Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนให้ประชาชนเตรียมรับวิกฤติไฟฟ้าขาดในเดือนเมษายนนี้ โดยสาเหตุเกิดจากจะมีการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาในพม่าระหว่างวันที่ 4-12 เม.ย. นี้ เนื่องจากต้องหยุดซ่อมบำรุง เพราะเกิดการทรุดตัวของแท่นขุดเจาะ ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ โดยก๊าซที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด ประกอบกับท่อก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ถูกสมอเรือเกี่ยวขาด

 

1.ท่อก๊าซเจดีเอ (ไทย-มาเลเซีย) ที่รั่ว ไม่เกี่ยวข้องกับการปิดซ่อม

ตามที่ รมว.กระทรวงพลังงานกล่าวถึงสมอเรือที่ทำให้ท่อก๊าซรั่ว และขาดก๊าซไป 270 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดเตั้งแต่วันที่ 24  ธ.ค. 2555 และซ่อมเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ตอนนี้ใช้ได้ปกติ ฉะนั้น เรื่องเจดีเอ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทางกระทรวงอ้างว่ามีความเสี่ยงไฟฟ้าไม่เพียงพอในเดือนเม.ย.

 

2.ซ่อมท่อก๊าซพม่า ไม่เหนือความคาดหมาย วางไว้ในแผนแล้ว

แม้จะมีปัญหาที่ต้องซ่อมแซม แต่การซ่อมบำรุงใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน และมีแผนรองรับอยู่แล้วหากมีการหยุดส่งก๊าซ เพื่อมาผลิตไฟประมาณ 6,961 เมกะวัตต์ เพราะมีโรงไฟฟ้าจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ดีเซลและน้ำมันเตาแทนได้ ส่วนที่จะไม่สามารถแทนได้มีเพียง 2 โรง รวมแล้ว 1,380  เมกะวัตต์  

(เว็บไซต์ของกฟผ.http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=category&id=141:2011-05-08-06-52-33&layout=blog&Itemid=715)

ดังนั้น เรื่องไฟดับทั้งประเทศเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะขณะนี้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ 32,600 เมกะวัตต์

ปัญหาของวันที่ 4 เม.ย.ที่ระบุว่าอาจจะเกิดความต้องการสูงสุด (พีค)  26,500 เมกะวัตต์  ก็ยังคงต่ำกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบที่เรามี ฉะนั้น หากเกินความต้องการสูงกว่าคาดไว้จริง  เราก็ยังมีไฟฟ้าสำรองอีก  7,100 เมกะวัตต์ กรณีที่ท่อก๊าซส่งไม่ได้ทำให้การผลิตไฟฟ้าขาดไป 4,000 เมกะวัตต์  ก็ยังมีอีก 3,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย  และหากเรายังใช้น้ำมันเตาและดีเซลแทน ก็ขาดไปเพียง 1,300 กว่าเมกะวัตต์ดังที่กล่าวไป  

ตัวเลขเหล่านี้คือตัวเลขของ กฟผ.เอง และถูกระบุอยู่ในแผนอยู่แล้ว

 

3.กฟผ.มีกำลังสำรองสำหรับการปิดซ่อมบำรุงอยู่แล้ว

กฟผ.มีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ปี 2007 (ฉบับปรับปรุง 2) ที่ระบุเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเขียนไว้เลยว่า ในปี 56 จะต้องหักบำรุงกำลังสำรองอยู่ที่ 13% นอกจากนี้มีการปรับแผนเพิ่มกำลังสำรองไม่ต่ำกว่า 15% กรณีท่อก๊าซภาคตะวันตกขัดข้อง เขาวางแผนไว้แล้วและปรับเพิ่มไว้แล้วว่า หากมีการขัดข้องต้องมีกำลังสำรองไม่ต่ำกว่า 15%

 

4.สามารถเลื่อนการซ่อมไปอยู่ในช่วงหลังเกิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้

ดูตัวอย่างจากปีก่อน เดือน เม.ย.วันที่ความต้องการขึ้นสูงสุดคือวันที่ 5 เม.ย. และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 6-17 เม.ย. ความต้องการไฟฟ้าทั้งระบบลดลงเหลือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเลยเพราะหยุดสงกรานต์ ดังนั้น ถ้าอยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาไฟดับ ก็สามารถเลื่อนการซ่อมได้

 

5.รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานควรเจรจากับ ปตท. รัฐบาลพม่าไม่ได้เกี่ยวข้อง

เมื่อรัฐบาลกล่าวว่าจะต้องเจรจากับรัฐบาลพม่าและอาจไม่ประสบผลในการเลื่อน ส่วนนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพราะรัฐบาลพม่าไม่เกี่ยวข้องเลย ท่อก๊าซเป็นของผู้ร่วมทุนที่ขายก๊าซให้กับ ปตท. ซึ่งในผู้ร่วมทุนก็รวม ปตท. สผ. ด้วย และเขาไม่มีสิทธิ์ขายก๊าซให้ใครได้เลยนอกจากขายให้กับ ปตท.รายเดียว ฉะนั้น ปตท. จะไม่มีอิทธิพลในการต่อรองได้เชียวหรือ ปตท.สามารถเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้และสามารถบอกกับคู่ค้าของตัวเองได้ ดังนั้น รัฐมนตรีควรจะเจรจากับ ปตท. ทั้ง ปตท. เองก็อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน

 

