Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สังคมไทยขณะนี้เต็มไปด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ระแวงสงสัยว่าสุดท้ายจะได้มีการเลือกตั้งหรือเปล่า คนส่วนน้อยออกมาตั้งคำถาม (เชิงปฏิเสธ) ว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยจะสงบจริงหรือ (ดูตัวอย่างความเชื่อว่าประเทศไทยจะยิ่งยุ่งวุ่นวายหลังการเลือกตั้งได้ในบท สัมภาษณ์ของอาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1302958456&grpid=01&catid&subcatid) บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อโต้แย้งความคิดดังกล่าว แนวทางสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ที่หลายคนมองว่าจะเต็มไปด้วยความโกลาหล คือประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้ามวลชนสีหนึ่งได้รัฐบาลที่ตัวเองพอใจ รัฐบาลนั้นก็จะไม่เป็นที่ถูกใจของอีกสี ซึ่งก็จะตามมาด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะมีจริง พิสูจน์ได้หรือไม่ได้) บ้านเมืองเต็มไปด้วยการประท้วง จนรัฐบาลบริหารงานไม่ได้ หรือแม้แต่จะตั้งรัฐบาล ก็อาจตั้งไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แนวทางสถานการณ์แบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า หลังการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยจะเหมือนเดิมทุกประการ ถ้าจะเปลี่ยน ก็เปลี่ยนแค่ใบหน้าของผู้บริหารประเทศ แต่สมมติฐานนี้เป็นจริงหรือ คนที่ปฏิเสธการเลือกตั้งมั่นใจได้อย่างไรว่า ภายหลังการเลือกตั้ง สังคมไทยจะแบ่งสีแบ่งฝ่าย ในรูปลักษณะเดียวกับที่เรากำลังเผชิญอยู่ มีแนวคิดหนึ่งเรียกว่าสัญญาประชาคม (social contract) จอห์น ล็อกสงสัยว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงได้ยอมอยู่ใต้อาณัติบัญชาของผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในประเทศ สัญญาประชาคมคือการยอมสละเสรีภาพบางอย่าง เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แลกกับประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากการอยู่ตัวคนเดียว แม้ว่าสัญญาประชาคม จะเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้กับการปกครองได้ทุกรูปแบบ ภายใต้กษัตริย์เทวราชา ประชาชนเชื่อว่าผู้ปกครองเป็นร่างสมมติของเทพเจ้าที่พวกเขากราบไหว้ ภายใต้ระบอบเผด็จการ ประชาชนยอมสยบใต้ผู้ปกครอง เพราะอีกฝ่ายเข้มแข็งกว่า มีอาวุธ มีกำลังมากกว่าตัวเอง สัญญาประชาคมคือแก่นสำคัญในการเคลื่อนไหวของมวลชนทุกสีทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องการระบบการปกครองภายใต้ธรรมราชา ยอมสละเสรีภาพแก่ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม (หรือประชาชนเชื่อว่ามีคุณธรรม) เท่านั้น หรือฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย ยอมสละเสรีภาพแก่ผู้ปกครองที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าไป โดยมั่นใจว่าผู้ปกครองคนนั้น จะสามารถจัดสรรผลประโยชน์ได้อย่างยุติธรรม ลงตัวที่สุด ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมามีการขยับเคลื่อนตัวของมวลชนทั้งสองสี โดยอ้างอิงอยู่กับสัญญาประชาคม คนเสื้อเหลืองเรีียกร้องผู้ปกครองที่มีคุณธรรมตั้งแต่ปี 2548 เมื่อมาสมประสงค์กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ส่วนใหญ่ก็ค่อยๆ สลายตัวไปเอง (ส่วนที่ยังเหลืออยู่หรือถูกปลุกขึ้นมาใหม่ เพราะพวกเขาเชื่อว่านายกอภิสิทธิ์ไม่ใช่ผู้ปกครองที่มีคุณธรรมแบบที่พวกเขา โหยหา) คนเสื้อแดงเริ่มต้นจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แรกสุดเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของคนต่างจังหวัดที่คะแนนเสียงของพวกเขา ถูกกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ลิดรอนไป แต่ภายหลังการสังหารโหดเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 คุณธรรมก็เริ่มกลายเป็นอีกประเด็นหลักของการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันมวลชนเสื้อแดงก็เริ่มดึงดูดคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้นด้วย การเลือกตั้งในทางหนึ่งก็คือการสถาปนาสัญญาประชาคมขึ้นมาใหม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่ปรากฏการณ์ทางการเมืองขนาดนี้จะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อมวลชนทั้งสองสี ไม่ว่าจะเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแรงลง ผู้เขียนไม่ได้พยายามจะบอกว่าการเลือกตั้งจะแก้ทุกปัญหาความขัดแย้ง หรือหลังการเลือกตั้งจะมีแต่ความสงบสุข เพียงแต่สมมติฐานที่ว่า \เลือกตั้งมันก็แค่กระบวนการอันหนึ่งที่มันผ่านไปเพื่อตั้งรัฐบาล\" โดยสังคมหยุดนิ่งแช่แข็ง ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านมาในช่วงสี่ห้าปีนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net