Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความขัดแย้งทางการเมืองนับจากอดีตจนปัจจุบันล้วนเกี่ยวพันกับคำถามหลักสองประการคือ หนึ่ง ‘อำนาจอยู่กับใคร’ และสอง ‘ขอบเขตอำนาจอยู่ที่ใด’ เพราะอำนาจและขอบเขตที่สามารถใช้อำนาจได้นั้นส่งผลต่อชะตากรรมของสมาชิกร่วมชุมชนโดยตรง ความยากดีมีจนของคนในสังคมจึงขึ้นอยู่กับการเข้าถึงอำนาจซึ่งเรียกความสัมพันธ์เช่นนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ‘การเมือง’ เป็นหลักมากกว่าคุณลักษณะส่วนบุคคลอันเป็นส่วนประกอบปลีกย่อย ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐศักดินา ราชอาณาจักร หรือจักรวรรดิของสังคมโบราณที่อำนาจและการเมืองกระจุกตัวในวงแคบ เหล่าไพร่ทาสและสามัญชนจำนวนแสนจำนวนล้านย่อมไม่มีผู้ใดครอบครองทรัพย์สินเกินกว่าผู้ถืออำนาจ/ผู้มีส่วนในการเมืองและเครือข่ายใกล้ชิดจำนวนร้อยจำนวนพัน โดยความสามารถมากหรือน้อยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหรือโง่เขลาล้วนไม่เป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่งของฝ่ายหลัง

สังคมมนุษย์ได้ผ่านพ้นยุคดังกล่าวมานานแล้ว แต่สัจธรรมที่ว่าชะตากรรมของบุคคลขึ้นอยู่กับการเข้าถึงอำนาจการเมืองนั้นยังดำรงอยู่

ความพยายามที่จะกำหนดผู้ถืออำนาจและขอบเขตของอำนาจรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามดัดแปลงรัฐนั้นมีข้อเท็จจริงปรากฏมานานแล้วว่าไม่สามารถกระทำสำเร็จเสร็จสิ้นในชั่วข้ามคืน มันเป็นการต่อสู้ต่อเนื่องระยะยาวของกลุ่มพลังต่าง ๆ ในสังคม กลุ่มใดมีพลังในการเคลื่อนไหวมากก็สามารถโค่นล้มหรือดัดแปลงรัฐไปในทิศทางที่ตนเองเห็นสมควรได้

การเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งสำคัญ ๆ ของไทยได้แก่ การอภิวัตน์การปกครองไทย พ.ศ. 2475 การโค่นล้มระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร 14 ต.ค. 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ต่างเกิดขึ้นและสืบเนื่องด้วยหลักการเดียวกัน คือ มีกลุ่มพลังต่าง ๆ ต่อสู้เพื่อดัดแปลงรัฐ ส่งผลให้สภาวะของรัฐไทยที่สืบเนื่องหลังจากนั้นคือรัฐไทยที่ถูกดัดแปลงตามอุดมการณ์ของกลุ่มพลังที่ยึดกุมอำนาจรัฐ การดัดแปลงรัฐตามอุดมการณ์กลุ่มพลังส่งผลให้ขอบเขตอำนาจรัฐขยายไปคุ้มครอง ค้ำจุน สนับสนุนคนบางกลุ่มหรือ ละเลย ฉวยใช้ กดขี่คนบางกลุ่ม กระทั่งสามารถล่วงล้ำคุกคามเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคลที่ปัจเจกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิเสรีภาพ

