Skip to main content
sharethis

18 พฤษภาคม 2554 เวลา 11.00 น. หน้ากองทำการกองทัพบก ถนน ราชดำเนินนอก ตัวแทนจากกลุ่มเฝ้าระวังกองทัพ (Military Watch) ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคมจำนวน 10 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก พร้อมมอบกะลา เพื่อสื่อถึงการครอบงำความคิดของกองทัพต่อประชาชน และเรียกร้องให้กองทัพเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและหยุดละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ โดยยกตัวอย่างกรณีที่กองทัพบกได้เป็นผู้สั่งฟ้องสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในแถลงการณ์ของกลุ่มได้เรียกร้องให้จำกัดกลุ่มบุคคลที่สามารถแจ้งความกล่าวโทษในข้อหาหมิ่นฯ โดยให้เป็นหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการแต่เพียงผู้เดียว เพื่อป้องกันมิให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง นายนครินทร์ วิศิษฐ์สิน ตัวแทนของกลุ่มกล่าวว่า “ที่มาในวันนี้ เนื่องจากต้องการส่งข้อความให้ยังผู้บัญชาการกองทัพบกได้ทบทวนบทบาทของตนเองในการดำเนินกิจการของฝ่ายทหาร ที่ส่งผลกระทบและสร้างความหวาดกลัวในสังคมประชาธิปไตย และเห็นว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ เป็นกฎหมายที่มีปัญหาทั้งในตัวข้อกฎหมาย กระบวนการการบังคับใช้และผู้ใช้ ทำให้กฎหมายดังกล่าวคุกคาม ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการ” กลุ่มเฝ้าระวังกองทัพ หรือ Military Watch เป็นกลุ่มเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่ง เพื่อต้องการสอดส่อง และจับตากิจกรรมตลอดจนถึงการแสดงบทบาทของกองทัพทางการเมือง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมต่อบทบาทของกองทัพที่มีต่อการเมืองไทย “ถ้ากองทัพมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ข่มขู่ คุกคามประชาชน เราจะออกมาเตือนทหารว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับกองทัพ เพราะที่ผ่านมากองทัพควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองมาตลอด เมื่อมีปัญหา เราจะคอยจับตาดูกองทัพ เช่นเดียวกับที่กองทัพจับตาการเมืองไทยมาตลอด” นครินทร์กล่าว จดหมายเปิดผนึก 18 พฤษภาคม 2554 เรียน ผู้บัญชาการทหารบก (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา) เรื่อง เอาเสรีภาพคืนมา เอากะลา(โหม)คืนไป นับแต่มีการตบเท้า และการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ตามมาตรา ๑๑๒ ประมวลกฎหมายอาญา โดยกองทัพบก กับกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น กรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และล่าสุดกองทัพบกได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นั้น กลุ่มเฝ้าระวังกองทัพ (Military Watch Group) เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจประกอบ ด้วย นักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคม มีความเห็นว่า การตบเท้าของข้าราชการทหาร ดังกล่าว เป็นการคุกคาม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยอิสระและสงบของประชาชน และละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของมนุษย์ กลุ่มเฝ้าระวังกองทัพ มีความเชื่ออย่างเสรีว่าการวิพากย์วิจารณ์ทางการเมืองก็ดี หรือการวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานะของสถาบัน พระมหากษัตริย์ ก็ดี ย่อมเป็นสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับการคุ้มครองทั้งในรัฐธรรมนูญและในกรอบกฎหมาย สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในแง่ที่ว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นสิทธิเด็ดขาดห้ามรัฐเข้าแทรกแซง” โดยห้ามมีข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดใดๆ ในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ซึ่งไม่แต่เพียงรวมถึงเสรีภาพในการ “รับและเผยแพร่ข้อสนเทศ และความคิดทุกประเภท” เท่านั้น แต่รวมถึงเสรีภาพในการ “แสวงหา” และ “รับ” ข้อมูลข่าวสาร โดย “ไม่มีพรมแดน” และด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่ว่าด้วย “วาจา ลายลักษณ์อักษร การพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่ออื่นตามที่ตนเลือก” ซึ่งแน่นอนว่า การใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนั้น จึงยอมให้มีการจำกัดสิทธิที่อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบุคคลอื่นหรือชุมชนส่วนรวม โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ดังกล่าว เป็นคุณค่าที่สำคัญสูงสุดในสังคมเสรีประชาธิปไตย กลุ่มเฝ้าระวังกองทัพ (Military Watch Group) จึงขอเรียกร้องให้ กองทัพและองค์กรหรือบุคคลอื่นใด ไม่มีหน้าที่แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาหมิ่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การดำเนินการดังกล่าวควรให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว เพื่อป้องกันมิให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด กองทัพในรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยต้องยอมรับและเคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ดังคำกล่าวในอดีตที่ว่า “มนุษย์ หากไม่สามารถพูดสิ่งที่คิดได้ ก็คือมนุษย์ที่ตายไปแล้ว”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net