Skip to main content
sharethis

หลายองค์กรออกแถลงการณ์ในวันกรรมกรสากล โดย สมานฉันท์แรงงานไทย และ สรส. ออกแถลงการณ์ร่วมกัน พร้อมเสนอข้อเรียกร้องเร่งด่วน 5 ข้อ ด้าน "พรรคการเมืองใหม่" ซึ่งเตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย" ออกแถลงการณ์ระบุเมื่อแรงงานสามัคคีกันแล้วฝันจะเป็นจริง

สมานฉันท์แรงงาน และ สรส. เสนอ 5 ข้อเรียกร้องเร่งด่วนวันแรงงาน

เมื่อวานนี้ (30 เม.ย.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมการสากล โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย "1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง"

"2. รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน และแรงงานในภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98"

"3. รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ค่าบริการสาธารณูปโภค ลดค่าครองชีพ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข การบริการสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสังคม"

"4. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรมและขาดธรรมาภิบาล"

"5. รัฐและรัฐสภาต้องเร่งรัดการปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพคนทำงานถ้วนหน้า โครงสร้างการบริหารงานเป็นอิสระโปร่งใสตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม

นอกจากนี้ทั้ง คสรท. และ สรส. ได้มีข้อเรียกร้องติดตามอีก 7 ข้อ ได้แก่ "1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน ทั้งนี้ รัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558"

"2. รัฐต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใดๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่"

"3. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน"

"4. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้"

"5. รัฐต้องสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทำงาน"

"6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ"

และ "7. รัฐต้องยกเว้นภาษี กรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ"

 

"การเมืองใหม่" เตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย" 
พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องแรงงานให้สามัคคีกันแล้วฝันจะเป็นจริง

ด้าน "พรรคการเมืองใหม่" ซึ่งอยู่ขั้นตอนจดทะเบียนชื่อพรรคใหม่คือ "พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย" ได้ออกแถลงการณ์ในวันแรงงานสากลด้วยเช่นกัน โดยตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า "ถึงวันนี้นับเป็นเวลา 123 ปี แต่พี่น้องแรงงานไทยก็ยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย แล้วยังส่งเสียงตะโกนหลอกลวงพี่น้องแรงงานว่าอย่าไปยุ่งกับการเมือง ให้อยู่อย่างผู้ถูกปกครองไปตลอดชีวิต ให้พูดเสนอได้เฉพาะเรื่องปากท้องเท่านั้น นี่คือวาทะกรรมอัปยศที่พวกนายทุนหลวกลวงผู้ใช้แรงงาน เมื่อผู้ใช้แรงงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายประกันสังคมพวกนักการเมืองทั้งฝ่าย รัฐบาลและฝ่ายค้านต่างๆฉีกทิ้งไม่สนใจแม้แต่น้อย นี้คือความจริงที่ปรากฎมิอาจบิดเบือนได้อย่างเด็ดขาด และพวกนายทุนต้องการยึดกุมอำนาจรัฐเป็นของนายทุน โดยนายทุน เพื่อนายทุนตลอดไป เพื่อกอบโกยขูดรีดคนส่วนใหญ่ของประเทศ

"เนื่องในวันแรงงานสากลนี้ ขอให้พี่น้องแรงงานทั้งหลายศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และสรุปบทเรียนร่วม กัน ขออย่าดูถูกตนเองว่าไร้ค่าจงภาคภูมิใจว่า “ เราแรงงานคือผู้สร้างโลก ” และคือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังถูกกดขี่ ขูดรีด จากระบอบทุนนิยมสามานย์ และเราคือมนุษย์ จึงต้องใช้สิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 รับรองสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตร ฯลฯ เพื่อต่อรองทางด้านเศรษฐกิจ แต่จะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่ยกระดับใช้สิทธิเสรีภาพรวมตัวกัน จัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อยกระดับต่อสู้ทางการเมืองควบคู่ไปด้วย เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อใช้อำนาจในสภาออกกฎหมายที่เป็นธรรม เพื่อผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและพ่อค้าคนกลาง นี่คือเส้นทางการต่อสู้ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในการทำงานการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน และโปรดระลึกเสมอว่าเรา “ ผู้ใช้แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน ” จงสามัคคีกันถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สามัคคีกันให้กว้างใหญ่ไพศาล เพื่อสืบทอดอุดมการณ์และเจตนารมณ์แห่งชนชั้นแรงงานอย่างจริงจัง รวมพลังกันสร้างสรรสังคมที่เป็นธรรม และร่วมกันต่อต้านการทุจิตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม และภราดรภาพให้ปรากฏเป็นจริงโดยเร็วที่สุด แรงงานทั้งผองต้องสามัคคีกันแล้วความฝันจะเป็นจริง

