Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มีการกล่าวกันบ่อยๆ ทำนองว่า “โน้ตดนตรีมีแค่ 7 ตัว มันมีโอกาสใช้ซ้ำกันได้” การกล่าวเช่นนี้ดูจะเป็นข้ออ้างที่ง่ายไปและไม่ตรงกับความจริงเท่าใดนัก เพราะจริงๆ แล้วระบบโน้ตดนตรีตะวันตกมีโน้ตดนตรีอยู่ 12 ตัวด้วยกัน ไม่ใช่แค่ โด เร มี ฟา ซอล ลา และ ที หรือ C, D, E, F, G, A และ B เท่านั้น (หากจะเขียนตัวโน้ตพวกนี้ในระบบที่นิยมกันในโลกภาษาอังกฤษ) แต่จริงๆ แล้วตัวโน้ตในระบบตัวโน้ตตะวันตก นั้นมี C, C#, D, D#, E, F, F#, G, G#, A, A# และ B โน้ต 12 ตัวนี้เกิดจากการแบ่งเสียงคลื่นความถี่ต่างๆร ะหว่างคลื่นที่ความถี่ต่างกัน 2 เท่า เท่าๆ กัน เป็น 12 ช่วง ดังนั้น โน้ตทั้ง 12 ตัวจึงมีเสียงที่ห่างกันอย่างสมมาตรและนำมาสู่ความเป็นไปได้ของการประสานเสียงอย่างเป็นสัดเป็นส่วนของดนตรีตะวันตกซึ่งเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์

ผู้เขียนคงจะไม่บรรยายทฤษฎีดนตรีอย่างละเอียดยิบย่อยในที่นี้ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่าในเชิงความน่าจะเป็นแล้วหากจะลองคิดเล่นๆ เราจะพบว่าถ้ามีตัวโน้ต 12 ตัวอยู่ในสารบบดนตรีตะวันตก ความเป็นไปได้ของการที่ตัวโน้ตเรียงกัน 7 ตัวมันคือ 12 x 12 x 12 x12 x 12 x 12 x12 แบบ หรือ 2,985,984 แบบ หรือจะกล่าวอีกแบบก็คือความน่าจะเป็นที่จะเอาโน้ตดนตรี 7 ตัวมาเรียงให้ซ้ำกันหมดนั้นมีเพียง 1 ใน 2,985,984

อันที่จริงแล้วสุ้มเสียงดนตรีที่เราได้ยิน มันก็ไม่ได้เรียบง่ายแบบเอาโน้ตมาเรียงต่อๆ กัน 7 ตัวด้วยซ้ำ เพราะมันจะมีเรื่องของความสูงต่ำของโน้ตแต่ละตัว (หรือโน้ตตัวเดียวกันที่ความถี่ต่างกัน 1 เท่า หรือที่เรียกกันว่าความต่างเสียง 1 ออคเทฟ) ความสั้นยาวของโน้ตเพลงแต่ละตัว ความเงียบระหว่างโน้ตเพลงแต่ละตัวด้วย ซึ่งก็ยังไม่ต้องพูดถึงการประสานเสียง การใช้เทคนิคบนเครื่องดนตรีเพื่อให้ตัวโน้ตเดียวกันมีสุ้มเสียงที่ต่างกัน ไปจนถึงการใช้เอฟเฟคในการปรับแต่งเนื้อเสียงให้เปลี่ยนไปอีก ถ้าจะนับปัจจัยเหล่านี้ว่าจะทำให้โน้ตแต่ละตัวแตกต่างกันด้วยแล้ว โอกาสที่ชุดของโน้ต 7 ตัวจะเหมือนกันก็คงจะน้อยเสียยิ่งกว่ากว่า 1 ในร้อยล้านด้วยซ้ำ

