Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เช่นเดียวกับหลายอุตสาหกรรมที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาค้าแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อาชีพแม่บ้านถือว่าเป็นคนเบื้องหลังที่สำคัญในการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางไทย แต่กระนั้นสภาพการจ้างงานและอนาคตของคนงานในอุตสาหกรรมนี้ ก็ยังพบอุปสรรคมากมาย ที่เราไม่ควรมองข้าม 
 

1.

 
เช้าวันอาทิตย์ ในช่วงเวลาที่แดดยังบางเบา บนทางเท้าเริ่มคราคร่ำไปด้วยผู้คน แม้จะเป็นวันหยุดปลายสัปดาห์ ถนนยังเหมือนเป็นที่เบียดเสียดกันของรถรา ผมเดินช้าๆ ตรงเข้าไปในซอยพญานาค ถนนราชเทวี ตามนัดหมายกับมิตรสหายท่านหนึ่ง ณ โรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มองไปก็เหมือนๆ กันทุกวัน หากมิตรสหายท่านนั้นไม่แนะนำก็คงจะไม่รู้ว่า สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ในเครื่องแบบนักศึกษาสีขาวที่มาเรียนในวันนี้ คือ บรรดาแรงงานต่างชาติพม่าที่มาเรียนภาษาไทย ยิ่งเมื่อได้รู้จักพูดคุย ยามเมื่อมองตรงลึกไปในดวงตาของพวกเขา  ผมเห็นไฟชีวิตของหนุ่มสาวที่ลุกโชนอยู่ในนั้น...
 
“ภาษาทำให้กล้าที่จะเลือกงานได้มากขึ้น” สาวน้อยตากลมชาวพม่าบอกชื่อในภาษาไทยว่า ‘ฝน’ กับผม รวมทั้งเหตุผลที่มาเรียน หญิงสาวอายุประมาณยี่สิบต้นๆ ตาโตเป็นประกายสนุกสนามตามวัย  สำเนียงของเธอฟังไม่แปร่งหูนัก เธอบอกว่าเข้ามาทำงานเป็นแม่บ้านในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนตอนนี้ เวลากลับบ้าน คนที่บ้านอาจจะงงในภาษาพม่าของเธอบ้างเพราะเธอเรียงประโยคภาษาพม่าผิด
 
แต่แม้ว่าฝนเธอจะพูดภาษาไทยได้ดีมากแล้ว เธอยังหมั่นเติมความรู้และทักษะด้านนี้อยู่เสมอ เธอบอกว่าในการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในประเทศไทย  “ปัญหาที่เป็นอุปสรรคที่สุด คือ เรื่องภาษา” โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่ฝึกฝน  ซึ่งสถานที่แห่งนี้คือโรงเรียนสำหรับแรงงานชาวพม่า ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า หรือ กรพ. หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘มูลนิธิร่วมมิตร ไทย–พม่า’ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่ส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าและเสริมสร้างความรู้ที่จำเป็นสำหรับแรงงานพม่าในประเทศไทย
 
ที่นี่..ผมยังได้เจอกับ เมี่ยน เว - ชาวพม่า และรองผู้อำนวยการของ กรพ. หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Deputy Director ; Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB) เขายังเป็นผู้จัดการโรงเรียนสอนภาษาให้แรงงานพม่าแห่งนี้ เราพูดคุยกันสั้นๆ หลังจากที่มิตรสหายท่านเดิมบอกความสนใจของผมที่จะเขียนเรื่องราวของแรงงานจากต่างแดนในอุตสาหกรรมภาคครัวเรือนหรือ ‘แม่บ้าน’  เว จึงแนะนำผมให้รู้จักกับฝน ก่อนจะแยกตัวออกไปทำงาน ด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ในสัมผัสต่อบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางสังคมของคนพม่ามากกว่าคนไทย ทั้งที่ ก่อนเข้าประตูโรงเรียนมาผมยังอยู่ในโลกที่คุ้นเคย ผมจึงกลับไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนนี้เพิ่มเติม ซึ่ง เว เคยเล่าถึงที่มาของโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ กรพ. มีชื่อเต็มว่า "Development of Education and Awareness for Refugees from Burma" หรือ "DEAR Burma" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543  เปิดสอนภาษาอังกฤษ  ภาษาไทย และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องต่างๆ เช่น เรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี โดยแต่ละคอร์สใช้เวลา 3 เดือน เรียนทุกวันอาทิตย์ ต่อมาปี 2546 เราจึงมาขอใช้สถานที่ของโรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ เป็นที่จัดการเรียนการสอน"
 
"เพราะสังคมไทยเห็นว่าแรงงานพม่าน่ากลัว จะตัดคอเอาสิ่งของ โรงเรียนเราจึงมีวัตถุประสงค์ว่า เราต้องแต่งตัวเรียบร้อย ต้องมีชุดนักเรียน แสดงให้เห็นว่า เราก็มีความรู้ เราก็เป็นคนดี ถึงแม้จะมีปัญหาการเมือง แต่เราซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ เรามาจากประเทศเดียวกัน ตอนนี้เรามาอยู่ในประเทศเดียวกัน เราไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งแยกศาสนา เราเป็นแรงงานข้ามชาติ เราเป็นชีวิตเดียวกัน ต้องร่วมมือ สามัคคีกัน"
 
สถานที่แห่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางให้แรงงานพม่าได้มาพบปะสังสรรค์กัน ได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างกันและกัน เป็นชุมชนชาวพม่าที่แฝงตัวอยู่อย่างถ่อมตนและสงบเงียบ ซ่อนตัวจากการรับรู้ของผู้คนในเมืองใหญ่ ท่ามกลางความศิวิไลซ์ (กองบรรณาธิการวารสารผู้ไถ่. โรงเรียนวันอาทิตย์...เพื่อสิทธิแรงงานพม่า : 23 พ.ค. 2552)
 
มิตรสหายท่านเดิมขอตัวกลับไปแล้ว...
 