 

สหพันธ์สิ่งทอฯ หนุนแก้ รธน. 2550 และเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ มาจากการเลือกตั้งขณะเดียวกัน สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (TWFT) กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUBG) องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย (WOD) และ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันกรรมกร "สังคมไทยต้องมีรัฐสวัสดิการ" โดยมีใจความว่า

 
"ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล หรือ May Day สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้กำหนดจัดงานวันกรรมกรสากลเหมือนเช่นทุกๆ ปี เพื่อร่วมรำลึกถึงวันที่กรรมกรทั่วโลกลุกขึ้นสู้เพื่อชีวิตใหม่ ต่อต้านการบังคับข่มขู่ และการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ ให้คนหลุดพ้นจากความหิวโหย ความยากแค้นและไร้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ถึงแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรรมกรและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมได้ต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หาได้หลุดพ้นจากความหิวโหย การกดขี่ ขูดรีด หรือมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าเดิมไม่  อันเนื่องมาจากว่าพวกเรายังไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบของระบบทุนนิยมได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในปัจจุบันการกดขี่ขูดรีดจากระบบทุนนิยมยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
 
จากสถานการณ์ทางการเมืองในอดีต ชนชั้นปกครอง ได้ใช้กำลังความรุนแรง และปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมหลายครั้ง เช่น การรัฐประหาร 2490 การรัฐประหาร 2501 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การรัฐประหาร 2549 การปราบปรามประชาชน เดือนเมษายน 2552 และการปรามปราบประชาชนครั้งใหญ่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
 
ปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับทุนผูกขาดอนุรักษ์นิยม เนื่องจากกลุ่มทุนเหล่านี้ ต้องการทำลายขบวนการ การรวมตัวของประชาชนคนเสื้อแดง ไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำจัดขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน
 
ฉะนั้นสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ร่วมกับองค์กรต่างๆ จึงได้กำหนดจัดงานวันกรรมกรสากลในวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2556  เพื่อรำลึกถึงวีรชนทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น  ซึ่งมีประเด็นในการรณรงค์ดังนี้ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550  สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตยที่แท้จริง, ให้สัตยาบันอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87,98,183, นิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมือง, สตรีมีสิทธิทำแท้งเมื่อไม่พร้อมมีบุตร, สร้างรัฐสวัสดิการมาตรฐานเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เรียนฟรีทุกระดับ  โรงพยาบาลประกันสังคม รักษาฟรีทุกโรค สร้างระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม หลักประกันที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ด้วยการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า  สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ร่วมกับองค์กรต่างๆ ต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการโดยเร่งด่วน"
 


สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ย้ำต้องสร้างอำนาจประชาธิปไตยใน 3 มิติ
สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า จะยืนหยัดร่วมต่อสู้กับมวลพี่น้องกรรมกรและประชาชนทุกสาขาอาชีพ เพื่อปากท้องของทุกคน ในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย กรรมกรต้องสร้างอำนาจประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นคืออำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อำนาจประชาธิปไตยทางด้านวัฒนธรรม

โดยอำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง ได้แก่ การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างเที่ยงธรรม ผู้ใช้แรงงานต้องได้ใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ

ด้านอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จะต้องมีหลักประกันคุณภาพชีวิตการทำงานในสถานประกอบการ  สิทธิการจัดการหลักประกันสังคมต้องตอบสนองต่อผู้ใช้แรงงานทุกกรณีตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต และค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ในสถานประกอบการประเภทเดียวกันต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน
 
อำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม รัฐต้องจัดการศึกษาฟรีทุกระดับ ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ รัฐต้องส่งเสริมวันประเพณีท้องถิ่นทุกประเภท เพื่อต้องการสร้างสังคมและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน ตามหลักการ สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net