Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หลายปีก่อนผู้เขียนเคยศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงในการทำโพลล์แห่งหนึ่ง และผู้เขียนก็เคยทำโพลล์มาก่อน แต่โพลล์ที่ผู้เขียนทำในครั้งนั้นเป็นโพลล์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จากการชักชวนของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย
 
ในครั้งนั้นเพื่อนของผู้เขียนรับแบบสอบถามมาจาก "นายหน้า" ซึ่งหักค่า "หัวคิว" จนเหลือถึงผู้เขียนแบบสอบถามละ 300 บาท แต่ผู้เขียนก็ยินดีทำ เพราะเป็นรายได้ที่น่าพอใจ จะได้เอาไว้เป็นค่าขนมไปมหาวิทยาลัย
 
โพลล์ในครั้งนั้นเป็นการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์สบู่เหลวยี่ห้อหนึ่ง นายหน้าให้แบบสอบถามและตัวอย่างผลิตภัณฑ์สบู่เหลว ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในขวดพลาสติกขนาดเล็กคล้ายขวดสบู่เหลวในโรงแรมที่บริการให้กับลูกค้า แต่ขวดของผลิตภัณฑ์ที่ผู้เขียนได้รับเหล่านี้ไม่มีการติดยี่ห้อไว้ที่ข้างขวด เพื่อนของผู้เขียนบอกว่า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ยังไม่เคยมีการจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อน จึงยังไม่อยากเปิดเผยยี่ห้อในตอนนี้ (ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังไม่รู้ว่า ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวนี้ยี่ห้ออะไร)
 
การสำรวจเริ่มด้วยการกำหนดจำนวนแบบสอบถาม โดยแต่ละคนจะได้รับแบบสอบถามคนละ 5 ชุด เพื่อให้การสำรวจกระจายออกไป
 
ผู้เขียนต้องนำแบบสอบถามไปหาผู้ที่จะมาตอบแบบสอบถาม นายหน้ากำหนดว่า จะต้องเป็น "ผู้หญิง" เท่านั้น เพราะสบู่เหลวนี้ใช้กับ "จุดซ่อนเร้น" ผู้เขียนเลยอดทดลองใช้ตัวเอง ตอนแรกผู้เขียนนำไปให้แม่ของผู้เขียนใช้ แต่แม่ของผู้เขียนปฏิเสธ ผู้เขียนจึงต้องนำไปให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัยใช้แทน หลังนั้นยังต้องติดตามผลความพึงพอใจอีก 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะส่งแบบสอบถามคืนให้กับนายหน้า
 
การทำโพลล์ครั้งนั้นเป็นการทำโพลล์ทางธุรกิจจึงได้รายได้ค่อนข้างดี แต่ก็ยุ่งอยากไม่ใช่น้อย เพราะต้องไปสำรวจจากเพื่อนผู้หญิง ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าผู้เขียนไม่รู้จักกับเพื่อนผู้หญิงเหล่านี้คงไม่มีผู้หญิงคนไหนยอมตอบแบบสอบถามเป็นแน่
หลายคนอาจคิดว่า ทำไมผู้เขียนไม่ "เต้าข้อมูล" ขึ้นมาเองล่ะ บริษัทไม่มีทางรู้หรอก ผู้เขียนขอบอกเลยว่า "ยากมาก" เพราะนายหน้ากำหนดให้ต้องใส่เบอร์โทรศัพท์ของผู้ตอบแบบสอบถามด้วย เพื่อที่เขาจะได้สุ่มตรวจสอบ 
 
การทำโพลล์ครั้งนั้นถือเป็นการทำโพลล์จริงๆครั้งแรกของผู้เขียน ถ้าไม่นับโพลล์ในคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เขียนมักจะ "เต้าข้อมูล" มากกว่าจะออกสำรวจจริง
 
การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 ผลการประเมินจำนวน ส.ส. ทั่วประเทศของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ก่อนการเลือกตั้งของทุกสำนักโพลล์มีความแม่นยำแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกสำนักโพลล์ฟันธงว่า เพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด ทั้งในส่วนของ ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฎว่า เพื่อไทยได้ ส.ส. แบบแบ่งเขต 204 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 61 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้น 265 ที่นั่ง มากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับผลการประเมินของหลายสำนักโพลล์
 
ในครั้งนั้นผลการสำรวจจำนวน ส.ส. เฉพาะกรุงเทพมหานครของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ก่อนการเลือกตั้งปรากฎว่า เพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. มากกว่าประชาธิปัตย์ บางสำนักโพลล์ระบุว่า เพื่อไทยจะได้ ส.ส. ในกรุงเทพถึง 30 ที่นั่งจาก 33 ที่นั่งเลยทีเดียว
 
แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเล่นเอาสำนักโพลล์ทั้งหลาย "หน้าแตก" ไปตามๆกัน เพราะเพื่อไทยได้เพียง 10 ที่นั่ง ส่วน ปชป. ได้ไป 23 ที่นั่ง สำนักโพลล์ทั้งหลายจึงต้องออกมาแก้เกี้ยวว่า ผู้ตอบแบบสอบถามไม่ตอบตามความจริง
หลายคนอาจสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นทำไมสำนักโพลล์ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์เหล่านี้ถึงสำรวจผิดพลาดเหมือนกันหมด ผู้เขียนขอใช้ประสบการณ์ของผู้เขียนวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น
 
