Skip to main content
sharethis
รายงานขององค์กร Equitable Cambodia และภาคี เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมน้ำตาลในกัมพูชา ซึ่งนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสหภาพยุโรปเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้รุนแรงยิ่งขึ้น
 
ปัญหาการไล่รื้อที่ดินในจังหวัดกัมพูชา เป็นปัญหาที่สั่งสมในกัมพูชามาแล้วหลายทศวรรษ นับตั้งแต่มีการใช้นโยบายการให้สัปทานที่ดินตามกฎหมายที่ดินในปี 2544 ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลให้สัมปทานที่ดินที่ไม่มีเจ้าของให้แก่เอกชนเป็นเวลา 99 ปี มีรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวกว่า 700,000 คน และที่ดินมากกว่า 2 ล้านเฮคเตอร์ถูกพรากจากเกษตรกรเพื่อนำไปให้บริษัทเอกชน
 
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กร Equitable Cambodia และ Inclusive Development International ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อ Bittersweet Harvest  ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการไล่รื้อที่ดินในกัมพูชาในอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ถูกทำให้ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสหภาพยุโรป คือนโยบาย Everything But Arms (EBA) ที่ยกเว้นภาษีการส่งออกสินค้าแก่สหภาพยุโรปสำหรับประเทศที่ยากจนที่สุด 49 ประเทศในโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ และยังมีการประกันราคาน้ำตาลที่สูงกว่าราคาตลาดโลกถึงสามเท่าเพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุน 
 
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สำหรับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุดรมีชัย กำปงสปือ และเกาะกง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการทำอุตสาหกรรมน้ำตาลมากที่สุด ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 2,000 ครอบครัว กลับถูกไล่จากที่อยู่อาศัย ไม่ได้รับเงินชดเชย และตกอยู่ในวงจรความยากจนอย่างต่อเนื่อง
 
ฮอย ไม ชาวบ้านวัย 51 ปีจากจังหวัดอุดรมีชัย เป็นผู้หนึ่งที่ถูกไล่ออกจากที่ดิน พร้อมลูกอีก 8 คน  จากการที่รัฐให้สัมปทานที่ดินแก่โรงงานน้ำตาลบริษัทน้ำตาลมิตรผล เธอเล่าว่า เธอได้ย้ายเข้ามาตั้งรกรากที่จังหวัดอุดรมีชัยตั้งแต่ปี 2546 อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี 2551 ก็ถูกไล่รื้อ ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายกำหนดว่า หากอยู่ในที่ดินครบ 5 ปี สามารถประกาศครอบครองที่ดินโดยนิตินัย 
 
หลังจากที่ถูกไล่รื้อ เธอและชาวบ้านบางส่วนได้ทำจดหมายร้องเรียนไปที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น อย่างไรก็ตาม เธอกลับถูกจับในข้อหาบุกรุกที่ป่า ทำให้เธอถูกจำคุกเป็นเวลา 8 เดือนทั้งๆ ที่ตั้งครรภ์ และได้คลอดลูกในระหว่างที่ถูกจำคุกในเดือนที่ 7 โดยหลังจากที่คลอดที่โรงพยาบาล เธอต้องกลับมาเลี้ยงลูกต่อในคุกอีกหนึ่งเดือน ก่อนจะได้รับอิสรภาพ
 
ฮอย ไม ชาวบ้านกัมพูชาวัย 51 ปี ถูกไล่รื้อจากบ้านที่จ.อุดรมีชัย เมื่อปี 2551
 
บริษัทน้ำตาลแอลวายพี บริษัทเคเอสแอล กรุ๊ป บริษัทขอนแก่นน้ำตาล บริษัทน้ำตาลมิตรผล และอื่นๆ ทั้งสัญชาติไต้หวัน อเมริกัน และกัมพูชา นับเป็นผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่สัมปทานดังกล่าว ซึ่งได้รับผลประโยชน์โดยตรงกับนโยบายยกเว้นภาษีส่งออกของนโยบาย EBA รายงานดังกล่าว ระบุว่า ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่นโยบาย EBA ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ มูลค่าการส่งออกน้ำตาลของกัมพูชาได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3,700 เท่า จาก 51,000 ดอลลาร์ เป็น 13.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2554 
 