จะเห็นได้ว่าในทางทฤษฎีนั้น โอกาสที่โน้ตดนตรีที่จะซ้ำกันเพียงแค่ 7 ตัว มันมีน้อยมากๆ อย่างไรก็ดี เราก็จะเห็นเช่นกันว่าท่วงทำนองเพลงสมัยนิยมนั้นส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันไปหมด เหตุผลของความคล้ายคลึงก็คือ มันมีโน้ตเพลงบางชุดเท่านั้นที่ผู้คนร่วมสมัยจะฟังแล้วระรื่นหู และไอ้โน้ตที่ว่านี่ก็คือ “โน้ตแค่ 7 ตัว” ที่ผู้คนชอบกล่าวถึงกัน นี่คือสิ่งที่เรียกในทฤษฎีตะวันตกว่า Diatonic Scale หรือสเกล 7 เสียง ซึ่งสเกลที่ผู้คนรู้จักดีในตระกูลนี้ก็คือ เมเจอร์สเกล (Major Scale) และไมเนอร์สเกล (Minor Scale) การประกอบท่วงทำนองตามชุดตัวโน้ตของสเกลเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างเสียงที่ระรื่นหูมากกว่าการประกอบท่วงทำนองจากตัวโน้ตทั้ง 12 อย่างไรก็ดีหากจะพิจารณาความเป็นไปได้แล้วโอกาสที่โน้ต 7 ตัวจะซ้ำกันมันก็ยังมีสูงถึง 1 ใน 823, 543 (ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของ 77) อยู่ดี

อย่างไรก็ดีการเอาโน้ตที่ซ้ำกัน 7 ตัวมาเรียงกันอย่างไม่มีกฎเกณฑ์มันไม่ได้จะทำให้เกิดท่วงทำนองที่ผู้ฟังฟังแล้วจะรู้สึกระรื่นหูแต่อย่างใด เงื่อนไขทั่วไปที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกระรื่นหูก็คือตัวโน้ตที่เป็นท่วงทำนองจะต้องมีความสอดคล้องกับคอร์ดที่เป็นตัววางพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของตัวโน้ตเสียงในเพลง เพื่อให้การคำนวณง่ายขึ้น โดยทั่วไปแล้ว คอร์ดที่ใช้ในบทเพลงทั่วไปจะเป็นคอร์ดที่มีแค่ 3 ตัวโน้ต หรือเป็นเพียงคอร์ดเมเจอร์หรือไมเนอร์ธรรมดาเท่านั้น ไม่มีการใส่โน้ตตัวอื่นๆ มาเพิ่มแบบดนตรีแจ๊ส ดังนั้นท่วงที่ประกอบทำนอง 7 ตัวโน้ตภายใต้ชุดคอร์ดเดียวกันที่ระรื่นหูจึงเป็นไปได้ 37 แบบ หรือ 2,187 แบบ ด้วยกัน

รูปแบบการเอาโน้ตเพลงมาเรียงกัน 7 ตัวจำนวน 2,187 แบบ ก็ยังดูเหมือนจะไม่ใช่รูปแบบการเรียงตัวโน้ตที่จะเกิดขึ้นได้ซ้ำง่ายๆ อยู่ดี อย่างไรก็ดีหากจะพิจารณาว่าทั้ง 2,187 รูปแบบนั้นเป็นรูปแบบตัวโน้ตที่เกิดขึ้นปกติในเพลงป๊อบที่มีการบันทึกเสียงกันมากว่าศตวรรษแล้ว [1] ซึ่งเพลงป๊อบเหล่านี้ก็เป็นประชากรส่วนใหญ่ของบทเพลงทั้งหมดในโลกที่เคยบันทึกเสียงกันมากว่า 97 ล้านเพลง [2] แล้ว เราก็จะพบว่าโอกาสที่ท่วงทำนองของบทเพลงหนึ่งๆ จะไปละม้ายคล้ายคลึงบทเพลงอื่นๆ ที่มีมาก่อนแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะแปลกประหลาดพิสดารอะไรเลย