ส่วนผมยังนั่งอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ ความรู้สึกแปลกๆ ยังคงหลงเหลือ แต่คงไม่หม่นหมองเท่ากับที่บรรดาแม่บ้านจากต่างแดนหลายๆ คน ที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้จะต้องผ่าน อย่างน้อย ‘ฝน’ ยังสามารถใช้ภาษาที่ผมคุ้นเคยสื่อสารโต้ตอบกันได้
 
สำหรับอาชีพอื่น ความแตกต่างทางภาษาอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่กว่าทักษะและความอดทน กลุ่มแรงงานต่างชาติในโรงงานยังสามารถพูดจาถ่ายทอดความเห็นใจกัน เหมือนดังที่คนอีสานฟังเพลง ‘คนบ้านเดียวกัน’ ของ ไผ่ พงศธร แล้วรู้สึกอิ่มลึกๆ ในหัวอก แต่สำหรับแรงงานแม่บ้านการอยู่กับตัวเองต่างหากคือสิ่งที่ต้องเผชิญแทบตลอดเวลา
 
“คิดถึงบ้าน มันจะเป็นความรู้สึกตอนช่วงที่เข้ามาใหม่ๆ ตอนนั้นงานก็ยังทำไม่ค่อยเป็น พอเสร็จงานแล้วจะมานั่งอยู่หน้าบ้าน มันจะมีต้นมะม่วงอยู่ ก็จะไปร้องไห้ตรงนั้น โครตคิดถึงบ้านเลย การจัดการความเหงาเราก็อดทน จะทำอะไรได้ อยู่ที่บ้านเราอาจเที่ยวได้ แต่อยู่ที่นี่เรามาหาเงิน คิดแบบนี้” ฝนเล่าถึงความหลังและว่า แม่บ้านที่มาอยู่ใหม่ๆ มักเจอปัญหานี้ รวมทั้งความลำบากในเรื่องการทำงาน หากเป็นเรื่องเล็กน้อยๆ คือ เรื่องการหยิบของผิดๆ ถูกๆ บ้าง เจ้านายก็อาจรำคาญใจบ้าง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ การโต้ตอบไม่ได้ มันคือความอึดอัดอย่างยิ่งเพราะทำให้ต้องตกเป็นผู้รับฟังอย่างเดียว
 
“กับนายจ้างไม่มีปัญหา” ฝนบอก “แต่รู้สึกอึดอัดกับเพื่อนแม่บ้านด้วยกันที่เป็นคนไทย สิ่งที่เราไม่ได้ทำเขาก็บอกเราทำ เราก็เถียงไม่ได้ เราก็เงียบอย่างเดียว อยู่ที่นี่ 8-9 เดือนจึงเริ่มพูดภาษาไทยได้ เพราะอยู่กับคนไทยอย่างเดียว นานๆ ทีพี่สาวก็มาหาบ้าง”
 
แต่มาถึงตอนนี้ ฝนก้าวพ้นจากปัญหานี้ไปแล้ว
 
“อยากเก่งต้องกล้าพูดกล้าถาม” ฝนแนะ
“เวลานี้คิดถึงเรื่องเรียนมากว่าและถ้ามีโอกาสก็จะกลับไปเรียนต่อ” 
 
เด็กสาวยังวางเป้าหมายไว้อีกว่า เธอจะฟื้นภาษาอังกฤษที่เคยเรียนพื้นฐานมาตอนเด็กๆ แล้วทิ้งไปกลับมา ตรงนี้นอกจากเป็นความตั้งใจของตัวเองแล้ว แม่ก็เพิ่งโทรมาบอกให้เตรียมตัวไว้สำหรับการกลับบ้านเพื่อรอรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่วันที่ดีขึ้นของพม่าในอนาคตอันใกล้นี้
 
2.
 
‘นังแจ๋ว’..คือ รสชาติและสีสันที่แทบขาดไม่ได้ในละครไทย เพราะหัวใจของละครคือชีวิตชีวาซึ่งพระเอกหรือนางเอกก็ให้ไม่ได้เหมือนกับบรรดาสมาคมก้นครัวทำ ดังนั้น การที่บรรดานังแจ๋วหรือแม่บ้าน คนสวน คนขับรถ หรือตัวประกอบทั้งหลาย จะไปเมาท์แตกเมาท์แตนสาระพัดเรื่องเจ้านายตามหลังครัวหลังบ้าน มันช่างกลมกลืนกับชีวิตจริง และไม่ยากที่ตัวละครเล็กๆ เหล่านี้จะเข้าไปนั่งอยู่ร่วมกับผู้ชม ผู้นิยมความอยากรู้อยากเห็นได้อย่างสบายอารมณ์ อย่างไรก็ตาม จนถึงที่สุดของความจริงวันนี้ที่แม้แต่ในละครก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ ปัจุบัน บรรดา ‘นังแจ๋ว’ หรือแม่บ้านเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแม่บ้านจากบ้านนอกบ้านนาหรือข้าเก่าเต่าเลี้ยงของท่านเจ้าคุณฯ อีกต่อไป ส่วนหนึ่งและมีจำนวนไม่น้อยในนั้นก็คือ บรรดาแม่บ้านที่มาจากฝั่งพม่า เพื่อนบ้านของเรานั่นเอง
 
ปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องมีบ้านใหญ่โตอย่างบ้านเจ้าสัวเช็งในละครเรื่อง ‘มงกุฎดอกส้ม’ ที่มีเงินเหลือล้นพอจะจ้างแม่บ้านมารับใช้ประจำเมียแต่ละคน แต่ด้วยภาวะทางธุรกิจของสังคมสมัยใหม่ที่บีบรัดให้ทุกคนในบ้านต้องออกมาทำงานหาเงิน โดยเฉพาะครอบครัวของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น งานแม่บ้านที่เคยถูกโยนให้เป็นภาระของ ‘แม่’ หรือ ‘เมีย’ ที่อยู่ในบ้าน สำหรับครอบครัวระดับกลางภาระนี้เริ่มกลายเป็นหน้าที่ของ ‘แม่บ้าน’ ที่ถูกจ้างมา ซึ่งดูจะคุ้มเสียกว่า ถ้าไม่นับเรื่องความเสี่ยงจากการยอมให้คนที่ไม่รู้จักกันดีเข้ามาอยู่ร่วมชายคา แต่ถึงกระนั้นงานแม่บ้านก็เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะแม่บ้านจากประเทศพม่าที่มีค่าแรงราคาถูก ส่วนคนไทยเองก็เหมือนจะมีทางเลือกมากขึ้นจนไม่ต้องการที่จะทำงานแบบนี้นัก อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่แม้จะว่าถูกนี้ก็ถือว่าสูงกว่าค่าแรงในประเทศของพวกเธอมาก
 