เป็นต้นว่า การอภิวัตน์ พ.ศ. 2475 คือความพยายามปักหมุดหมายว่านับจาก พ.ศ. 2475 อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน แต่การอภิวัตน์ที่มีกลุ่มข้าราชการทหารและพลเรือนเป็นแกนนำทำให้รัฐไทยหลังจากนั้นกลายเป็น ‘รัฐราชการ’  ที่ “นำและดำเนินการโดยข้าราชการ” “ทำให้รัฐราชการไทยพัวพันกับการเมืองอย่างลึกซึ้ง” (เกษียร เตชะพีระ, 2537, น. 90) ในทำนองเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2516 พลังประชาธิปไตยนำโดยนักศึกษา ปัญญาชน คนชั้นกลาง ร่วมกับพลังอนุรักษ์นิยมและพลังทุนนิยมรวมพลังกันโค่นล้มระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก่อนที่นักศึกษาและปัญญาชนจะถูกพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เคยเป็นแนวร่วมระดมมวลชนรุกไล่ทำลายลงในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ลักษณะรัฐไทยหลังจากนั้นจึงเป็นไปตามการนำของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอันประกอบด้วยชนชั้นนำตามประเพณีและกองทัพบริหารประเทศร่วมกับกลุ่มทุนสัมปทานกลายเป็น ‘รัฐทุนนิยมราชการใต้พระบรมโพธิสมภาร’  ประวัติศาสตร์ปรากฏซ้ำอีกครั้งเมื่อระบบเศรษฐกิจเติบโตเกินกว่าระบบการเมืองแบบเดิมจะค้ำจุนไว้ได้จึงเกิดการชุมนุมของประชาชน คนชั้นกลาง และภาคธุรกิจเรียกร้องการขยายพื้นที่ทางการเมืองในนามของการขับไล่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ซึ่งสามารถไล่รื้ออำนาจกองทัพในการเมืองลงได้บางส่วนแต่กระบวนการทางการเมืองหลังจากนั้นก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มธุรกิจ การเรียกร้องประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2535 จึงเป็นการขยายพื้นที่ทางการเมืองของทุน ทำให้รัฐไทยนับจากนั้นเดินหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเต็มตัวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐครั้งสำคัญคือ มีแนวโน้มของการเป็น ‘รัฐตลาด’ (รัฐรับใช้ตลาด) แทนที่ ‘รัฐชาติ’ (รัฐรับใช้ชาติ)

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหล่านี้มีประชาชนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ทว่าภายหลังการโค่นล้มอำนาจรัฐเดิมลงได้ประชาชนมักถอนตัวไปจากเวทีการเมืองและปล่อยให้การขีดเส้นขอบเขตอำนาจรัฐใหม่นั้นตกอยู่ในกำมือของกลุ่มพลังอื่น

สรุปอย่างรวบรัดคือ รัฐไทยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำคัญ ๆ จากรัฐราชสมบัติ (รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน พ.ศ. 2475) ไปสู่รัฐเสนาสมบัติ (รัฐข้าราชการโดยฝ่ายความมั่นคงกุมอำนาจปกครองและประกอบธุรกิจ หลัง พ.ศ. 2475)  ไปสู่รัฐสัมปทานสมบัติ (รัฐราชการโดยฝ่ายความมั่นคงกุมอำนาจปกครองแต่ให้นายทุนประกอบธุรกิจ ระหว่าง พ.ศ. 2516-2535) ไปสู่รัฐธนสมบัติ (รัฐทุนเป็นใหญ่ที่กลุ่มธุรกิจเข้ามากุมอำนาจปกครองและประกอบธุรกิจ หลัง พ.ศ. 2535) (ศัพท์สรุปโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน เกษียร เตชะพีระ, 2537, น. 96) แต่ไปไม่ถึงรัฐเสรีประชาธิปไตย (รัฐที่ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐ) เพราะประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐเพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วมอบอำนาจให้กลุ่มพลังอื่นตัดสินใจทางการเมืองแทนตนเอง หรือถูกกลุ่มพลังอื่นจูงใจให้เปลี่ยนขั้วไปสนับสนุนพลังการเมืองอนุรักษ์นิยมบ้าง ทุนนิยมบ้าง หรือแยกขั้วสนับสนุนทั้งสองฝ่ายในห้วงเวลาเดียวกันบ้าง จวบจนกระทั่งเกิดวิกฤตหรือถูกปลุกระดมจึงจะเกิดตื่นตัวทางการเมือง เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมือง เสร็จกิจก็มอบอำนาจฝากไว้ที่กลุ่มพลังอื่นอีกรอวันเกิดวิกฤตเป็นวัฏจักรเช่นนี้ ประชาชนจึงมักมีสภาพเป็นแนวหน้ายามรบและหางเครื่องยามสงบให้กลุ่มชนชั้นนำที่แย่งชิงอำนาจกันภายใต้วาทกรรมชุดต่าง ๆ มากกว่าต่อสู้เพื่อสังคมของตนเอง