แน่นอนว่าความเป็นไปได้ที่งานดนตรีจะมีความซ้ำซ้อนนี้เป็นสิ่งทีส่วนทางกับการคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ร่วมสมัยที่มุ่งจะคุ้มครองบทประพันธ์ทางดนตรีอันมี “เอกลักษณ์เฉพาะตัว” (originality) ความเป็นไปได้ของการซ้ำของท่วงทำนองนี้ ทำให้งานดนตรีชิ้นหนึ่งๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นเป็นเพียงการสร้างผลงานตามจารีตทางดนตรีที่มีต่อกันมาแทนที่จะเป็นงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ฉีกออกมาจากงานชิ้นอื่นๆ (ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความก่อนหน้านี้) อย่างไรก็ดีท่วงทำนองงานดนตรีจำนวนหนึ่งที่สถาปนาความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็มักจะเป็นสิ่งที่มีลิขสิทธิ์ทั้งสิ้นโดยอัตโนมัติตามมาตรฐานกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการกลั่นกรองใดๆ ว่างานเหล่านั้นมี เอกลักษณ์จริงหรือไม่ (ซึ่งเป็นแนวทางคุ้มครองต่างจากสิทธิบัตรพอสมควร) นี่ทำให้จริงๆ แล้วเพลงที่เราไม่คิดว่ามีลิขสิทธ์ที่ถูกแต่งขึ้นมาในช่วงนี้ก็อาจมีลิขสิทธิ์อยู่ ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็น่าจะได้แก่เพลงภาษาอังกฤษที่รู้จักกันดีที่สุดอย่าง Happy Birthday To You ซึ่งทุกวันนี้ลิขสิทธิ์ก็ยังเป็นของ Warner อยู่ [3]

อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวมาแล้วว่าลำพังแค่ตั้งแต่ที่มนุษย์มีการบันทึกเสียงกันมา 100 กว่าปี มันก็มีบทเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงไว้ 90 กว่าล้านเพลงแล้ว มันมีความเป็นไปได้เสมอที่บทเพลงหนึ่งๆ ที่แต่งขึ้นมาใหม่จะไปซ้ำกับบทเพลงที่มีมาก่อน และหากการที่บทเพลงไปเหมือนกันโดยบังเอิญเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์วิถีการสร้างสรรค์งานดนตรีของผู้คนก็คงจะยากลำบากน่าดู เพราะต้องคอยมาพะวงตลอดเวลาว่าเพลงที่ตนแต่งมาจะไปซ้ำกับใครหรือไม่ และการไล่ฟังเพลงให้หมดโลกมันก็ดูจะไม่น่าเป็นไปได้ง่ายๆ

ลองคำนวณเล่นๆ ก็ได้ครับ สมมติว่าแต่ละวันฟังเพลงได้ 100 เพลงไม่ซ้ำกันเลย 1 ปีเราก็จะฟังได้ 36,500 เพลง ในอัตรานี้ ถ้าในโลกมีเพลงอยู่ 39 ล้านเพลง ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ เราก็จะใช้เวลาเพียง 1,068 ปีกว่าๆ เท่านั้นในการฟังเพลงที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกให้หมด

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่เกินขีดจำกัดของมนุษย์ในปัจจุบันจะทำได้ นี่เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ในการพิจารณาคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น การที่ตัวโน้ตในบทเพลงซ้ำกันยังก็ยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอกับการตัดสินว่าเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น แต่เงื่อนไขที่จำเป็นอีกประการก็คือ ผู้ต้องหาละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องเคยได้ยินได้ฟังบทเพลงที่เขาละเมิดมาแล้ว

หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาละเมิดลิขสิทธิ์เคยได้ยินได้ฟังบทเพลงที่เขาลอกมาโดยทั่ว เขาก็น่าจะถือว่าบริสุทธ์จากความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และการพยายามหาความเชื่อมโยงของความคล้ายคลึงกันของบทเพลงสองเพลงแบบลอยๆ มันก็ดูจะเป็นการกล่าวหาซึ่งไม่มีมูลเพียงพอด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ได้เป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการ “ลอกเพลง” ได้ตามใจชอบภายใต้ข้ออ้างว่า “ไม่เคยฟังมาก่อน” ในกรณีของบทเพลงที่มีความโด่งดัง (รวมถึงเพลงจำพวก “ดังอยู่เพลงเดียว” แล้วหายไปจากความทรงจำของผู้คนหรือ One Hit Wonder) การกล่าวอ้างแบบนี้ก็มีน้ำหนักน้อย เพราะถึงที่สุดศาลอเมริกันก็เคยตัดสินมาแล้วว่าคนอย่าง George Harrison ได้ลอกเพลงของ The Chiffons วงเกิร์ลกรุ๊ปผิวดำผ่านจิตใต้สำนึกของเขา เนื่องจากเจาเคยฟังบทเพลงนี้มาก่อนละมันก็อยู่ในจิตใต้สำนึกของเขา

