Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ควันหลงจากงานรำลึกครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ได้สร้างปรากฏการณ์พิเศษมากกว่าพิธีกรรมประจำปี ตรงที่ปาฐกถาพิเศษของอดีตผู้นำนักศึกษาในขบวนการประชาธิปไตยในอดีตอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธีรยุทธ บุญมี ได้แสดงออกมา ซึ่งได้ยืนยันพฤติกรรม และจุดยืนของคนทั้งคู่ออกมาอย่างชัดเจนว่า ใครเป็นปัญญาชนของขบวนการประชาธิปไตย และใครเป็นปัญญาชนจอมปลอมที่ได้แต่สร้างภาพลักษณ์

สื่อมวลชนบางสำนัก พยายามประจบเอาใจคนทั้งคู่ว่า “ยอดเยี่ยมเหมือนกัน” ด้วยเป้าประสงค์อย่างใดไม่ชัดเจน แต่น่าเสียดายข้อเท็จจริงถึงคุณภาพทางปัญญาของคนทั้งคู่ที่ต่างกันลิบลับ ทำให้ไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือได้เลยว่า ใครคือนักประชาธิปไตยที่แท้ และใครปลอม

เสกสรรค์ แสดงปาฐกถา 2 ครั้ง โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ในหัวข้อ "เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือประชาธิปไตย” ส่วนวันที่ 14 ตุลาคม ในหัวข้อ "ความฝันเดือนตุลา สี่สิบปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในประเทศไทย" ส่วนธีรยุทธ พูดครั้งเดียวในวันที่ 14 ตุลาคม ในหัวข้อ  "40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516"

กรอบความคิดของคำปาฐกถาของทั้งคู่ มุ่งตอบคำถามร่วมหลัก คือ การเชื่อมโยงเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม เข้ากับสถานการณ์ของประชาธิปไตยปัจจุบัน  ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ร่วมในสถานการณ์จริงในบางช่วงมาด้วยกัน  รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อชี้ทางออกสำหรับอนาคต แต่เนื่องจากรากฐานของกรอบคิดทางวิชาการของคนทั้งคู่ต่างกัน(เสกสรรในฐานะนักรัฐศาสตร์ ธีรยุทธในฐานะนักสังคมวิทยา)  ดังนั้น คำตอบย่อมแตกต่างกันไปด้วย

จุดร่วมอีกประการหนึ่งของคนทั้งคู่คือ การเชิดชูเจตนารมณ์และขบวนการประชาธิปไตยในฐานะเป้าหมายและวิธีการในการปลดปล่อยพลังให้สังคมไทย และเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือบนความขัดแย้งของกลุ่มพลังในสังคมด้วยสันติวิธี

ปาฐกถาทั้งสองครั้งของเสกสรร มีความต่อเนื่องกันในเชิงความคิดที่สอดรับกันอย่างดี โดยเริ่มต้นอย่างถ่อมตนผิดจากที่เคยว่า “ในฐานะปัจเจกบุคคลอาจจะมองปัญหาดังกล่าวได้ไม่ครบถ้วน” และเรื่องที่พูดก็”เป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน”  แต่ก็นำเสนออย่างคนที่ตกผลึกทางความคิดเป็นระบบที่ดีเยี่ยม ด้วยข้อมูลพื้นฐานเนื้อหาที่สอดคล้องกัน”เพื่อบอกพวกท่านว่าผมยืนตรงไหนและคิดอย่าง ไร”  โดยเริ่มต้นว่า เจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516  ของปวงชนหลายกลุ่มนำโดยขบวนการนักศึกษา ล้วนมุ่งมาดปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม ซึ่งแยกไม่ออกจากจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า

จากนั้น เสกสรรค์วิเคราะห์อย่างลงลึกถึง ปมปัญหาที่ทำให้ เวลาที่ผ่านไป 40 ปี ซึ่งทำให้” ส่วนยอดของระเบียบอำนาจเก่าได้ล้มลงในชั่วเวลาข้ามคืน ขณะที่ระเบียบใหม่ยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน” แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ว่างเปล่า แต่ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ทำให้เป้าหมาย “ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ยังไม่ปรากฏเป็นจริง” ด้วยกระบวนทัศน์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ยังคงมีอิทธิพลของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ ผสมกับแนวคิดอำนาจการนำ(hegemony)ของอันโตนิโอ กรัมซี่ และ“ประชาธิปไตยรากหญ้า”(radical democracy)ของเออร์เนสโต้ ลักเลา และชานทาล มูฟเฟ่ อยู่ในระดับสำคัญ (แม้ปราศจากคราบไคลของข้อเสนอที่ตั้งบนรากฐานวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ ของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน-เหมา เจ๋อ ตง ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง) โดยเฉพาะการวิเคราะห์โครงสร้างทางชนชั้นของสังคม

แกนหลักของประชาธิปไตยที่แท้จริงในกระบวนทัศน์ของเสกสรรค์คือ ความยุติธรรม ซึ่งอยู่เหนือกว่าเสรีภาพและเสมอภาค ดังที่เขาย้ำว่า”คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไรหากไม่สามารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ความเสมอภาคของมนุษย์จะปรากฏเป็นจริงด้วยวิธีไหนหากไม่ใช่สิทธิเสียงที่เท่ากันในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ความเป็นธรรมก็เช่นกัน เราคงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าผู้คนที่เสียเปรียบไม่สามารถผลักดันให้รัฐคุ้ม ครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา”

การวิเคราะห์ของเสกสรรค์ ชี้ให้เห็นว่า ปมปัญหาหลักที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่สามารถเดินหน้าไปได้ จมปลักอยู่ในเขาวงกตทำให้ “ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนรอบห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐ ประหารซึ่งผูกพ่วงไปมาสลับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้รับอิสระ เสรีภาพและเชิดชูความเท่าเทียมของมนุษย์ต้องหลั่งเลือด ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ยืน” เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่เลื่อนลอย หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จับต้องไม่ได้ หากเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เรียบง่ายชัดเจนและมีสาระใจกลางของปรัชญา อยู่หนึ่งประโยคเท่านั้น คือ ให้ประชาชนเป็นนายตัวเอง

เสกสรรค์ประมวลว่าเหตุปัจจัย 3 อย่างที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่คืบหน้า ล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันคือ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และ สภาพที่กำลังของฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา

จากแกนหลักของการวิเคราะห์เหตุปัจจัยดังกล่าว เสกสรรไม่รีรอที่จะฟันธงชัดเจนลงไปว่า “ผู้ร้ายหลัก”ของประชาธิปไตยไทยคือ ชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ที่ยังคงรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำ และความพยายามของชนชั้นปกครองเก่าที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาอย่างแน่วแน่ แม้จะปรับเปลี่ยนตัวเองตามสถานการณ์บ้าง โดยอาศัยพลังสนับสนุนของผู้พิทักษ์แนวคิดเดิม และเงื่อนไขทางสังคมจำเพาะ โดยมุมมองที่ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพทุกชนิดล้วนเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและพวกเขา

บทบาทของผู้ร้ายหลักนั้น เสกสรรค์ถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยโดยตรง เริ่มตั้งแต่การทำลายพลังนักศึกษาและปัญญาชนที่เคยเป็นกองหน้าที่ฮึกห้าวเหิมหาญในการบุกเบิกพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ทำลายล้างพลังของชนชั้นผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ทำลายโอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการทำงานของระบบรัฐสภา และทำลายพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภาที่มีแนวทางสังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการที่ถูกทำให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย โดยการปราบกวาดล้าง 6 ตุลาคม 2519 ที่นำประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองนานหลายปี

นอกจากนั้น หลังการฟื้นคืนบรรยากาศประชาธิปไตยรอบใหม่ ตั้งแต่ปี 2521 ผู้ร้ายหลักนี้ ยังได้ส่งมอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และกำหนดเงื่อนไขที่มุ่งหวังให้นักการเมืองมาช่วยตกแต่งหน้าร้าน เพื่อปกป้องฐานะการนำกลุ่มอำนาจเดิมในฐานะคนเชิดหุ่นเอาไว้ แทบไม่มีพื้นที่อันใดสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสิน ใจ  กระทั่งการเลือกตั้งก็มีความหมายเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะผู้นำรัฐบาลไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกจากประชาชน

ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้เปิดโอกาสอย่างสูงให้ระบบทุนนิยมในประเทศได้หยั่งรากแน่น จนไม่มีรัฐบาลชุดไหนต่อๆมากล้าแตะต้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทุนยังถูกยกระดับขึ้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ

สภาพทางการเมืองอันจำกัด ได้ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ถูกตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเป็นผู้นำตั้งแต่ต้น ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนหรือเป็นแค่บริวารของผู้นำกองทัพ แต่ที่สำคัญ ได้ก่อตัวเป็นขบวนการทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบเจ้าพ่อ และเวทีการเมืองก็เป็นเพียงโอกาสขยายธุรกิจและผลประโยชน์ต่าง ๆของคนบางกลุ่ม เพราะนักการเมืองจำนวนไม่น้อย เติบโตมาจากนักธุรกิจในท้องถิ่นหรือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ฐานเสียง

นักการเมืองจำนวนมากในประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อนี้ ไม่เพียงแต่เคยชินแต่การรับบทพระรอง และไม่สามารถสถาปนาอำนาจการนำอย่างแท้จริง หรือขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากขยายตัวเท่านั้น หากเมื่อพวกเขาได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเอง ก็ได้กลายเป็นรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์และถูกติฉินนินทาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น จนเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและระบอบการเมือง สร้างเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการก็สุกงอมกลับเข้าสู่วังวนรัฐประหารรอบใหม่ คือรัฐประหาร 2534

การรัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างผิดเงื่อนไขและเงื่อนเวลา เพราะโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว และเงื่อนไขในการสร้างรัฐบาลทหารโดยมีนักการเมืองผสมก็จางหายไป ทำให้ภายในเวลาเพียงปีเดียว การต่อต้านก็นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงนำไปสู่กระแสปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นเจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมมายืนยันอย่างมีพลังอีกครั้ง

ส่วน”ผู้ร้ายรอง” ได้แก่กลุ่มทุนใหม่ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์และการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น ซึ่งความกลัวฝ่ายซ้ายของชนชั้นนายทุนเริ่มหมดไปจากฉากหลังทางการเมือง และทำให้บทบาทของกองทัพและแนวคิดขวาจัดลดพลังลง  นักการเมืองที่สถาปนาตนเองจากภาคธุรกิจเริ่มแสดงความต้องการที่จะขึ้นกุมอำนาจโดยตรงอย่างเปิดเผยมากขึ้น  แทนที่จะยอมเป็นแค่หางเครื่องของผู้นำกองทัพและผู้บริหารระบบราชการ

ความต้องการพื้นที่ทางการเมืองแทนที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์ผูกขาดอำนาจรัฐเดิม กระทำได้โดยฉวยโอกาสใช้เวทีประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือสร้าง “หุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อ” กับชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางล่างในเมืองใหญ่ ที่”ไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองเดิมอีกต่อไป”

ผลลัพธ์ด้านบวกของหุ้นส่วนที่เหลือเชื่อดังกล่าว คือช่วยชุบชีวิตให้ระบบรัฐสภาไทยด้วยการใช้ การเมืองภาคตัวแทนช่วยต่อรองในระดับนโยบาย ช่วยลดทอนช่องว่างทางชนชั้นในเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างในด้านรายได้ แต่ด้านลบคือ มันนำไปสู่การสะสมความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่กับกลุ่มผู้กุมอำนาจนำเหนือรัฐเดิม และ”หุ้นส่วนที่เหลือเชื่อ”อีกรูปแบบหนึ่งกับพลังอนุรักษ์นิยมของชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองที่”รวยได้โดยไม่ต้องโกง” และอ่อนไหวง่ายกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตนเองเสียผลประโยชน์ที่เคยได้มาในอดีตจากแผนพัฒนาประเทศและการขยายตัวของทุนนิยม ตลอดจนกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการจำกัดอิทธิพลของตลาดเสรี สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ ลดทอนลดอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ฉ้อฉล และเพิ่มอำนาจประชาชน กลายเป็นการขัดแย้งอันยุ่งเหยิงของกลุ่มพันธมิตรที่เหลือเชื่อ 2 กลุ่ม ที่เป็นรากเหง้าของการเมืองแบบสีเสื้อในปัจจุบัน

การที่ผู้ร้ายรองนี้ เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ของโลกมากกว่า จึงต้องการปลดปล่อยอำนาจการนำรัฐออกจากมือของชนชั้นนำจากท้องถิ่น หรือนักการ เมืองอาชีพซึ่งเคยชินกับการให้สัญญาเชิงอุปถัมภ์หรือปฏิญาณตนแบบลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าการสร้างนโยบายที่จับต้องได้ และตรงกับประเด็นปัญหา โดยอาศัยช่องว่างจากบรรยากาศประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่จำนวนน้อย และยังแอบยกฐานะเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีขึ้นมาเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 87 ซึ่งจำกัดเสรีภาพในการเลือกนโยบายทางเศรษฐกิจนอกกรอบทุนนิยมไปอย่างสิ้นเชิง นอกเหนือจากการให้คุ้มครองคนเสียเปรียบอย่างเดียว

กลุ่มทุนใหม่ที่เป็นผู้ร้ายรองในสายตาของเสกสรรนี้ เป็นผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทและหัวเมืองต่างจังหวัดก่อนใคร ๆ เห็นชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองได้แปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ทำการผลิตในเชิงพาณิชย์และจำเป็นต้องอยู่กับตลาดทุนนิยม  แต่เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งภายใต้กลไกตลาดเสรีที่ต้องการนโยบายรัฐมาหนุนช่วย ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การตัดวงจรหนี้สิน จนถึงการคุ้มครองราคาผลผลิตทางเกษตรที่พวกเขาฝากชีวิตเอาไว้ ผ่านกระบวนการอำนาจต่อรองในทางการเมือง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ซึ่งไม่มีใครช่วยก็รวยได้ เพราะมีกลไกตลาดคอยดีดเงินเข้ากระเป๋าอยู่แล้ว แต่ให้ความสำคัญกับประเด็นซ้ำซากว่าด้วยคุณธรรมของฝ่ายบริหารและกติกาของระบบตลาดเสรี  จนบางส่วนจึงถึงกับเต็มใจให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เสกสรรได้ทิ้งท้ายปาฐกถาของเขาเอาไว้ด้วยข้อเสนอหลายประการว่า พัฒนาการของประชาธิปไตยในปัจจุบันแม้จะมีข้อเด่นตรงที่ได้ลดบทบาทของการเมืองของชนชั้นนำลง เข้าสู่เรื่องของสามัญชนมากขึ้น ถือเป็นการเติบโตของประชาธิปไตย แต่เงื่อนไขต่างๆที่ผลิตความขัดแย้งในสังคมกลับท้าทายความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง 2 กลุ่มหลักคือ ความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน กับ แรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของชาติกลายเป็นเพียงภาพลวงตา

