Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ในกรุงเตหราน ประเทศอิหร่าน ปธน.โมฮาเม็ด มอร์ซี แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนผู้ต่อสู้กับรัฐบาล ทำให้ตัวแทนจากซีเรียพากันเดินออกจากห้องประชุม

30 ส.ค. 2012 ประธานาธิบดี โมฮาเม็ด มอร์ซี ของอียิปต์ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการของซีเรีย ในที่ประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ในกรุงเตหราน ประเทศอิหร่าน จนทำให้ตัวแทนของซีเรียพากันเดินออกจากห้องประชุม
 
ประธานาธิบดีมอร์ซี กล่าวว่า มันเป็น 'หน้าที่เชิงศีลธรรม' ในการสนับสนุนประชาชนชาวซีเรียเพื่อต่อต้าน 'รัฐบาลเผด็จการกดขี่' ในซีเรีย
 
"พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้ของประชาชนชาวซีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการกดขี่ที่สูญเสียความชอบธรรม สิ่งนี้คือหน้าที่เชิงศีลธรรม รวมถึงเป็นเรื่องจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์และการเมือง" มอร์ซีกล่าว
 
"พวกเราทุกคนจะต้องประกาศความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ที่ต่อสู้เพื่อแสวงหาเสรีภาพและความยุติธรรมในซีเรีย และแปลงความเห็นใจนี้ให้เป็นวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่กระจ่างชัด อันจะเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนความต้องการของประชาชนชาวซีเรียอย่างเสรี"
 
คำกล่าวของมอร์ซี ทำให้ตัวแทนของซีเรียเดินออกจากห้องประชุม
 
วาลิด มูอัลเล็ม รมต.ต่างประเทศของซีเรียบอกว่า คำกล่าวของมอร์ซีเป็นการปลุกปั่นให้การนองเลือดในซีเรียดำเนินต่อไป
 
อิราน ข่าน นักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากที่ประชุมว่า ความเห็นของมอร์ซีทำให้เกิดความคลางแคลงใจโดยเฉพาะกับตัวแทนชาวอิหร่านที่มีความใกล้ชิดกับประเทศซีเรีย
 
ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดยกลุ่มประเทศที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตที่เป็นมหาอำนาจอยู่ในช่วงสงครามเย็น
 
พวกเขาประชุมกันทุก 3 ปี แต่ความสำคัญของพวกเขาในระดับเวทีนานาชาติหมดลงไปแล้วตั้งแต่จบสิ้นสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
 
เรื่องวิกฤติในซีเรียเป็นหนึ่งในวาระการประชุมที่มีขึ้นสองวัน วาระเรื่องอื่นๆ ได้แก่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการปลดอาวุธนิวเคลียร์
 
ก่อนหน้านี้ อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า 'เผด็จการเกินไป' ในการปราศรัยเปิดการประชุม จากเหตุขัดแย้งเรื่องโครงการณ์นิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับสหประชาชาติ
 
ในวันเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้เรียกประชุมประเทศสมาชิกเพื่อหารือเรื่องวิกฤติซีเรีย โดยประเทศอย่างตุรกี, เลบานอน และจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของซีเรียก็หมายจะร่วมประชุมด้วย แต่ประเทศสมาชิกรายอื่นๆ มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่หมายจะเข้าร่วมประชุม
 
วิกฤติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า มีชาวซีเรียมากกว่า 200,000 คน และอาจจะมากถึง 300,000 ที่ต้องอพยพออกจากซีเรียนับตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอัสซาดเมื่อปีที่แล้ว ตามรานงานของกลุ่มให้ความช่วยเหลือ ขณะที่มีอีกกว่า 3,000,000 คนไร้ทีอยู่อาศัย
 
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ประเทศตุรกีผู้ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาของผู้อพยพมากที่สุด บอกว่าตนต้องการทางออกของปัญหานี้ โดยรมต.ต่างประเทศของตุรกี อาห์เม็ด ดาวูโตกลู ได้เรียกร้องให้ยูเอ็นคุ้มครองชาวซีเรียไร้ที่อยู่ในประเทศของพวกเขา
 
ทางด้าน ปธน.อัสซาดของซีเรียกล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ อัล ดูเนีย ซึ่งเป็นสถานีสนับสนุนรัฐบาลบอกว่าเขาปฏิเสธจะหารือกับตุรกีในเรื่องเขตกันชน (buffer zone) "พูดถึงเรื่องเขตกันชน ประการแรกคือผมไม่ได้คิดจะเปิดใจเรื่องนี้เลย ประการที่สองคือมันเป็นความคิดที่ขัดกับหลักความจริง ที่มาจากกลุ่มประเทศและศัตรูของซีเรีย"
 
 
ที่มา เรียบเรียงจาก
Morsi criticises Syria at Tehran meeting, Aljazeera, 30-08-2012
 
UN Security Council meeting to discuss Syria, Aljazeera, 30-08-2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net