“พี่ทำงานเป็นวิศวะที่เนปิดอว์ เงินเดือนได้แสนจ๊าด แต่หนูเป็นแม่บ้านอยู่เมืองไทยตอนนี้ได้สามแสนจ๊าด” ฝน หญิงสาวคนเดิมเล่าถึงบทสนทนาของเธอกับพี่ชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องให้ผมฟัง เธอบอกว่าเพิ่งได้คุยกันกับพี่ชายอีกครั้งหลังจากที่เธอจากบ้านมาเกือบสิบปีบนหน้า facebook สังคมออนไลน์ที่ทำให้โลกปัจจุบันเล็กลง ความแตกต่างในเรื่องนี้คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ ณ เวลานี้เธอจะยังไม่กลับบ้าน แม้ว่าจะได้ยินข่าวความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลายๆ ด้านในประเทศของเธอก็ตาม
 
“หนูตัดสินใจไม่กลับไปที่บ้านตอนนี้ กลับไปทำไร่ทำนาก็ไม่เป็นแล้ว เวลากลับบ้านก็ไม่พร้อมกัน เพื่อนๆ ก็เจอกันยาก อยู่ในเมืองไทยช่วงเทศกาลยังได้เจอกันบ้าง” เธอกล่าว
 
การที่ฝนทำงานในประเทศไทยมานาน ผมจึงสนใจที่จะถามเธอเพิ่มเติมถึงชีวิตที่ผ่านมาของเธอ ผมเชื่ออย่างนึงว่าเรื่องของฝนน่าจะมีแง่มุมแตกต่างไปจากวัยรุ่นทั่วไปที่ผมนึกภาพออก อย่างน้อยๆ การที่เธอเริ่มทำงานในต่างประเทศตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยไม่เคยมีการเตรียมตัวในการย้ายจากถิ่นฐานอันคุ้นเคยมาก่อนแม้แต่นิดก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามแล้ว
 
ฝนเริ่มต้นว่า แม้ว่าจะมีบ้านเกิดอยู่ในฝั่งพม่า แต่ความจริงแล้วเธอเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นอีกเชื้อชาติหนึ่งที่มีประชากรไม่น้อยในความหลากหลายของพม่า เธอเข้ามายังประเทศไทยผ่านทาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในเวลานั้นเธอยังเรียนไม่จบชั้นมัธยมเสียด้วยซ้ำ แต่เธอก็ตัดสินใจตามพี่ๆ ของเธอมาทำงานในประเทศไทย
 
“งานที่บ้านเงินน้อย หางานก็ยาก คนจบปริญญากี่ใบๆ ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีเส้นสาย ที่หมู่บ้านจึงไม่สนับสนุนการเรียน ออกมาหาเงินดีกว่า เรามีพี่สาวกับพี่ชายอยู่ในไทยก่อนแล้วจึงหางานที่เหมาะให้ แต่ถ้าใครไม่มีก็แล้วแต่นายหน้า” ฝนเล่าและว่า ตอนนั้นค่าใช้จ่ายที่เสียให้กับนายหน้าคิดเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 22,500 บาท แต่ส่วนนี้มีพี่ๆ เป็นคนจัดการออกค่าใช้จ่ายให้แล้วค่อยๆ หักเอาจากค่าจ้างที่ฝนได้รับ ครั้งแรกฝนได้รับเงินเดือน 2,500 บาท ในขณะที่เงินเดือนล่าสุดที่ได้รับคือประมาณ 6,000 บาท โดยมีที่พักให้ ทำงานที่แรกได้ประมาณ 8 เดือนก็ลาออก เพราะอึดอัดกับเพื่อนร่วมงานที่มักโยนความผิดมาให้ เธอจึงลองทำงานโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครดู
 
 “ไปได้สองวัน อ้วก” เธอกลั้วหัวเราะ
 
“พี่ก็บอกแล้วมันสกปรกมาก เราก็กลับมากรุงเทพฯ ได้งานเลี้ยงน้อง เป็นครอบครัวแบบมีแค่พ่อ แม่ ลูก ก็อยู่ได้ แต่บ้านมันเป็นหมู่บ้าน ทำให้รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ ไม่ได้ไปไหน เหมือนอยู่ในคุกเพราะไกลจากถนนใหญ่มาก ไม่รู้จะไปไหน ก็อยู่แต่ในหมู่บ้าน”
 
แต่ปัญหาที่นี่ ฝนบอกว่าเป็นเรื่องการต้องทนรับอารมณ์จากนายจ้างที่แม้จะไม่ใช่การระบายใส่โดยตรง แต่การที่ชอบบ่นตลอดเวลาว่า เบื่อบ่อยๆ ก็พลอยบั่นทอนจิตใจในการงานไปด้วย พอบวกกับนายจ้างผู้ชายที่มักมีพฤติกรรมแปลกๆ ที่มากกว่านายจ้างกับลูกจ้างแสดงออกต่อกัน เช่นการจับเนื้อต้องตัวซึ่งมักทำเฉพาะเวลาที่แฟนไม่อยู่ จึงทำให้อยู่ที่นี่ไม่ได้ เวลานั้นด้วยภาษาไทยที่ดีขึ้นมากแล้วจึงกล้าที่จะตัดสินใจลาออกไปเลือกงานที่ใหม่
 
“ตอนออกมานายจ้างไม่พอใจบอกจะแจ้งตำรวจจับ ก็เล่าเรื่องนี้ในพี่สาวฟัง เขาก็เข้าใจสิ่งที่เป็น ก็ย้ายไปอยู่ร้านข้าว ก็สนุกดีไม่มีปัญหาอะไรเลย อยู่เป็นเพื่อนกันประมาณ 5 คน ก็กินนอนด้วยกัน แต่นอนไม่ค่อยพอ พี่สาวห่วงตรงนี้มากกว่า เพราะต้องตื่นแต่เช้าไม่ดีต่อสุขภาพ ก็อยู่ประมาณ 2 เดือน”
 
จากปัญหาที่พบ ฝนบอกว่า อยากให้รัฐบาลไทยดูแลเหมือนกัน เพราะที่พม่าถึงมีคนเรียนจบมาเยอะ แต่ไม่มีงานทำ เขาก็มากันที่นี่ จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากแล้ว เพราะเมื่อก่อนยังได้ยินว่าลำบากมาก เจ้านายไม่ดี บางคนก็โดนทำร้าย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี หากไม่พอใจก็สามารถออกหรือฟ้องร้องได้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่เสียเวลา
 