6.ใครคือผู้รับผิดชอบ - ไม่ใช่ประชาชน

การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบเมื่อก๊าซขาดไป ปตท.คือผู้ผูกขาดเพียงรายเดียว ที่จะส่งก๊าซให้กับ กฟผ. หากจัดส่งไม่ได้ ตามหลักธุรกิจแล้วก็ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น  ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ผู้บริโภคไม่ควรเป็นผู้รับภาระ แต่ที่ผ่านมาก็ผลักภาระมาที่ค่าไฟให้ผู้บริโภคจ่ายโดยตลอด จึงฝากไปยังรัฐมนตรีและองค์กรกำกับกิจการพลังงานด้วยว่า ควรเลิกการให้ผู้บริโภคซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยต้องมารับผิดชอบ

หากไฟดับ กฟผ. ก็ควรรับผิดชอบด้วย เพราะขณะนี้ กฟผ.เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปคลุมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 32,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังผลิตที่พร้อมจ่ายไฟ จะอ้างว่าไม่พร้อมไม่ได้ เพราะผู้บริโภคจ่ายเงินให้แล้ว กฟผ.ต้องพร้อมที่จะดูแลรักษาให้พร้อมที่จะจ่ายไฟตามนั้น หากยูนิตไหนไม่พร้อมก็ต้องไม่นับมารวมแต่ต้น

เรื่องความเสี่ยงที่ไฟจะดับนี้ หากไม่จริง ย่อมทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น เท่ากับเป็นการทำลายเครดิตของระบบความมั่นคงของไฟฟ้าบ้านเรา รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ

คนระดับรัฐมนตรี ไม่น่าที่จะไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นของรัฐบาล เป็นของ กฟผ.อยู่แล้ว

ในช่วงท้ายที่ รมต. ออกมากล่าวว่า ระบบไม่มั่นคงเพราะเอ็นจีโอ ชาวบ้านคัดค้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้า ไม่ให้สร้างเขื่อน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ เท่ากับรัฐมนตรีพยายามใช้ประเด็นนี้เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าสถานการณ์ไม่มั่นคง จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้า

ขณะนี้นอกจาก กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้แล้ว ยังจะมีการเปิดประมูลไอพีพีอีก 6 โรง ขนาดรวม 5,400 เมกะวัตต์  โดยได้ขายใบประมูลแล้ว และจะประมูลภายในเดือน มิ.ย. นี้

ทั้ง รมต.กระทรวงพลังงาน ปตท. กฟผ. ต้องชี้แจงกับประชาชน มิฉะนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

2 ปีที่แล้ว รัฐบาลบอกว่ามีอุบติเหตุกับท่อก๊าซจึงปล่อยน้ำออกจากเขื่อนที่กาญจนบุรีเพื่อผลิตไฟฟ้าแล้วทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งขณะนั้นภาคการท่องเที่ยวออกมาแสดงความเห็นไม่พอใจ ครั้งนั้นมีค่าเสียหายเกิดขึ้นเป็นพันล้าน แต่จนในขณะนี้ เท่าที่สอบถามว่า ปตท. จ่ายค่าเสียหายหรือไม่ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกว่า ยังใช้ไม้นวมไม่สำเร็จ ความหมายก็คือ เราต้องเป็นคนจ่ายส่วนเกินเหล่านี้ผ่านค่าเอฟที เมื่อใดก็ตามที่ค่าไฟเพิ่มขึ้นไม่ว่าเพราะสาเหตุใด บริโภคล้วนเป็นคนที่แบกภาระทั้งสิ้น

ค่าเอฟทีที่จะขึ้นนั้นมีเหตุผลหลักคือ กรณีที่ค่าเชื้อเพลิงที่คำนวณเอาไว้ในไฟฐานเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางบวกและทางลบ ทุกๆ 4 เดือน เขาเอาส่วนต่างอันนั้นมาคิดเป็นค่าเอฟที เพื่อให้สะท้อนความจริง  แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ค่าเอฟทีของเราไม่ใช่เพราะราคาเชื้อเพลิง แต่เอามาเป็นตัวที่จะเข้าไปเพื่อประกันให้รายได้ของ กฟผ.และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามเป้าหมาย ความหมายก็คือ เกิดความผิดพลาดอะไรก็ตาม ประชาชนรับผิดชอบแทน โดยจ่ายเป็นค่าเอฟที

สรุปคือ  โดยข้อมูลทางเทคนิคแล้วไม่มีทางที่ไฟฟ้าจะดับทั้งประเทศ

การทำเรื่องนี้ให้ดูแตกตื่นเกินจริง และการไม่พยายามทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบออกมาชี้แจงเหตุผลตรงไปตรงมา ดูโดยรวมแล้วไม่ทราบว่ามีวัตถุประสงค์ใด ที่แน่ๆ มันส่งผลทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นกลัว และรู้สึกว่าประเทศเราต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพราะว่าไม่มั่นคง  ขณะที่ตอนนี้กำลังจะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ถึง 6 โรงด้วยกัน

กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา มีระบบที่เรียกว่าการสำรองก๊าซ สำหรับประเทศไทยทำระบบสำรองอยู่แล้ว คือ ก๊าซเหลว ปตท.บอกว่ามีอยู่แล้ว 5 ล้านตัน ซึ่งสามารถจ่ายทดแทนได้วันละ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต หากก๊าซขาดไป 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ฉะนั้น ตัวนี้ก็น่าจะเป็นตัวที่บอกได้ว่าไม่น่าจะวิกฤตอะไร ส่วนในระยะยาว เราควรทำสิ่งที่เรียกว่าการสำรองก๊าซ ซึ่งจะช่วยเรื่องการผันผวนด้านราคาด้วย

หวังว่าเราคงจะได้รับการชี้แจงจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปตท. และ กฟผ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net