Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: บทความนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าเพิ่งมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้เมื่อคืน ผมไม่ทราบว่าหนังเรื่องนี้เข้าโรงมานานขนาดไหน หรือมีใครเขียนบทวิจารณ์หนังไปบ้างหรือยัง ซึ่งถ้าบทวิจารณ์ที่จะเขียนต่อไปนี้ไปพ้องกับใครก่อนหน้านี้แล้ว ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยเพราะไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบความคิดใคร แต่ผมยังไม่ได้เช็คบทวิจารณ์หนังของท่านอื่นๆ ฮูอากง เป็นหนังสั้นสี่เรื่องในชุดหนังชื่อ 4 หลุด กำกับภาพยนตร์โดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับหนุ่มหน้าใหม่มากความสามารถ ซึ่งเคยกำกับหนังหลายเรื่องที่ไม่ดังเพียงแค่ในไทยเท่านั้นแต่ซีดีหนังของเขายังขายได้ในต่างประเทศ อย่างเช่น 13 เกมส์สยอง หรือ รักแห่งสยาม เรื่องฮูอากง เมื่อดูจากต้นจนจบแล้ว เผินๆ อาจเหมือนหนังผีหลอกสยองขวัญธรรมดาแล้วหักมุมกลายเป็นหนังตลกตอนหลัง ด้วยมีพล็อตเรื่องแค่ครอบครัวจีนไทยครอบครัวหนึ่งอากงตายและก่อนตายสั่งเสียลูกหลานว่าอย่าเผาศพตัวเอง แต่ไม่ทันที่อากงอธิบายเหตุผล อากงก็ตายไปก่อน ลูกหลานเลยต้องผจญกับความเฮี้ยนของอากง แต่เมื่อติดตามผลงานและความคิดของผู้กำกับแล้ว นับว่าเขาไม่ธรรมดา ชูศักดิ์เป็นคนที่ติดตามเรื่องการเมืองไม่ใช่เพียงผิวเผิน แต่เขาศึกษาอย่างดีโดยรับข้อมูลทั้งสองฝ่ายไม่ว่าเหลืองหรือแดง และแสดงความเห็นถึงโครงสร้างของสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ แน่นอนล่ะ ไม่มีใครบัญญัติไว้ว่าผู้กำกับห้ามมีทัศนคติทางการเมือง หรือห้ามใส่ข้อคิดเห็นทางการเมืองเข้าไปในหนังของตนเอง แต่การแทรกประเด็นหนังให้แนบเนียนโดยไม่ทำให้อรรถรสของหนัง หรือผู้ชมรู้สึกกระอักกระอ่วนนั้น ก็ต้องอาศัยศิลปะของผู้กำกับเช่นกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่วัฒนธรรมการบอยคอตสินค้าฝั่งตรงข้ามเป็นที่นิยมแล้ว ความสามารถในการสอดแทรกยิ่งสำคัญใหญ่ นอกจากนี้การซ่อนประเด็นทางการเมืองสร้างความสนุกให้ผู้ชมในการนั่งถอดรหัสในหนังที่แอบไว้ได้ด้วย สำหรับหนังเรื่องนี้แล้วนอกจากเป็นหนังตลก ถ้าผมบอกว่ามันเป็นหนังการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยและควรได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่องสร้างหนังปรองดองก็คงไม่เกินไป เริ่มต้นด้วยชื่อเรื่อง ฮูอากง ทำไมถึงชื่อ ฮูอากง นอกจากฮูเป็นตัวแทนของชื่ออากงในเรื่องคือ “อาฮู” แล้ว มันยังพ้องเสียง « Who » หรือใครในภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องจึงเป็นการตั้งคำถามแก่ผู้ชมแล้วว่า ใครคืออากง