Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผลของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในครั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ที่เฉื่อยชาทางการเมือง จะถูกกระตุ้นให้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้จำนวนมากพอที่จะเอาชนะ “คะแนนจัดตั้ง” บวก “คะแนนเกลียดชัง” ของพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 3 มีนาคม 2556 นี้ เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการตัดสินว่า ใครจะได้เป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯในอีกหลายปีข้างหน้าจะพัฒนาไปในทิศทางใด
 
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งนี้เกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับวิกฤตการเมืองระดับชาติที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน

ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่คือ เฉื่อยชาไม่สนใจใยดีในการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น พวกเขาส่วนใหญ่ไม่เคยต้องพึ่งพานักการเมืองในพื้นที่ เพราะถึงอย่างไร ทั้งรัฐบาลกลางและผู้บริหารกรุงเทพมหานครก็ต้องทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนมาให้ในทุก ๆ ด้านอยู่แล้ว ผลงานของสมาชิกสภาเขต สมาชิกสภากรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการ แทบไม่มีนัยโดยตรงต่อชีวิตของคนพวกนี้เลย นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่มีอัตราการใช้สิทธิ์เลือกตั้งต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
 
สำหรับพวกเขาแล้ว แม้แต่วันอาทิตย์ที่เป็นวันเลือกตั้งระดับชาติหรือเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็เหมือนวันอาทิตย์อื่น ๆ คึอ พักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือออกมากินเที่ยวเตร่ อันเป็นกิจกรรมหาความสุขส่วนตัวที่สำคัญยิ่งกว่าการไปเลือกผู้บริหารกทม.หรือเลือกรัฐบาลระดับชาติ
 
ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์อาศัยประโยชน์จากความเฉื่อยชาของคนกรุงเทพส่วนใหญ่ ด้วยการสร้างเครือข่าย “คะแนนจัดตั้ง” เป็นพื้นฐานในทุกเขตของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตกรุงเทพฯชั้นใน ฝังรากลึกมายาวนานหลายสิบปี เป็นคะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต่ำที่จะต้องได้ทุกครั้ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถชนะเลือกตั้ง เข้ายึดกุมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับชาติ สภาเขต สภากรุงเทพฯ และเก้าอี้ผู้ว่าราชการได้อย่างเหนียวแน่นตลอดมา คนกรุงเทพฯที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่ไม่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็น “คะแนนเสียงข้างน้อย” ในกรุงเทพฯแทบทุกครั้ง
 
วิธีการ “คะแนนจัดตั้ง” นี้จะใช้ไม่ได้ผลก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ เกิดความสนใจและหันมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเฉพาะในครั้งนั้นๆ โดยมีจำนวนมากพอที่จะรวมกับ “คะแนนเสียงข้างน้อย” ในอดีตของกรุงเทพฯ แล้วเอาชนะ “คะแนนจัดตั้ง” ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งเลือกตั้งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์นอกจากจะมาจาก “คะแนนจัดตั้ง” เดิมของตนแล้ว ยังจะได้คะแนนเสียงจากคนกรุงเทพฯชั้นกลาง-คนรวยกลุ่มใหญ่ ซึ่งนิยมเผด็จการ บูชาพวกจารีตนิยม เกลียดชังพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอีกด้วย คนพวกนี้ชอกช้ำอย่างหนักจากการพ่ายแพ้เลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 2554 และปลอบใจตนเองแต่เพียงว่า อย่างน้อยก็เหลือกรุงเทพฯเป็น “ป้อมปราการด่านสุดท้าย” ของพวกเขา
 
สภาวะทางจิตวิทยาของคนพวกนี้เป็นเสมือนผู้ที่พ่ายศึกในสนามรบ ต้องถอยหนีมาติดอยู่ภายในค่ายหอรบของตน ถูกปิดล้อมไปด้วย “พวกโจร” ที่พร้อมจะเข้าตีและยึดค่าย โดยพวกเขาไม่เห็นหนทางที่จะแหวกวงล้อมออกมาทำศึกให้ชนะได้อีก จึงตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังและท้อแท้ในที่ตั้งของตน
 