เพลงของ George ที่โดนฟ้องคือเพลงดังอย่าง My Sweet Lord ซิงเกิลที่ขายดีที่สุดในอังกฤษในปี 1971 อันนี้ถูกฟ้องฐานมีท่วงทำนองคล้ายคลึงกับเพลง He's So Fine ของเกิร์ลกรุ๊ปผิวดำจากต้นทศวรรษที่ 1960 นาม The Chiffons [4] ในชั้นศาล George บอกว่าเขารู้จักเพลงดังจากต้นปี 1963 เพลงนี้ของ The Chiffons แต่เขาไม่ได้คิดถึงมันเลยตอนเขาแต่ง My Sweet Lord สุดท้ายภายหลังจากการพิจารณาคดีผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบเพลง ศาลก็ลงความเห็นว่า George ได้ลอก (plagiarize) เพลงนี้จริง เพราะถึงแม้เขาจะไม่ได้ตั้งใจจะลอกแต่เขาก็ทำมันในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious)

นี่ดูจะเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าเจตนาในการลอกเพลงดูจะเป็นประเด็นรองในการพิจารณาการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือว่าผู้ต้องหาเคยฟังเพลงที่ลอกมาหรือไม่ ซึ่งในกรณีของ George เขาก็ยอมรับชัดเจนว่าเคยฟังเพลงที่เขาถูกกล่าวหาว่าลอก ซึ่งก็น่าสนใจอยู่ว่าถ้าเขาปฏิเสธไปผลการตัดสินจะเป็นเช่นไร

ในอีกด้านหนึ่ง ในกรณีของการถูกกล่าวหาว่าลอกบทเพลงที่ตอนไม่ได้เป็นเจ้าของ การพิสูจน์ว่าเจ้าของบทเพลงก็ไม่ได้เป็นเจ้าของบทเพลงเช่นกันก็สามารถใช้ได้ ดังจะเห็นการสู้คดีแบบนี้ในกรณีการที่ John Fogerty ถูกฟ้องฐานลอกเพลงตัวเองที่เขาแต่งมากับมือสมัยอยู่กับวง Creedence Clearwater Revival [5] ซึ่งเขาก็พิสูจน์ในศาลว่าส่วนที่เขาถูกกล่าวหาว่าลอกนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เขามีอย่างเป็นเอกลักษณ์ด้วยซ้ำในงานต้นฉบับ เพราะทางโน้ตกีต้าร์แบบนี้พวกนักดนตรีบลูส์ก็ได้ใช้มานมนานแล้ว เขาชนะคดีในที่สุด และเหนือกว่านั้นก็คือเขาสามารถจะฟ้องเอาเงินค่าทนายได้ด้วย ซึ่งเป็นกรณีแรกที่จำเลยคดีละเมิดลิขสิทธิ์สามารถฟ้องเช่นนี้และได้ค่าทนายมาในที่สุด (ปกติมีแต่ฝ่ายโจทย์เท่านั้นที่จะทำได้สำเร็จ)

กรณี Fogerty ชี้ให้เห็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะในทางตรรกะแล้วเขากำลังอ้างว่าเขาทำตาม “จารีต” เพื่อจะอ้างว่าเขาไม่ได้ละเมิดงานของตัวเอง แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ถ้างานของเขาเป็นงานตามจารีต เขาจะอ้าง “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ที่เป็นเงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้อย่างไร? อย่างไรก็ดีไม่ว่ากฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะก้าวหน้าแค่ไหนการนำการละเมิด “ลิขสิทธิ์” ของสาธารณะชนด้วยการนำภูมิปัญญาสาธารณะมาแปรรูปเป็นทรัพย์สินทางปัญญาส่วนบุคคลก็ยังคงเป็นเรื่องปกติ ในแง่นี้ภูมิปัญญาของชนเผ่าในแอฟริกา หรือสาธารณะชนอเมริกันมันก็ล้วนไม่ได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ เพราะถึงที่สุด “ชุมชน” และ “สาธารณชน” ก็ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายที่จะสามารถฟ้องปัจเจกบุคคลที่มา “ละเมิด” ภูมิปัญญาร่วมของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นสูตรยาพื้นบ้านหรือจารีตของท่วงทำนองดนตรีบลูส์ และสุดท้ายบ่อแห่งจารีต (pool of tradition) ก็ดูจะไม่ใช่บ่อน้ำที่สรรพสัตว์ในบริเวณใกล้เคียงได้มาอาศัยใช้อย่างเท่าเทียม เพราะน้ำของมันถูกระบบทุนนิยมทำให้เป็นสินค้าเสียมากกว่า