“ในแวดวงแม่บ้าน ปัญหาเจ้านายลวนลาม ความไม่ปลอดภัยจากนายจ้าง เป็นเรื่องที่น่าห่วง ถึงไม่ค่อยมี แต่ฝนเคยได้ยินเพื่อนเล่าว่าเคยโดนนายจ้างที่เป็นตาแก่ เวลาอาบน้ำให้เขา ก็ชอบจับโน่นนี่ แถมยังว่ามีลูกมีผัวแล้วจะหวงไปทำไม หลายคนไปทำที่นี่ก็ลาออก เพราะเขาเป็นแบบนี้”
 
ส่วนช่องทางร้องเรียนหรือดำเนินการทางกฎหมายนั้น ฝนว่า คนที่มาถูกกฎหมายสามารถฟ้องร้องได้ แต่คนที่มาผิดกฎหมายหรือไม่มีบัตรจะยาก ทำอะไรไม่ได้ เรื่องภาษาก็สำคัญ คนที่พูดไทยคล่องก็ไม่มีปัญหา บางคนพูดไม่ได้ก็มีปัญหา หากมีการรองรับในการหาคนช่วยแปลสำหรับแรงงานต่างชาติที่มาร้องเรียนด้วยก็จะเป็นเรื่องดี
 
ฝนเล่าถึงสถานที่ต่อไปที่เข้าไปทำงานซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ย่านสุขุมวิท เป็นที่ซึ่งมีแม่บ้านช่วยกันดูแลถึง 11 คน โดยในรั้วเดียวกันจะมีบ้านแยกแต่ละหลังเป็นของลูกของหลานอีกที เธอบอกว่า หน้าบ้านมันกว้างจนไม่กล้าออกจากบ้านโดยอัตโนมัติเลยทีเดียว
 
“ยิ่งกว่าคุกอีก บ้านหลังใหญ่เบ้อเริ่มอย่างกะวัง แต่ปีหนึ่งกับสิบเดือนออกจากบ้านไม่ถึงครั้งเดียว บ้านนี้มีแม่บ้านคนไทยหมด มีเราพม่าคนเดียว เขาก็ออกไปข้างนอกกันบ้าง แต่เขาก็ขู่เราว่า ออกไปเดี๋ยวตำรวจจับนะ เราก็ฝากซื้อของหรือเขาซื้อมาฝากบ้าง อย่างวันหยุดเขาก็ลากันได้บางทีก็ครึ่งเดือน ส่วนเราไม่ได้ออก เพราะนายจ้างเองก็ไม่อยากให้ออกด้วย ในนั้นอยู่กับคนอีสาน เป็นคนร้อยเอ็ดกับอุบลฯ ก็สนุกดี ไม่มีปัญหาอะไร หน้าที่เราต้องกวาดบ้านถูบ้าน”  
 
ความวุ่นวายในบ้านหลังใหญ่ที่ฝนเป็นแม่บ้านดูแล เธอเปรียบว่า “มากินข้าวกันทีเหมือนมาทำบุญ คนเยอะแยะไม่รู้มาจากไหน ส่วนนายจ้างก็เป็นคนละเอียดมาก ยิ่งช่วงแรกยิ่งลำบาก เพราะเหมือนนายจ้างจะทดลองบางอย่าง เช่น มีความอดทนไหม จานกี่ใบ ต้นไม้กี่ต้น แต่หลังๆ ก็น้อยลงทีละนิดก็อยู่ได้ไม่มีปัญหา” และความละเอียดที่ได้จากบ้านหลังนี้ ฝนบอกว่าได้ติดตัวไปเมื่อไปทำงานที่อื่น จึงไม่มีปัญหาเรื่องการทำงาน
 
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลาออกจากที่นี่ ฝนว่า จะว่าไปมันก็เรื่องที่เหมือนเล็กน้อย คือ ลูกพลับหายจากตู้เย็นไปหนึ่งลูก เขาหาว่าเราขโมยกิน ก็ทะเลาะกันแล้วก็ออกมาเลย จากนั้นจึงมาอยู่ที่ปัจจุบัน
 
“ที่นี่เราต้องซื้อกินเอง แต่ไม่ต้องเสียค่าน้ำไฟ โดยเงินเดือนได้  6,000 บาท รวมมาถึงตอนนี้ก็ตั้งแต่ปี 2008”
 
เมื่อถามถึงอนาคต ฝนตอบว่า ไม่แน่ไม่นอน เขาว่าพม่าจะดีขึ้นแล้ว เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว ให้เริ่มเก็บเงินจะได้กลับไปอยู่บ้าน
 
“แต่เราก็คิดว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เราก็อยู่อย่างนี้ไปก่อน ดูสถานการณ์ที่เป็นไปได้จริง มีเงินก้อนหนึ่งเก็บไว้รับความเปลี่ยนแปลง” 
 
3.
 
ไม่กี่เดือนก่อน ปรากฏการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความอ่อนไหวบางอย่างโดยเฉพาะสำหรับชาวพม่าในประเทศไทย นั่นคือ การพบกันระหว่างนางอองซานซูจีและแรงงานพม่าในพื้นที่มหาชัย และนั่นทำให้คำถามที่ว่า “แรงงานพม่าวางแผนว่าจะกลับไปพม่าในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่” กลับมาเป็นประเด็นที่น่าจับตาอีกครั้งหนึ่ง 
 
บทความ  ‘แล้วแรงงานพม่าที่ทำงานเป็นแม่บ้านจะกลับบ้านเกิดไหม ?’ ของแจ๊คกี้ พอลล๊อก  ผู้อำนายการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2012 ใน  www.mapfoundationcm.org (แปลโดย  ปรานม สมวงศ์) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ในตอนนี้อาจจะหางานทำในพม่ายาก แต่มีแรงงานกลุ่มหนึ่งที่อาจจะกลับไปบ้านเกิดของตนเร็วกว่าแรงงานกลุ่มอื่น พวกเธอคือ ‘แรงงานที่ทำงานเป็นแม่บ้าน’ นั่นเอง
 
เขายังกล่าวถึง ผลสะเทือนที่ตามมาว่า หากแรงงานเหล่านี้กลับบ้านจะทำให้มีคนที่เป็นพ่อและแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านต้องตกอยู่ในสภาพที่คับแค้น นอกจากนี้จะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเนื่องจากผู้ปกครองต้องลาหยุดจำนวนวันมากขึ้นเพื่อดูแลบุตรหลาน แต่ปัญหานี้สำคัญแต่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างง่าย แรงงานข้ามชาติในประเทศจะอยู่ถ้าพวกเขาได้รับค่าจ้างที่ดี ได้รับการยอมรับและเคารพในฐานะผู้ปฏิบัติงาน  มีการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานและสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
 