ซึ่งในเรื่อง อากงเป็นคนไทยเชื้อสายจีนทำมาค้าขายเมืองไทย สร้างความมั่งคั่งให้ลูกหลาน มีกงสีเป็นของตนเอง และแล้วอากงก็ถึงสังขารตายไป ซึ่งชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 72 ปี อายุของอากงเมื่อเปรียบเทียบกับอายุของประชาธิปไตยของไทย 80 ปีแล้ว ประเด็นที่ซ่อนอยู่ในหนังก็ค่อยๆ คลายออกมา ผมขอเกริ่นไว้ก่อนว่า อากงในเรื่องไม่ใช่ชายแก่ธรรมดา แต่สามารถแทนด้วยสามสิ่งคือ “ประชาธิปไตย” “นักการเมือง” และ “ผีทักษิณ” แน่นอนล่ะว่าสามสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และบางครั้งเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ทำไมถึงถูกแทนที่จากอากงได้ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป เรื่องเริ่มด้วยการประชุมตระกูลไพศาลพิบูลย์วาณิช พร้อมมีเสียงของหลานสาว “สอง” อธิบาย เธอกล่าวว่า “การประชุมที่แสนน่าเบื่ออึดอัดยาวนาน” และมีภาพแท่งอัปโหลดที่ใบหน้าของอาเล้ง (พ่อของสองและลูกของอากง) ขึ้น ตระกูลไพศาลพิบูลย์คือตัวแทนของสังคมไทยปัจจุบันที่น่าเบื่ออึดอัดและล้าหลัง และต้องรีสตาร์ทใหม่อย่างเดียว ผลสรุปการประชุมอาเล้งก็ใช้อำนาจลูกชายคนโตของตระกูลสั่งน้องๆ และลูกหลานทุกคนมานอนเฝ้าศพอากง อาเล้งเป็นตัวแทนของประชากรอายุ 50 ถึง 60 ปี เป็นประชากรที่ผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งสำคัญๆ ไม่ว่าคอมมิวนิสต์ เผด็จการทหาร เผด็จการอำมาตย์ ประชาธิปไตยครึ่งใบและประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นกลุ่มประชากรที่มีความใกล้ชิดกับอากง (ประชาธิปไตย) มากกว่าลูกหลาน และได้ผลประโยชน์จากอากง (ประชาธิปไตย ไม่ว่ารูปแบบไหน ทั้งเผด็จการทหาร ครึ่งใบ หรือเต็มใบ) นอกจากนี้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคนอดีตตุลา และเป็นกลุ่มคนชนชั้นปกครองไทยในปัจจุบัน สองค่อยๆ อธิบายถึงสมาชิกครอบครัวทีละคน “หนึ่ง” พี่ชายของสองและเป็นมือวางที่จะต้องสานต่อกิจการกงสีต่อ หนึ่งเป็นตัวแทนของประชากรอายุ 20 ถึง 30 ปีที่เพิ่งจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนั้นหนึ่งซึ่งเป็นผลผลิตของเผด็จการทางความคิดจากเล้ง (ระบอบเผด็จการทหาร) ส่งผลให้หนึ่งไม่ได้เป็นอย่างที่อยากจะเป็น หนึ่งต้องสืบทอดกิจการแล้วหนึ่งยังต้องแอบเป็นแมนทั้งๆ ที่อยากเป็นผู้หญิง เมื่อติดตามหนังต่อไปเรื่อยๆ หนึ่งยังเป็นตัวแทนของประชากรชั้นกลางไทยที่นอกจากไม่เป็นตัวของตัวเองแล้วยังเป็นชนชั้นกลางที่เปราะบาง กลัวทุกๆ สิ่งที่มองไม่เห็นและจินตนาการความกลัวไปเอง และพร้อมที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ สองน้องสาวของหนึ่งและตัวเอกของเรื่อง เป็นคนที่นับว่ามีเหตุผลที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหมด แต่ก็อยู่ภายใต้เผด็จการเล้งเช่นกัน เมื่อถูกบังคับให้ไปดูตัวผู้ชายที่พ่อแม่หาไว้ให้ เฮียโอ เป็นลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่จากการที่เขาเรียนจบเป็นหมอ เขาเป็นคนหยิ่งจองหองไร้น้ำใจและเหี้ย โอเป็นตัวแทนของประชากรอายุ 20 ถึง 30 ปีที่มีโพเทนเชียลในการเป็นชนชั้นอีลิทต่อไปในอนาคต ดิว ลูกพี่ลูกน้องอีกคน เป็นตัวแทนของหนุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นโอตาคุ ทะลึ่ง และหมกมุ่นเรื่องเพศ และยังเป็นตัวแทนของพวกที่ไม่มีโพเทนเชียลในการผลิตอะไร อีกคนเป็นน้องสาวดิวชื่อ แอ เป็นตัวแทนของสาววัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีที่วันๆ หมกมุ่นกับบีบี ปัญหาเริ่มต้นเมื่ออากงตายไป และต้องมีการเฝ้าศพอากง และทางครอบครัวก็จ้างลูกจ้างมาเฝ้าอากงแทน แต่ลูกจ้างทุกๆ คนต่างก็พบกับความเฮี้ยนของอากง สิ่งที่น่าสนใจคือบรรดาความกลัวที่เกิดขึ้นเป็นความกลัวที่เกิดจากการมีสิ่งต่างๆ กระตุ้นให้คิดไปเอง ขณะที่ลูกจ้างนั่งเฝ้าอากงอยู่ก็ดูหนังผีไปด้วยและกลัวขึ้นมา อากง (ประชาธิปไตย) ที่เคยเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจให้ลูกหลานตายไปแล้ว ก็โดนสื่อ (หนังผี) กลายร่างปลุกผีอากง (ผีทักษิณ) ให้เกิดขึ้นมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ผีอากง (ผีทักษิณ) ขึ้นมาทางครอบครัวจึงต้องสืบต้นสายปลายเหตุ แต่ทว่าที่นี่คือ ไพศาลพิบูลย์วาณิช (สังคมไทย) สิ่งที่มาพิสูจน์ผีอากงกลับไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือใช้เหตุผล แต่เป็นเจ้าพ่อหมอผีที่ใช้การเดามั่วมาพิสูจน์หาความจริง เจ้าพ่อหมอผีกล่าวหาว่าผีอากง (ผีทักษิณ) เกิดจากผีเร่ร่อนภายในบ้านหลังนี้ แต่ขณะเดียวกันหมอผีก็ไม่กล้าทิ้งอากง (ประชาธิปไตย) ไว้และต้องหนีบไว้ตลอดเวลาเพราะว่ามันมีประโยชน์ให้ไพศาลพิบูลย์วาณิช จากการที่หมอผีบอกว่าอากงซ่อนสมบัติไว้ในบ้านหลังนี้ไว้ให้หลานรัก โดยบรรดาคนรุ่นพ่อต่างคิดว่าอากงจะบอกที่ซ่อนสมบัติ (อำนาจการปกครอง) ให้เฮียโอหลานรักที่เป็นหมอ (ตัวแทนอีลิทในอนาคต) ต่อมาตอนกลางคืน สองลงมาห้องครัวและพบว่าตู้เย็นเปิดอยู่ หนึ่งก็ลงมาเช่นกันซึ่งเราจะเห็นคาแรกเตอร์ของหนึ่ง (ชนชั้นกลาง) ได้มากขึ้นเมื่อหนึ่งเปราะบาง กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นและพร้อมจะโยนความผิดทุกอย่างไปให้ ดิว (วัยรุ่นไทย และตัวสร้างปัญหาในสายตาของหนึ่ง) แต่สองแย้งว่าไม่ใช่ดิวหรอก แต่อากงตอนมีชีวิตอยู่ก็ชอบทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นจุดกระตุ้นให้สองอยากรู้ว่าผีอากง (ผีทักษิณและนักการเมือง) ต้องการอะไร ต่อมา