Skip to main content
sharethis

 

ลาวยังยืนยันจะพัฒนาประเทศให้เป็นแบ็ตเตอรี่ของเอเชียด้วยการส่งเสริมการลงทุนก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าให้มากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

เจ้าหน้าที่ชั้นสูงในกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ได้เปิดเผยให้ทราบว่าผู้นำประเทศและรัฐบาลลาวยังคงยืนยันที่จะนำพาและพัฒนาประเทศลาวให้เป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อก่อสร้างเขื่อนในลาวให้มากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยถึงแม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวนับวันจะถูกคัดค้านจากองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลมากขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดของทางการลาวในการพัฒนาประเทศให้เป็นแบตเตอรี่ของเอเชียนั้น ก็คือการนำเอารายรับจากการส่งออกพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนลาวทุกเผ่าเป็นด้านหลัก และยังถือว่าเป็นการใช้ศักยภาพทรัพยากรน้ำของลาวให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ซึ่งด้วยศักยภาพดังกล่าวนี้ ท่านจูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศ ก็เคยให้การเน้นย้ำต่อบรรดาคณะทูตานุทูตค่างประเทศในลาวเมื่อไม่นานมานี้ว่า

“สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นโอกาสดีต่อการนำทรัพยากรน้ำมาใช้เพื่อเป็นทุนรอนในการก่อร่างสร้างพัฒนาประเทศชาติ ฉะนั้น รัฐบาลลาวจึงได้ทุ่มเททุกความพยายามของตน ร่วมกับการสนับสนุนทางวัตถุ เทคนิก และทุนรอนจากนานาชาติ เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานที่สะอาดดังกล่าวให้สามารถตอบสนองได้กับความต้องการพลังงานอยู่ภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน”

กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ได้ประกาศแผนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาก่อสร้างเขื่อนในลาวให้ได้ปีละ 2 โครงการ นับจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2020 โดยถ้าหากว่าสามารถปฏิบัติได้จริงก็จะทำให้ลาวมีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 20 โครงการ และยังจะทำให้ลาวมีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจาก 2,540 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันนี้เป็นมากกว่า 9,000 เมกะวัตต์ ในปี 2020 อีกด้วย

จนถึงปัจจุบันนี้ รัฐบาลลาวได้อนุญาตให้ภาคเอกชนลาวและต่างชาติดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบก่อสร้างเขื่อนอยู่ในลาวไปแล้ว 80 กว่าโครงการ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของการวางแผนก่อสร้าง 20 กว่าโครงการ และอีกกว่า 60 โครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบก่อสร้างต่อไป

ส่วนเขื่อนที่ได้ทำการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้วในปัจจุบันมีจำนวน 14 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,540 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนที่ถือว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ เขื่อนน้ำเทิน 2 ที่ส่งพลังงานไฟฟ้าให้ไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยรัฐบาลไทยได้ตกลงจะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวจำนวน 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2015 ส่วนรัฐบาลเวียตนามและกัมพูชา ก็ได้ตกลงรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาว 5,000 เมกะวัตต์ และ 3,000 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ในปี 2020

หากแต่ว่าปัญหาในเวลานี้ ก็คือบรรดาองค์การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมธรรมชาติในระดับสากล ได้ประกาศท่าที่อย่างชัดเจนว่าจะคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนทั้งในลาวและเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงอย่างถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสัตว์น้ำอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุดองค์การองค์การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมธรรมชาติในไทย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลีบนแม่น้ำโขงในแขวงไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะหงอยู่ในเขตสีพันดอน แขวงจำปาสักของลาว รวมทั้งยังจะพากันเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านแผนการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวของรัฐบาลไทยอีกด้วย

 

 

ธีรภัทร เจริญสุข : ภาษาลาววันละคำสองคำวันนี้ เสนอคำว่า ທ່າແຮງບົ່ມຊ້ອນ - (ท่าแฮงบ่มซ้อน) : ศักยภาพ, potential

  • คำว่า ທ່າແຮງບົ່ມຊ້ອນ นี้ หมายถึง แรงที่ถูกกดซ้อนทับบ่มไว้ ไม่ปรากฏออกมา หรือความสามารถที่มีอยู่โดยยังไม่นำ-ออกมาใช้ ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยคือคำว่า "ศักยภาพ" นั่นเอง

    เป็นคำง่ายๆ มาประกอบกันได้ใจความ แบบที่คนไทยอ่านเจอแล้วคงงงไปเลย

    ตัวอย่างจากข่าว

    “ສປປ. ລາວ ເປັນປະເທດທີ່ມີທ່າແຮງບົ່ມຊ້ອນໃນການ
    ຜະລິດກະແສໄຟຟ້ານໍ້າຕົກ ຢ່າງຫຼວງຫຼາຍ ຊຶ່ງກໍເປັນ
    ໂອກາດດີໃຫ້ກັບການນໍາໃຊ້ຊັບພະຍາກອນນໍ້າເພື່ອເປັນ
    ທຶນຮອນໃນການສ້າງສາພັດທະນາປະເທດຊາດ ສະນັ້ນ
    ລັດຖະບານລາວຈຶ່ງໄດ້ສຸມ ທຸກຄວາມພະຍາຍາມຂອງ
    ຕົນບວກກັບການສະໜັບສະໜຸນທາງດ້ານວັດຖຸເທກນິກ 
    ແລະທຶນຮອນຈາກສາກົນ ເພື່ອພັດທະນາແຫຼ່ງພະລັງງານທີ່ສະອາດດັ່ງກ່າວໃຫ້
    ສາມາດຕອບສະໜອງໄດ້ກັບຄວາມຕ້ອງການທາງດ້ານພະລັງງານຢູ່ພາຍໃນ
    ປະເທດແລະເພື່ອສົ່ງອອກໄປປະເທດເພື່ອນບ້ານ.”

    “สปป. ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นโอกาสดีต่อการนำทรัพยากรน้ำมาใช้เพื่อเป็นทุนรอนในการก่อร่างสร้างพัฒนาประเทศชาติ ฉะนั้น รัฐบาลลาวจึงได้ทุ่มเททุกความพยายามของตน ร่วมกับการสนับสนุนทางวัตถุ เทคนิก และทุนรอนจากนานาชาติ เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานที่สะอาดดังกล่าวให้สามารถตอบสนองได้กับความต้องการพลังงานอยู่ภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน”

     

 

 

 

 

ที่มา  http://lao.voanews.com/content/lao-authorities-emphasize-on-plan-of-battery-of-asia/1505842.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net