Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                เริ่มเข้าเดือนแรกของปีที่ 10 ของสถานการณ์สงครามนอกระบบระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐไทย ก็พอเห็นแสงแห่งความหวังของสันติภาพบ้างแบบคลุมเครือ โดยผ่านวาทกรรม “เบื่อความรุนแรง” ตามป้ายริมถนนสายหลักทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเดินทางหารือเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในการคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กับ ดาโต๊ะศรีฮัจญี มูฮำหมัดนายิบ บินต่วนฮัจญีอับดุลรอซัก นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย 

                เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ชนวนเหตุการณ์สู้รบระลอกใหม่ครั้งนี้ ถูกจุดด้วยยุทธการปล้นปืนที่ค่าย ร.5 พันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 มกราคม พ.ศ.2547 จากนั้นมากลิ่นอายของบรรยากาศสงครามประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างมีพัฒนาการชัดขึ้นและชัดขึ้นเรื่อยๆ ของภาพการมีหุ้นส่วนสำคัญในการดำเนินการสงครามจรยุทธ์ที่มาจากบทบาทของประชาชนผ่านทั้งกองกำลังติดอาวุธและแนวทางทางการเมืองทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ก่อนปี พ.ศ.2547 นั้นสถานการณ์อยู่ในภาวะสงบ เพราะชนวนเหตุของสงครามนอกระบบในดินแดนมลายูแห่งนี้ ตามที่หลายชุดข้อมูลทางวิชาการประวัติศาสตร์ปาตานีกับสยามได้อ้างถึง ชัดเจนว่ามาจากอุดมการณ์ปลดแอกจากการยึดครองดินแดนของสยามโดยคนมลายูปาตานีกับอุดมการณ์รักษาดินแดนอันเป็นผลลัพธ์ของการล่าอาณานิคมสำเร็จของสยามหรือกรุงเทพฯโดยรัฐไทย ซึ่งเริ่มต้นภาวะสงครามด้วยเหตุการณ์แรกที่อาณาจักรปาตานีถูกตีแตกโดยอาณาจักรสยามเมื่อปี ค.ศ.1786

                จนกระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เกิดเหตุการณ์สลดใจแบบภาคภูมิใจของมวลชนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี และแบบหมั่นไส้อย่างสมน้ำหน้าต่อเหล่ากองกำลังปลดแอกทั้ง 16 คน ที่เสียชีวิตจากยุทธการบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 32 นราธิวาส ของมวลชนรัฐไทย

                โดยผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกก็มีท่าทีสนใจเป็นพิเศษต่อความเป็นไปของสถานการณ์สู้รบที่ปาตานีว่าจะมีจุดจบอย่างไร

                โดยเฉพาะกระบวนการคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของ กอ.รมน. ด้วยวิธีการครอบงำความคิดความรู้สึกของคนต่อการจับอาวุธสู้ของประชาชนปาตานีว่า “เป็นพวกนิยมความรุนแรงอย่างบ้าคลั่งเพื่อผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มไม่ใช่เพื่อประชาชน” ผ่านการบีบแนวร่วมหรือสมาชิกขบวนการฯ ที่มีหมายจับ ป.วิอาญาให้มอบตัว กลับใจเป็นคนดี ร่วมพัฒนาชาติไทย แลกกับการได้รับอิสรภาพจากการตามล่าของเจ้าหน้าที่ และล่าสุด ผ่านวาทกรรมทางการเมือง คือคำว่า “เบื่อความรุนแรง”

                สำหรับคนที่ไม่ได้มีอคติกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี และมีชุดข้อมูลองค์ความรู้อย่างรอบด้านและซื่อสัตย์ต่อความจริงนั้น ก็คงจะเข้าใจว่า ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีในรูปแบบสงครามประชาชนแบบจรยุทธ์นั้น เป็นผลพวงของการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยยุทธการ “ดิสเครดิต ปิดล้อม ตรวจค้น  ไล่ล่า จับกุม สังหาร” จนทำให้การสู้ในทางการเมืองอย่างเดียวเพื่ออุดมการณ์ปลดปล่อยจากการยึดครองของการล่าอาณานิคมของสยามหรือรัฐไทยในปัจจุบันนั้นเจอทางตัน จนเป็นเหตุให้เกิดขบวนการติดอาวุธต่างๆ เช่น BRN และ PULO

                โดยความหมายตรงๆ ซึ่งอิงกับข้อเท็จจริงของวาทกรรม เบื่อความรุนแรง ที่ กอ.รมน.เป็นเจ้าของ ก็น่าจะหมายความว่า กอ.รมน.เองก็เบื่อการรบด้วยกองกำลังทหาร ตำรวจ ชรบ. อรบ. อส.แล้ว

                แต่ถ้าเบื่อความรุนแรงจริงๆ ก็น่าจะเร่งบรรยากาศของการเจรจาโดยมีคนกลางอย่างจริงๆ จังๆ สักที เพราะสาเหตุของการรบด้วยอาวุธ หรือที่นักสันติวิธีจ๋าชอบเรียกว่า “ความรุนแรง” นั้น  มาจากภาวการณ์ที่จะพูดคุยหรือเจรจากันไม่ได้อย่างสิ้นเชิงไม่ใช่หรือ?

                ถ้าเบื่อความรุนแรงจริง ก็ต้องเจรจา แต่ไม่ใช่การเจรจาจัดฉากเพื่องานการข่าวเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่า อารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนและสมาชิกขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ก็คงเบื่อภาวะความรุนแรงไม่ต่างกับทาง กอ.รมน. เหมือนกัน และในเวลาเดียวกันก็ “เบื่อการเจรจาจัดฉาก” ด้วยเหมือนกัน

                ท่าทีที่ไม่ชัดเจนของรัฐไทยว่า กำลังทำสงครามเพื่อยุติสงครามกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีด้วยความรุนแรงโดยใช้การทหาร หรือด้วยสันติวิธีที่ต้องสิ้นสุดที่การเจรจาแบบมีคนกลางที่มีความเป็นรัฐโดยใช้การเมือง ทำให้เหลือพื้นที่การต่อสู้สำหรับประชาชนปาตานีที่ต้องการเอกราชเป็นทางเลือกแห่งสันติภาพด้วยการหลั่งเลือดเท่านั้น

                นี่คือสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ความไม่สงบ บนเส้นทางเอกราชอาบเลือดที่ปาตานีหรือชายแดนใต้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net