เสกสรรค์ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่นับวันยิ่งขยายกว้างนี้ ทำให้มุมมอง ทัศนคติ และระดับความภักดีต่อประชาธิปไตย ของมวลชนกลุ่มต่างๆไม่เหมือนกัน ซึ่งยากจะไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพราะมันผูกติดอยู่กับเดิมพันเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นแกนชีวิตของแต่ละฝ่าย ทำให้บรรยากาศเสรีนิยมเกิดขึ้นได้ยาก และมักนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมือง กระทั่งในบางกรณี ถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง ดังเช่นการที่ชนชั้นกลางและกลุ่มทุนเก่าในเมืองหลวงยอมเปิดทางให้กับกองทัพทำรัฐประหารในปี 2549 และกรณีนองเลือดกระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริงที่ราชประสงค์ในปี 2553

เสกสรรย้ำว่า ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสุดขั้ว ซึ่งถูกสนับสนุนให้เลวลงด้วยระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนรวยเสียภาษีทางตรงน้อยเกินไป ส่วนคนจนก็เสียภาษีทางอ้อมทุกวัน คือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ผู้คนในประเทศไทยต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่าง เหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้งๆที่ไม่ได้เกียจคร้าน

ในกรณีของแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ เสกสรรค์มีมุมมองในเชิงลบยิ่งขึ้น เพราะเขามองว่า ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้รัฐไทยตกอยู่ในภาวะจำยอม ให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ปัญหาการเมืองไทยยิ่งสลับซับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะไม่เพียงเข้ามาเร่งขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเท่านั้น หากยังปิดกั้นหนทางแก้ไขเอาไว้ด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาสรุปว่า คงฝากประชาธิปไตยไว้กับสถาบันและกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียว ไม่ได้ หากต้องประสานบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการเมืองมวลชนเข้ากับระบบรัฐสภา ทั้งนี้เพราะพลังทั้งสองส่วนต่างก็มีปัญหากับทุนนิยมโลกไปคนละแบบ และมีแรงจูงใจสูงที่จะอาศัยมาตรการทางการเมืองมาทำการขับเคลื่อน

ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนของเสกสรรค์จึงเรียกร้องให้สังคมไทยต้องทำการรักษาบาดแผลเรื่องความเหลื่อมล้ำและขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่ง“สำหรับคนจำนวนไม่น้อย เคยเป็นเรื่องต้องห้ามและชวนให้ไม่สบายใจ” อันเป็นท่าทีเขาเห็นว่า ไร้ประโยชน์และเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะนี่คือ “ปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัย  ทั้งของโลกและของบ้านเรา มันเป็นสถานการณ์ที่สาปแช่งคนจำนวนมหาศาล ให้จมปลักอยู่กับความต่ำต้อยน้อยหน้า อับจนข้นแค้น และเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความเจริญ ซึ่งเขาระบุชัดเจนอย่างมีส่วนร่วมว่า “วันนี้ ผมขออนุญาตเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องเหล่านั้น”

สำหรับธีรยุทธ การวิเคราะห์โจทย์ยอดนิยม“ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน” ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นเป้าหมายหรือวิธีการ แต่กระบวนทัศน์และท่าที รวมทั้งข้อสรุป แม้จะสะท้อนว่าเป็นทั้ง 2 อย่าง แต่ได้แสดงชัดว่า พยายาม”ลอยตัว”ออกจากการมีส่วนร่วมในปัญหา ในท่วงทำนองของแมกซิมิเลียน เวเบอร์ นักสังคมวิทยาเยอรมันในอดีต เพราะเขามุ่งไปตรงไปที่ชุดคำตอบเบ็ดเสร็จคือ  2 คำตอบ”ตรงไปตรงมา” และ 2 คำตอบเชิงนามธรรมว่าด้วยอุดมการณ์และวัฒนธรรมการเมือง

2 คำตอบแรก ธีรยุทธระบุว่า เพราะผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร และยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ว่า 1) ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด แต่เป็นลักษณะจำเพาะของแต่ละสังคมที่มีสารภาพเงื่อนไนอำนวยให้ 2) ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น  ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่ม ต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้

ข้อสรุปของธีรยุทธในระดับนี้คือ ไม่มีกลุ่มพลังใดในสังคมไทย มุ่งมั่นจะรักษาระบบประชาธิปไตยให้ทำงานไปได้หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ โดยยกตัวอย่างว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน ในขณะที่”กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง)”
สำหรับธีรยุทธแล้ว ไม่มีผู้ร้ายเลย หรือ ทุกคนเป็นผู้ร้าย ในปัญหาของประชาธิปไตยไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการ”ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง”อย่างพลิ้วไหวอย่างไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

ในระดับต่อไป คำตอบของธีรยุทธในเรื่องอุดมการณ์ คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้าย จำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจ ของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

เขายกตัวอย่างว่า จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน “ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” นั่นเอง

สำหรับกลุ่มทุนดั้งเดิมของไทย (-ไม่ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มไหน และวัดจากอะไร-) ธีรยุทธ ระบุว่า ทำตัวเป็นกาฝากการเมืองมากกว่า เพราะ “นอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของ ตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน”

ในส่วนของพรรคการเมือง ธีรยุทธมองในเชิงลบอย่างถึงที่สุดว่า เป็นส่วนเกินที่ไร้ประโยชน์ของประชาธิปไตยไทย เพราะไร้จิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย แม้จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดพื้นที่จากกรณี 14 ตุลาคม 2516 “ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด “ และ “ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่ เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง”

คำตอบในเรื่องวัฒนธรรมการเมือง ธีรยุทธสรุปอย่างย่นย่อด้วยข้อสรุปส่วนตัวชนิดไร้ข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่า “สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า” ให้อ้างว่า คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย โดยโยงเข้ากับกรณีที่ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวอย่าง

จากนั้น ธีรยุทธก็ทำการใช้สำนวนลีลาด้วยการผูกโยงเพื่อชี้ให้เห็นจุดบกพร่องทางวัฒนธรรมการเมืองของคนไทยว่า นิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่อง”สารพัด”ขี้ เพื่อที่จะแขวะโยงไปถึงทักษิณ ชินวัตรและพลพรรคที่ถูกจัดกลุ่มเดียวกันในเชิงลบเช่น ให้เรียกทักษิณเป็น “ขี้ขำ” ของการเมืองไทย และยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ “ขี้หย้อง” กับ “ขี้แบ๊ะ” (คำหลังนี้ ใช้ผิด เพราะ “ขี้แบ๊ะ”ไม่มีในภาษาเหนือหรือคำเมือง มีแต่คำว่า ขี้แขะ(บางถิ่นออกเสียวห้วนๆว่า ขี้แคะ) ที่มีความหมายว่าขี้ขลาด ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นโล้เป็นพาย)
 