นี่คือสถานะของบทเพลง 39 ล้านเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงมาในโลก ไม่ว่าโอกาสที่ท่วงทำนองจะซ้ำมันจะมีมากแค่ไหน ทั้ง 39 ล้านเพลงก็ดูจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทั้งสิ้นและจนทุกวันนี้งานบันทึกเสียงน้อยชิ้นนักที่จะไม่มีเจ้าของ [6] มันเป็นเรื่องชวนหัวที่บทเพลงเหล่านี้จำนวนมากก็มีความซ้ำซากด้านท่วงทำนอง แต่ในทางกฎหมายมันก็ถือว่าเป็นงานอันมีเอกเทศที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น สถานการณ์มันก็ดูจะคล้ายกับการสูบน้ำจากทะเลสาบที่ไม่เคยมีเจ้าของมาบรรจุขวดขาย นี่ทำให้ของที่เคยไร้มูลค่าอย่างน้ำกลายมาเป็นสินค้า การใช้น้ำในโลกทุนนิยมต่างจากการใช้น้ำในชุมชนดั้งเดิมเช่นใด สถานการณ์ที่นักดนตรีฮิปฮอปต้องเผชิญก็ต่างจากสถานการณ์ของนักดนตรีบลูส์เช่นนั้น และนี่คือเรื่องราวของตอนต่อไป

 

อ้างอิง

  1. เทคโนโลยีการบันทึกเสียงเกิดปลายศตวรรษที่ 19 แต่การบันทึกเสียงเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 20
  2. นี่เป็นการคำนวณง่ายๆ จากฐานข้อมูลงานบันทึกเสียงที่มีในโลกของทาง Grace note เท่านั้นเพื่อให้เห็นภาพ ดู http://www.digitalmusicnews.com/stories/100611supersaturation
  3. นี่ทำให้การนำบทเพลงนี้แสดงในที่สาธารณะอย่างซี้ซั้ว เช่นการร้องเพลงอวยพรวันเกิดในร้านอาหารก็อาจนำมาสู่การถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Happy_birthday_to_you
  4. ลองฟังทั้งสองเพลงเปรียบเทียบกันได้ที่ http://youtu.be/kfxx3scAKS8 (The Chiffons - He's So Fine) และ http://youtu.be/9qdKZBXMX5E (George Harrison - My Sweet Lord)
  5. หากจะกล่าวโดยสั้นๆ แล้ว โดยทั่วไปลิขสิทธิ์งานดนตรีของนักร้องนักดนตรีดังๆ ในโลกมักจะไม่ได้เป็นของเขา ในกรณีของ Fogerty เขาโดนฟ้องว่าลอกเพลง Run Through The Jungle ของ Creedence Clearwater Revival ในเพลง The Old Man Down The Road ในงานเดี่ยวของเขา ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูตลกในการ “ถูกฟ้องฐานลอกเพลงตัวเอง” เช่นนี้ แต่ในทางกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ใหม่ที่ไม่ใช่ผู้แต่งก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายทุกประการในการฟ้องผู้แต่งเพลงที่ไม่ได้เป็นเจ้าของงานตัวเองแล้ว ฟัง 2 เพลงเทียบกันได้ที่ http://youtu.be/EbI0cMyyw_M (Creedence Clearwater Revival - Run Through The Jungle) กับ http://youtu.be/JbSGMRZsN4Q (John Fogerty - The Old Man Down The Road) และอ่านข้อมูลเกี่ยวกับคดีได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Fogerty_v._Fantasy
  6. นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทางเหล่าหอจดหมายเหตุในสหรัฐก็เคยโวยวายมาแล้ว เพราะแม้แต่งานบันทึกเสียงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ แล้วก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายเหตุไม่ได้ เพราะมันยังไม่หมดลิขสิทธิ์ และการที่มันยังไม่หมดลิขสิทธิ์ก็เกิดจากแนวโน้มของกฏหมายลิขสิทธิ์อเมริกันที่ยืดอายุการคุ้มครองไปเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net