Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากถามว่าสัญลักษณ์ของความเป็น “ชาวอังกฤษ” คืออะไร มีสัญลักษณ์ใดเป็นตัวแทนของ “คนอังกฤษผู้รักชาติ” คนอังกฤษมักจะอึ้งและตอบได้ยาก เนื่องจากสหราชอาณาจักรมิได้มีโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์รณรงค์ความรักชาติหรือรักสถาบันใดๆ ด้วยเงินงบประมาณภาษีของรัฐ   จึงไม่อาจระบุได้ชัดเจนมากนักว่า ในปัจจุบันสัญลักษณ์ประจำชาติของชาวอังกฤษคืออะไรเพราะมิได้มีการกำหนด “นิยามอย่างตายตัว”   หากเทียบกับประเทศอื่นที่มีกำหนดนิยาม “ชาติ” ผ่านโครงการประชาสัมพันธ์ต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ที่มีมากในปัจจุบันยิ่งเพิ่มความยุ่งยากในการระบุลงไปให้ชัดว่า “ความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ” คืออะไร และไม่ต้องพูดถึง ชาวสก็อต ชาวเวลช์ ชาวไอริช ที่ยิ่งไกลห่างไปจากความภาคภูมิใจแบบชาวอังกฤษ   และมีแนวโน้มแปลกแยกหรือแยกประเทศออกไปในอนาคตอันใกล้

การสอบถามจากชาวอังกฤษจึงได้คำตอบที่หลากหลายและไม่ชัดเจนนัก แม้กระทั่งศาสตราจารย์ที่ทำงานในแนวกฎหมายการรักษาความมั่นคง หรือต่อต้านภัยคุกคามของชาติ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันคุณค่าของ “ความเป็นบริติช” ที่ชาวบริติช (รวมคนในพื้นที่บริเตนใหญ่ทั้งหมด) ภูมิใจ และสะท้อนผ่านระบบกฎหมายและนโยบายทางการเมืองคือ กฎหมายและการปกครองที่ส่งเสริมความเสมอภาค เคารพสิทธิมนุษยชน และเพียรสร้างภราดรภาพบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชาติพันธุ์   ซึ่งพอพูดเสร็จศาสตราจารย์ท่านดังกล่าวก็หัวเราะ และบอกว่า “เอ๊ะ...นี่เราเหมือนฝรั่งเศส ไปแล้วหรือ”

แต่เมื่อโยนคำถามนี้เข้าไปในหมู่ชาวต่างชาติกลับได้คำตอบซึ่งสะท้อนความคิดของคนนอกที่มองชาวอังกฤษในช่วงเวลานี้ว่า “ชาวอังกฤษดูปลาบปลื้มกับราชวงศ์” มากกว่าที่เป็นอยู่ในประเทศของตนทั้งคนที่มาจากรัฐที่มีราชวงศ์ และชัดมากสำหรับคนที่มาจากประเทศที่ไม่มีราชวงศ์ คำตอบนี้ได้รับปฏิกิริยาจากชาวอังกฤษในหลากหลายมุมมอง ทั้งคนที่เห็นว่า มีความผูกพันกับราชวงศ์มากขึ้นโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมามีกิจกรรมและราชพิธีที่สะท้อน “พระราชจริยวัตรอันงดงาม” ของราชวงศ์   ทั้งในงานฉลองครองราชย์ครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินี   และงานราชพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียม กับ เคท มิดเดิลตัน   ซึ่งมีมหรสพรูปแบบต่างๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจและซาบซึ้งให้กับผู้ชมทั่วโลก

อย่างไรก็ดีสื่ออังกฤษและชาวอังกฤษก็ตอบให้เห็นที่มาที่ไปของกระแสนิยมราชวงศ์ไว้ในหลายรายงาน และหลายเวทีสัมมนา ว่า   กิจกรรมต่างๆที่ได้มีการใช้งบประมาณของแผ่นดินรังสรรค์ความอลังการขึ้นมานั้นมิได้เป็นการสูญเปล่า เพราะภาพลักษณ์ของราชวงศ์ที่คนทั้งโลกได้เฝ้าชมการถ่ายทอดสด หรือเป็นกระแสข่าวกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการท่องเที่ยวและซื้อสินค้าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีต่างๆ จำนวนมหาศาล เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สินค้าตราสัญลักษณ์ หรือบริการนำเที่ยว และเข้าชมสถานที่สำคัญต่างๆ  

โดยนักท่องเที่ยวมิได้จำกัดอยู่ในหมู่ชาวบริติช แต่ปรากฏนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกที่แห่มาถ่ายรูปกับพระราชวังบัคกิ้งแฮม รวมถึงจุดสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในมหานครลอนดอน ดังปรากฏรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่ดีดตัวขึ้นในปี 2012 สวนทางกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกระตุ้นความรักชาติของบริติชอย่างโอลิมปิก ที่ทีมบริเตนใหญ่ได้รวมกันเป็นทีมเดียวเพื่อชิงชัยและทำผลงานได้น่าประทับใจโดยมีสมาชิกของราชวงศ์ไปปรากฏตัวในสถานที่แข่งอยู่บ่อยครั้ง   เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี เจมส์ บอนด์ สายลับบริติชที่มีเชื้อสายสก็อต(แลนด์ยาร์ด?) ก็ฟื้นคืนกลับมาปกป้องผลประโยชน์ของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามในโลกหลังสมัยใหม่ โดยส่วนประกอบของ MI6 ได้จัดสรรขึ้นมาใหม่และประกอบไปด้วยความหลากหลายในองค์กรมากขึ้นแต่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ พิทักษ์ราชบัลลังก์ เฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีกำเนิดภาพยนตร์เรื่องนี้

