Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

\ศรีสุวรรณ จรรยา\" นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ประกาศเจตนาท้ารบกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่ยอมยืนยันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ เข้าสภาฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2550 ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 อาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ความสำคัญกับ “สิทธิชุมชน” และ “สิทธิสิ่งแวดล้อม” ไว้เด่นชัดเป็นรูปธรรมที่สุด โดยเฉพาะในบทบัญญัติมาตรา 66 และ 67 ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายในมาตราดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา สิทธิดังกล่าวแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ก็ได้เคยบัญญัติไว้บางส่วนแล้วในมาตรา 46 และมาตรา 56 แต่ทว่าในฉบับปี 2540 มิได้สามารถนำมาบังคับใช้ได้ทันที ต้องรอให้มีการออกกฎหมายลูกขึ้นมารองรับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน เพราะในตอนท้ายของกฎหมายกลับเขียนไว้ว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เพราะในภาษากฎหมายเป็นที่รู้กันว่า ถ้ายังไม่มีกฎหมายลูกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เรื่องดังกล่าวจึงเข้าล็อคของเหล่านักการเมือง ผู้ประกอบการนายทุนและข้าราชการบางส่วนที่ไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ดังนั้นเราจึงเห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัดว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ปี ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประกาศใช้ 11 ตุลาคม 2540 จนถึงวันที่รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก 19 กันยายน 2549 การผลักดันให้มีกฎหมายลูกเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 46 และ 56 จึงไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ แต่หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ขึ้นมาและประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ความพยายามที่จะขัดขวาง หรือต่อต้าน หรือไม่เห็นชอบให้มีการอนุวัตรกฎหมายลูกให้ออกมาบังคับใช้ ยังคงถูกต่อต้านตลอดเวลาจากพวกนักการเมือง ผู้ประกอบการนายทุน และข้าราชการบางส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้จะได้มีการเสนอ กระตุ้น ร้องเรียน ต่าง ๆ นานาจากภาคประชาสังคมมากมายเพียงใดก็ตาม จนในที่สุดระยะเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้นำเข้าสภาให้เห็นชอบแล้วนำออกมาประกาศบังคับใช้ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุด เริ่มจับเล่ห์ฉลของเหล่านักการเมือง นายทุน และข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้ จึงได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย ขึ้นมาใช้ทันทีโดยฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ต่อมาไม่นานวันที่ 29 กันยายน 2552 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราวสิทธิชุมชนของชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง ตามคำฟ้องโดยสั่งให้หน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้อง 8 หน่วยงานได้สั่งให้ผู้ประกอบการนายทุนเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงจำนวน 76 โครงการระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราวก่อน คำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว เปรียบเสมือนฟ้าผ่าลงมากลางหัวใจของรัฐบาลและนักธุรกิจทุนอุตสาหกรรมทั้งหลาย เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า พลังของสิทธิชุมชนจากชาวบ้านตัวเล็ก ๆ จะสามารถทำให้เหล่าพวกยักษ์อุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐร้องโอดโอยไปได้ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดอีกเช่นกันว่าผู้กุมอำนาจรัฐทั้งหลาย จะพ่ายแพ้มรรควิธีตามกระบวนการของกฎหมายโดยภาคประชาสังคม นักการเมือง นายทุน และข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่างออกมาเสนอหน้าเพื่อขอความเห็นใจและเร่งรีบผลักดันให้มีกฎหรือระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง แทบจะโดยทันที ไม่ว่าภาคประชาสังคม ประชาชนจะเสนอแนะอะไรเป็นตอบรับเห็นดีเห็นงามไปหมด จนในที่สุดเราก็ได้ระเบียบหรือแนวทางเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ได้ประเภทกิจการรุนแรง และเราก็ได้ร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแล้วจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่เนื่องจากเกรงว่าภาคธุรกิจผู้ประกอบการจะเสียหายไปมากกว่านี้จึงได้ช่วยกันผ่อนปรนหรือยอมอ่อนข้อให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นมาเป็นการชั่วคราวก่อน ในรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคาดหวังว่าเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผ่านกฤษฎีกา ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสภาแล้วจะมี “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ที่ถาวรอยู่ในรูปพระราชบัญญัติโดยเร็วต่อไปทันที แต่เผอิญมีการยุบสภาไปเสียก่อน ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงต้องค้างพิจารณาไว้ที่รัฐสภา จนกว่าจะมีสภาผู้แทนชุดใหม่ และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำงานแล้ว เพราะตามหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการเลือกตั้ง หากมีกฎหมายใดที่ค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาจะต้องตกไป เว้นแต่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้ร้องขอกลับไปยังรัฐสภาภายใน 60 วันหลังจากมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (1 สิงหา 54) กฎหมายต่าง ๆ ที่ค้างรัฐสภาอยู่ก็จะสามารถเดินหน้าการพิจารณาต่อไปได้ เรื่องนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และผองเพื่อนได้ยื่นจดหมายถึงท่านายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯแล้ว 2 ครั้ง เพื่อขอให้ท่านได้ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาฯได้พิจารณาดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 54 ที่ระบุไว้ในนโยบาย ข้อที่ 5.3 เกี่ยวกับนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเร่งรัดการควบคุมมลพิษ โดยการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงขององค์กรภาคประชาชน และผลักดันกฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเท่าที่ทราบข่าวมาว่าฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มสายอดีตรัฐมนตรียิงตู้เย็นพรุน ไม่ต้องการให้มีกฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันฝ่ายราชการประจำในกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็เห็นพ้องด้วย เพราะหากปล่อยให้มีองค์การอิสระฯถาวรขึ้นมา อาจจะเป็นการสร้างองค์กรใหม่มาบดบังรัศมีหน่วยงานของตนนั่นเอง เรื่องนี้ต้องติดตามดูกันต่อไป ถ้ารัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมยืนยันกฎหมายดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป ก็จะเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สมาคมฯจักต้องนำเสนอต่อศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่สมาคมฟ้องร้องเกี่ยวพันอยู่กับประเด็นดังกล่าวในหลาย ๆ คดีต่อไป ซึ่งจะชี้ให้ศาลเห็นว่ารัฐบาลหลอกลวงประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะคดีมาบตาพุดที่ยังรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นศาลปกครองสูงสุดอยู่ รวมทั้งการก้าวย่างสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และจะพิสูจน์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และ 67 ในอีกหลายคดี ซึ่งหากรัฐบาลเบี้ยวไม่ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าว สมาคมฯจำต้องร่วมมือกับชาวบ้านทั่วประเทศ จะช่วยกันฟ้องร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบไม่ไว้หน้ากัน หรือไม่ต้องเกรงใจกันอีกต่อไป อาทิ คดีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายในจังหวัดระยอง คดีการไม่ยอมประกาศผังเมืองรวมในพื้นที่มาบตาพุด และจังหวัดระยอง คดีเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบจากการแพร่กระจายมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและใกล้เคียง คดีล้มโรงไฟฟ้า IPP-SPP ทั่วประเทศ คดีล้มโครงการย้ายโรงงานยาสูบไปที่อยุธยา คดีล้มโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายใน กทม. คดีล้มมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ คดีล้มแลนด์บริดจ์ท่าเรือปากบารา คดีล้มกองทุนน้ำมัน คดีล้มโครงการใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย และอีกหลาย ๆ คดี เรื่องนี้ไม่ใช่ขู่แต่เอาจริง ตราบใดที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯเข้าสภาภายใน 29 ก.ย.นี้...ไม่เชื่อลองดูกัน..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net