Skip to main content
sharethis

(20 ก.ย.54) ในการเสวนา "การกำกับดูแลวิทยุชุมชน บทเรียนราคาแพงที่ กสทช.ต้องเรียนรู้" ณ โรงแรมบางกอกชฎา วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เสนอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง แยกประเภทของวิทยุที่มีอยู่ให้ชัดเจน เพื่อให้วิทยุเลือกขึ้นทะเบียนให้เหมาะกับประเภทของตนเอง แบ่งเป็นวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจ และวิทยุบริการสาธารณะ

วิชาญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการเปิดให้ขอขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน มีวิทยุขนาดเล็กหลายลักษณะขอขึ้นทะเบียนกว่า 6,000 สถานี และมีอีกราว 1,000 สถานีที่ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียน ซึ่งวิทยุ 7,000 กว่าสถานีนี้มีทั้งวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจขนาดเล็ก วิทยุการเมือง วิทยุศาสนา วิทยุของท้องถิ่น ทำให้คนเข้าใจผิดว่า ทั้งหมดคือวิทยุชุมชน ส่งผลให้วิทยุชุมชนไม่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน เพราะถูกเข้าใจว่าเป็นวิทยุการเมือง หรือวิทยุขายของ แม้แต่หน่วยงานของรัฐ อบต. ก็ไม่กล้าตั้งงบออกมาสนับสนุน เพราะยังไม่มีระเบียบวิทยุชุมชนที่ชัดเจน

วิชาญ กล่าวต่อว่า เมื่อไม่มีการแยกประเภท ทำให้ไม่มีการควบคุมกำลังส่ง วิทยุชุมชนต้องต่อสู้กับวิทยุชุมชนของทุนใหญ่ที่มีกำลังส่งแรงกว่า หลายสิบคลื่นต้องปิดตัวลงเพราะถูกกวนสัญญาณ ทั้งหมดนี้ทำให้แทบไม่มีวิทยุชุมชนในความหมายเดิมเหลือ

นอกจากนี้ วิชาญเรียกร้องให้สังคมจับตาการทำงานของ กสทช.ในการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ โดยตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ต้องให้ประชาชน 20% และว่าขณะนี้ คลื่นส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐและทหาร ขณะที่ กสทช.ชุดนี้มีทหารเข้าไปพอสมควร ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่ความบังเอิญที่มี กสทช. เข้าไปเยอะ จนบางสื่อเรียกล้อว่าเป็น "กสทบ."

วิชาญเสนอว่า ควรทบทวนระเบียบวิทยุชุมชนที่มีอยู่เดิมด้วย เช่น การต้องนำเครื่องส่งสัญญาณมาตรวจมาตรฐานทางเทคนิคที่กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างภาระให้ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด ในส่วนกองทุน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ควรมีคณะกรรมการกองทุน และคำนึงถึงสัดส่วนของผู้ที่เข้าไปดูแล โดยระบุให้ชัดว่าต้องให้กับภาคประชาชนเท่าไหร่ เพื่อให้การสนับสนุนไปถึงชุมชนจริงๆ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ความไร้ระเบียบหรืออนาธิปไตยของการจัดการวิทยุชุมชน เป็นผลจากการที่รัฐเพิกเฉยไม่เข้ามาดูแล ส่งเสริมการทำงานของภาคประชาชน ทั้งที่วิทยุชุมชน ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน แต่ 14 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐไม่เข้าใจ ส่งเสริมผิดทาง วิธีคิดผิด นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิ เช่น การไล่จับเครื่องส่ง โดยอ้าง พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498

ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ เสนอว่า กสทช.ต้องทำงานกับประชาชน โดยยกตัวอย่างกรณีที่สถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส มีเครือข่ายนักข่าวพลเมือง เป็นสื่ออาสาทั่วประเทศ กสทช.ก็ต้องทำงานกับชุมชน ว่าจะเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร ถ้าทำได้ วิทยุชุมชนจะเกิดได้

นพ.นิรันดร์ ย้ำว่า ต้องมีวิธีคิดที่ตรงกันว่าวิทยุชุมชนคือการปฏิรูปสื่อ นอกจากสิทธิเสรีภาพแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เริ่มจากการรับรู้ข่าวสารที่ตรงกัน ถ้าสังคมเงียบ ปิดลับ จะเกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือการทุจริต และการใช้อำนาจเกินเลยในการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

สาโรจน์ แววมณี นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการจัดทำแผนแม่บทของ กสทช.ว่า ต้องทำให้เข้าหลักการที่ว่า ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่เช่นนั้น อาจเกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองจากผู้เสียประโยชน์ ส่งผลให้เกิดความชะงักงันในการจัดการคลื่น

สาโรจน์ เสนอให้มีการกระจายอำนาจลงไปในระดับท้องถิ่น โดยโครงสร้างประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้เสีย เช่น วิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจ เพื่อให้การยื่นขอใบอนุญาต เป็นการตัดสินใจในระดับพื้นที่ พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมา การยื่นขอใบอนุญาตชั่วคราวที่ทำเมื่อปี 2552 มีผู้ยื่น 6,000 ราย แต่ได้ใบอนุญาตเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งสาเหตุมาจากความล่าช้าเพราะรวมอำนาจตัดสินใจที่ส่วนกลาง

สำหรับ ว่าที่ กสทช. ซึ่งอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้า ได้แก่
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท.
พ.อ.รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธาน กทค.
พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ
พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า
พล.ท.อาจารย์ ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ
รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net