Skip to main content
sharethis

ผู้บริหารจุฬาฯ, นิติศาสตร์ จุฬาฯ, สโมสรนิสิต ออกแถลงการณ์ค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ชี้วุฒิสภาต้องยั้งกม. ในขณะที่องค์กรประชาสังคมทั้งชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน ฯลฯ แถลงค้าน ไม่ล้างผิดให้คนโกง 

 
4 พฤศจิกายน 2556 ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ว่าด้วยการคัดค้านเรื่องข้อขัดแย้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยแถลงการณ์ ได้อ้างอิงข้อเสนอแนะของคอป. ที่ได้เคยให้แนวทางเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมตนเอง หรือนิรโทษแบบครอบคลุมทั่วไป แต่ควรพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้อง และได้เสนอให้วุฒิสภา ใช้อำนาจยับยั้งการผ่านจดหมายฉบับนี้ และส่งกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าวใหม่ นอกจากนี้ คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยมีคณาจารย์จำนวน 30 คน ได้ร่วมลงชื่อด้วย 
 
ในระดับสโมสรนักศึกษา ทางสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแถลงการณ์องค์การนิสิต สภานิสิต และสโมสรนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา  ยังได้เผยแพร่แถลงการณ์ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน 
 
ในวันเดียวกันนี้ ยังมีแถลงการณ์จากองค์กรประชาสังคมอื่นๆ อาทิ แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 
 
 
แถลงการณ์ของคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฉบับที่ 1
เรื่อง ข้อขัดแย้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
 
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... อย่างรีบเร่ง รวบรัด และมีเนื้อหาแตกต่างไปจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการเอาไว้ในวาระที่ 1 ทำให้บุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขยายออกไปครอบคลุมถึงผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย และขยายระยะเวลาของการนิรโทษกรรมออกไปจนทำให้นักการเมืองที่กระทำการทุจริตคอรัปชั่นจะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย การพิจารณาร่างกฎหมายด้วยวิธีการดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
 
คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า การจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ให้แนวทางเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ว่า “...ไม่สามารถดำเนินการโดยปราศจากขอบเขต แต่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานที่เป็นสากล ... จะต้องมิใช่การนิรโทษกรรมตนเอง (Self-Amnesty) ที่ผู้มีส่วนในการกระทำความผิดบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดของตนเอง หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป (Blanket Amnesty) หรือครอบคลุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่จะต้องมีการกำหนดความผิดที่จะนิรโทษกรรมและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศและตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วและไม่สามารถย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นได้ในปัจจุบัน คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอเรียกร้องให้วุฒิสภาซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ก่อนและส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ทั้งนี้ คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด
 

 

แถลงการณ์
เรื่อง  หยุดผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดใบอนุญาตฆ่าประชาชน
โดย เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
 
โดยหลักการและเจตนารมณ์ของการเกิดขึ้นมาของ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....”  สาระสำคัญมุ่งเพียงการนิรโทษกรรมเฉพาะ “ประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” เพียงเท่านั้น 
 
ทั้งนี้ “ไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ” แต่อย่างใด 
 
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ผ่านวาระ ๓ ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ กลับเพิ่มเติมประเด็นนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม อันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุม เข้ารวมในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ไปด้วย ซึ่งการปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิด ยิ่งเป็นการสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติต่อประชาชนโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต กล่าวได้ว่า เป็นการมอบใบอนุญาตฆ่าประชาชนโดยชอบธรรม
 
เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ทำงานขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ขอประณามกระบวนการอัปยศดังกล่าว ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังคงให้ความสำคัญกับ “ตัวบุคคล”  และ “ผลประโยชน์ตนเอง” มากกว่า “หลักการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง” โดยไร้ซึ่งมาตรฐานในกระบวนการตรวจสอบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อความสูญเสีย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตกลุ่มทหารที่ทำการรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน  ๒๕๔๙  ก็จักต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและรับผิดตามผลที่ก่อ มากกว่าการ “ล้างผิดโดยจับใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ในลักษณะเช่นนี้ 
 
