและประชาธิปไตยจากมุมมองเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ:การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในพรรคการเมือง. สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อการต่างประเทศ(NDI). สหรัฐอเมริกา, 2005 :3
[2] เคนเนธ แจนดา ( Kenneth Janda ). พรรคการเมืองและประชาธิปไตยจากมุมมองเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ:การจัดทำกฎหมายพรรคการเมือง. สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อการต่างประเทศ(NDI). สหรัฐอเมริกา, 2005 :3
[3] สุนทรียา เหมือนพะวงศ์.ดร.ทฤษฎีกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง. สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม : ประชาไท, 29/5/2550
[4] โธมัส คาโรเธอร์ ( Thomas Carothers ) อ้างใน ปิปปา นอริร์ริส (Pippa Norris).พรรคการเมืองและประชาธิปไตยจากมุมมองเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ: การพัฒนาการสื่อสารของพรรคการเมือง. สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อการต่างประเทศ(NDI). สหรัฐอเมริกา, 2005 :3
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net