นิยามข้างต้นนั้น ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ ธีรยุทธนิยามความหมายของ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทย และนิยามกองทัพ ซึ่งเป็นหัวขบวนกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยว่า เป็นพวก “ขี้หักถ่อง” ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง  โดยกองทัพก็มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

การให้คำนิยามดังกล่าว ตอกย้ำทัศนคติ”ไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตย”ของธีรยุทธ ว่ายังคงเหมือนเดิมทุกประการ นับตั้งแต่กรณีการยกย่องเชิดชูการเข้ามามีบทบาทของอำนาจตุลาการในการเมืองไทยในกลางปี พ.ศ. 2549 ก่อนการรัฐประหารโดยกองทัพว่าเป็นตุลาการภิวัตน์ ก่อนใครอื่น และมองเห็นการรัฐประหารเป็น”ความจำเป็นทางการเมืองเพื่อหยุดยั้งความรุนแรง”

กระบวนทัศน์ และจุดยืนจากชุดคำตอบที่เปิดเผยตัวตนออกมาเองเช่นนี้ เปิดเผยธาตุแท้ของธีรยุทธอย่างหมดเปลือกว่า อดีตความเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยของเขา ได้สูญสลายไปอย่างสิ้นเชิง ภาพลักษณ์ของนักประชาธิปไตยที่ปรากฏในสื่อและสาธารณะทั่วไปจนถึงปัจจุบัน เป็นแค่เพียง”หนังราชสีห์ที่ห่ม คลุมร่างลา”เท่านั้นเอง เมื่อใดที่เปล่งเสียงออกมาก็แยกแยะได้ทันที่ว่า เป็นคนเช่นไร

กระบวนทัศน์ที่สะท้อนจุดยืนอันต่างขั้วกับประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด ทำให้คำกล่าวของธียุทธต่อมาที่ว่า “จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมือง ไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น”เบาบางลง รวมทั้งคำสารภาพของเขาเองที่ว่าไม่แน่ใจเช่นกันว่าตนเองมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ด้วยซ้ำ  “14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร”

หลังจากคำสารภาพ ธีรยุทธได้สร้างข้อเรียกร้อง 4 ประการ ที่ไม่เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาประชาธิปไตยโดยตรง แต่เป็น 1) ทิศทางในอนาคตของสังคมไทย 2) ปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล ของรัฐไทย 3) ประชานิยม ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ  4) แม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมที่ผิดพลาดของผู้นำรัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจ นอกจากไม่ช่วยป้องปรามปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายแล้ว ยังทำให้สังคมหลงทางจนยากจะแก้ไขและนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย

ทั้งหมดนี้ ธีรยุทธชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคตได้ก้าวพ้นเกินปัญหา ประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย โดยเฉพาะปมประเด็นว่าด้วย การลดอำนาจรัฐจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นเพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตน เพราะ”กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปให้ได้
ทางออกของธีรยุทธ โดยที่ไม่ได้เอ่ยถึงรากที่มาว่า การกระจุกตัวของอำนาจรวมศูนย์ของรัฐไทยสร้างปัญหาให้กับ” 2 คำตอบตรงไปตรงมา และ 2 คำตอบเชิงนามธรรม”ของเขาอย่างใดบ้าง ทำให้ทางออกที่เขาเสนอมีลักษณะ”ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” เปรียบได้กับ”นักเรียนตัดแปะข้อมูลส่งการบ้านครู”อย่างรวบหัวรวบหางแบบหักมุมจบว่า “มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่ง” เป็นเพียงประโยคที่ว่างเปล่า เพราะไม่ได้ชี้ให้เห็นให้เห็นว่า เป้าหมายและวิธีการที่นำเสนอ สอดรับและปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด

หากใช้มุมมองของอันโตนิโอ กรัมชี่  นักคิดสังคมนิยมชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งเคยนิยามคำว่า ปัญญาชนอินทรีย์ จากคำถามขึ้นต้นที่ว่า ปัญญาชนในฐานะปัจเจกบุคคล เป็นอิสระชนทางสังคม หรือมีสังกัดทางชนชั้นที่แน่นอน โดยมีข้อสรุปว่า ทุกกลุ่มทุกชนชั้นในแต่ละสังคม ย่อมหนีไม่พ้นที่จะก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการมีปัญญาชนของตนเองหลายๆ ชนิดในรูปแบบธรรมชาติ หรือ อินทรีย์ เพื่อสร้างเอกภาพด้านจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของชนชั้นหรือกลุ่มในทุกด้าน และส่งมอบมรดกทางประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น ผู้เขียนจึงประเมินปาฐกถาของเสกสรร และธีรยุทธ ที่เพิ่งผ่านไปได้อย่างง่ายดายว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาคนเดิม ซึ่งใช้เวลายาวนานหลายทศวรรษวนเวียนกับการแสวงหาตนเองหลังจากตกอยู่ในสภาพ”สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์”เมื่อกลับจากป่าสู่เมืองในปี 2524 ได้หวนคืนกลับสู่ฐานะของปัญญาชนประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง (ถือเป็นเสกสรร เรอเนสซองส์ ก็ไม่ผิดข้อเท็จจริง) อย่างน่าชื่นชมและควรแก่การยินดีต้อนรับ

ในขณะที่ธีรยุทธในคราบของนักวิชาการเสื้อกั๊กขาดที่หลงทาง”ติดกับดัก”ไปกับภาพลักษณ์และชื่อเสียงจอมปลอมของตนเอง ได้เปลี่ยนสีแปรธาตุไปไกลและมาก กลายเป็น”แกะหลงทาง”ที่สับสน และ เลอะเทอะจนยากจะกู่กลับเสียแล้ว เหลือไว้เพียงแค่ภาพลักษณ์ที่นับวันจะเลือนหาย

จุดยืนของการเป็นปัญญาชนประชาธิปไตยที่แจ่มชัดของเสกสรรค์ แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นและน่าชื่นชม แต่ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ยังไม่เพียงพอ และสมควรแก่การวิพากษ์เพื่อ”กำจัดจุดอ่อน”ในบางเรื่อง หากไม่ถือว่าการวิพากษ์ดังกล่าวเป็น”ผลแอปเปิลแห่งความปริร้าว”(An Apple of Discord)  เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การแสดงจุดยืนจากปาฐกถาของเสกสรรในวาระนี้ ได้ชี้ให้เห็นการตกผลึกทางปัญญาอันเคี่ยวกรำมายาวนานของเขาว่า มีวุฒิภาวะมากพอที่จะยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

จุดอ่อนของข้อเสนอของเสกสรรที่ผู้เขียนเห็นว่าที่ต้องช่วยกันปรับปรุง เสริมสร้างตาข่ายนิรภัยไม่ให้พลังประชาธิปไตยอ่อนกำลัง และป้องกันการย้อนกลับมาของเชื้อชั่วเผด็จการที่จะไม่มีวันตาย มีดังต่อไปนี้