ในพื้นที่จังหวัดเกาะกง รัฐบาลได้ให้สัมปทานพื้นที่ราว 20,000 เฮคเตอร์ เป็นเวลา 90 ปี แก่บริษัทน้ำตาลสองบริษัท ได้แก่บริษัทเกาะกงแพลนเทชั่น และบริษัทเกาะกงซูการ์ ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 450 ครอบครัวถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ จาการสำรวจของผู้จัดทำรายงาน พบว่ามีเพียงราว 23 ครัวเรือนเท่านั้นที่ได้รับเงินชดเชยเฉลี่ยครอบครัวละ 300 ดอลลาร์ (ราว 9,000 บาท) พร้อมที่อยู่ใหม่ราวครอบครัวละสองเฮคเตอร์ จำนวนเงินชดเชยดังกล่าว คิดเป็นเพียงร้อยละ 10-30 ของมูลค่าที่ดินที่ชาวบ้านมีอยู่ดั้งเดิมเท่านั้น นอกจากนี้ ที่ดินที่ได้รับใหม่ ยังเป็นพื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ มีทรายและหินประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถเพาะปลูกซึ่งเป็นอาชีพหลักดั้งเดิมของพวกเขาได้ 
 
ส่วนพื้นที่ในหมู่บ้านโอบัตโมน ในจังหวัดอุดรมีชัย จาก 214 ครอบครัวที่ถูกไล่รื้อ มีเพียง 14 ครอบครัวที่ได้รับเงินชดเชย ส่วนครอบครัวที่เหลือ นอกจากจะสูญเสียทั้งบ้าน วัวควาย ที่ดินเพาะปลูก ยังไม่ได้รับเงินและที่ดินชดเชยใดๆ จากรัฐบาล ทำให้ชาวบ้านส่วนมากต้องอพยพมาเป็นแรงงานรับจ้างที่ประเทศไทย 
 
น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย (กสม.) กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดในสิทธิชุมชน ในที่ดินทำกิน และวิถีทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน รวมถึงสิทธิที่ในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำมาหากินของชางบ้าน แต่ในกรณีเช่นนี้ การไล่รื้อที่ดินของบริษัทน้ำตาล เป็นไปโดยขาดการปรึกษาหารือ และใช้กองกำลังเข้ารื้อโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิทีรัฐธรรมนูญได้ระบุเอาไว้ 
 
น.พ. นิรันดร์ระบุว่า ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ไทย มีอำนาจในการรับฟังข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายชาวบ้านในกัมพูชา และฝ่ายบริษัทน้ำตาลของไทย โดยจะสามารถเรียกบริษัทของไทย ที่การลงทุนไปละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ มาตรวจสอบ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องติดตามการลงทุนของเอกชนไทย ว่าต้องไม่ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศอื่นๆ โดยหลังจากที่ชาวบ้านกัมพูชาผู้ได้รับผลกระทบได้มายื่นข้อร้องเรียนและข้อมูลต่างๆ แล้ว ทางกสม. จะเรียกบริษัทน้ำตาลมิตรผลมาชี้แจง และหลังจากประมวลข้อมูลรับฟังเวทีจากทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จะทำออกมาเป็นรายงานข้อเสนอแนะต่อไป  
 
เดวิด เพรด จากองค์กร Inclusive Development International ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า สหภาพยุโรปควรทบทวนนโยบาย EBA ที่ส่งเสริมเอกชนให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงสร้างกลไกที่ตรวจสอบการกระทำของบริษัทที่ละเมิดข้อกำหนดหรือกฎหมาย เพราะในขณะนี้ ยังไม่มีกลไกใดๆ ทั้งประเทศที่มา หรือประเทศที่ตั้ง ที่สามารถเอาผิดบรรษัทข้ามชาติอย่างเอาจริงเอาจังได้เลย รวมถึงกลไกของสหประชาชาติ สหภาพยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกาเอง 
 
“เราต้องการกฎหมายที่มีเขี้ยวฟันจริงๆ กลไกของสหประชาชาตินั้นทำอะไรจริงๆ ไม่ได้” เพรดกล่าว “บรรษัทเหล่านี้สามารถฟ้องรัฐบาลในข้อหาละเมิดข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีได้ แต่บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถถูกเอาผิดได้เลย” 
  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net