Skip to main content
sharethis

คนรุ่นใหม่อีสานจัดงาน “Music Society มองสังคมผ่านเพลง” ใช้เพลงนำร่องในการสนทนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในการมองบริบทสังคมอีสานในอดีต เชื่องโยงสู่สังคมปัจจุบัน และทำนายอนาคต

 
วันที่ 20 มิถุนายน 2556 กลุ่มแว่นขยาย ร่วมกับคนรุ่นใหม่ นักศึกษากิจกรรม และนักพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี จัดงาน “Music Society มองสังคมผ่านเพลง” ณ ลานหน้าฟรีดอมโซน อุบลราชธานี โดยนำผลงานเพลงกุลา ของศิลปินวงคาราวาน เป็นเพลงนำร่องในการสนทนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในการมองบริบทสังคมอีสานในอดีต เชื่องโยงสู่สังคมปัจจุบัน และทำนายบริบทสังคมอีสานในอนาคตว่าจะเป็นไปอย่างไร
 
เริ่มต้นกิจกรรมโดยนายนิคม ศิริบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มแว่นขยาย กล่าวต้อนรับผู้ที่เข้าร่วมและกล่าวถึงบริบทสังคมอีสานในอีตที่มีพื้นที่ซึ่งถูกเรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีความแห้งแล้ว การทำการเกษตรมีความลำบาก หลังจากนั้นนายเจนณรงค์ วงษ์จิตร ได้อ่านบทกวี อีศาน ของนายผี เป็นบทกวีที่สะท้อนความเป็นสังคมอีสานในอดีต
 
นายอมพร วาภพ ผู้เข้าร่วมกล่าวว่า เนื้อหาของเพลงกุลาเป็นบทเพลงที่ถูกเขียนขึ้นลักษณะกวี ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนถึงสังคมในอดีที่ต้องทนรับความยากลำบากจากการอดอยาก การเขียนเพลงในยุคนั้นเป็นไปในลักษณะกิจกรรมที่ทำให้คนที่มีแนวคิดเหมือนกันได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเพลงลักษณะนี้คนรุ่นใหม่อาจฟังและใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานด้านการอาสาพัฒนา
 
“หากพูดถึงอีสานก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นการสร้างภาพของอีสานจนเป็นเชิงสัญลักษณ์ ที่ทำให้คนที่ไม่ใช่อีสานมองภาพอีสานว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยหรือไม่” นายอมพรตั้งคำถาม
 
นายวิทยากร โสวัตร ผู้เข้าร่วมกล่าวถึงวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นว่า คนกุลาเป็นกลุ่มคนที่เดินทางย้ายถิ่นฐานเพื่อหาทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าถามว่าทุ่งกุลาอยู่พื้นที่ใดก็อาจตอบไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิดว่าทุ่งกุลาเป็นพื้นที่แห้งแล้ง โดยความจริงแล้วบริเวณทุ่งกุลาเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ คนที่อาศัยบริเวณทุ่งกุลาไม่เคยได้อพยพถิ่นฐานเข้าในเมืองหลวง แต่ภายหลังทุ่งกุลาถูกตัดผ่านด้วยถนน 2 เส้นทำให้พื้นที่เริ่มแตกแยกส่วนออก ซึ่งไม่ทราบว่าโครงการในยุคนั้นหวังดีหรือหวังร้ายกับคนที่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งกุลา
 
ส่วนนายยศพล เกิดวิบูลย์ ผู้เข้าร่วมกล่าวว่า บทเพลงดังกล่าวมีเนื้อหาที่พยายามสะท้อนถึงสังคมอีสานในอดีต เนื้อหาที่ต้องการสื่อให้เห็นภาพสังคมอีสานที่ทนทุกข์กับความยากลำบาก
 
“อยากเห็นบทเพลงสมัยนี้เชื่อมโยงสภาพวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ในสังคมชนบท อยากเห็นศิลปินยุคใหม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและกระทบกับชุมชน บทกวี ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมนั้นจริงๆ เพราะจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสัมผัสสภาพของสังคม” นายยศพลให้ความเห็น
 
นายกมล หอมกลิ่น ผู้เข้าร่วมกล่าวว่า บางครั้งการตั้งคำถามที่อยากกลับไปพัฒนาท้องถิ่นว่าจะทำอย่างไรอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าไม่มีฐานะตำแหน่งทางสังคมก็ต้องเกิดคำถามกับคนในชุมชน ทำให้กลายเป็นการปะทะทางความคิด อย่างไรก็ตามในอนาคตคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีความพร้อมก่อน เพราะอนาคตอีสานจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และมีความวุ่นวายมากขึ้น รวมทั้งสภาพของคนรุ่นใหม่ในอีสานที่มีการศึกษาระดับสูงขึ้น จะต้องมีระดับสามัญสำนึกที่สูงขึ้นด้วย เพราะหากไม่มีลูกหลานอีสานกลับบ้านเกิด ใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาไปพัฒนาอนาคตอีสานก็จะลำบาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net