-ดูเบาพลังของชนชั้นรากหญ้า หรือ ชนชั้นล่าง เพราะลำพังชนชั้นกลางล่างนั้นหากมีอำนาจก็พร้อมจะเปลี่ยนสีแปรธาตุด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าได้ทุกเมื่อ หากได้รับอำนาจ หรือ สินบนที่เปรอปรน

-ดูเบาพลังการจัดตั้งมวลชนของพลังอนุรักษ์และต่อต้านประชาธิปไตย และกลุ่มสมคบคิดต่างๆ

-ขาดความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลที่มีนัยสำคัญของพลวัตทุนนิยมและโลกาภิวัตน์จนประเมินความน่ากลัวเกินจริง ซึ่งควรต้องปรับปรุง เพื่อจะเข้าใจวิภาษวิธีของทุนนิยมโลกร่วมสมัยได้ชัดเจน ไม่โน้มเอียงไปสู่ข้อสรุปทางลบแบบพวกต่อต้านทุนนิยม และต่อต้านโลกาภิวัตน์

-ความถี่ของการนำเสนอจุดยืนและท่าทีต่อปัญหารูปธรรมในแต่ละย่างก้าวของการต่อสู้ที่นับวันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาของ”ขั้นยัน”ที่ดำเนินอยู่ และยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ นักคิดปรือปัญญาชนประชาธิปไตย จะต้องไม่ถือว่าการนำเสนอความคิดชี้นำนั้น เป็นแค่พิธีกรรมประจำปี หรือ พิธีกรรมครบครบ 10 ปี แต่จะต้องพร้อมออกมาในช่วงเวลาที่สถานการณ์แหลมคมด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่หวาดหวั่นต่อเสียงวิพากษ์รอบข้าง

-เพิกเฉยปัญหาวิธีการเพื่อออกแบบโครงสร้างรัฐ ที่ไม่เปิดช่องให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งบ่อนทำลายพลังอำนาจของมวลชนผู้รักประชาธิปไตย และใช้มวลชนจัดตั้งที่เป็นผู้รักประชาธิปไตยจอมปลอมเข้ามาเป็นเครื่องมือ

ในเรื่องแรกนั้น แม้เสกสรรจะให้ความสำคัญกับพลังที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทและชนชั้นกลางล่างในเขตเมืองใหญ่ (ซึ่งเป็นจำนวนประชากรจำนวนมากสุดในสังคมยามนี้รวมแล้วประมาณ 37 ล้านคน) ในฐานะหุ้นส่วนอันเหลื่อเชื่อของกลุ่มทุนใหม่ที่มากับกระแสโลกภิวัตน์และอุตสาหกรรม แต่การดูเบาพลังของชนชั้นล่าง หรือรากหญ้าในพลวัตของสังคมไทยซึ่งมีจำนวนตามสถิติทางการ 5 ล้านคน (และจำนวนที่นอกเหนือสถิติหรือมีหนี้ล้นพ้นตัวที่ไม่ระบุตัวเลขอีกประมาณ 5 ล้านคน) เสมือนหนึ่ง”แนวร่วมที่ไร้พลัง” หรือ “เบี้ยในกระดาน”ซึ่งมีคุณค่าต่ำ ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นพลังหนุนและเป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ  และเป็นเป้าหมายอ้างอิงเสมอในเมื่อพูดถึงความยุติธรรมทางสังคมที่จะต้องแก้ไข

การต่อสู้ของกลุ่มพลังทางการเมืองทุกกลุ่มใน 40 ปีมานี้ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่พลังมวลรากหญ้าหรือชนชั้นล่าง ไม่ถูกลากจูงเข้ามาสู่ขบวนแถวในฐานะส่วนประกอบของ”มวลชนอันไพศาล” ไม่ว่าจะโดยการจัดตั้ง จ้างวาน การเข้าร่วมโดยสมัครใจ หรือการชี้ชวน แล้วเมื่อมีการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต คนกลุ่มนี้แหละที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่ตกอยู่ในฐานะ “ผู้ไม่อาจแสดงตนเรียกร้องความเป็นธรรม”จากสังคมมากสุดได้

ตัวอย่างของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่หาญกล้าเสียสละชีวิตตนเองกับเผด็จการหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นแบบของจิตใจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชนชั้นรากหญ้าได้โดดเด่น

หากย้อนกลับไปดูผู้ที่เสียสละจากการต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นผ่ายประชาชนหรือฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่เลือดเนื้อและชีวิตของคนในสมาชิกชนชั้นล่างหรือรากหญ้าจะขาดหายไป ไม่นับถึงการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งจะมีคนในสังกัดชนชั้นดังกล่าวเป็นกำลังสำคัญ หรือหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้”อยู่เสมอมาแม้จะไม่อยู่ในฐานะแกนนำหรือกลุ่มชี้ขาดก็ตาม

การประเมินบทบาทและสร้างแนวร่วมเพื่อส่งเสริมให้ชนชั้นล่างหรือรากหญ้าได้แสดงในเวทีต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยในอนาคต รวมทั้งการดึงคนเหล่านี้ออกจากเงื้อมเงาของนักการเมืองแบบเจ้าพ่อ เพื่อให้พวกเขาตระหนักในพลังและอนาคตของตนเอง เป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องไม่ดูเบาและเป็นไปได้ แม้จะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตัวแทน หรือชนชั้นล่างบางคนหรือบางกลุ่มดังกล่าว อาจเปลี่ยนสีแปรธาตุได้ หากว่าสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอัตวิสัยและพลวัตส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นได้สำหรับคนในสังกัดทุกชนชั้น

การดูเบาพลังความสามารถจัดตั้งของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตย ที่อาศัยพลังมวลชนเทียมมาสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างสถานการณ์สร้างเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการกลับคืนด้วยกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเสมอมาในรอบ 40 ปีนี้ นับตั้งแต่กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มวิทยุยานเกราะ ตามมาด้วยลูกเสือขาวบ้าน กลุ่มนักศึกษาเทียมเผาตัวเองสมัยรัฐบาลชาติชาย กลุ่มเกษตรกรเทียม-กรรมกรเทียม รวมทั้งกลุ่มสันติอโศก กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มสื่อที่สมคบคิดต่างๆ ซึ่งพลังทั้งเปิดและแฝงเร้นเช่นนี้ สามารถที่จะฉกฉวยโอกาสในการทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยเพลี่ยงพล้ำได้หากเปิดช่องให้

ไม่เพียงเท่านั้น การที่เสกสรรค์ให้น้ำหนักค่อนข้างสูงกับ”การเมืองภาคประชาชน” โดยมองว่าเป็นส่วนร่วมสำคัญในทางออกของประชาธิปไตยไทยนั้น ก็ยังชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทของกลุ่มเอ็นจีโอ และการเมืองภาคประชาชนทั้งหลาย ที่มีบทบาทอย่างสูงในฐานะ”ทนายแก้ต่าง”ให้กับอำนาจนอกระบบในการใช้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มที่นับแต่ก่อนและหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า กลุ่มคนที่อ้างตนเองเป็น”การเมืองภาคประชาชน”เหล่านั้น จะเป็นพลังขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับท่าทีต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของเสกสรรค์ เป็นประเด็นอ่อนด้อยที่ผู้เขียนจำต้องวิพากษ์เช่นกัน เพราะเป็นท่าทีที่โน้มเอียงถึงความไม่ไว้วางใจต่อทั้งทุนนิยม และต่อกระแสโลกาภิวัตน์ โดยไม่พิจารณาลักษณะ 2 ด้านของทั้งทุนนิยม และโลกาภิวัตน์