ทั้งนี้ อะไรคือแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานแม่บ้านเหล่านี้กลับไป แจ๊คกี้ พอลล็อค ระบุว่า ในพม่ากำลังเกิดการไหลทะลักอย่างฉับพลันของนักลงทุนจากต่างประเทศ  เอ็นจีโอในองค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และนักวิจัย ซึ่งมีความต้องการคนงานที่จะทำงานในบ้านอย่างเร่งด่วน ในขณะที่โรงงานในพม่าจ่ายเงินเดือนเพียงแค่เสี้ยวนึงของค่าจ้างในประเทศไทย แต่ชาวต่างชาติในพม่าได้เตรียมตัวแล้วที่จะจ่ายค่าจ้างเท่ากับในประเทศไทย หรือบางคนอาจะจ่ายแพงกว่าในประเทศไทย และไม่ต้องสงสัยเลยเพราะนายจ้างเหล่านี้จะยอมจ่ายเงินเดือนดีๆ ให้กับแรงงานที่ทำงานในบ้านที่มีประสบการณ์การทำงานและสามารถเดินทางได้
 
ใน พ.ศ. 2552 มีแรงงานจำนวน 129,267 คน ที่ได้จดทะเบียนขออนุญาตทำงานเป็นแรงงานที่ทำงานในบ้านในประเทศไทย และในจำนวนนั้นมี 101,509 คนมาจากพม่า  ตัวเลขจริงๆ คาดว่าจะสูงกว่าที่จดทะเบียน 2-3 เท่า ดังนั้นหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ผลสะเทือนคงจะไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับ นายจ้างชาวไทย
 
แจ็คกี้ กล่าวถึง แนวทางรับมือสถานการณ์เหล่านี้ว่า ประเทศไทยควรที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วในการปรับปรุงการจ่ายค่าแรงและสภาพการทำงานของแรงงานที่ทำงานในบ้านและให้กำลังใจให้แรงงานเหล่านี้อยู่ต่อ เพื่อที่จะแสดงถึงเจตนารมย์ที่แท้จริงในการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและสิทธิของแรงงานแม่บ้าน และควรจะก้าวไปข้างหน้าด้วยการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ที่ว่าด้วยการทำงานที่ยุติธรรมและมีคุณค่าสำหรับแรงงานที่ทำงานบ้าน อนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิแรงงานของพนักงานทำความสะอาด พี่เลี้ยงเด็กและผู้ที่ให้การดูแลผู้อื่น อีกทั้งให้การคุ้มครองเพื่อมิให้ถูกคุกคามทางเพศและประสบความรุนแรง เพื่อที่จะคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐบาลมีกฎระเบียบในการควบคุมบริษัทจัดหางานและสอบสวนกรณีการร้องทุกข์หากถูกละเมิด
 
‘จันทนา เอกเอื้อมณี’ เป็นอีกคนที่ผมมีโอกาสได้คุยถึงปัญหาเหล่านี้ เธอเป็นผู้ประสานงาน ‘คณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ’ เธอบอกว่า จากหนึ่งปีที่ผ่านมาที่แรงงานข้ามชาติเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายมากขึ้น ภาพรวมสำหรับแนวโน้มในอนาคต เวลานี้คนที่เข้ามาใหม่ค่อนข้างนิ่ง ส่วนที่เข้ามาแล้วก็อยากกลับบ้าน เธอว่า ส่วนมากแรงงานต่างชาติจะส่งเงินกลับบ้านเยอะมากและเขาจะเก็บไว้ใช้แค่เดือนละพันหรือสองพันบาท ที่เหลือจะส่งกลับบ้านหมดโดยมองถึงการตั้งตัวที่โน่นและความพร้อมที่จะกลับไป
 
ในเรื่องปัญหา จันทนา บอกว่า สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติในส่วนงานแม่บ้านคือ เรื่องกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งงานบ้านเป็นงานละเอียดจึงอาจไม่แฮปปี้ระหว่างกันได้ง่าย แต่นโยบายที่ต้องมีนายจ้างรับรองทำให้แรงงานแม่บ้านต้องทนอยู่  ซึ่งถึงที่สุดแล้วเขาก็จะไม่ทนโดยจะหาคนมาเซ็นต์รับรองว่าเป็นนายจ้างแทน นโยบายนี้จึงควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ได้จริง ส่วนแรงงานเองก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในการต้องหาคนมาเซ็นต์ว่าเป็นนายจ้าง
 
นอกจากนี้ แรงงานแม่บ้านยังต้องเจอเรื่องค่าแรงที่กดต่ำโดยนายจ้างมักอ้างเรื่องกินอยู่ด้วยกัน แต่บางทีห้องที่ให้อยู่ก็แค่เป็นห้องเล็กๆ ใต้บันได นอกจากนี้ยังไม่มีวันหยุดที่แน่นอน ซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองไปถึงรายละเอียดตรงนี้ไม่มี ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ออกไปทางคุ้มครองไปทางแรงงานภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีการร่างเป็นกฎกระทรวงไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ซึ่งความจริงเพียงรัฐมนตรีเซ็นต์ก็สามารถประกาศใช้ได้ กฎกระทรวงที่ว่านี้จะครอบคลุมถึงเรื่องค่าแรง ชั่วโมงทำงาน วันหยุดที่แม่บ้านสามารถมีเวลาไปพัฒนาตัวเองได้ รวมทั้งค่าล่วงเวลา อย่างน้อยถ้ามีตรงนี้ออกมาบังคับให้เขาได้สิทธิขั้นพื้นฐาน ปัญหาการย้ายหรือเปลี่ยนนายจ้างก็จะน้อยลงตามมา
 
จันทนา ยังกล่าวถึงปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ ที่แรงงานแม่บ้านมักจะต้องเจออีกเช่น การร้องเรียนปัญหากับเจ้าหน้าที่ซึ่งมักมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะความจริงแล้วแม่บ้านจากต่างแดนมักออกไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้ เมื่อออกไปไหนมาไหนไม่ได้ก็ไม่สามารถฟ้องร้องเวลามีปัญหาได้ หรืออย่างเรื่องเงินประกันสังคมที่แม่บ้านต้องจ่ายเช่นกัน ในทางปฏิบัติ ลูกจ้างแรงงานแม่บ้านจะไม่ได้ใช้สิทธินี้ เพราะส่วนมากนายจ้างจะไม่ยอมให้ไปรอที่โรงพยาบาลเนื่องจากเสียเวลามาก ดังนั้น แม้จะเสียเงินส่วนนี้ไปแล้ว แต่ลูกจ้างก็ยังต้องจ่ายเงินซื้อยาเองจากร้านยาใกล้บ้านหรือใช้เฉพาะยาที่มีในบ้านเป็นหลัก
 