การตอบแบบสอบถามเมื่อตอนที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนและเพื่อนของผู้เขียนเลือกที่จะสอบถาม "คนใกล้ชิด" ก่อน เพราะง่ายและใกล้ตัว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกสำนักโพลล์รู้ดี แต่ไม่มีสำนักโพลล์แห่งไหนให้ความสนใจ เพราะผู้จ้างส่วนใหญ่ต้องการทราบผลสำรวจโดยรวมเท่านั้น ไม่เจาะจงพื้นที่ที่ทำการสำรวจแต่อย่างใด
 
แต่สำหรับการทำโพลล์เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ถือเป็นการทำโพลล์แบบ "เฉพาะพื้นที่" ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการทำโพลล์โดยทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งแตกต่างจากจังหวัดอื่นในแง่ของประชากร เนื่องจากคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพกว่า 10 ล้านคน มีถึงครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพ 
 
การสำรวจในครั้งนั้นไม่มีความรัดกุมในแง่ของการกำหนดผู้ตอบแบบสอบถามที่จะต้องเป็นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น ทำให้ผู้ทำโพลล์ใช้ความสะดวกด้วยการสอบถามจากคนใกล้ชิดก่อนโดยไม่สนใจว่า คนเหล่านั้นมีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพหรือไม่ อีกทั้งทุกสำนักโพลล์ต่างแข่งขันกันนำเสนอผลโพลล์อย่างรวดเร็ว ทำให้การสุ่มตรวจสอบความถูกต้องทำได้อย่างจำกัด ผลสำรวจจึงออกมาเป็นเช่นนั้น
 
จากประสบการณ์ความผิดพลาดในครั้งนั้น ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครในครั้งนี้ทุกสำนักโพลล์มีความรัดกุมมากขึ้นในการกำหนดให้ผู้ทำโพลล์ต้องสอบถามเฉพาะผู้ที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพเท่านั้น แต่แล้วการทำโพลล์ในครั้งนี้ก็ยังเกิดความผิดพลาดในทุกสำนักโพลล์อีก แม้ว่าจะลดลงมากกว่าครั้งที่แล้วก็ตาม 
 
วันเลือกตั้ง 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนออกไปเลือกตั้งเวลา 8.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อแถวยาวเหยียดเพื่อเลือกตั้ง แต่ผู้เขียนไม่พบมีผู้ทำ Exit Poll แม้แต่สำนักเดียวมายืนรอสอบถามผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเหล่านี้ ต่อมาเมื่อผู้เขียนเดินออกมาดูหน่วยเลือกตั้งอีกครั้งในเวลา 11.00 น. ผู้เขียนเห็นนักศึกษาหญิง 2 คนยืนแอบอยู่หลังตู้ไปรษณีย์พยายามเชิญชวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เพิ่งเดินออกจากหน่วยเลือกตั้งเพื่อสอบถาม ผู้เขียนสังเกตอยู่หลายนาที และพบว่า แม้พวกเธอจะพยายามเชิญชวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเหล่านี้ แต่ก็มีผู้ให้ความร่วมมือค่อนข้างน้อย
 
การทำ Exit Poll ในวันนั้น ผู้เขียนสังเกตว่า นักศึกษาหญิงทั้ง 2 คนใช้วิธีถามผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และกรอกคำตอบลงในกระดาษเอง โดยที่ผู้ใช้สิทธิไม่ต้องเขียนอะไรเลย การสอบถามแบบนี้เป็นสิ่งที่ง่ายและรวดเร็ว แต่ขาดความแม่นยำ เพราะเป็นการทำที่ไม่เป็น "ความลับ" หลายผู้ตอบแบบสอบถามไม่กล้าหรือไม่อยากตอบความจริงต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีคนรู้จักที่ไม่ได้ชอบผู้สมัครคนเดียวกับผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ใกล้ๆด้วย
 
ในวันรุ่งขึ้น (4 มี.ค. 56) ที่ปากซอยของผู้เขียนมีการจับกลุ่มคุยกันถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในกลุ่มมีผู้สนับสนุนผู้สมัครฯที่ได้รับคะแนนสูงสุดทั้ง 2 คน เมื่อมีผู้ใดถามว่า มีใครเลือกใครบ้าง กลับไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ตอบ อาจเป็นเพราะพวกเขารู้จักกัน แต่ไม่อยากเปิดเผยทัศนคติทางการเมืองของตนเอง เพราะไม่อยากทำให้เพื่อนที่มีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างกันไม่พอใจ
 
ผู้เขียนเห็นว่า การทำโพลล์ควรจะเป็น "ความลับ" เช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่มีการแจกบัตรเลือกตั้งให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปกรอกในคูหาก่อนหย่อนบัตรลงในกล่องรับบัตรเลือกตั้ง การที่ Exit Poll ใช้วิธีถามตรง-ตอบตรงต่อหน้าคนมากๆนั้นมีผลทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอาจไม่ได้ตอบตามความเป็นจริงได้
 
กรุงเทพถือเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง อีกทั้งยังมีประชากรแฝงที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพเป็นจำนวนมาก การรักษาความลับของผู้ตอบแบบถามถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำโพลล์ ไม่ใช่เป็นเพราะผู้ใช้สิทธิเหล่านี้กลัวสำนักโพลล์ แต่เป็นเพราะผู้ใช้สิทธิเหล่านี้ไม่อยากแสดงทัศนคติของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ หากสำนักโพลล์ไม่เข้าใจตรงจุดนี้ และมองการทำโพลล์ทางการเมืองเป็นเหมือนการทำโพลล์ธุรกิจทั่วไป ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนๆก็คงยากที่จะได้รับข้อมูลที่แม่นยำ
 
 
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net