ทุนนิยมในปัจจุบัน แม้จะมีพัฒนาการและธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนไปจากในอดีตมากนัก คือมีทั้งด้านบวกที่สอดคล้องกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์(กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ปัจเจกชนนิยมทางสังคม และการแข่งขันเพื่อเพิ่มศักยภาพของปัจเจกบุคคลและสร้างความมั่งคั่งให้สังคมผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) และมีด้านลบที่น่าสะพรึงกลัว(การเอารัดเอาเปรียบ และการเพิกเฉยต่อผู้แพ้ในการแข่งขัน) ปะปนอย่างแยกกันไม่ออก แต่พลวัตของทุนนิยมซึ่งผ่านวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายร้อยปีมานี้ ไม่เพียงแต่ไม่ได้ทำให้ทุนนิยมล่มสลายดังที่นักคิดทางสังคมพยากรณ์เอาไว้ หากกลับเติบใหญ่อย่างท้าทายมากขึ้นจนสามารถครอบงำกลไกเศรษฐกิจโลกอย่างล้ำลึกในทุกระดับ

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ทุนนิยมได้ผ่านการพิสูจน์นับครั้งไม่ถ้วนชนิดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มนุษย์โลกยังไม่สามารถค้นหารูปแบบทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในการสร้างและกระจายความมั่งคั่งแก่สังคม โดยไม่ต้องใช้กระบวนการบังคับและความรุนแรงซึ่งละเมิดต่อเสรีภาพส่วนบุคคลและธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่แตกต่างจากกลไก”มือที่มองไม่เห็น”ของทุนนิยม รวมตลอดถึงการปรับเปลี่ยนพัฒนาการของทุนนิยมที่พ่วงมาตรการใหม่ๆ เพื่อลดความหยาบกระด้างในการแข่งขันด้วย สวัสดิการต่างๆ (สวัสดิการรัฐ หรือประกันสังคม หรือ หุ้นพนักงาน หรือ ฯลฯ) เพื่อลบด้านมืดของระบบด้วยการแบ่งส่วนเกินของความมั่งคั่งมาให้คนที่พ่ายแพ้ในการแข่งขัน โดยยังเหลือช่องทางสำหรับคนที่ต้องการแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์แบบลองผิดลองถูกเพื่ออนาคต

นอกจากนั้น ทุนนิยมในยุคของสงครามเย็น ได้ถูกสหรัฐฯ ขับเคลื่อนให้ชาติบริวารในเครือข่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำการ ชูธงนำความคิดด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พัฒนาการที่นำเสนอโดยวอลท์ วิทแมน รอสโตว์ (ทฤษฎี 5 ขั้นของการเติบโตของเศรษฐกิจชาติ) ซึ่งเป็นปรัชญาเบื้องหลังนโยบายการพัฒนาด้วยงบประมาณรัฐและการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง โดยไม่ต้องเป็นรัฐสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเปิดช่องส่งมรดกชั่วร้ายให้อำนาจรัฐรวมศูนย์ในชาติกำลังพัฒนา ทำการครอบงำอำนาจเหนือสังคมทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนโลกาภิวัตน์นั้น เป็นกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์แบบ”ข้ามรัฐ” ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลงไป โดยใช้กระบวนการของทุนนิยมเป็นพลังขับเคลื่อน เริ่มต้นจากสร้างความร่วมมือสร้างกติการะหว่างรัฐ (ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี)เพื่อทำให้เกิดการการไหลเวียนของทุนและทรัพยากรที่เอื้อต่อความม่งคั่งของทุน(แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สินค้า และเงินตรา ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อผู้คนและรัฐประชาชาติทั้งหลายในโลก เพราะโลกาภิวัตน์ก็มีทั้งด้านสว่างและด้านมืดเช่นกัน

ความใหญ่โตของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อทุนข้ามชาติ หรือสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นถ่ายเดียว แต่ชาติเล็กๆบางแห่งก็เรียนรู้ที่จะฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ดูไบ สโลวาเกีย สโลวีเนีย  ไต้หวัน เกาหลีใต้ และ ล่าสุดชาติใหญ่อย่าง จีน ก็ถือเป็นตัวอย่างรายล่าสุด  ซึ่งสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมโดยไม่ได้รู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติหรือคนในท้องถิ่นแต่อย่างใด เพราะโครงสร้างทางการเมืองของรัฐในชาติเหล่านี้ได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับภารกิจของการรัฐมี 2 ประการหลักในระบบทุนนิยมคือ 1) ดูแลทิศทางให้การสร้างและกระจายความมั่งคั่งมีหลักประกัน 2) ให้การอุดหนุนการลงทุนที่กระตุ้นเอกชนให้สร้างความมั่งคั่งในอนาคต  ซึ่งเป็นภารกิจที่พลังประชาธิปไตยจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบอย่างจริงจัง เพื่อ”ลดทอนด้านมืด และ ฉวยโอกาสจากด้านสว่าง”

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เสกสรรค์ไม่อาจปฏิเสธได้คือ การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงทางการเมืองของไทยในอดีตนับแต่ครั้งกรุงสุโขทัยนั้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในเพียงลำพัง แต่เชื่อมโยงเข้ากับบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือภูมิภาคในยุคเดียวกันเสมอมา ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เช่นสุโขทัยและอยุธยาตอนต้นสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นมาได้ เพราะการล่มสลายของมหาอำนาจในกัมพูชายุคอังกอร์ อยุธยาตอนกลางก็รุ่งเรืองขึ้นมาจากการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงจีนกับอินเดียผ่านช่องแคบมะละกาในยุคตะวันตกเริ่มล่าอาณานิคม ส่วนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบจารีตจตุสดมภ์ของสยามเป็นรวมศูนย์เบ็ดเสร็จแบบรัฐประชาชาติตะวันตก ก็เกิดจากการตอบโต้การคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกที่ยึดครองอาณาจักรโบราณข้างเคียงเป็นอาณานิคมเกือบหมด การเปลี่ยนแปลง 2475 ก็เป็นผลพวงของการล่มสลายของเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งแรก กรณี 14 ตุลาคม 2516 ก็เชื่อมโยงเข้ากับผลพวงของความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหลังสหรัฐฯฉีกข้อตกลงเบรตตันวูด 2514 และวิกฤตราคาน้ำมันโลกครั้งแรก 2516 กรณี 6 ตุลาคม 2519  ก็เชื่อมโยงเข้ากับความหวั่นกลัวคอมมิวนิสต์หลังจากความพ่ายแพ้ของสหรัฐหลังสงครามอินโดจีน 2518 ส่วนการปฏิรูปทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เกิดจากปฏิกิริยาของคนในสังคมไทยต่อความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลผสม หลังเหตุการณ์นองเลือด 2535 ต่อการรับมือกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 2538-2540  เป็นต้น