“ในภาพรวมสวัสดิการแรงงานข้ามชาติควรจะได้เท่ากับคนไทย หรือแรงงานภาคอื่นเพราะจะเป็นทางเลือกที่จะไม่ต้องดินรนไปสู่แรงงานในโรงงาน ปัญหาอย่างหนึ่งของแรงงานภาคแม่บ้านคือเรื่องศักดิ์ศรี เพราะสังคมบ้านเราจัดวางไว้แบบหนึ่ง คือเป็นมุมมองในลักษณะคนใช้ ซึ่งต้องทำทุกอย่าง ทุกเวลาที่ต้องการ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งคือ เมื่อเราเองอาจไม่มีเงินจ้างที่สูง การใช้งานลักษณะนี้ก็คือการเอาเปรียบเขานั่นเอง” จันทนา กล่าว
 
เมื่อมีโอกาส ผมนำประเด็นเหล่านี้ไปพูดคุยอีกครั้งกับ  ‘น้อย’ หญิงสาวจากฝั่งพม่าอีกคนหนึ่งที่พบเจอในโรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ เธอเป็นชาวกะเหรี่ยงเช่นเดียวกับ ‘ฝน’ แต่ผิวค่อนข้างไปทางคล้ำและมีตาที่ดูคมกว่า ดูๆไปเธอก็คล้ายกับสาวปักษ์ใต้บ้านเรา น้อยเข้ามาประเทศไทยจากทางจังหวัดระนอง ในวันที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องมางาน น้าของน้อยบอกเพียงว่าจะพามาเที่ยว แต่เมื่อเธอลืมตาตื่น บ้านใหม่ที่เธอเดินเข้าไปนี้ จะไม่ใช่บ้านที่น้อยมีสถานะเป็นเจ้าบ้านอีกแล้ว
 
เมื่อมีโอกาส ผมนำประเด็นเหล่านี้ไปพูดคุยอีกครั้งกับ  ‘น้อย’ หญิงสาวจากฝั่งพม่าอีกคนหนึ่งที่พบเจอในโรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ เธอเป็นชาวกะเหรี่ยงเช่นเดียวกับ ‘ฝน’ แต่ผิวค่อนข้างไปทางคล้ำและมีตาที่ดูคมกว่า ดูๆ ไปเธอก็คล้ายกับสาวปักษ์ใต้บ้านเรา น้อยเข้ามาประเทศไทยจากทางจังหวัดระนอง ในวันที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องมาทำงาน น้าของน้อยบอกเพียงว่าจะพามาเที่ยว แต่เมื่อเธอลืมตาตื่น บ้านใหม่ที่เธอเดินเข้าไปนี้ จะไม่ใช่บ้านที่น้อยมีสถานะเป็นเจ้าบ้านอีกแล้ว
 
น้อยบอกกับผม เรื่องสภาพการทำงานในประเทศไทยตามตรงว่า งานแม่บ้านก็คือทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน บางทีก็จุกจิกงี่เง่า ทำให้เธอทำงานที่ไหนได้ไม่ยาว สองสามเดือนก็ลาออก แต่ตอนนี้อยู่ได้ยาว 2 ปี ปัญหาที่น้อยพบมากคือ นายจ้างไม่ค่อยมีเหตุผล เช่นที่แรกที่เธอทำงาน แม่บ้านคนเก่าแอบใช้โทรศัพท์ไว้เยอะ พอน้อยเข้าไปใหม่ไม่กี่วัน เขาก็โทษว่าเป็นคนโทรทำให้เสียเงินมาก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เถียงกันก็ลาออกมา แต่บางที่ยังแย่กว่านั้น
 
“เขายอมให้ลาออก แต่ไม่ได้ค่าแรง” น้อยเล่าถึงประสบการณ์กับเจ้าของงบ้านหลังที่สามารถใช้คำว่าโกงได้เต็มปาก
 
ที่บ้านหลังนี้ น้อยบอกว่า ต้องทำงานบ้านคนเดียวเพื่อดูแลอาคาร 5 ชั้น ซ้ำยังต้องประสบปัญหาการพูดจาที่ไม่ดีจากนายจ้าง และสุดท้ายเมื่อขอลาออก เขาก็บอกให้ทิ้งเลขบัญชีไว้แล้วจะโอนเงินเดือนตามให้ แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่ได้โอน เมื่อโทรกลับไปถาม เขาก็ว่าน้อยขโมยของเขามา เป็นเสื้อผ้าที่เขาเป็นคนให้และก็ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าที่ดีอะไรนัก ก่อนออกมาน้อยก็บอกให้เขาตรวจ แต่นายจ้างเลือกเป็นฝ่ายที่จะไม่ตรวจเอง 
 
“ช่องทางฟ้องร้องทำได้ แต่มันยุ่ง” น้อยตอบ เมื่อผมถามว่าสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ไหม  
 
“เงิน 6,000 บาท แต่เรื่องยาว เราทนดีกว่า ก็ใช้เงินเก็บเก่าไปอยู่บ้านเพื่อน จนได้งานทำเป็นงานโรงงาน ทำอยู่สี่เดือน หายใจไม่ออก ไม่สบายบ่อย ก็ย้ายมาทำบ้านหลังนี้ ซึ่งเจ้านายดีมาก หน้าที่เราคือทำกับข้าวอย่างเดียว มีน้องอีกคนทำหน้าที่อื่น ”
 
ปัจจุบันน้อยบอกว่า มีความสุขดีในเมืองไทยแถมยังมีน้องตามเข้ามาทำงานอีกสองคน บางทีสังคมของน้อยดูเหมือนจะหยั่งรากลงลึงกับที่นี่ไปแล้ว เกือบสิบปีที่ใช้ชีวิตในประเทศไทยทำให้น้อยมีกิจกรรมและเพื่อนฝูง เธอกับเพื่อนๆ ยังได้รวมกลุ่มกันเต้นรำแบบพื้นถิ่นและเพิ่งกลับมาจากการแสดงที่พัทยา ส่วนในเวลาว่างจากการทำงาน บางทีน้อยก็ซื้อหนังแผ่นมาดูหนังดูละครในห้องบ้าง
 