แอลูกสาวคนเล็กอยากเข้าห้องน้ำและต้องพบกับความเฮี้ยนของอากงจนผมตั้ง เมื่ออากงลุกขึ้นมาที่ม้านั่ง หลานๆ ทุกคนตื่นขึ้นมาดูเหตุการณ์ ปรากฏว่า อากงไม่ได้นอนอยู่ในที่ที่ควรนอน หนึ่งและเฮียโอต่างกล่าวหาว่า ดิว (วัยรุ่นไทย) เป็นสาเหตุของปัญหาอีกครั้ง อาเล้ง (เผด็จการทหาร) มาถึงก็สั่งให้หลานๆ นำผีอากง (ผีทักษิณและนักการเมือง) กลับเข้าที่อีกครั้ง หนึ่ง (ชนชั้นกลาง) ก็อ้างว่า อากง (ประชาธิปไตย) เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเคารพ และต้องให้ทุกคนนำอากง (ผีทักษิณและนักการเมือง) กลับเข้าที่เดิม หลานทุกๆ คนพยายามนำอากงเข้าที่เดิม ยกเว้น เฮียโอ (ชนชั้นอีลีท) ที่ทำท่าทางรังเกียจและกลัวอากง (ประชาธิปไตย นักการเมือง ผีทักษิณ) และไม่ร่วมสังฆทานด้วย ในขณะที่ขนอากงกลับเข้าที่ ริงโทนของดิวก็ดังขึ้นแต่เป็นเสียงผี และเป็นอีกครั้งที่เสียงริงโทน (สื่อ) สร้างความน่ากลัวให้ผีอากง (ผีทักษิณ) มากขึ้น ฉากตัดมาที่ห้องของดิวกำลังช่วยตัวเองผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ แต่ปรากฏว่าผีอากงกลับเข้ามาในห้องดิว ดิวพยายามผลักผีอากงออก แต่ผลักท่าไหนไม่รู้กลายเป็นท่าผีอากงใช้ปากช่วยดิวสำเร็จความใคร่อยู่ ฉากนี้ผมจัดให้เป็นฉากที่พีคที่สุดในเรื่องในการอธิบายสังคมไทยได้แสบสันที่สุด เมื่อดิวคือตัวแทนของชนชั้นกลางไทยทุกคนที่ไม่ประสากับการเมืองและไม่หาความรู้ทางการเมืองมากพอ แต่ก็ใช้อากง (ผีทักษิณ) ในการสำเร็จความใคร่ทางประชาธิปไตยของตัวเอง ต่อมาดิวก็ถูกสอบสวนและประนามจากหนึ่งและเฮียโอ ดิวโกรธและผรุสวาทออกมาว่า ใครบ้างที่ไม่เคยช่วยตัวเองหน้าคอม หนึ่ง (คนชั้นกลางบ้าศีลธรรม) โพล่งออกมาทันทีว่า บัดสีบัดเถลิง หนึ่งเป็นภาพลักษณ์ของพวกมือถือสากปากถือศีลของไทยที่พร้อมจะใช้ศีลธรรมจริยธรรมตราหน้าคนอื่นให้กลายเป็นคนชั่วทันทีโดยหารู้ไม่ว่า ตัวเองต่างหากมีความคิดที่ผิดปกติไปจากสังคม เรื่องเริ่มจะบานปลายเป็นไฟลามทุ่ง “นี่แหละวิถีของตระกูลเราเป็นวิถีแห่งความว่างเปล่าและไร้ความหมาย” เป็นสองที่มองปัญหาตระกูล (สังคมไทย) อย่างหมดหวัง ทันใดนั้น สองก็มองเห็นมืออากงกำรูปภาพอะไรบางอย่าง แล้วอากง (ผีทักษิณ) ก็เฮี้ยนลุกขึ้นมาอีกครั้งจนหนึ่ง (ชนชั้นกลาง) เป็นบ้าไป คราวนี้อากงไม่ได้ลุกอย่างเดียวแต่มุ่งหน้าเดินไปสถานที่แห่งหนึ่ง บรรดาลูกหลานต่างสงสัยจึงเดินไปด้วย ซึ่งการเดินทางของอากงครั้งนี้หมายถึงการเดินทางจากการเปลี่ยนแปลงจากผีทักษิณไปเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ในขณะที่นั่งรถไปด้วย เฮียโอพยายามใช้หลักวิทยาศาสตร์ (วิชาการ) อธิบายความแตกต่างระหว่างผีทักษิณและประชาธิปไตยให้แยกออกจากกัน แต่ภายหลังเราจะทราบว่าสิ่งที่โอพูดไม่ใช่สิ่งที่ผีอากงประสงค์ทำเลย ผีอากงมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งปรากฏมีหญิงชรามารอพบอยู่ ทันใดนั้นผีอากง (ผีทักษิณ) ก็กลายร่างเป็นอากงสมัยหนุ่ม (ประชาธิปไตยยุคเริ่มต้น) “ฉันมาแล้วจำเนียร ฉันทำหน้าที่ของฉันหมดแล้ว เราไปกันเถอะ” อากงขณะนี้เป็นตัวแทนของนักการเมืองซึ่งสื่อว่าบรรดานักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อทำหน้าที่ครบวาระแล้วต่างก็ไป ไม่มีใครอยู่ชั่วนิรันดร์ได้ ก่อนจากไปอากง (ประชาธิปไตย) ก็กลับมาสอนลูกหลานอีกครั้ง อากงฝากคำให้หนึ่งกับสองว่าให้กลายเป็นตัวของตัวเอง ไม่ทำตามคำสั่งของอาเล้ง (เผด็จการทหาร) ต่อมาอากงก็สอนอาเล้งว่า ”อาเล้งลื้อเลิกบงการชิวิตคนอื่นได้แล้วอั้วไม่อยากให้ลื้อพลาดเหมือนอั้ว” ในฉากนี้ลักลั่นย้อนแย้งมากเมื่ออากงวัยหนุ่ม (ประชาธิปไตยสมัยเผด็จการทหาร) กลับมาสั่งสอนอาเล้ง (ตัวแทนคนเดือนตุลาซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับทหารขณะนั้น) ไม่ให้ทำพลาดนำระบบเผด็จการมาสั่งการลูกหลานอีก ต่อมาอากงก็สอนดิวกับแอ (ตัวแทนหนุ่มสาววัยรุ่นไทย) ไม่ให้หมกหมุ่นเรื่องเพศและแรดมากไป สิ่งที่อากง (ประชาธิปไตย) สอนให้หลานๆ โดยเฉพาะหลานๆ ที่ผิดปกติในสายตาคอนเซอเวทีฟอย่างหนึ่ง (พวกเพศที่สาม) ดิว (พวกวัยรุ่นหมกมุ่นทางเพศ) และแอ (วัยรุ่นสาวสนใจแต่เรื่องแรด) แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยยอมรับและเป็นประโยชน์ให้กับพวกกลุ่มคนทุกคนในสังคม ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาชนเลย มีเพียงสิ่งเดียวที่อากง (ประชาธิปไตย) เป็นปฏิปักษ์คือ เฮียโอ (ตัวแทนกลุ่มอีลีทไทยที่เย่อหยิ่งไม่เห็นมนุษย์คนอื่นเท่าเทียมกัน และไม่มีจิตใจนิยมประชาธิปไตย) อากงฝากคำเดียวให้โอคือ “เหี้ย” และเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นปัญหาต่อประชาธิปไตยไทย บทสรุป การแทรกประเด็นการเมืองเข้าไปในหนังเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของผู้กำกับ ยิ่งแนบเนียนเท่าไรยิ่งสามารถชวนให้ผู้คนสนุกไปกับการถอดรหัสที่อยู่ในหนังด้วย หนังสามารถเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุกความคิดของสังคมให้กลับมาทบทวนสิ่งที่เราเป็นอยู่ความปกติที่เกิดอยู่ในสังคม อย่างไรก็ตามการเสนอประเด็นการเมืองอย่างโจ่งแจ้งแล้วอาจส่งผลให้ผู้ชมรู้สึกกระอักกระอ่วนและทำให้ยอดขายตกฮวบฮาบก็ได้ หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ เชิญชวนให้ดูหนังเรื่อง มือปืนดาวพระเสาร์และมือปืนดาวพระศุกร์นะครับจะทราบถึงความแตกต่างทางความคิดการเมืองของผู้กำกับทั้งสองแล้วยังเห็นถึงความสามารถในการแทรกประเด็นการเมืองที่ต่างกันด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net