นอกจากนั้น โลกาภิวัตน์ในทางการเมืองและธุรกิจ ก็เปิดทางให้พลังประชาธิปไตยและจริยธรรมทางธุรกิจในระดับโลกสามารถ”ข้ามรัฐ”ในการสร้างยับยั้งอำนาจเผด็จการของรัฐและพฤติกรรมของทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ซึ่งช่องทางดังกล่าว นอกเหนือจากการแสวงหาแนวร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระดับสากล แม้จะไม่ครอบคลุมเสียทีเดียว ก็สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพลังประชาธิปไตยในประเทศได้ เช่น กรณีกฎบัญญัติของสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯ ที่จะไม่สนับสนุนการการเงินให้กับรัฐบาลเผด็จการของประเทศคู่ค้า หรือ ศาลอาญาระหว่างประเทศที่มีข้อกำหนดลงทาผู้นำเผด็จการที่ปราบปรามประชาชน  หรือ กฎระเบียบของSECของสหรัฐฯที่ห้ามบริษัทมหาชนจดทะเบียนจ่ายสินบนหรือกระทำผิดต่อสิ่งแวดล้อม หรือกดขี่แรงงาน หรืออื่นๆในทั่วโลก และมีบทลงโทษที่รุนแรง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพียงเพราะทัศนคติที่ต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์เพียงด้านเดียว

การที่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีส่วนขับเคลื่อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เสกสรรระบุว่า “ทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ” หากมองอีกมุมหนึ่ง น่าจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับพลังประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนให้อำนาจรัฐไทยที่รวมศูนย์และไม่ได้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมมายาวนาน เกิดการเปลี่ยนแปลงสนองตอบพัฒนาการสังคมซึ่งมุ่งไปสู่สังคมพหุนิยม ซึ่งมี”ความหลากหลายของผลประโยชน์ ความแตกต่างทางความคิด สภาวะทางจิต และวิถีชีวิตดำเนิน” เพื่อออกแบบรัฐสยามใหม่ ที่สนองตอบต่ออนาคตของผู้คนสังคมด้วยการกระจายอำนาจ สร้างกฎระเบียบใหม่ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ด้านสว่างของทุนนิยมแสดงพลังออกมาในรูปของ”สังคมกำกับรัฐ” แทนที่จะปล่อยให้กลไก”รัฐควบคุมสังคม” และขับเคลื่อนพาสังคมลงเหวไปสู่ทิศทางที่”ถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์กดดันให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น” หรือ “อำนาจในการจัดการสังคมถูกโอนไปไว้ที่กลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่  และรัฐเองก็กำลังถูกแปรรูปดัดแปลงให้รับใช้เฉพาะชนชั้นนายทุน” ถ่ายเดียว

กรณีที่เสกสรรชี้ให้เห็นถึงการถดถอยของสหภาพแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเขาอ้างว่า “ถูกควบคุมเข้มงวดจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่” กระทั่งหมดสภาพในการเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมกร จนยากที่พลังกรรมกรจะเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย ก็มีคำถามเช่นเดียวกันว่า เป็นข้อสรุปที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะในโลกปัจจุบันนั้น “ลัทธิสหภาพแรงงาน” ได้ลดทอนพลังและความน่าเชื่อถือในสายตาของชนชั้นกรรมกรทั่วโลกอย่างรุนแรง (ยกเว้นบางประเทศในสหภาพยุโรปเช่น เยอรมนี หรือ อังกฤษ ซึ่งมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จำเพาะ) เนื่องจากสภาพและเงื่อนไขของการจ้างงานในระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงจากในอดีตอย่างมาก เช่น เงื่อนไขการจ้างงานระหว่างภาคการผลิต และภาคบริการ จนกระทั่งไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาสหภาพแรงงานแบบเดิมอีกต่อไป อีกทั้งความหลากหลายของวิชาชีพและภารกิจในการทำงาน ก็มีส่วนทำให้การรวมตัวกันของคนงานในรูปแบบสหภาพแรงงานลดความสำคัญลงไป

ประการต่อไป ข้อเท็จจริงที่ว่า การปรากฏตัวแสดงจุดยืนของปัญญาชนประชาธิปไตยของเสกสรรค์ในแต่ละครั้งนั้น มีความถี่ต่ำเกินไป (ไม่นับถึงท่าทีที่ไม่ชัดเจนของเขาเองในหลายครั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของพลังประชาธิปไตย) เกินกว่าจะสร้างพลังในการชี้นำที่เป็นพลังรูปธรรมให้กับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ เพราะดังที่ทราบกันดี นับตั้งแต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน พลังประชาธิปไตยกับพลังฝ่ายต่อต้าน ได้พัฒนาการต่อสู้ขึ้นมาอยู่ในระดับ”ขั้นยัน”(ดังที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไว้ใน ภารกิจใหม่ในการเริ่มต่อสู้ขั้นยัน, ศิวะ รณยุทธ์, สิงหาคม 2555) ซึ่งยังดำเนินอยู่ และยังไม่รู้ผลแพ้ชนะเบ็ดเสร็จ ทำให้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภารกิจของปัญญาชนประชาธิปไตย ต้องแสดงท่าที และนำเสนอจุดยืนต่อปัญหารูปธรรมในแต่ละย่างก้าวที่นับวันจะเข้มข้นและถี่กระชั้นมากขึ้น เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ที่แหลมคมด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่หวาดหวั่นต่อเสียงวิพากษ์รอบข้าง โดยต้องไม่ถือว่าการนำเสนอความคิดชี้นำดังกล่าว เป็นแค่พิธีกรรมประจำปี หรือ พิธีกรรมครบครบ 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งในบางกรณี อาจะเป็นแค่”คำบอกเล่าถึงอดีตที่ผ่านเลย”อย่างเปล่าประโยชน์

ผู้เขียนเชื่อว่า พลังปัญญา บารมี  ความกล้าหาญทางจริยธรรม และศักยภาพที่ยังเต็มเปี่ยมของเสกสรรค์จะสามารถสนับสนุนให้พลังประชาธิปไตยสามารถช่วงชิงความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อแผ้วถางประชาธิปไตยและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล หากเขาต้องการที่จะมีส่วนร่วมในขบวนแถวดังกล่าวไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม

ท้ายสุด การที่เสกสรรค์ไม่ได้เสนอทางออกใดๆที่เป็นรูปธรรมเพื่อหาทางออกให้กับสังคมในกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถือเป็นข้อด้อยอย่างสำคัญที่จะทำให้ขบยวนการประชาธิปไตยขาดจินตนาการที่เป็นรูปธรรมสำหรับก้าวเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างแผนที่นำทางเบื้องต้น (โรดแม็พ) สำหรับรัฐสยามในอนาคต ที่สามารถที่ปิดช่องมิให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งบ่อนทำลายพลังอำนาจของผู้รักประชาธิปไตย และใช้มวลชนจัดตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์แย่งชิงอำนาจกลับคืนไป