“ทีวีเดี๋ยวนี้มีช่องพม่าด้วย ก็ดูได้ทั้งหมด แต่ที่ชอบคือละครเกาหลี” น้อยบอกรสนิยมที่อินเทรนด์เหมือนกันในเวลานี้
 
เมื่อถามถึงเรื่องเงินเดือน น้อยบอกว่า 7,000 บาท แต่เก็บไว้ใช้เพียง 2,000 บาท ที่เหลือส่งกลับบ้านให้แม่ทุกเดือน ที่โน่นบ้านหลังใหญ่ที่กำลังสร้างคงจะเสร็จในไม่ช้า และแม่ก็บอกให้ทำงานในไทยกันอีกเพียงคนละสองปี จากนั้นลูกทุกคนควรถึงเวลาที่จะต้องกลับบ้าน แต่น้อยยืนยันชัดเจนที่จะไม่ปฏิบัติตาม
 
“น้อยบอกว่าไม่กลับ อยู่ที่นี่ ทำงานส่งเงินให้ก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ อยู่ที่นี่ทำงานก็โอเคกว่า” น้อยให้เหตุผล
 
ที่พม่าในเวลานี้ น้อยบอกว่าใช้เงินเยอะแต่ไม่คุ้มค่า ในเรื่องความผูกพัน หมู่บ้านแสนกว้างที่เธอเคยเล่นสนุกเมื่อตอนเด็กๆ เวลานี้เธอบอกว่าไม่สนุกเหมือนก่อนแล้ว น้อยเคยกลับบ้านสองครั้ง เมื่อข้ามกลับไปทางฝั่งพม่า เส้นทางกลับบ้านยังคงไม่ดีนักและดูอันตราย ด่านลอยของเจ้าหน้าที่ยังตั้งหยุมหยิมมากมายจนเกินงามและคอยเรียกเก็บเงินจากรถโดยสารยิ่งทำให้เสียเวลาเดินทางไปจนมืดค่ำ  เพื่อนๆ ในหมู่บ้านก็แทบไม่เหลือ ส่วนที่ยังอยู่ก็แต่งงานหรือมีลูกไปหมดแล้ว
 
“ไปหาเขาเขาก็ยุ่ง จะคุยอะไรมาก เขาก็ไม่ว่าง ก็ไม่สนุกเลย อยู่ที่นี่เพื่อนเยอะกว่า สังคมเราอยู่ที่นี่”
น้อยบอก
 
4.
 
“พูดจริงๆคือต้องอยู่ตลอดเวลา”
‘เหมย’ หญิงสาวผู้มีผิวขาวนวลที่ผมเพิ่งรู้จักอีกคนหนึ่งกล่าวขึ้น  
 
“ไม่มีเวลาส่วนตัว เขาเคยพูดว่า แม่บ้านไม่มีวันหยุด หนูว่าไม่ใช่ แต่เขาพูดมา เราก็ฟัง เราก็ได้รู้ว่าเขาเป็นแบบนี้ไม่ได้ต่อรองอะไรก็ฟังไปอย่างนั้น แต่เราไม่ชอบเปลี่ยนที่ ที่ไหนก็มีปัญหาเล็กน้อย เว้นแต่ต่อไปจะมีปัญหาที่อยู่ไม่ได้จริงๆ”  
 
ในปัญหานานับประการที่แม่บ้านต้องประสบพบเจอโดยไม่เว้นว่าพม่าหรือไทย สิ่งที่เหมยสะท้อนคือ ทัศนะคติที่นายจ้างทั่วไปมักมองอย่างนั้น เมื่อมากินมาอยู่ในบ้านเขาแล้วก็ควรต้องทำงานให้เขาตลอดเวลา
 
แต่พื้นที่และเวลาส่วนตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนก็ต้องการเหมือนกันไม่ใช่หรือ...?
ผมนึกในใจ...
 
‘ฝน’ แนะนำให้ผมรู้จักกับ ‘เหมย’ ในการพบเจอกันครั้งถัดมาที่โรงเรียนแห่งเดิม เพราะผมขอร้องว่าอยากพูดคุยกับแม่บ้านที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยบ้าง ฝนบอกว่า คนที่มาใหม่ๆ จะกลัวไม่กล้าออกไปไหน ส่วนหนึ่งคือเรื่องภาษาและความไม่คุ้นเคยกับสถานที่หรือกลัวเจ้าหน้าที่ ส่วนเหมยนั้นอยู่ในเมืองไทยมา 4 ปีแล้ว และพอที่จะพูดภาษาไทยได้บ้าง
 
เหมยบอกกับผมว่าเป็นชาวไทใหญ่ บ้านของเธออยู่บริเวณเหนือขึ้นไปทางท่าขี้เหล็กหรือใกล้กับ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตอนเด็กๆ ในประเทศเธอก็อยู่กับครอบครัว แต่ไม่ได้เรียนต่อเพราะเป็นพี่สาวคนโตจากบรรดาพี่น้อง 5 คน เธอจึงออกมาทำงานหาเงินส่งน้องๆ ให้ได้เรียน ส่วนงานที่ทำคือ เช่าที่ปลูกข้าวโพด รายได้หักต้นทุนแล้วก็เหลือนิดหน่อย พอเลี้ยงครอบครัว 4-5 คน ให้อยู่ได้
 
“มาทำงานในประเทศไทยเพราะอยากมาบ้าง บางครั้งอยู่ที่บ้านไม่ค่อยพอใช้ ซึ่งเราก็มีญาติ มีน้าเข้ามาก่อน เคยบอกว่าอยากมา ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้พามา จนเจ้านายต้องการคนก็เลยโทรไปเรียก เราก็เข้ามาอยู่กับเขาเลย ค่าใช้จ่ายตอนมาน้าก็เป็นคนจัดการให้ ภาษาอะไรก็ยังไม่ได้ ปัจจุบันน้ากลับไปพม่า แต่งงานมีครอบครัวแล้ว”
 
เหมยเล่าว่าได้ทำงานอยู่ที่เดียวกับน้า แต่ทำได้พักหนึ่งก็มีเหตุให้ต้องกลับไปที่พม่า พอกลับมาอีกครั้งนายจ้างก็ได้คนใหม่แล้ว จึงได้ไปทำงานที่ใหม่ จนเมื่อน้าจะกลับไปที่พม่า จึงให้กลับมาทำที่เดิมในหน้าที่ของน้า 
 