เมื่อย้อนกลับมาที่บทสะท้อนของชาวอังกฤษว่าทำไมจึงปลาบปลื้มราชวงศ์มากขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งมีการเร่งฉายภาพของราชวงศ์ซ้ำๆ ในลักษณะ “งดงามสง่าผ่าเผยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์” ประจำชาตินั้น   ยิ่งเป็นการขับเน้นจุดเด่นจุดต่างให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนและกระจายรายได้ไปให้ผู้คนจำนวนมาก และยังเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลายอีกด้วย   ดังนั้นจึงยิ่งมีการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของราชวงศ์เพื่อทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น จนถึงขั้นเกิดกระแสรักและปกป้องภาพลักษณ์ของราชวงศ์มากขึ้นเพราะภาพลักษณ์ของราชวงศ์ คือ ผลประโยชน์ร่วมของทุกคนที่เกี่ยวข้อง   โดยไม่ต้องโหมกระตุ้นให้เกิดการคลั่งสถาบันคลั่งชาติ

ดังกรณีกระแสต่อต้านการนำเสนอภาพส่วนตัวของสมาชิกราชวงศ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อเสียงในการเปิดโปงกิจกรรมส่วนตัวของคนดังต้องเผชิญ   และสื่อรายใหญ่ของประเทศตัดสินใจไม่เผยแพร่ภาพดังกล่าวเพราะคำนวณแล้วว่าผู้อ่าน (ลูกค้า) ไม่ต้องการเสพภาพดังกล่าวเนื่องจากกระแสนิยมราชวงศ์กำลังสูงขึ้นนั่นเอง   แม้ข่าวซุบซิบนินทาและภาพลับของราชวงศ์เป็นสินค้าที่ขายได้เสมอมาเนื่องจากสถานะของราชวงศ์ในสังคมก็จัดเป็นเรื่อง “คนดัง” (Celebrity) ที่คนต้องการล่วงรู้ชีวิตส่วนตัว   แต่ก็มีเสียงสะท้อนในมุมกลับเช่นกันว่า การโหมกระพือกระแสเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นการกลบความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลและความถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการว่างงานสูงและอยู่อย่างเศร้าสร้อยของคนอังกฤษ

ทั้งนี้สื่อที่เผยแพร่ข่าวและภาพดังกล่าวก็มิต้องเผชิญปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษเลือกที่จะให้สังคมเป็นคนตัดสินในเนื้อหา “ข่าว” และ “ภาพ” ว่าจะคิดเห็นอย่างไร รวมถึงสะท้อนความรู้สึกอย่างไรต่อสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น   ทั้งนี้ราชวงศ์เลือกจะอยู่เหนือจากปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมายโดยไม่เข้าไปเป็นคู่กรณีในข้อพิพาท และกฎหมายก็มิได้เอื้อให้ประชาชนผู้นิยมราชวงศ์นำเรื่องเข้าฟ้องร้องในกระบวนการทางกฎหมาย    ดังนั้นราชวงศ์อังกฤษจึงปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ได้โดยการทำตามความต้องการของกระแสสังคม และเลือกที่จะดำเนินกิจกรรมการกุศลที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ราชวงศ์ ดังที่ล่าสุดเจ้าชายวิลเลียมได้ร่วมรณรงค์งดการซื้องาและฆ่าช้างเพื่อเอางา   และมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าชายชาลส์ที่รณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อน และระบบเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

สถานะและบทบาทของ “ราชวงศ์อังกฤษ” จึงไม่ได้หลุดลอยไปจากกาลเทศะของสังคม แต่เลือกที่จะจัดวางตำแหน่งให้เข้ากับสถานการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว   โดยสังคมก็มีบทบาทในการช่วยเตือนและขัดเกลาการจัดวางสถานะของราชวงศ์ได้อย่างเปิดเผย ดังกรณี หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนเปิดเผยเอกสารกรณีสมเด็จพระราชินีและเจ้าฟ้าชายชาลส์ของอังกฤษใช้อำนาจการตัดสินใจในกฎหมายต่างๆ กว่า 30 ฉบับ เกี่ยวกับงบประมาณและทรัพย์สินส่วนพระองค์ และการแทรกแซงทางการเมืองของเจ้าฟ้าชายชาลส์ต่อกฎหมายที่มีผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการใช้บารมีเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน   กรณีดังกล่าวถูกตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามคำสั่งศาล และกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ เพราะเป็นประเด็นสาธารณะที่กระทบผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งมองในอีกแง่ก็เป็นประโยชน์ต่อการจัดบทบาทของราชวงศ์

สิ่งหนึ่งที่ชาวอังกฤษสามารถกระทำได้ คือ การวิเคราะห์สถานการณ์และกิจกรรมราชวงศ์อังกฤษในชีวิตประจำวันได้ มิต้องหลบซ่อนหรือแอบกระทำ  ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นต่อเหตุการณ์และกรณีต่างๆ อันเป็นข้อมูลที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กร แม้จะมีการพยายามเซ็นเซอร์ดังในกรณีเฟซบุ๊กของพระราชินี แต่ก็ยังสามารถเก็บข้อมูลจำนวนมากที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสะท้อนขึ้นมา และนำไปวางแผนสร้างกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์สถาบันได้อย่างทันสถานการณ์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องและราชวงศ์ในระยะยาว เพราะไม่มีคดีความในศาลซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์สถาบัน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net