Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.การเคลื่อนไหวและผลักดัน “จังหวัดจัดการตนเอง”:

นำโดยขบวนการนักพัฒนาองค์เอกชนและเครือข่ายแกนนำชุมชนที่ใกล้ชิด ทำการเคลื่อนไหวรณรงค์ใน 40 กว่าจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณจำนวนมากจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.), คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป, สภาพัฒนาการเมือง, และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เป็นต้น

ขบวนการกลุ่มนี้เสนอทำนองว่า การต่อสู้ทางการเมืองระดับประเทศระหว่างเหลืองกับแดงในปัจจุบันนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำ-นักธุรกิจการเมือง, ประชาชนไม่ได้อะไร แถมยังตกเป็นเหยื่อให้เขาหลอกใช้ และควรหันกลับมาทำการเมือง/ประชาธิปไตยท้องถิ่นเราดีกว่า

สำหรับในเชิงรูปธรรมของการเคลื่อนไหวบางกลุ่มของขบวนการนี้เสนอให้มีการยกระดับการปกครองท้องถิ่นเป็นระดับจังหวัด ยุบเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาคที่อยู่ในจังหวัดแล้วให้โอนหน่วยงานเหล่านั้นลงมาอยู่ในท้องถิ่นจังหวัด,ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดโดยตรง เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน 

และคำถาม? ประเด็นสำคัญเสนอให้มีการถ่วงดุลกำกับควบคุมการทำงานของฝ่ายสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจังหวัดโดย “สภาประชาชน สภาพลเมือง”(ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรชุมชน/สภาองค์กรชุมชน)ที่มาจากกระบวนการ “สรรหากันเอง”ในเครือข่าย ? ประเด็นปัญหาความทับซ้อนระหว่างอำนาจหน้าที่ของฝ่ายสภาประชาชนกับสภานิติบัญญัติ รวมถึงปัญหาที่มาของ “สมาชิกสภาประชาชน” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ? 

ตลอดทั้งการปฏิเสธยกเว้น ไม่แตะต้อง ศาล และทหาร อันเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ?

ในขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตเชิงเคลือบแคลงอย่างน่าสนใจต่อเป้าประสงค์ในการเคลื่อนไหวของ “ขบวนการจังหวัดจัดการตนเอง”นี้ในหลายประการ

ประการแรก : การอ้างว่าการต่อสู้ระดับประเทศที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ ประชาชน/ชาวบ้านเป็นเพียงแค่ “เหยื่อ/เบี้ย”ของการต่อสู้” ถือเป็นการบิดเบือนป้ายสีและดูถูกประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ทั้งๆที่ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากการรัฐประหาร 2549 เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้ในเรื่องกติกาที่ว่าจะมอบหมายให้ใครมาใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองระหว่าง “คนดีมีศีลธรรมที่มาจาการสรรหาแต่งตั้งโดยเทวดา” หรือจะเอา “ตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้ง”(ตามหลัก“ความเสมอภาค/หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง” มิใช่โดย “ชาติกำเนิด/ฐานะทางชนชั้น” ) เป็นความขัดแย้งระหว่าง “อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม/อำมาตย์/คลั่งชาติ” กับ “อุดมการณ์เสรีนิยม/ประชาธิปไตย/รักชาติ”

สวิง ตันอุด สถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.)และหัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองกล่าวว่า

“ศูนย์กลางอำนาจหรือโครงสร้างอำนาจกับโครงสร้างอำนาจขัดแย้งกันเอง เป็นมหาโครงสร้างต่อ มหาโครงสร้างปะทะกัน ตอนนี้เลยกลายเป็นปรากฏสีเหลืองสีแดง ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ว่ามันคือการต่อสู้เพื่อล้มล้างอำนาจรัฐระหว่างผู้นำของแต่ละฝ่ายโดยดึงมวลชนเข้ามาร่วม 

เราต้องก้าวข้ามเรื่องความขัดแย้งนี้ไป ถ้าสมมติว่าไม่สามารถที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ แนวโน้มอาจก่อความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นแบ่งแยกดินแดนก็เป็นได้