“จริงๆ แล้วหนูไม่ค่อยมีอิสระ ตอนนี้ทำในส่วนเลี้ยงเด็กจึงไม่ค่อยมีอิสระเพราะต้องดูน้องก่อน เด็กห้าขวบ กำลังซนต้องดูแลทุกอย่าง” เหมยบอกพร้อมสารภาพว่า ความจริงแล้วชอบงานที่ทำก่อนหน้านี้มากกว่า เนื่องจากมีการตกลงขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนตั้งแต่เรื่องเงินเดือน วันหยุด และถ้าไม่หยุดก็มีจ่ายชดเชยพิเศษให้
 
“งานก็ไม่ค่อยเยอะมาก งานนี้มีอิสระ แต่อยู่คนเดียวจะเหงา งานนี้ทำที่สุขุมวิท เป็นคอนโดฯ คอยดูห้องให้เขา ที่จริงชอบแบบนี้มากกว่า ต้องมีวันหยุด ไม่ใช่ไปแล้วก็โทรตาม เหนื่อย ซึ่งตอนนี้เป็นแบบนี้ใจเราจะไปแล้ว ติดธุระก็โทรตามแล้วไม่สะดวก”
 
เหมยบอกว่า เรื่องวันหยุดหรือข้อตกลงการทำงานนี้ ถ้าสามารถทำได้ก็อยากบอกให้รัฐบาลไทยดูแลเหมือนกัน
 
ผมคุยกับเหมยไปเรื่อย จนทราบปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ความจริงแล้วน่าจะเป็นจุดเด่นเสียมากกว่า เหมยบอกผมว่า เธอพูดภาษาจีนได้ด้วย นายจ้างจึงให้หัดพูดกับน้องที่เลี้ยง แต่น้องกลับไม่ชอบพูดภาษาจีนเพราะเรียนในโรงเรียนไทย บางทีเมื่อพูดกับน้องเป็นภาษาไทยบ้าง แม่เขาก็ไม่ชอบอีกบอกให้พูดจีนกับน้อง ตรงนี้จึงทำให้เธอเครียดเหมือนกัน
 
ผมยังติดใจเรื่องภาษาจีนของเธอ เพราะเคยทราบมาเพียงว่าเพื่อนบ้านของเรามีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีเท่านั้น แต่ไม่รู้เรื่องหลักสูตรภาษาจีน เหมยบอกว่าเคยเรียนจากบ้านเกิด เพราะเป็นหลักสูตรที่สอนในโรงเรียน ตัวเหมยเองก็มั่นใจว่าพูดได้คล่อง ตอนนี้จึงอยากเรียนภาษาอังกฤษให้เต็มที่ขึ้น แต่ปัญหาจากสภาพการทำงานที่ไม่อิสระนัก ทำให้บางทีก็มาเรียนไม่ได้ ขาดเรียนบางช่วง หรือเรียนเสร็จก็ต้องรีบๆ กลับไปทำงานต่อ ถึงกระนั้นเธอก็มุ่งมั่นที่จะมาให้ได้มากที่สุด  
 
จากการที่ได้พูดคุยกับแม่บ้านเพื่อนบ้านของเรา แทบทุกคนดูเหมือนจะให้ความสำคัญพิเศษกับการเรียนโดยเฉพาะการเรียนด้านภาษา ซึ่งนอกจากภาษาไทยแล้ว บางคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีอาจได้ไปทำงานในบ้านของฝรั่งซึ่งให้เงินเดือนที่สูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ภาษาที่หลากหลายยังเป็นเสมือนใบเบิกทางไปสู่อาชีพอื่นเช่นกัน
 
แม้ว่าแรงงานพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยช่วงแรกหลายคนจะเริ่มต้นที่งานแม่บ้าน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าปัจจุบันแรงงานกลุ่มนี้หรือแรงงานที่มีทักษะทางภาษาจะสามารถขยับขยายไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีอิสระและทำเงินได้มากขึ้น เช่น ลูกจ้างชั่วคราวในร้านค้าโชว์ห่วย หรือที่ดูมีสถานะดีกว่านั้นก็เป็นพนักงานขายสินค้าบนห้าง โดยเฉพาะพวกไอที ซึ่งเวลานี้ ไม่ว่าจะห้างใหญ่อย่างพันธุ์ทิพย์หรือมาบุญครอง ตามแผงค้าโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอที ดูๆ ไปแล้วผู้ให้บริการไม่น่าเป็นคนไทย หรือมีจำนวนคนไทยน้อยลงมากทีเดียว
 
ทั้งนี้ ในระยะหลังลูกค้าต่างชาติที่มาจับจ่ายสินค้าในห้างมาบุญครองดูเหมือนจะมีมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่พูดภาษาของลูกค้าได้ก็ย่อมได้เปรียบเป็นธรรมดา ในอนาคต แม่บ้านอย่าง ‘เหมย’ ที่สามารถพูดภาษาจีนซึ่งกำลังร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้ ส่วน ‘ฝน’ และ ‘น้อย’ ที่กำลังสนใจภาษาอังกฤษ ก็อาจจะขยับขยายมาสู่งานในตลาดที่ต้องการทักษะทางนี้มากขึ้น รวมทั้งอาจมีอิสระและรายได้ที่ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพวกเธอจะเลือกเดินเส้นทางใดต่อไป แววตาที่มุ่งมั่นลุกโชนผสานกับกาลเวลาที่เคี่ยวกรำความเยาววัยให้เติบโตแกร่งกล้า ท่ามกลางบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง โอกาสที่ดีน่าจะเปิดกว้างสำหรับผู้ที่มองหาช่องทางการพัฒนาตนเองไม่ใช่หรือ
 
ในอนาคตไม่ว่าพวกเธอเลือกจะกลับหรืออยู่ในประเทศไทยแห่งนี้ต่อไปก็ตาม ผมภาวนาขอให้โชคดีและความสำเร็จจงอยู่กับพวกเธอ.
 
 
 
 
 
ที่มาจาก "บันทึกเดินทาง: ข้ามชาติ สร้างเมือง"
บรรณาธิการ จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ และ วิทยากร บุญเรือง
ร่วมผลิตโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
สนับสนุนโดยองค์การไดอาโกเนียประเทศไทย (diakonia), แอ๊ดดร้า ประเทศไทย (ADRA) และ UK aid 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net