เมื่อนำประวัติศาสตร์มาเป็นกรอบในการพิจารณาเหตุการณ์ปัจจุบันเรื่อง ‘การปฏิรูปการเมือง’ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของความพยายามที่จะกำหนดผู้ถืออำนาจและขอบเขตของอำนาจรัฐ จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าพื้นเพและพฤติกรรมของผู้ผลักดันการปฏิรูปมีส่วนในการกำหนดลักษณะรัฐและผลประโยชน์ที่รัฐแสวงหา รักษาและจัดสรร

อนาคตอย่างรูปธรรมของการปฏิรูปการเมืองจึงเป็นสิ่งที่พอจะประเมินได้จากพื้นเพและพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม กปปส. นั้น เมื่อพิจารณาถ้อยแถลงจากปากของพวกเขาเองและพฤติกรรมแล้ว พวกเขาจัดเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งในทางความคิดทางสังคม

“ปกติหลักการประชาธิปไตยจะใช้ 1 คน 1 เสียง...แต่ถ้านำมาใช้ในประเทศไทยแล้วทำไมไม่ได้ผล”
(สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, ข่าวสดออนไลน์, 11 ธ.ค. 2556)

“ปัญหาก็คือ คนไทยจำนวนมากขาดความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องประชาธิปไตยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท”
(จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี, 12 ธ.ค. 2556)

“มีคน 15 ล้านคนที่ไม่มีคุณภาพ กับมีคน 3 แสนคนที่มีคุณภาพ เราเลือกคน 3 แสนคนไม่ดีกว่าเร๊อะ”
(เสรี วงษ์มณฑา, 14 ธ.ค. 2556)

การเมืองการปกครอง “เราจะหลอมหัวใจด้วยกันเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง” (สุเทพ เทือกสุบรรณ, 23 พ.ย. 2556)

และทางเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาจากรากฐานธุรกิจของกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส. เช่น จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี สืบเชื้อสายมาจากตระกูลภิรมย์ภักดี ผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์ เพชร โอสถานุเคราะห์ เจ้าของโอสถสภา ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง (ดูกำเนิดและวิธีการสร้างธุรกิจของต้นตระกูลทั้งสองใน ชานันท์ ยอดหงษ์, “’นายใน’ ในสมัยรัชการที่ 6,” 2556, น. 39-40)  หรือศรีวรา อิสสระ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น (‘ไฮโซกรุงเทพ’ แจงร่วมม็อบ ‘คืนกำไรให้สังคม’, VoiceTV, 14 ธ.ค. 2556)

การเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่มีเนื้อหาต่อต้านคอร์รัปชั่น เสนอให้ใช้อำนาจโดยชนชั้นนำจำกัดวง โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมที่มุ่งรักษาพื้นที่อำนาจการเมืองและเศรษฐกิจของตนเองในนามเสรีนิยม มีเป้าหมายอยู่ที่การขีดเส้นขยายขอบเขตอำนาจรัฐให้ปกป้องคุ้มครองหรือกีดกั้นมิให้ใครล่วงล้ำเข้ามาจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ไปจากกลุ่มตนเนื่องจากพื้นที่เดิมนั้นมีพลังประชาธิปไตยและพลังโลกาภิวัตน์เข้ามามีส่วนร่วมแบ่งปันด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของสภาพสังคมปัจจุบัน

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายมีพื้นเพเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ พิจารณาจากอันดับมูลค่าทรัพย์สินของเครือข่ายทักษิณในปี พ.ศ. 2556 ดังนี้ ได้แก่ ธนินท์ เจียรวนนท์ (อันดับ 1 ทรัพย์สิน 3.93 แสนล้านบาท) ทักษิณ ชินวัตร (อันดับ 10 ทรัพย์สิน 5.30 หมื่นล้านบาท) วิชัย ศรีวัฒนประภา (อันดับ 11 ทรัพย์สิน 4.99 หมื่นล้านบาท) ประยุทธ มหากิจศิริ (อันดับ 16 ทรัพย์สิน 3.59 หมื่นล้านบาท) ประชา มาลีนนท์ (อันดับ 18 ทรัพย์สิน 3.37 หมื่นล้านบาท) ฯลฯ [อันดับความมั่งคั่งจาก “เปิด 50 อันดับอภิมหาเศรษฐีไทยปี 2556,” เดลินิวส์, 5 ก.ค. 2556 และรายชื่อเครือข่ายทักษิณจาก “เปิดโฉมหน้า 100 รายชื่อในระบอบทักษิณ” http://oldforum.serithai.net/index.php?topic=7509.0;wap2]  เห็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มวงแคบ (ดูพฤติกรรมรัฐบาลที่ผ่านร่าง พรบ. กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย) มีแนวโน้มของการสมยอมกับชนชั้นนำอยู่ตลอดเวลา (ดูรายชื่อคณะกรรมการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศที่เสนอโดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 อันประกอบด้วย 1. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทน 2. หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า 3. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4. อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจำนวน 1 คน 5. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน 6. ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน 7. ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน 8. ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน)

การตอบสนองข้อเรียกร้องเรื่อง ‘ปฏิรูปการเมือง’ของรัฐบาลคือความพยายามยึดกุมอำนาจรัฐต่อเนื่องเพื่อสร้างกรอบโครงสถาบันที่เอื้ออำนวยแก่ทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์โดยพร้อมที่จะประนีประนอมและรับข้อเสนอจากทุกฝ่ายที่มีอำนาจ โดยเฉพาะจากฝ่ายพลังอนุรักษ์นิยมที่มีความแข็งขันทางการเมือง

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การปฏิรูปของ กปปส. นั้นปฏิเสธความเป็นจริงทางสังคมเบื้องหน้ามีแนวโน้มพาประเทศถอยหลังย้อนเวลาสู่อดีตที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง ในขณะที่การปฏิรูปของฝ่ายรัฐบาลนั้นใช้ประโยชน์จากความเป็นจริงคัดทิ้งความฝันร่วมของคนในชาติมุ่งพาประเทศสู่โลกาภิวัตน์ที่แม้จะเป็นไปได้แต่ก็ไม่ใช่สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม

การปฏิรูปการเมืองที่กุมการนำโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งข้างต้นย่อมมีโอกาสน้อยที่จะเป็นการปฏิรูปการเมืองที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นหลัก

การปฏิรูปการเมืองเพื่อประชาชนจึงไม่ได้มีประเด็นอยู่ที่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือปฏิรูปหลังเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องของหลักการที่ว่า หากประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด ประชาชนย่อมต้องสามารถใช้อำนาจที่มีกำหนดชะตากรรมของตนเอง ขีดเส้นขอบเขตอำนาจรัฐด้วยตนเองผ่านเครื่องมือทางการเมืองพื้นฐานอันจะขาดเสียไม่ได้ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นั่นคือการเลือกตั้ง ความพยายามที่จะบิดเบือนหลักการ ทำลายเครื่องมือ ชะลอการใช้เครื่องมือดังกล่าว หรือกระทั่งโยกย้ายตัดตอนอำนาจประชาชนไปไว้ที่อื่นเท่ากับเป็นการยึดอำนาจประชาชน

และถ้าหากประชาชนละทิ้งอำนาจดังกล่าวของตนเองไปเสียแล้วในคราวนี้ ราคาของการเลือกตั้งคราวหน้าอาจเป็นชีวิตของคนไทยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net