Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ หวังแก้ปัญหาคดีโลกร้อน ร่วมนักวิชาการ แจงข้อมูล “กรรมการสิทธิฯ” ชี้ “แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน” ไม่เป็นวิชาการ ก่อนเข้ายื่นหนังสือร้อง “กรมป่าไม้” หยุดฟ้องคดีโลกร้อนชาวบ้าน วันนี้ (13 ก.ย.54) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระหลัก เรื่องการเข้าชี้แจงของกรมป่าไม้ และให้ข้อมูลกรณีการดำเนินคดีฟ้องร้องทางแพ่ง คิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมป่าไม้ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนยังได้เรียกให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าชี้แจง กรณีที่กรมอุทยานฯ ได้มีการศึกษาและปรับปรุงแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (แบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน) ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยอ้างอิงว่าปรับตามความเห็นของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในเวทีอนุกรรมการสิทธิชุมชน เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในการประชุม ตัวแทนชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้เข้าร่วมให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งโดยใช้แบบจำลองดังกล่าวของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ อีกทั้งมีนักวิชาการ อาทิ ผ.ศ.เตือนใจ ดุลย์จินดาชบาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ และ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอาวุโส ร่วมให้ข้อมูลถึงความไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของแบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมไม่มีตัวแทนจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการสิทธิชุมชนจะมีการทำหนังสือเชิญตัวแทนจากทั้งสองหน่วยงานเข้าชี้แจงข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนข้อสรุปจากการประชุม ทางอนุกรรมการสิทธิชุมชนจะรวบรวมข้อมูล ทำความเห็นในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชนของแบบจำลองดังกล่าว เพื่อยื่นต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น.สมาชิก คปท.จำนวน 15 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ยกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองโลกร้อนในการคิดค่าเสียหายทางแพ่ง และยุติการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายโลกร้อนจากชาวบ้าน โดยมีนายเสกสันต์ มานะอุดมสิน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ กรมป่าไม้ เป็นตัวแทนมารับมอบหนังสือ นายเสกสันต์ กล่าวกับกลุ่มผู้มายื่นหนังสือว่า ต้องการทราบข้อมูลปัญหาของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ พร้อมขอให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ส่วนเรื่องที่ยื่นเสนอมาในวันนี้นำเสนอต่ออธิบดีกรมป่าไม้และจะมีการนำเข้าที่ประชุมของหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ต่อไป ทั้งนี้ นอกเหนือจากกรมอุทยานแห่งชาติที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านในคดีโลกร้อนแล้ว ทางกรมป่าไม้เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่นำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายโลกร้อน มาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งกับชาวบ้านทั่วประเทศที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรทั่วประเทศประมาณ 1,200 ราย ที่ถูกดำเนินคดีโดยกรมป่าไม้ ตัวอย่าง สมาชิก คปท.ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบแล้ว คือ บ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ด้าน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินชี้แจงว่า เป้าหมายในการยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมป่าไม้ครั้งนี้ ไม่ได้คาดหวังผลการตอบสนองในทางปฏิบัติจากทางกรมป่าไม้ แต่จะนำผลทางเอกสารไปใช้ในการดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป ที่ คปท. ๔๓/๒๕๕๔ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ และยุติการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติจากชาวบ้าน เรียน อธิบดีกรมป่าไม้ สำเนาเรียน ๑. ฯลฯ นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ๒. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างถึง หนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๑๐.๔ /๑๕๗๕๒ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ เรื่อง หลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งจากการบุกรุกทำลายป่าไม้ สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. ความเห็นทางวิชาการ ของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๒. ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๓. บันทึกการสัมมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” ตามที่ท่านได้มีหนังสือสั่งการให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมป่าไม้ นำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ จัดทำโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งจากการ บุกรุกทำลายป่าไม้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ สำหรับการดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ รายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงนั้น จากข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) พบว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านเกษตรกร ทั้งที่อยู่ในกลุ่มสมาชิกและที่มิได้เป็นสมาชิกของ คปท. ถูกกรมป่าไม้ดำเนินคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้แบบจำลองดังกล่าวในการคิดคำนวณค่าเสียหายจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งการถูกฟ้องคดีดังกล่าวได้สร้างความทุกข์ร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยนอกจากชาวบ้านเกษตรกรจะมีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินสำหรับหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอยู่เดิมแล้ว ยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ถูกบังคับคดียึดทรัพย์สินไปชำระหนี้จนหมดตัวหรือต้องยอมถูกใช้แรงงานแทนการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน จนชาวบ้านหลายรายเกิดอาการเครียดและนำไปสู่ความขัดแย้งทำให้ครอบครัวแตกแยก เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ขอเรียนว่า การที่กรมป่าไม้นำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาบังคับใช้ในการดำเนินคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น