ผู้เขียนยังคงขอยืนยันอีกว่า ข้อเสนอที่เคยแสดงเอาไว้ว่า การที่รัฐไทยถูกออกแบบให้ขนาดใหญ่ที่รวบอำนาจการนำเหนือสังคมในทุกระดับ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จนถึงปัจจุบัน รวมตลอดจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับนับแต่ พ.ศ. 2504 ที่ทำให้เศรษฐกิจเปิดกว้างอ้าซ่าจนกระทั่งไม่สามารถสร้างตาข่ายนิรภัยรองรับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของทุนนิยมโลกได้เพียงพอ ไม่เพียงเป็นปัญหาทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังมีส่วนทำให้สังคมปริร้าวจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รุนแรงแบบที่เสกสรรค์กล่าวเอาไว้ ทำให้สังคมโดยรวมต้องแบกภาระต้นทุนสูงเกินจำเป็นจากการบริหารจัดการรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ และขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน ถือเอาประโยชน์ของรัฐเหนือกว่าผลประโยชน์ของมวลชน และท้ายสุด รัฐมีแนวโน้มใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของมวลชนได้ง่าย นับแต่การเก็บภาษีและการสร้างสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างเหมารวม

ผู้เขียนได้เคยเสนอเอาไว้ (โมเดลสวิส เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสยาม: กรณีศึกษา เพื่อสร้างสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย, ศิวะ รณยุทธ์, 2554) ว่าสวิตเซอร์แลนด์ถือว่าเป็นโมเดลต้นแบบสหพันธรัฐที่โดดเด่นมากสุดสำหรับอนาคตของสังคมสยาม โดยมีพื้นฐานบนรัฐธรรมนูญอันก้าวหน้าของสหพันธรัฐสวิสที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1848 (ก่อนที่คาร์ล มาร์กซ และเฟรดริก เองเกลส์จะเขียนแถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์อันลือลั่นหลายเดือน) ทั้งในด้านของการสร้างความเป็นธรรมในสังคม การสร้างความมั่งคั่งแห่งชาติ และการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย เพราะองคาพยพของสังคมเกือบทั้งหมดถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นเอกภาพอย่างเป็นอิสระและสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากมีดัชนีความสุขของพลเมืองในระดับหัวแถว รายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่าทุกชาติในยุโรปและญี่ปุ่น ค่าเงินสวิสฟรังก์แกร่งแถวหน้าของโลกและผันผวนต่ำกว่าสกุลอื่นๆ เป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับสองของโลกโดยที่ไม่มีวัตถุดิบในประเทศ เป็นผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลกโดยที่ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ มีสถาบันการเงินระดับโลก มีบริษัทข้ามชาติทางด้านยา อาหาร เคมีภัณฑ์ และวิศวกรรมมีชื่อเสียงระดับโลก และที่สำคัญสุดคือ ไม่มีรอยปริร้าวของคนในสังคมที่เกิดจากปัญหาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ 

ความรุ่งโรจน์เหล่านี้ มิใช่ได้มาโดยง่ายดายและสันติ (สวิสเป็นชาติที่อนุญาตให้สตรีได้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นชาติหลังสุดของโลกเมื่อประมาณ 15 ปีมานี้เอง) แต่มีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการต่อสู้อย่างโชกโชนทางกระบวนทัศน์ สังคม และการเมืองถึงเลือดเนื้อ และสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วนตลอดกว่าพันปี ทั้งก่อนหน้าและหลังการเป็นรัฐประชาชาติ ซึ่งสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านสังคมภายใต้โมเดลสวิส ที่ทำการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น กับรัฐบาลกลางให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากรัฐภายนอก  และเพื่อเปิดช่องให้กับเสรีภาพ ยุติธรรม และการจัดสรรทรัพยากรภายในที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมพหุนิยมของสมาชิกในสังคมที่มีหลายชาติพันธุ์ โดยมีโครงสร้างหยาบๆดังต่อไปนี้

1)เส้นทางเพื่อได้มาซึ่งสันติภาพยั่งยืน เกิดจากการต่อสู้อันยากลำบากจากสมาพันธรัฐฟิวดัลที่กษัตริย์นครรัฐครองอำนาจนำ สู่สงครามกลางเมืองจากการปฏิรูปศาสนา สู่รัฐขนาดใหญ่แบบสาธารณรัฐ แล้วจนท้ายสุดท้ายสุดกลับไปสหพันธรัฐมหาชน และนโยบายต่างประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่โลกเคารพในศักดิ์ศรีอย่างลงตัวยั่งยืน
2)มวลชนมีบทบาทแข็งขันในการสร้างฉันทามติร่วมว่าต้องการรัฐขนาดเล็กที่มีการถ่วงดุลเหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นโดยไม่จำต้องมีอุดมการณ์ที่ตายตัว ไม่เคยมีรัฐบาลเสียงข้างมาก และไม่ต้องการลัทธิชาตินิยมคับแคบ แต่เน้นการมีส่วนร่วม และขันติธรรมของการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง

3)โมเดลของรัฐแบบสวิสที่มีโครงสร้างให้ระบอบเศรษฐกิจและกระจายผลประโยชน์ที่ลงตัว การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ก็ลดความเข้มข้นลงโดยไม่กระทบต่อพัฒนาการทางปัญญาอื่นๆของสมาชิกในสังคม

4)โมเดลการสร้างรัฐที่ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองกำลังที่ถ่วงดุลกันระหว่างทหารบ้าน ทหารประจำการ และทหารอาสา ทำให้สวิสเป็นชาติกำลังทหารและอุปกรณ์การรบสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่มีสันติภาพยั่งยืน มีอาชญากรรมต่ำ และมีความยุติธรรมทางสังคมสูง

ข้อเสนอแนะของผู้เขียนที่มีต่อปัญญาชนประชาธิปไตย และอนาคตของรัฐสยาม จากบทวิเคราะห์ปาฐกถาของเสกสรร และธีรยุทธเช่นนี้ อาจจะเข้าข่าย “เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน” ได้เช่นกัน แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ขบวนการประชาธิปไตยไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย

อย่างน้อยที่สุด ความเห็นพ้องกันในหลักการว่า ประชาธิปไตยซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการในตัวเองนั้น ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่า เป็นสิ่งที่เป็นจริงได้ ไม่ใช่ความละเมอฝัน ข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์ของ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ (ค.ศ.1688) สงครามกู้เอกราชของสหรัฐอเมริกา(ค.ศ.1776) การปฏิวัติฝรั่งเศส(ค.ศ.1789) การปฏิวัติของเคมาล อตาร์เติร์กในตุรกี(ค.ศ.1923) และซานดินิสต้าของนิคารากัว(ค.ศ.1979) ล้วนยืนยันได้ดีว่า ประชาธิปไตยและความรุ่งโรจน์ของสังคม เป็นสิ่งเดียวกันที่ทำให้สังคมสยามพ้นจากอาการป่วยเรื้อรังนานกว่า 80 ปีแล้วจากเงื้อมมือของ”ผู้ร้ายหลัก” และจะไม่ตกเป็นเหยื่อใหม่ของ”ผู้ร้ายรอง”อีกต่อไปในอนาคต

ประชาธิปไตยแห่งรัฐสยาม สำหรับผู้ที่”ปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม” จงเจริญ!

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net