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นผู้มีชี่อเสียงหลายคน ออกมาแสดงความรู้สึกดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจนในลักษณะอับจนหนทาง เช่น ประกาศให้พรรคเพื่อไทยและฝ่ายประชาธิปไตยเป็น “ข้าศึกศัตรู” ที่จะเข้ามายึดเมืองหลวงของพวกตน หรือให้ “กรุงเทพฯเป็นปราการด่านสุดท้าย” ต่อต้านทักษิณและพรรคเพื่อไทย หรือประกาศต่อต้านการเข้าตีเปลี่ยนกรุงเทพฯจากเมืองหลวงไปเป็น “เมืองขึ้น” เป็นต้น
 
สำหรับคนพวกนี้แล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อให้ได้ผู้บริหารที่มีความสามารถมาพัฒนากรุงเทพฯ แต่เป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้ระหว่างพวกเขากับฝ่ายประชาธิปไตยที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทน เป็นความต่อเนื่องของวิกฤตการเมืองในระดับชาติที่ยังไม่สิ้นสุด
 
ดังนั้น แม้พวกเขาหลายคนจะมิได้นิยมในพรรคประชาธิปัตย์ แต่พวกเขาก็ยินดีทุ่มเทคะแนนเสียงของตนเป็น “คะแนนเกลียดชัง” ร่วมกับ “คะแนนจัดตั้ง” ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อ “ต่อต้านการเข้าตีปราการด่านสุดท้าย” โดยฝ่ายประชาธิปไตย
 
ผลของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในครั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ที่เฉื่อยชาทางการเมือง จะถูกกระตุ้นให้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้จำนวนมากพอที่จะเอาชนะ “คะแนนจัดตั้ง” บวก “คะแนนเกลียดชัง” ของพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่
 
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯในครั้งนี้จึงมีนัยและผลสะเทือนถึงการเมืองระดับชาติ และจะเป็นดัชนีชี้ถึงอนาคตของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายจารีตนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย ว่าจะพัฒนาไปอย่างไรอีกด้วย
 
ถ้าคนกรุงเทพฯ ส่วนที่เคยเฉื่อยชาทางการเมืองออกมาใช้สิทธิ์จำนวนมากและส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจนชนะเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯได้ ก็จะเกิดผลสะเทือนทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการแสดงออกว่า พวกเขาเบื่อหน่ายที่จะอยู่ภายใต้ร่มเงา “คะแนนจัดตั้ง” ของพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอีกต่อไป และนี่จะเป็นการพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่งของพรรคประชาธิปัตย์และพวกจารีตนิยม ไม่น้อยกว่าการแพ้เลือกตั้งระดับชาติปี 2554 อีกด้วย
 
นัยต่อความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันคือ ฝ่ายประชาธิปไตยอาจได้รับชัยชนะในขั้นสุดท้ายในอนาคตอันใกล้เมื่อฝ่ายจารีตนิยมตกอยู่ในสถานะโดดเดี่ยวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
 
แต่หากคนกรุงเทพฯเหล่านี้ยังคงเฉื่อยชาต่อไป และออกมาใช้สิทธิ์ไม่มากพอ จนทำให้ “คะแนนจัดตั้งบวกคะแนนเกลียดชัง” ชนะเลือกตั้งได้อีกครั้ง ก็นับเป็นความเพลี่ยงพร้ำที่สำคัญยิ่งของฝ่ายประชาธิปไตย จากความพยายามสร้างผลงานมาเกือบสองปีที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถดึงเอาผู้คนที่เฉื่อยชาให้ออกมาสนับสนุนมากพอในครั้งนี้ได้
 
การต่อสู้ระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยก็จะต้องยืดเยื้อต่อไปอีกนาน
 
 
 
 
 
หมายเหตุ:ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net