Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อของบทความมีที่มาจากข้อความบนป้ายต่อต้านการรับน้องที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ที่กำลังเผยแพร่ไปทั่วในอินเทอร์เน็ตตอนนี้ ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องใหม่ก็คงไม่ใช่ เพราะการต่อต้านการรับน้องแบบรุนแรงนั้น ไม่ใช่เพิ่งมี กลุ่มโซตัสใหม่ของนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบรับน้องดิบๆ แบบนี้ ก็มีมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2512 ครั้งนี้ถ้าจะใหม่หน่อยตรงที่มันเร้าใจกว่า เพราะเป็นข่าวผ่าน Youtube และ/หรือ Facebook เรียกว่า น้องเป็นลมกันเห็นๆ คำพูดน้ำเสียงของรุ่นพี่แสดงสติปัญญาขนาดไหนก็ได้ยินกันตรงๆ เรียกว่าเหมือนกำลังดูรายการ Thailand’s got Tyrant กันเลยทีดียว และอีกอย่างคือ เรื่องอย่างนี้ถ้าไม่ได้พื้นที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้คนที่มีแค่มือถือก็สร้างเนื้อข่าวได้เอง ป้ายที่ว่าคงไม่มีโอกาสให้คนนอกได้เห็นแน่นอน เพราะสื่อปกติอย่างหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ไม่นิยม ข่าวมันไม่แรง ไม่ดราม่า ไม่เหมือนข่าวเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่ นิสิตชั้นปี 1 คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ใช้ปืนยิงตัวตาย เพราะเครียดจากกิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัย ตอนนั้นประเพณีการรับน้องในทุกมหาวิทยาลัยก็ถูกตัดคอเรียบร้อย ไม่ว่าจะโดยความยินยอมพร้อมใจหรือไม่ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) ออกคำสั่งห้ามทุกมหาวิทยาลัยจัดการรับน้องโดยเด็ดขาด ท่าทีของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ก็ดัง และรุนแรง เหมือนเสียงขู่ และ “ว้าก” ที่สนั่นห้องประชุมเชียร์ เล่นเอาผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ต่างหัวหดก้มหน้าติดพื้นกันเป็นทิวแถว ปัญหาการรับน้องก็เหมือนกับอีกหลายปัญหาที่เหง้าอยู่ใต้ดินที่เมื่อเลยช่วงประเด็นร้อน “ตอนนั้น” มันก็จะโผล่มา “ตอนนี้” การรับน้องหรือรับเพื่อนในนิยามของบางมหาวิทยาลัย มักผูกอยู่กับการซ้อมเชียร์ตามระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งเน้นให้มี การเชื่อฟังคำสั่ง(Order: O) ของผู้มีอาวุโส (Seniority: S) แบบตามๆ กันไป (Tradition: T) อย่างพร้อมเพียงเป็นหนึ่งเดียว (Unity: U) ด้วยความเสียสละทั้งกายใจ (Spirit: S) ซึ่งตัวแปรทั้ง 5 นี้หากเราแก้สมการออกมาก็ได้ผลลัพธ์เป็นอำนาจนิยมแบบอนุรักษ์นิยมนั่นเอง ระบบโซตัสนั้นเกิดขึ้นจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยเช่น อ็อกฟอร์ด และเคมบริดจ์ รวมทั้งโรงเรียนนายร้อย แซนด์เฮอสท์ ( Sandhurst) ซึ่งใช้เพื่อฝึกคนไปปกครองอาณานิคม จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา ระบบนี้เข้ามาในประเทศไทย เมื่อมีการก่อตั้งวชิราวุธวิทยาลัยตามแบบโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ และการตั้งโรงเรียนนายร้อยสำหรับฝึกทหารและตำรวจ เพื่อส่งคนไปปกครองตามหัวเมือง หรืออดีตอาณานิคมของไทย ส่วนในมหาวิทยาลัยระบบโซตัสเริ่มขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปลี่ยนมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการส่งอาจารย์รุ่นแรก ๆ ไปเรียนด้านการเกษตรที่ สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ จากข้างต้นทำให้เห็นว่าระบบโซตัสเป็นประดิษฐกรรมคร่ำครึ ที่เปลือกยังถูกนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยอย่างผิดยุคผิดสมัย ถึงจะผิดหวังกับวุฒิภาวะและปัญญาความคิดอ่านของนักศึกษาอาณานิคมเหล่านี้ แต่รุ่นพี่ทั้งหลายก่อนจะเปิดเทอมใหม่ให้มีรุ่นน้องมารับ ก็เรียกได้ว่ายังเป็นเด็กปีหนึ่งจะขึ้นปีสอง ต่อให้เจ้าตัวนึกว่ากลายเป็นผู้ใหญ่ข้ามคืนในเทอมใหม่ แต่จริงๆ ก็เป็นเด็ก(ปีหนึ่ง)เมื่อวานซืนดีๆ นี่เอง แทนที่จะตั้งคำถามกับเด็กนักศึกษา เราจึงน่าจะตั้งคำถามให้มากกว่ากับอาจารย์ มหาวิทยาลัย หรืออาจเลยไปถึงสังคมไทย เพราะพิธีกรรม ความเชื่อ กิจกรรมต่างๆ ย่อมอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่สอดคล้องกับระบบ หรือแนวคิดที่มีอยู่ โดยเฉพาะบางที ก็เป็นแนวคิดอนุรักษนิยมที่เร้นอยู่ในโครงสร้าง ที่ฉาบไว้ด้วยปูนชื่อ เสรีภาพอิสรภาพ ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก ขณะที่สังคมและคนในสังคมมีความเป็นปัจเจก และหลากหลายมากขึ้น สังคมที่เด็กรุ่นใหม่อยากไปเลี้ยงหมู เก็บผัก อบคุ้กกี้ มากกว่าอยู่ในห้องเชียร์ อยากหาแอดชื่อเพื่อนใหม่ใน Facebook มากกว่าไล่จดชื่อเพื่อนร่วมรุ่นตามคำสั่งรุ่นพี่ อยากเล่นเพลย์สเตชั่นมากกว่าไปวิ่งรอบคณะ ฯลฯ มหาวิทยาลัยไทย เดินช้า ล้าหลังจนตามไม่ทันสิ่งเหล่านี้ และไม่สามารถปรับตัว เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้ การตกค้างของฟอสซิลกิจกรรมแบบโซตัสนี้ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย หากปราศจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในการช่วยอนุรักษ์ไว้ ในหลายกรณีการเปลี่ยนหรือยกเลิกกิจกรรมโซตัส มักถูกค้านจากอาจารย์บางส่วนด้วยซ้ำ เพราะโซตัสช่วยรักษารูปแบบหลายอย่างที่ถูกจริตอาจารย์ไว้ได้เยอะทีเดียว เช่น นักศึกษาใหม่จะแต่งตัวอย่างเรียบร้อยถูกระเบียบร้อยเปอร์เซนต์ และนอบน้อมกับอาจารย์ (ตามคำสั่งรุ่นพี่)เป็นอย่างยิ่ง จริงๆแล้วหากอาจารย์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองยังไม่เชื่อและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนมากพอจะระงับหรือห้ามกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพแบบนี้ เสรีภาพทางวิชาการที่อ้างกันย่อมกลายเป็นคำเทศน์ที่จำเขามาอีกที โดยที่ตัวเองไม่ได้เคยเชื่อแนวคิดนี้เลย มิพักต้องพูดถึงคุณค่าต่างๆ ที่อ้างว่ามีในมหาวิทยาลัยเพราะมหาวิทยาลัยจะมีเสรีภาพทางวิชาการได้อย่างไรถ้าปล่อยให้ปัจเจกชนต้องก้มหน้าติดพื้นไม่สามารถพูดแสดงความคิดเห็น หรือถกเถียงได้อย่างอิสระเพราะอีกฝ่ายเกิดมาก่อนหนึ่งปี มหาวิทยาลัยจะสอนให้นักศึกษา มีความคิดเป็นของตัวเองเลิกเก็บกากวัฒนธรรมที่เขาทิ้งเรี่ยราดอย่างโซตัส ในเมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็ยังตามเก็บงานวิจัยเขามาลอก หรือเลียนแบบ มหาวิทยาลัยจะกระตุ้นให้นักศึกษาทำกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระได้อย่างไร ในเมื่อมหาวิทยาลัยยังคงหาเงิน โดยรับออกแบบและตัด(หลัก)สูตรออกมาเป็นโหลๆ เหมือนตัดสูท โดยไม่ได้คำนึงถึงเนื้อหาสาระ ป้าย“สตาฟฟ์ หยุดเผด็จการ” จริงๆ ออกจะน่าสงสัยด้วยซ้ำว่าตั้งใจยกให้ สตาฟฟ์เชียร์ สตาฟฟ์มหาวิทยาลัย หรือให้สังคมไทยอ่านกันแน่ *ดัดแปลงจากบทความ “โซตัส ปอมปอมเกิร์ลและความตายของมหาวิทยาลัยไทย”โดยผู้เขียน หมายเหตุกอง บก.:คลิปวิดีโอข้างต้นเป็นคลิปที่เพิ่งถูกเผยแพร่ใหม่หลังจากคลิปวิดีโอเดิมได้ถูกลบทิ้งไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net