Skip to main content
sharethis

ภาพยนตร์ฮ่องกงอย่าง “คนตัดคน” หรือ “คมเฉือนคม” อันเป็นที่จดจำของคนไทย สอดคล้องกับความเป็นจริงในฮ่องกงที่มีการเล่นการพนันอย่างแพร่หลายและยาวนาน ทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายควบคุมการเล่นการพนัน และหาวิธีการแก้ปัญหาการพนันในประเทศ จนกลายเป็นต้นแบบให้หลากหลายประเทศเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปแก้ปัญหาการพนัน

โดย ดร. ชุง คิม วา (CHUNG Kim Wah) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการพนันในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

6 ก.ย. 56 - ภาพคุ้นชินของคนไทยทั่วไปผ่านสื่อภาพยนตร์ฮ่องกงอย่าง “คนตัดคน” หรือ “คมเฉือนคม” จะมีเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับการพนันที่เป็นที่โด่งดัง และเป็นที่จดจำของคนไทย ซึ่งในสภาพความเป็นจริงในฮ่องกงเองก็มีภาพการเล่นการพนันอย่างแพร่หลายและยาวนาน อาทิ การเล่นไพ่นกกระจอก ถือเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ของสมาชิกในครอบครัวชาวฮ่องกง รวมทั้งยังมีการพนันประเภทอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่สร้างปัญหาให้กับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จนทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบายควบคุมการเล่นการพนัน และหาวิธีการแก้ปัญหาการพนันในประเทศ จนกลายเป็นต้นแบบให้หลากหลายประเทศเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปแก้ปัญหาการพนัน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ในงานประชุมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการลดผลกระทบจากการพนัน ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ได้มีการนำเสนอต้นแบบการจัดการปัญหาการพนันในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ดร. ชุง คิม วา (CHUNG Kim Wah) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการพนันในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เล่าว่า การพนันในฮ่องกงมีความเป็นมาที่ยาวนาน และมีการพนันที่ได้รับใบอนุญาตหลากหลายรูปแบบ อาทิ ล็อตเตอรี่ การแข่งม้า ซึ่งการพนันเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของคนฮ่องกง จนทำให้คนฮ่องกงไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการพนัน และไม่เห็นผลเสียของการเล่นพนันว่ามีผลกระทบอย่างไร จนทำให้คนฮ่องกงจำนวนมากติดพนัน ซึ่งสาเหตุก็เพราะการเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย สำหรับปัญหาในเด็กและเยาวชนในฮ่องกงก็เช่นกัน ปัญหาก็ไม่ต่างจากหลากหลายประเทศ ที่มีปัญหาเด็กและเยาวชนติดพนัน ด้วยเพราะการเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย และที่สำคัญเป็นเพราะการเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เห็นว่าการเล่นการพนันเป็นเรื่องปกติ ผู้ปกครองก็เห็นว่าการเล่นการพนันเป็นกิจกรรมบันเทิงประเภทหนึ่ง ทำให้ปัญหาการพนันในฮ่องกงขยายวงกว้าง

ทั้งนี้จากรายงานผลการศึกษาที่ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค เกี่ยวกับผลกระทบการเล่นการพนันของคนฮ่องกง พบข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อกังวลด้านลบของการพนัน โดยผลสำรวจผู้ให้สัมภาษณ์ที่เล่นการพนัน รวม 1,204 คน กลุ่มผู้เล่นพนันร้อยละ 34.2 ให้ข้อมูลว่า เริ่มเล่นพนันเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 23.4 เริ่มเล่นพนันครั้งแรกเมื่ออายุ 18-19 ปี ทำให้ทราบว่านักเล่นการพนันในฮ่องกงเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่เป็นเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุนี้ปัญหาการติดพนันของเด็กและเยาวชนในฮ่องกง จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลฮ่องกงให้ความสำคัญมาก จึงได้มีการออกกฎหมายจำนวนมากเพื่อป้องกันเยาวชนและคนในประเทศไม่ให้ติดพนัน โดยรัฐบาลฮ่องกงได้ออกกฎหมายกำหนดให้อนุญาตให้เล่นพนันได้เฉพาะในสถานที่ที่อนุญาตเท่านั้น และยังคงห้ามไม่ให้เล่นการพนันในบ่อนคาสิโนเพราะกังวลถึงผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้หากประชาชนอยากเล่นจะต้องข้ามไปเล่นที่เกาะมาเก๊าที่อนุญาตให้มีการเล่นพนันคาสิโนได้

ดร.ชุง คิม วา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการเล่นพนันในฮ่องกงจะเป็นการเล่นในลักษณะผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เม็ดเงินจำนวนมากกระจายไปสู่แวดวงอาชญากรรม และส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม ดังนั้นรัฐบาลจึงมีแนวคิดทำให้การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ก็พบว่า เมื่ออนุญาตแล้ว การพนันที่ผิดกฏหมายกลับไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มช่องทางเล่นการพนันที่ถูกกฏหมายมากขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลฮ่องกงก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการเล่นการพนัน เพราะมีการออกกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยังได้มีระบบจัดเก็บภาษีจากการพนัน เพื่อนำไปแก้ปัญหาเรื่องการพนัน เช่น การจัดตั้งกองทุน PING WO FUND ที่เป็นกองทุนสาธารณะประโยชน์ ที่จัดทำสื่อทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ที่มุ่งให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน สร้างการรู้เท่าทันการพนัน เพื่อเป็นการป้องกันนักเล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงจรการพนัน

นอกจากนี้ฮ่องกงยังมีมาตรการอื่นๆ ในการควบคุมปัญหาการพนัน โดยได้มอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นๆ ควบคุมการออกใบอนุญาต คือ คณะกรรมการทายผลและล็อตเตอรี่ ซึ่งจะจำกัดเฉพาะการพนันทายผลฟุตบอล การพนันแข่งม้า และกิจการล็อตเตอรี่ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีบุคคลากรจากหลากหลายอาชีพเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ และในสัดส่วนนี้อย่างน้อย 1 คน จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น Social Worker มีตำแหน่งในองค์กรทางศาสนา และมีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดการป้องกันนักเล่นหน้าใหม่และแก้ปัญหาการพนันอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไงอย่างเคร่งครัดหากฝ่าฝืนจะถูกยึดใบอนุญาตทันที

ขณะที่นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า รูปแบบการจัดการในฮ่องกง ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อลดปัญหาการพนันที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันการรณรงค์เรื่องการพนันในประเทศไทยทำได้ยากมาก เพราะบางส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และข้อจำกัดในการที่จะหาองค์กรรัฐ ที่เป็นเจ้าภาพจัดการอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายภาคส่วนได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นทั้งภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม โดยได้เดินหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว และฮ่องกงก็ถือเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยควรจะศึกษาเพื่อให้เห็นแนวทางในการพัฒนากลไกจัดการปัญหาจากการพนันต่อไป

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net