เป็นการนำแบบจำลองที่ผลิตขึ้นโดยมิได้เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในทางแนวคิดทฤษฎีและขั้นตอนวิธีการในการสร้างแบบจำลอง และยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการจากหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญ มาบังคับใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่เป็นธรรม อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ตามเหตุผลดังต่อไปนี้ ๑. วิธีการหรือหลักการคิดคำนวณความเสียหายและค่าเสียหายที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำมาใช้ในแบบจำลองนั้น มิได้เป็นไปตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การตั้งสมมติฐานว่าอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวแปรอย่างรอบด้าน เช่น เมฆ ลม ฝน หรือช่วงเวลาที่ตรวจวัดอุณหภูมิ วิธีการคำนวณค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนขึ้นโดยการเปิดเครื่องปรับอากาศให้อุณหภูมิลดลง การคิดค่าเสียหายที่ทำให้ปริมาณน้ำในดินสูญหายโดยคำนวณจากค่าเช่ารถบรรทุกน้ำขึ้นไปฉีดพรมน้ำในพื้นที่ ๑ ไร่ เป็นต้น อีกทั้งการเก็บข้อมูลตัวแปรต่างๆ เพื่อนำมาคิดคำนวณค่าเสียหายนั้น ก็เป็นการเก็บข้อมูลอย่างหยาบๆ จากเพียงบางพื้นที่และบางช่วงเวลาเท่านั้น แบบจำลองดังกล่าวจึงเป็นเพียงการประมาณการที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและวิธีการที่ผิดพลาด ไม่สามารถนำมาใช้กับการประเมินความเสียหายในพื้นที่จริงซึ่งมีความซับซ้อนแตกต่างหลากหลายทั้งทางชีวภาพและภูมิศาสตร์ได้ นอกจากการสร้างแบบจำลองจะไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆแล้ว การนำแบบจำลองซึ่งมีลักษณะเป็นงานวิจัยทางวิชาการมาใช้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในทางกระทบสิทธิของประชาชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการทบทวนวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ อย่างรอบคอบรอบด้านจนเป็นที่ยุติและปราศจากข้อบกพร่องใดๆ ก่อน แต่กลับไม่ปรากฏว่าแบบจำลองของกรมอุทยานแห่งชาติฯได้เคยผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด การนำแบบจำลองดังกล่าวมาใช้เรียกค่าเสียหายจากประชาชนจึงเป็นการกระทำที่ปราศจากมาตรฐานและความรับผิดชอบทางวิชาการ ๒. แนวคิดพื้นฐานที่นำมาใช้ในการสร้างแบบจำลองดังกล่าวเพื่อคำนวณค่าเสียหายทดแทนอุณหภูมิที่สูงขึ้น แร่ธาตุที่ถูกทำลาย ปริมาณน้ำใต้ดิน ฯลฯ นั้น เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติส่วนต่างๆ นั้น มีปัจจัยมากมายที่เป็นตัวแปร มีกิจกรรมในสังคมหลายภาคส่วนที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและต้องรับผิดชอบในอัตราที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในระดับสากลนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเหตุปัจจัยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรโดยไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดที่สามารถคิดคำนวณความเสียหายได้อย่างชัดเจนแน่นอน กรมป่าไม้จึงไม่สมควรที่จะนำแบบจำลองซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยนักวิชาการทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติมาบังคับใช้ในทางที่กระทบหรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ๓. ชาวบ้านที่ถูกกรมป่าไม้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น เป็นเพียงเกษตรกรรายย่อยที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม การใช้ประโยชน์ในที่ดินดั้งเดิมในพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรมและดำรงชีพจึงมีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม วิถีการผลิตของเกษตรกรรายย่อยนั้นมิได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรมหรือทำให้โลกร้อน ตรงกันข้าม กลับเป็นวิถีการผลิตและวิถีชีวิตที่ช่วยปกป้อง บำรุงรักษาป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผสมผสาน การจัดการป่าชุมชน และการใช้สอยทรัพยากรอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๖ ที่ได้บัญญัติรับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างสมดุลและยั่งยืน การกล่าวหาว่าการทำเกษตรกรรมเพียงเพื่อยังชีพของชาวบ้านก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและคนในสังคมเมืองมีการบริโภคใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติและปล่อยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยละเลยไม่สนใจความเป็นจริงของสังคม ไม่เคารพต่อสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านอย่างยิ่ง ๔. การนำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ มาบังคับใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายในการฟ้องคดีแพ่งนั้น ถือได้ว่าเป็นการออกกฎที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๗ บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนนำมาบังคับใช้ แต่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯกลับมิได้เคยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อการบังคับใช้แบบจำลองดังกล่าวแต่อย่างใด กลับทั้งยังมิได้มีการประกาศบังคับใช้แบบจำลองในฐานกฎหรือระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นทางการและมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอให้ประชาชนสามารถรับรู้และตรวจสอบความถูกต้องได้ ดังนั้นการนำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมฯ มาใช้ นอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วย ด้วยเหตุผลความไม่ถูกต้องเหมาะสมดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และประชาชนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ท่านพิจารณายกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ และยุติการดำเนินคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติจากชาวบ้านทั้งหมด ทั้งนี้ หากจะมีการพัฒนาแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปใช้ในทางอื่นที่เกิดประโยชน์แก่สังคม ขอให้ท่านได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานทางวิชาการ ตลอดจนการดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญด้วย และหากท่านพิจารณาแล้วมีความเห็นหรือความคืบหน้าเป็นประการใด ขอให้ท่านกรุณาชี้แจงตอบกลับเป็นหนังสือด้วย ภายใน ๑๕ วันนับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ ขอแสดงความนับถือ (นายสมนึก พุฒนวล) กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net