การสร้างให้เกิดกระบวนการตรวจสอบและสร้างมาตรฐานการลงโทษ คือ การสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาในสังคมไทย ที่จะไม่สร้างให้เกิดความผิดแบบเดิมขึ้นอีกแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอนาคต  มิฉะนั้นสังคมไทยและประชาชนในประเทศไทยก็จะเป็นเพียง “เบี้ยตัวหนึ่ง” ในเกมส์การเมืองของชนชั้นนำ ที่สู้รบกันโดยยืมประชาชนมาเป็นเบี้ยประกัน ถึงเวลาก็ “เกี้ยเซี้ย” จัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคม เพื่อรักษาอภิสิทธิ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
 
 เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายจักต้องยึดหลักการเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ เป็นการสร้างมาตรฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมในสังคมบนความแตกต่างหลากหลาย โดยมิยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้าง “ความดีเพื่อมาล้มหลักการจนมาตรฐานพังพินาศ” และอ้างว่า “เป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนเองในนามความดีหรืออ้างว่าทำเพื่อชาติ” ดั่งที่เป็นมาโดยตลอด เราต้องไม่ปล่อยให้บุคคลใดมา “ล้มหลักการ” เพื่อก้าวข้ามพ้นความผิดครั้งแล้วครั้งเล่า 
 
ความยุติธรรมที่บุคคลใดพึงได้รับนั้น ไม่ควรจะได้รับบนความอยุติธรรมที่มีต่อคนอื่น การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการที่ยุติธรรม คือ การจรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้ยังคงดำเนินต่อไปได้ดั่งเจตนารมณ์ของระบอบดังกล่าว
 
 
เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

แถลงการณ์
เรื่อง หยุด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อัปยศ
หยุดนิรโทษกรรมแก่คนสั่งฆ่าประชาชนและคนโกงชาติบ้านเมือง
 
  ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ก้าวสู่ความขัดแย้งภายหลังจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้เร่งดำเนินการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.....จนผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระ ๒ และ ๓ โดยไม่คำนึงต่อกระแสคัดค้านจากสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เป็นไปในลักษณะที่จะยกโทษให้กับบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองในการสั่งฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์จากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การฆ่าตัดตอนเรื่องยาเสพติด ๒,๕๐๐ ศพ กรณีการชุมนุมสั่งฆ่าพี่น้องประชาชนในมัสยิดกรือเซ๊ะ ๑๒๐ ศพ จังหวัดปัตตานี การสลายการชุมนุมกรณีตากใบจนมีผู้เสียชีวิต ๘๖ ศพ จากกรณีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ๗ ศพ และการสลายการชุมนุมของ แนวร่วมประชาชนเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)๙๓  ศพ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวและถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
          
ยิ่งไปกว่านั้นร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังจะนิรโทษกรรมให้แก่คนคิดคดทรยศต่อประเทศชาติและประชาชนในการโกงชาติบ้านเมืองอย่างกรณี ที่ดินรัชดาของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรที่ศาลพิพากษาจำคุกแล้วแต่อยู่ระหว่างหลบหนีการลงโทษในต่างประเทศ กรณีทุจริตเรื่องหวยบนดิน กรณีทุจริตให้ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก(เอ็กซิมแบงก์)ปล่อยกู้ให้พม่า ๔,๐๐๐ล้าน, การออก พ.ร.ก.แปลงภาษีสัมปทานโทรศัพท์เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯ, กรณีทุจริตการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม.ซึ่งศาลพิพากษาแล้วมีความผิดจริงนักโทษ(ประชา มาลีนนท์)หลบหนีไปต่างประเทศ, การทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น
          
จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และเครือข่ายองค์การแรงงานเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนงแอบแฝงซ่อนเร้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ปกครองผู้มีอำนาจทางการเมืองให้พ้นผิดจากการสั่งฆ่าประชาชน และการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการทุจริตต่อชาติบ้านเมืองและประชาชน คสรท.นโยบายที่แจ่มชัดในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น จึงขอประกาศจุดยืน..ต่อต้านการออก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ......ในเบื้องต้นต่อการเคลื่อนไหว องค์กรสมาชิกใดและสมาชิกในสังกัดที่เห็นว่าการออก ร่าง พ.รบ.นิรโทษกรรมที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไม่มีความชอบธรรมและพร้อมที่จะแสดงจุดยืนในการต่อต้าน สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ อิสระ หรือเข้าร่วมกับองค์กร เครือข่ายที่มีเจตนารมณ์เดียวกันตามแต่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อร่วมกันหยุดกฎหมายอัปยศก็ให้ดำเนินการได้ทันที
 
หยุด! พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อัปยศ
หยุด!ปลดปล่อยคนสั่งฆ่าประชาชน
คนโกงชาติ!ต้องถูกลงทัณฑ์
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาชน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
 

 

 

แถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

โดย คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื่องจากเมื่อเช้ามืดของวันที่  ๓๑ ตุลาคม  ๒๕๕๖  สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่ องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออก
ทางการเมืองของประชาชน   พ. ศ. ....   ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมนลักษณะเหมารวม  คณะบุคคลผู้มีรายชื่อดังข้างท้ายนี้เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุดังต่อไปนี้

ประการแรก กระบวนการในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสิ่งผิดปกติ คือ ในขั้นพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติฯ  ให้หมายความกว้างขวางนอกเหนือไปจากหลักการเมื่อครั้งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ  ในวาระแรก การแก้ไขเพิ่มเติมจนขัดหรือแย้งกับหลักการเดิมของร่างพระราชบัญญัติฯนั้น เป็นการกระทำต้องห้ามตามข้อ
๑๑๗ วรรคสาม แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.  ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกระทำของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง การเร่งรีบผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่สองและสาม จนสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาเช้ามืดของอีกวัน แสดงให้เห็นความรีบร้อนผิดปกติ ทั้งที่ ร่างพระราชบัญญัติฯนี้มีผู้ไม่เห็นด้วยเป็น
จำนวนมาก เป็นที่จับตามองของสังคม ดังนั้น จึงควรกระทำการด้วยความ รอบคอบ ละเอียดอ่อน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงเหตุผลของตนเองจนหมดสิ้น เพื่อสร้างฉันทามติในสังคมก่อนกระทำการใดต่อไป ความเร่งรีบตรงนี้ มิใช่มาตรฐานอันพึงปฏิบัติในการตรากฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทางตรงกันข้าม กลับจะสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนให้ร้าวลึกหนักยิ่งขึ้นไป

ประการสุดท้าย เนื้อหาของร่ างพระราชบัญญัติฯ เป็นการทำลายหลักนิติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองไว้ในมาตรา  ๓ ด้วยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้การกระทำจำนวนมากได้รับการนิรโทษกรรม ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองการกระทำเหล่านี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ในบางกรณีได้มีคำพิพากษา โดยชอบด้วยกฎหมายถึงที่สุดแล้ว   บางกรณีมีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ หรือถูกกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน  ตลอดจนทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชนได้รับความเสียหาย บางกรณีเกี่ยวข้องกับการลงโทษผู้ทุจริตประพฤติมิชอบ การนิรโทษกรรมที่ลบล้างการใช้อำนาจตุลาการโดยชอบด้วยกฎหมาย การนิรโทษกรรมที่ปล่อยให้ผู้ที่กระทำผิดต่อสิทธิมนุษยชน หรือทุจริตประพฤติมิชอบพ้นจากความรับผิดไปโดยไม่มีการคัดแยกบุคคลหรือลักษณะแห่งการกระทำ ย่อมสั่นคลอนความมั่นคงของระบบกฎหมายและระบบการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่ง เป็นพื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรม

ด้วยเหตุดังที่บรรยายมาข้างต้น เป็นเหตุให้ปวงชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางการเมืองในทิศทางใดก็ตาม ได้ออกมาคัดค้าน  คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้มีรายชื่อข้างท้ายนี้ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง จึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา ใช้อำนาจที่ตนมีตามวิถีทางแห่ งประชาธิปไตย ลงมติยับยั้งร่ างพระราชบัญญั ติฉบับนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งหลักนิติธรรม    

วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
 

 

แถลงการณ์สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ ๑
 
เรื่อง การเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
สืบเนื่องจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทําความผิดเนื่องจากการชุมนุมทาง
การเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..... ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม 
พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเห็นของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในระดับปัจเจก ระดับองค์กร รวมถึงคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นวงกว้าง  อาทิ การคัดค้านการนิรโทษกรรมผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้กําลังเข้าสลายการชุมนุม หรือการคัดค้านการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น
 
สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสโมสรของนิสิตรัฐศาสตร์ทุกคนในการดําเนินกิจกรรมภายในและภายนอกคณะ และฝึกฝนให้นิสิตมีความเข้าใจในบทบาทของตน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อตนเอง และสังคม รวมถึงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยคํานึงว่า การเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกฝ่าย เป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถกระทําได้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรมนูญและหลักการแห่งสันติวิธี ดังนั้น คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พิจารณาโดยเห็นพ้องว่า จะสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสันติวิธี ของทุกฝ่าย และพร้อมเป็นพื้นที่สาธารณะทางวิชาการ สําหรับผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ให้ร่วมอภิปรายสถานการณ์และร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อแสดงออกถึงวัตถุประสงค์ในการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย
 
ทั้งนี้ โดยเบื้องต้นคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์จะมีการเปิดเวทีเพื่อหารือและอภิปรายสถานการณ์และร่างพระราชบัญญัติฯ ให้แก่กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ ให้เป็นที่เข้าใจต่อสังคมในระดับสาธารณะต่อไป อนึ่ง การเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมีอยู่แต่ละบุคคล โดยคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ฯ จะไม่ปิดกั้นการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในระดับปัจเจกแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และพร้อมเป็นสื่อในการนําเสนอข้อมูลต่อสาธารณะต่อไป
 
สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ 

 

แถลงการณ์องค์การนิสิต สภานิสิต และสโมสรนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา 
เรื่อง คัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
 
ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมวาระที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยมีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมความผิดของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดย คณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้ง องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษให้แก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำในลักษณะการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย
 
ที่ประชุมร่วม องค์การนิสิต สภานิสิต และสโมสรนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา ได้แสดงเจตจำนงร่วมกันใน การคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดหลักนิติรัฐ โดยใช้เสียงข้างมากทำลาย ความน่าเชื่อถือของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองหลักของประเทศ ด้วยการเร่งผ่านพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม โดยไม่คำนึงถึงข้อเรียกร้องจากประชาชนที่ต้องการได้รับความเป็นธรรมจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้างในสังคมไทย และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และสร้างความสับสนต่อมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากการรับผิดด้วยการนิรโทษกรรม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา การทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ความล้มเหลวในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
 
ในฐานะผลผลิตทางการศึกษาของชาติ จึงเห็นพ้องกันว่า หากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ ผ่าน ความเห็นชอบและประกาศใช้ จะก่อให้เกิดผลเสียและสร้างความสับสนภายในสังคมไทยที่กำลังเปราะบาง จึงขอคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัติจากสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอข้อเรียกร้องให้วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบ ต่อพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
 
องค์การนิสิต สภานิสิต และสโมสรนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา ยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภายังสามารถเป็นที่พึ่ง และเป็นความหวังของผู้คนในชาติตามเจตจำนงแห่งประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
 
 
องค์การนิสิต สภานิสิต และสโมสรนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา
ลงวันที่ ๔ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net