Skip to main content
sharethis
กลุ่ม “จับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว” ระบุ เตรียมเปิดเวทีสาธารณะ “คำถามที่ปตท.ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” 21 ส.ค. นี้ เชิญชาวเสม็ดและผู้เชี่ยวชาญถกข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันรั่ว พร้อมเปิดเผยรายชื่อประชาชนจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 20,000 คน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมอิสระตรวจสอบเหตุดังกล่าว
 
16 ส.ค. 56 -  “กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว” ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia), และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ได้ร่วมกับ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กำหนดจัด เวทีสาธารณะ “คำถามที่ปตท.ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” ขึ้น โดยได้เชิญตัวแทนประชาชนชาวเกาะเสม็ดผู้ได้รับผลกระทบ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันให้ข้อมูลและวิเคราะห์ถกเถียงร่วมกัน เกี่ยวกับจากเหตุการน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) จำนวนมหาศาลรั่วไหลสู่อ่าวไทยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 รวมถึงเหตุการณ์และผลกระทบด้านต่างๆ ที่ตามมา
 
โดยเวทีดังกล่าวจะมีขึ้นในวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้อง 2201 ชั้น 22 ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต ถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 9 แขวงจตุจักร
 
นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ทางกลุ่มยังเตรียมเปิดเผยรายชื่อประชาชนกว่า 20,000 คน ทั้งในประเทศไทย (กว่าหนึ่ง 10,000คน) และประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งได้ร่วมลงนามผ่าน www.change.org/oilspill เพื่อร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง” ที่มีความเป็นอิสระ และมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน ขึ้นมาสอบสวนสาเหตุรวมถึงประเมินผลกระทบที่แท้จริงของเหตุที่เกิดขึ้น ก่อนจะนำรายชื่อดังกล่าวยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
เปิดเผยข้อเท็จจริง: เรียกความเชื่อมั่น – ยุติความเคลือบแคลง
 
ทั้งนี้กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว ระบุว่าการพยายามทำให้สถานการณ์ดูคลี่คลายกว่าที่เป็นจริง หรือไม่เป็นที่น่าตระหนกด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงจากฝ่ายบริษัทและฝ่ายรัฐที่ผ่านมา แม้จะอ้างว่าเพื่อแลกกับความเชื่อมั่นและภาพพจน์ทางการท่องเที่ยว แต่ผลที่ได้อาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่อาจยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงต่อข้อมูลที่เปิดเผย “อย่างเป็นทางการ” มากยิ่งขึ้น ว่าอาจมีการละเลยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
 
ดังเช่น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ด จำนวน 12 หาด จากการเก็บตัวอย่างหนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุ พบการปนเปื้อนของสารปรอทเกินมาตรฐาน 29 เท่าที่บริเวณอ่าวพร้าว พร้อมทั้งแจ้งว่าในวันที่ 15 สิงหาคม จะสามารถแถลงผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำครั้งที่ 2 จากการเก็บตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงวันดังกล่าว นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปตท. กลับประกาศเลื่อนการเปิดเผยผลดังกล่าวออกไป โดยอ้างว่าต้องการตรวจสอบข้อมูล
 
ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีรายงานถึงผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ พบก้อนน้ำมันดิน (tar ball) บริเวณหาดแม่พิม พบปะการังฟอกขาวเป็นบางจุดรอบอ่าวพร้าว พบซากสัตว์ทะเลเกยตื้นที่หลายหาดบนชายฝั่งระยอง เช่น พบซากเต่าตนุขนาด 100 กิโลกรัมเกยตื้นที่หาดสวนสน อำเภอแกลง พบซากโลมา 2 ตัวเกยตื้นที่บ้านเพ พบซากฝูงปลาแป้นเกยหาดแม่รำพึงเป็นระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร และปรากฎการณ์ฟองสีเหลืองขุ่นหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขี้ปลาวาฬจำนวนมากผิดปกติที่หลายหาด
 
จากตัวอย่างข่าวสารและข้อมูลที่ย้อนแย้งกันเช่นนี้เอง ที่เพิ่มความสับสนและกังขาให้แก่สาธารณชน ทั้งประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว แทนที่จะเกิดความเชื่อมั่นดังที่หลายฝ่ายคาดหวัง
 
นอกจากนี้ ขณะที่ยังไม่มีการประเมินขนาดผลกระทบที่แท้จริงต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนประมงและธุรกิจท้องถิ่นออกมาอย่างชัดเจน หลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านได้เริ่มตั้งข้อสังเกตต่อความจริงใจและเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผลกระทบของ ปตท. เช่นแนวโน้มที่จะจ่ายค่าชดเชยครั้งเดียวจบ และการกำหนดระยะเวลาชดเชยเพียง 30 วัน โดยไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่แท้จริงในระยะยาว
 
“กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว” จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้ก่อมลพิษอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และเรียกร้องให้บริษัท พีทีทีจีซี ในฐานะผู้ก่อมลพิษเปิดเผยข้อเท็จจริงและรับผิดชอบความเสียหายที่แท้จริงต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน แต่การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นด้วยการมีข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อกังขาของสังคม ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจนแล้วว่าสังคมไม่สามารถหวังพึ่งกลไกของรัฐและบริษัทที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้
 
 
หมายเหตุ: “กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว” มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia), และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net