เหตุที่เราต้องคิดเรื่อง “ท้องถิ่นจัดการตนเอง หรือ จังหวัดจัดการตัวเอง” เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้สร้างความรุนแรงต่อไป เกิดการต่อสู้กันนอกกติกา เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับประชาชน พอกระทบกระทั่งกันแรงขึ้นๆ กฎหมายจะคุมไม่อยู่ และนำไปสู่การสู้กัน นอกกฎหมายมากขึ้น แบบนี้มันลุกเป็นไฟ พัฒนาไปสู่การสะสมอาวุธ เกิดการแบ่งพวกแบ่งข้าง มากขึ้น โฆษณาเอาคนมาเป็นพวกของตัวเองมากขึ้น ก็จะเกิดความรุนแรง ถ้าเป็นแบบนี้จะแก้ยากที่สุด และถึงที่สุดมันจะนำไปสู่การแบ่งประเทศ”

พรหมศักดิ์ แสงโพธิ์ นักคิดนักเขียนประจำขบวนจังหวัดจัดการตนเองกล่าวว่า

“ประเทศไทยภายใต้รัฐเผด็จการ จากระบอบกษัตริย์มาเป็นกลุ่มคนฝันเรื่องประชาธิปไตยแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จึงเป็นได้แค่เปลี่ยนคณะบุคคลที่ใช้อำนาจไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร ประเทศไทยกลายเป็นรัฐเผด็จการ การแย่งชิงอำนาจระหว่างเผด็จการกลุ่มเก่ากับเผด็จการกลุ่มใหม่ 79ปีผ่านไปการแย่งชิงอำนาจของคนสองกลุ่มยังไม่สิ้นสุด ประเทศจึงได้ผู้ปกครองที่เห็นแก่ตัวและคณะมากกว่าการสร้างประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง ประเทศทรุดโทรมไม่เจริญเทียบได้กับกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย”

ประการที่สอง การอ้างว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบันหรือความเป็นเหลืองแดง มาจากรากเหง้ามาจากการรวมศูนย์อำนาจ จึงต้องมี “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาและเป็นทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวงได้นั้น ถือเป็นแนวคิดและข้อเสนอที่มีข้อบกพร่องและไม่รอบด้านอย่างยิ่ง เนื่องเพราะ ปัญหาระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา นอกจากจะมีลักษณะรวมศูนย์แต่แตกกระจายแล้ว ยังมีปัญหาการรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มเผด็จการมาโดยตลอดอีกด้วย นี่ยังมิพักต้องเอ่ยถึงปัญหาอำนาจมืดเหนือรัฐที่หลอกใช้อธิปไตยของประชาชน รวมไปถึงกฎหมาย กติกา กลไกต่างๆที่เป็นสิ่งประดิษฐ์มรดก ตกทอดของกลุ่มเผด็จการที่ทำหน้าที่คอยค้ำยันอำนาจอิทธิพลของระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่างหาก เช่น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำปี 2550 , ม.112, พรบ.กลาโหม, สว.ลากตั้ง เป็นต้น ดังนั้น การอ้างว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวงได้ จึงเป็นเรื่องที่เหลวไหลและส่อเจตนาปิดบังอำพรางความจริงของปัญหาอย่างน่าละอายยิ่ง

สวิง ตันอุด หัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองกล่าวไว้ว่า

“ถ้าจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ ปัญหาในทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันจะย่อส่วนลงมาจากเวทีระดับชาติ จะกลับมาสู่ในเวทีระดับจังหวัด ทุกวันนี้เหลืองแดงไม่ได้คิดเรื่องท้องถิ่น แต่เป็นแนวความคิดระดับชาติ ถ้าเราเสนอแนวความคิดแบบแนวตัดขวาง ซึ่งก็คือเรื่องของท้องถิ่น ความเป็นเหลืองแดงจะหมดความหมายในตัวของมันเอง เพราะเหลืองแดงมันสมมติตัวเองเพื่อที่จะไปยึดศูนย์กลางอำนาจ แต่ถ้าพุ่งเป้าว่าตัวเองจะเข้ามาเพื่อที่จะมามีบทบาทในเรื่องของท้องถิ่นจังหวัดนั้นๆได้ขนาดไหน ดังนั้นมันจะละลายความเป็นเหลืองแดง เพราะความเป็นเหลืองแดงอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ในชุมชนท้องถิ่นนั่น ถ้าคนในท้องถิ่นหันความสนใจมารับใช้ท้องถิ่นว่าจะจัดการตัวเองอย่างไร ไม่ไปรับใช้ศูนย์กลางอำนาจรัฐ ตรงนี้จะสลายตัวไปเอง”

อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่า การพยายามผลักดันให้มีการระดมหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณาออก พ.ร.บ.มหานครเชียงใหม่ ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ2550 ที่ยังคงอำนาจการพิจารณากฎหมายของ สว.ลากตั้ง นับว่าพวกเขายังไม่สรุปบทเรียนความผิดพลาดใหญ่หลวง จากกรณี พรบ.ป่าชุมชน ที่ขับเคลื่อนมาร่วม 20 กว่าปี และได้ออกพรบ.ป่าชุมชนอย่างรวดเร็วในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่มี เตือนใจ ดีเทศน์ หัวขบวนของกลุ่ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช.โดยเผด็จการ คมช. และสนช.เองได้บิดเบือนสาระสำคัญ เช่น แทนที่จะให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นกลับให้อำนาจรวมศูนย์ที่กรมป่าไม้เช่นเดิม หรือแม้แต่กรณีการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ล่าสุดผู้ได้รับการสรรหาก็มีทหารจำนวนถึง 5 คน วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนมากก็ไม่ต่างจาก สนช.ที่มาจากคมช. ซึ่งพวกเขาก็น่ารู้ดีว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีวิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจ ชอบสั่งการสูง ไม่ชอบการตรวจสอบ และที่สำคัญไม่นิยมประชาธิปไตย

ประการที่สาม การพยายามเชิดชูและผลักดัน “สภาประชาชน”(สภาองค์กรชุมชนที่ได้รับการจัดตั้งและสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจาก พอช.และสภาพัฒนาการเมือง) ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นตามหลัก 1สิทธ์1เสียง แต่กลับเสนอให้มีอำนาจเหนือสภานิติบัญญัติและ ฝ่ายบริหารท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักการระบอบประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน ดังที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองอีกผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า

“ประชาธิปไตยแบบพุทธ” หรือ “ประชาธิปไตยแบบท้องถิ่น” จะเป็นทางออกให้กับ “การเมืองแบบตัวแทนที่ล้มเหลว” กระบวนการของชุมชนแต่เดิมคือการพูดคุยกัน โดยสมาชิกชุมชนจะมาพูดคุยกัน ดูว่าใครเป็นคนดีมีคุณธรรม แล้วหมู่คณะก็จะเข้าไปคุยว่า “เราคิดว่าท่านเป็นคนดีมีคุณธรรม น่าจะเป็นผู้นำที่ดีของเราได้” แล้วก็ใช้วิธีเหมือนกับการลงประชามติ นี่เป็นการสรรหาโดยชุมชนซึ่งมีมานานแล้ว แต่กฎหมายข้างนอกไปบอกว่า “คุณต้องสมัคร คุณต้องหาเสียง คุณต้องเลือกตั้ง” เพราะฉะนั้นก็เสร็จนายทุนหมด ใช่ไหม? ในขณะที่กระบวนการดั้งเดิมของเขาก็คือการหาคนดี คนมีคุณธรรม โดยชุมชน จริงๆ

หรืออย่างเช่นที่ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา(ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการในคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป)ผู้สนับสนุนสำคัญของจังหวัดจัดการตนเอง ได้กล่าวว่า

“สำหรับโครงสร้างองค์กรของจังหวัดจัดการตัวเองนั้น ประกอบด้วยสภาจังหวัด ผู้ว่าการจังหวัด ปลัดจังหวัด ส่วนราชการประจำจังหวัด ข้าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัดประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกิน 50 คน มาจากทั้ง อปท. 2 ใน 3 นอกนั้นมาจากภาคประชาสังคม โดยอนาคตควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านควรให้นายกฯ อบจ.เป็นผู้ว่าฯ ”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงพื้นฐานความเชื่ออุดมการณ์ทางการเมืองแบบคลุมเครือของกลุ่มแกนนำขบวน ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบสากล

ประการที่สี่ เมื่อพิจารณาจากช่วงจังหวะเวลาของการออกมาเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง หลังเหตุการณ์ล้อมฆ่าประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย 19 พฤษภาคม 2553 เป็นที่น่าเคลือบแคลงว่า จากที่กลุ่มนี้ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องกระจายอำนาจใดๆมาก่อน แล้วเหตุไฉนอยู่ๆก็ชูประเด็นนี้ขึ้นมาและเลือกออกมาเสนอในจังหวะเวลาที่มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยกำลังต่อสู้ขับเคี่ยวอย่างเอาเป็นเอาตายกับอำนาจเผด็จการอำมาตย์ในช่วงนี้ด้วยเล่า ทั้งๆที่ปัญหาการกระจายอำนาจมีการนำเสนอผลักดันมาตั้งแต่ช่วงหลังพฤษภาทมิฬ2535 เป็นไปได้หรือไม่?ว่า พวกเขาอาจมีเจตนา แอบแฝงด้วยการลดทอนการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยให้เป็นแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ และต้องการเบี่ยงเบนประเด็นทางสังคมการเมืองที่สำคัญๆ เช่น การลงโทษคนสั่งฆ่าประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 การ ม. 112 การปฏิรูปกองทัพและการปฏิรูประบบศาลยุติธรรม เป็นต้น พร้อมๆกับการพยายามดึงพลังมวลชนในชนบทให้กลับมาสนใจเฉพาะเรื่องท้องถิ่น

ประการที่ห้า เมื่อพิจารณาจากประวัติการเคลื่อนไหวและบทบาทางการเมืองของกลุ่มหัวขบวนจังหวัดจัดการตนเองแล้ว พบว่า พวกเขาหลายคนเคยมีแต่มีบทบาทในการคัดค้านข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯเมื่อครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ,หลายคนเคยปฏิเสธและเยาะเย้ยถากถางแนวคิดการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นมาตลอด พร้อมๆกับมุ่งโฆษณาความเลวร้ายของระบบประชาธิปไตยตัวแทน/การเลือกตั้ง, กลุ่มขบวนนี้เป็นกลุ่มขบวนที่เคลื่อนไหวมวลชนให้โหยหาเชิดชู “ชุมชน/วัฒนธรรมดั้งเดิม” แบบโรแมนติคอย่างเอาการเอางาน

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ซึ่งทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในชนบทด้วย “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” วิเคราะห์ว่า

“เหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงไหน เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง พวกเขาไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจในกำหนดวิถีทางพัฒนาชุมชนตนเอง หนำซ้ำรูปแบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งยังทำลายรูปแบบในการจัดการความสัมพันธ์อันมีมายาวนานในท้องถิ่นไทย”

“การเมืองภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมานี้ มีอยู่ 2 ช่วงใหญ่ๆ ช่วงแรกคือตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นต้นมา ก่อนยุคทักษิณ การเมืองภาคประชาชนมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างสูง กลุ่มภาคประชาชนต่างๆ รวมตัวกันค่อนข้างเยอะ มีการขับเคลื่อน มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยใช้แนวทางรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นหลักในการเคลื่อนไหว พอมาถึงช่วงที่สอง คือในสมัยรัฐบาลทักษิณ การเมืองภาคประชาชนแผ่วลงไป เพราะถูกรัฐบาลทักษิณสกัด เช่น ถูกควบคุมด้วยสื่อ ถูกแทรกแซง ถูกปิดกั้น อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายที่ประชาชนเข้าถึงถูกบล็อกเกือบหมดเลย การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนถูกจำกัดโดยรัฐบาลทักษิณที่มีลักษณะเป็นเผด็จการรัฐสภาบวกกับการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ”

แต่ที่สำคัญ คือ หัวขบวนกลุ่มนี้ เคยร่วมสนับสนุนการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและปล้นชิงอำนาจของประชาชนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ตัวอย่างเช่น

• นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ได้รับการแต่งตั้งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อศึกษารวมแนวทางปฏิรูปประเทศ หลังจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2553

• นายสวิง ตันอุด เป็นสมาชิกหมายเลข 082 สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550

เป็นที่น่าสงสัยว่า กลุ่มคนที่เคยแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จะกลับกลายมาเป็นหัวขบวนนำมวลชนเพื่อขับเคลื่อนผลักดันการกระจายอำนาจได้อย่างไร? คงต้องคอยติดตามกันต่อไป รวมทั้งช่างสอดคล้องกับสยามประชาภิวัฒน์และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างบังเอิญหรือไม่? โปรดดู: “ประชาชนต้องปกครองตนเอง” คุยรอบแรก “พันธมิตรฯ” กับ “สยามประชาภิวัฒน์”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net